คืบหน้าพัฒนาชุมชนบ่อนไก่-โรงปูน หลังไฟไหม้

คืบหน้าพัฒนาชุมชนบ่อนไก่-โรงปูน หลังไฟไหม้

ภาพร่างแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่

พอช. / พอช.จับมือภาคเอกชน  บ.อสังหาริมทรัพย์เพื่อเตรียมออกแบบโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รองรับชาวบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้เมื่อปี 2565 และชุมชนแออัดในย่านซอยโปโล-พระเจน  เขตปทุมวัน  รวม 300 ครอบครัว   ในรูปแบบที่อยู่อาศัยแนวใหม่ Mixed – Use  เป็นอาคารสูง  ผู้อยู่อาศัยสามารถทำมาค้าขายได้  ส่วนชุมชนโรงปูนที่โดนไฟไหม้ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา  ขณะนี้ พอช.ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเตรียมกระบวนการรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเพื่อเตรียมสร้างบ้านใหม่

            กรณีชาวชุมชนบ่อนไก่  เขตปทุมวัน  กรุงเทพฯ  บ้านเรือนประสบเหตุไฟไหม้  เมื่อเดือนมิถุนายน 2565  ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 84 ครอบครัว   โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อนำไปจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว   ครอบครัวละ  18,000 บาท (การช่วยเหลือกรณีชุมชนโดนไฟไหม้  ไล่รื้อ) รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านบาท  และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อเตรียมพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่นั้น

2
นายกฤษดา สมประสงค์   ผอ.พอช. (ยืนที่ 9 จากซ้ายไปขวา)  มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชาวชุมชนบ่อนไก่เมื่อเดือนกรกฏาคม  2565

โมเดลที่อยู่อาศัยแนวใหม่-ค้าขายได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน  ผู้บริหาร พอช.  ประกอบด้วย  ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ ‘บอร์ด พอช. ‘  นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ที่ปรึกษา พอช. นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. ร่วมประชุมกับผู้แทนภาคเอกชน   เช่น  บริษัทแมกโนเลีย  บริษัทอะตอม ดีไซน์  เพื่อหารือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนบ่อนไก่   เขตปทุมวัน  รวมทั้งชาวชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่ในที่ดินใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงที่อาจจะโดนไล่ที่  เนื่องจากที่ดินในย่านดังกล่าวมีราคาแพง

3
 การประชุมพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่  โดยมี ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. เป็นประธานการประชุม

ที่ผ่านมา  พอช. ได้หารือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อขอใช้ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ  รองรับผู้เดือดร้อนในย่านใกล้เคียง  และได้ที่ดินบริเวณใกล้จุดขึ้น-ลงทางด่วนถนนพระรามที่ 4  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ  ซึ่งการประชุมในวันนี้   ผู้แทนบริษัทอะตอมดีไซน์ ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวใหม่  หรือ ‘Mixed-Use’  ผสมผสานระหว่างที่อยู่อาศัยรูปแบบอาคารสูงกับพื้นที่พาณิชยกรรม  เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขาย  สร้างอาชีพสร้างรายได้  เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน  คอนโดมิเนียม   และอยู่ระหว่างสวนเบญจกิตติ (ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) กับสวนลุมพินี  มีศักยภาพในการพัฒนาได้หลายรูปแบบ

บริษัทอะตอมดีไซน์ได้เสนอแนวคิดการออกแบบ  เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง  จำนวน 6 ชั้น  รองรับผู้อยู่อาศัยได้  300 ครัวเรือน   ขนาดห้องเบื้องต้นต่อครัวเรือน 25 – 35 ตารางเมตร  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องระบบการใช้ที่ดิน   การพัฒนาที่อยู่อาศัย  รวมถึงงบประมาณ (เบื้องต้นประมาณ 360 ล้านบาท)  และการบริหารจัดการร่วม  และจะต้องมีการหารือเรื่องการสร้างชุมชน   ระบบสวัสดิการ  ระบบเศรษฐกิจ  ระบบความปลอดภัย ฯลฯ

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา   ที่ปรึกษา พอช.กล่าวว่า   การออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้สถานการณ์และบริบทใหม่นี้  ต้องวางแนวทางและระบบแบบใหม่  หากทำได้จะเป็นโมเดลสำคัญ  ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนประณีตในการดำเนินการ    เป็นการจัดการสร้างโอกาสระหว่างคนจนผู้มีรายได้น้อยกับคนรวยในการพัฒนา  ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน  เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างอาชีพ  มีรายได้  สามารถประกอบอาชีพในอาคารได้  โดยการออกแบบให้มี  Street Life/Urban Farm และอื่นๆ  เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนในด้านเศรษฐกิจในอนาคต  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนอกจากจะรองรับชาวชุมชนบ่อนไก่ที่ประสบเหตุไฟไหม้แล้ว  ยังมีแผนรองรับชาวชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในย่านใกล้เคียงถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ   เขตปทุมวัน   รวมทั้งหมดเกือบ 1,000 ครอบครัว เช่น          1.ชุมชนบ่อนไก่ 169 ครัวเรือน  2.ชุมชนกุหลาบแดง  50 ครัวเรือน  3.ชุมชนโปโล  470 ครัวเรือน  4.ชุมชนร่วมฤดี  132 ครัวเรือน   5.ชุมชนซอยพระเจน 178 ครัวเรือน

4
แนวสีเหลืองกลางภาพคือแปลงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  เนื้อที่ 3 ไร่เศษ  ติดทางด่วนจุดขึ้น-ลงถนนพระราม 4  ที่จะใช้ทำโครงการ

ประสบการณ์จากชุมชนสวนพลู

นางพรทิพย์  วงศ์จอม    ผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาทร  และผู้ประสานงานที่ดินและที่อยู่อาศัย  กรุงเทพฯ โซนใต้  บอกว่า  ชุมชนสวนพลูเดิมเป็นชุมชนแออัด  อาศัยอยู่ในที่กรมธนารักษ์   ชุมชนประสบเหตุไฟไหม้ในปี 2547  บ้านเรือนได้รับความเสียหายประมาณ 200 หลัง

ต่อมามีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา  มีการสำรวจข้อมูลครัวเรือน              ผู้เดือดร้อนในชุมชน    และนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่   เพื่อก่อสร้าง ‘บ้านมั่นคง’  โดยชาวบ้านร่วมกันออมทรัพย์เป็นรายครอบครัว  เดือนละ 300-500 บาท  ใครมีมากก็ออมมาก  และแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน  และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย

ในปี 2550 จึงเริ่มสร้างบ้านมั่นคง  มีผู้เดือดร้อนและครอบครัวขยายเข้าร่วมรวมทั้งหมด  264 ครัวเรือน โดยเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรนจากกรมธนารักษ์ (ตารางวาละ 9 บาท/เดือน) เนื้อที่  6 ไร่ เศษ  ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภค 14 ล้านบาทเศษ   สินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน  46  ล้านบาทเศษ   มีรูปแบบบ้านให้เลือกหลายแบบบตามความเหมาะสมของรายได้และสมาชิกครอบครัว   เช่น  บ้าน 2 ชั้น  3 ชั้น  และห้องชุด  ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.ประมาณเดือนละ 2,000 บาทเศษ  ก่อสร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

“ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.หมดแล้ว  ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ไปไหนก็สะดวกสบาย  อยู่ในเมืองได้   ลูกหลานไม่ต้องไปเรียนหนังสือไกล  จึงอยากฝากถึงพี่น้องชาวชุมชนในเมืองที่ยังอยู่ในที่ดินของคนอื่นว่า  เราจะต้องเตรียมตัวรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่ตอนนี้  เพราะที่ดินในเมืองแพงขึ้น   ชุมชนที่เช่าที่ดินหรืออาศัยที่ดินคนอื่นอยู่อาจจะถูกขับไล่  ต้องออกไปอยู่นอกเมือง   เช่น  ในเขตยานนาวา  โดนไล่ไปแล้วหลายชุมชน”  พรทิพย์บอก

5
ชาวชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลูในช่วงสถานการณ์โควิ-19 ได้จัดทำครัวกลางช่วยเหลือกัน

พรทิพย์บอกด้วยว่า  หากชุมชนยังไม่เตรียมตัว  เมื่อที่ดินแพงขึ้น   คนจนจะอาศัยอยู่ในเมืองไม่ได้  โดยขณะนี้มีหลายชุมชนในเขตยานนาวา  เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์เพื่อสร้างบ้านมั่นคงแล้ว  เช่น  ชุมเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ  ชุมชนเย็นอากาศ 2

ส่วนชุมชนบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้นั้น   พรทิพย์บอกว่า  เธอและทีมงานที่ดินและที่อยู่อาศัย  กรุงเทพฯ โซนใต้  ได้ให้คำแนะนำ  เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวชุมชนบ่อนไก่ในการรวมตัวเพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง  เช่น   รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  แบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น  ทำบัญชี   แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อดูแลช่วยเหลือกัน  โดยนำประสบการณ์จากการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชุมชนสวนพลูมาใช้

พอช.  หนุนชุมชนโรงปูนรวมกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่

ส่วนกรณีชุมชนโรงปูน (เป็นที่ดินเช่าการรถไฟแห่งประเทศไทย)   เขตห้วยขวาง  ที่เกิดเหตุไฟไหม้  เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา  มีผู้เดือดร้อน  บ้านเรือนเสียหาย  รวม 47 ครอบครัวนั้น  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  และเจ้าหน้าที่ พอช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวชุมชนตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา

6
นายกฤษดา  ผอ.พอช. (ซ้าย) เยี่ยมชาวชุมชนโรงปูน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนทีมผู้ประสานงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง (พทร.) ได้ลงพื้นที่ชุมชนโรงปูน  เพื่อประชุมชี้แจงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.

เช่น  การช่วยเหลือเฉพาะหน้ากรณีไฟไหม้  พอช.จะสนับสนุนการจัดหาที่พักชั่วคราว  ครอบครัวละ 18,000  บาท   แผนงานการจัดทำโครงการบ้านบ้านมั่นคง  โดยชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงาน   จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์   ร่วมกันรับรองข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง  ร่วมกันออกแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่  ฯลฯ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ พอช. และพทร. จะลงพื้นที่เพื่อจัดประชุม   ติดตามการทำงานร่วมกับชาวชุมชนโรงปูนอย่างต่อเนื่อง   เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและก่อสร้างบ้านใหม่ให้ชาวชุมชนโรงปูนได้มีที่อยู่อาศัยใหม่โดยเร็ว

7
เจ้าหน้าที่ พอช. จัดประชุมเตรียมโครงการบ้านมั่นคงกับชาวโรงปูน

เรื่องและภาพ :   สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ