ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 หลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน มวลน้ำป่าจำนวนมหาศาลได้ไหลทะลักจากพื้นที่สูงลงมาตามลำห้วยแม่สรอยเข้าสู่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมน้ำในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ความแรงของกระแสน้ำได้พัดพาเอาดินโคลน ต้นไม้ใหญ่น้อยลงมาปะทะกับบ้านเรือน ผู้คนที่กำลังหลับใหล สัตว์เลี้ยง และทรัพย์สินต่างๆ
หลังความเกรี้ยวกราดของสายน้ำยุติลง พบว่ามีชาวบ้านใน 3 ตำบล คือ ตำบลสรอย ตำบลป่าสัก และตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น เสียชีวิตจำนวน 43 ราย ทรัพย์สินเสียหายทั้งหมดประมาณ 171 ล้านบาท
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาสาเหตุของภัยพิบัติครั้งนี้ เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ปัญหาหลักนอกจากภัยธธรรมชาติที่เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันแล้ว
ยังมีสาเหตุมาจากการบุกรุกป่าอนุรักษ์ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เพื่อทำเกษตรกรรม ไร่ข้าว ข้าวโพด (ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สัมปทานทำไม้ซุงด้วย) ประกอบกับการเกิดไฟป่า การลักลอบตัดไม้ ฯลฯ ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดิน ดินจึงพังทลายลงมาสะสมอยูในลำห้วยแม่สรอยและลำห้วยต่างๆ รวมทั้งพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำห้วยแม่สรอยอยู่ในแนวรอยเลื่อนที่ดินและหินอาจจะสไลด์ลงมาได้
เมื่อฝนตกหนัก มวลน้ำที่ทะลักลงสู่ลำห้วยแม่สรอยจึงพัดพาเอาตะกอนดินและหิน รวมทั้งต้นไม้ใหญ่น้อยลงมาถล่มหมู่บ้านจนสร้างความเสียหายยับเยินต่อชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ
จากภัยพิบัติสู่การฟื้นฟู
ตำบลสรอย (สะหรอย) อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 98 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา (60 %) รายล้อมพื้นที่ราบ (40 %) มี 11 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 6,400 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกไผ่ เลี้ยงวัว รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ฯลฯ
หลังภัยพิบัติในเดือนพฤษภาคม 2544 มีเศษซากไม้ รากไม้ ตอไม้ ที่ถูกกระแสน้ำพัดพาลงมาถล่มหมู่บ้านกองพะเนินอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่มีฝีมือทางช่างไม้จึงนำเอารากไม้ ตอไม้ ซึ่งมีทั้งไม้สักและไม้มีค่าต่างๆ นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โต๊ะ เครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน จำหน่ายเป็นรายได้ (ปัจจุบันต่อยอดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเฟอร์นิเจอร์จากรากไม้ ตอไม้)
ขณะเดียวกันหลังภัยพิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทานได้เข้ามาศึกษาพื้นที่ในตำบลสรอยพบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ต่อมาในปี 2545 กรมชลประทานจึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวน 5 แห่งในตำบลสรอยเพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ป้องกันภัยพิบัติ และเป็นแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรของชาวบ้าน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2547
อัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง หรือ ‘ผู้ใหญ่ยอด’ ผู้ใหญ่บ้านแม่ขมิง และ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสรอย บอกว่า หลังภัยพิบัติในตำบลสรอย หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลได้ร่วมกันฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า การดูแลรักษาป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ เพื่อป้องกันภัยพิบัติ ป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า แต่ไม่สนใจที่จะดูแลรักษาป่า เช่น นำวัวมาเลี้ยงในป่า แล้วจุดไฟเผาหญ้า เผาป่าในช่วงหน้าแล้ง เมื่อฝนตก หญ้าที่ถูกเผาก็จะแตกใบกลายเป็นอาหารให้วัว รวมทั้งการเผาป่าเพราะเชื่อว่าจะทำให้เห็ดป่าเกิดขึ้นเยอะๆ โดยเฉพาะเห็ดถอบที่มีราคาแพง (ช่วงต้นฤดูประมาณกิโลกรัมละ 400-500 บาท) แต่การเผาป่าก็จะทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน เกิดความแห้งแล้ง ต้นไม้ที่กำลังจะโตก็จะถูกเผาทำลายไปด้วย
“ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินโคลนถล่มก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ผมจึงชวนชาวบ้านมาเริ่มฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า อย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2560 โดยช่วยกันทำฝายชะลอน้ำในลำห้วย ช่วยกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ดูแลรักษาป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ช่วยกันขุดลอกฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำเพื่อไม่ให้อ่างตื้นเขิน สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น รวมทั้งปล่อยพันธุ์ปลาในอ่างเก็บน้ำเพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร และจะนำรายได้จากปลามาใช้พัฒนาชุมชน” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสรอยบอก
การฟื้นฟูดินน้ำป่านับจากปี 2560 ยังดำเนินการต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลป่าชุมชนบ้านแม่ขมิงเนื้อที่เกือบ 400 ไร่ โดยการสร้างแนวกันไฟ สร้างฝาย ปลูกป่าเสริม ฯลฯ โดยชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันว่า ทุกครัวเรือนต้องส่งตัวแทนมาร่วมกิจกรรมดูแลดินน้ำป่าของชุมชนทุกครั้ง
ในปี 2562 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริในจังหวัดแพร่หลายแห่ง รวมทั้งที่ตำบลสรอย อ.วังชิ้น โดยสนับสนุนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยางที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2545 (หลังภัยพิบัติ) เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง และรองรับน้ำหลากในฤดูฝน โดยขุดลอกอ่างที่เดิมมีความจุประมาณ 9 แสนลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 1.2 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณราว 8 แสนบาท
ผลจากการดูแลดินน้ำป่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิงได้รับรางวัลชนะเลิศ “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ซึ่งเป็นการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศที่กรมป่าไม้และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดประกวดต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี เป็นต้นแบบของป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ดูแลและปกป้อง “ดิน น้ำ ป่า ตามแนวศาสตร์พระราชา” (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://train.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/104/2021/11/Course-03.pdf ) โดยชุมชนได้รับเงินรางวัลจำนวน 1 แสนบาท นำมาใช้เป็นทุนในการดูแลดินน้ำป่าต่อไป
‘ไผ่เป๊าะ’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน
นอกจากรางวัลจาก “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจแล้ว ในเดือนมกราคม 2565 ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา’ (พระองค์ภา) ได้เสด็จทอดพระเนตรการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้สนับสนุนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง ต.สรอย อ.วังชิ้น และทรงเยี่ยมเยียนราษฎร สร้างความปลื้มปีติแก่ชาวสรอยถ้วนหน้า
ส่วนด้านการพัฒนาชุมชนชาวบ้านตำบลสรอยยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 สภาองค์กรชุมชนตำบลสรอยจัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลสรอย’ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จำนวน 1 แสนบาท นำมาจัดทำโครงการต่างๆ เช่น การนำไม้ไผ่เป๊าะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำถ่านแท่ง สบู่จากถ่าน ฯลฯ จัดอบรมวิธีการทำในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
เกษม ยะพันธ์ ประธานคณะกรรมการปลูกไผ่เป๊าะแปลงใหญ่ บอกว่า ‘ไผ่เป๊าะ’ เป็นไผ่กินหน่อ รสชาติ หวาน กรอบ อร่อย นำมาแกง ต้ม ยำ และทำอาหารได้อีกหลายอย่าง ตนนำต้นพันธุ์มาจากบ้านป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ นำมาปลูกเมื่อประมาณปี 2559 แต่ต้องดูแลอย่างดี ให้ปุ๋ย ให้น้ำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งต้องให้น้ำตลอด ไผ่จะได้ออกนอกฤดู ขายได้ราคาดี ปัจจุบันชาวบ้านรวมกันเป็นกลุ่มปลูกไผ่เป๊าะแปลงใหญ่ มีสมาชิกจำนวน 81 ราย เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต
“ช่วงปี 2562 หน่อไผ่เป๊าะขายได้ราคาดี ทั้งตำบลขายไผ่เป๊าะได้เงินทั้งหมดประมาณ 24 ล้านบาท คนจากที่อื่นก็มาซื้อพันธุ์ไผ่เป๊าะจากที่นี่ไปปลูก แต่ได้หน่อไม่อร่อยเท่าที่สรอย เมื่อปลูกแล้วปีนึงจะต้องตัดแต่งต้น เพื่อให้ไผ่แตกหน่อใหม่ จึงมีไม้ไผ่ที่ตัดต้นเก่าทิ้งจำนวนมาก” ประธานกลุ่มปลูกไผ่เป๊าะบอก
อัจฉริยะพงษ์ หรือ ‘ผู้ใหญ่ยอด’ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสรอย เสริมว่า จากปริมาณลำไผ่ที่ชาวบ้านต้องตัดทิ้งในแต่ละปีมีจำนวนมาก ตนจึงมีแนวคิดนำไม้ไผ่เหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการเผา ลดปัญหาฝุ่นควันด้วย เพราะหากมีไม้ไผ่เหลือทิ้งจำนวนมาก ชาวบ้านไม่มีที่ทิ้งก็จะต้องเผาไม้ไผ่ ตนจึงเสนอโครงการนำไม้ไผ่มาแปรรูป ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. จัดอบรมเพื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูป เช่น ทำถ่านไม้อัดแท่ง ให้พลังงานความร้อนสูง ไม่มีควัน เหมาะที่จะเอาไปปิ้งย่าง ขายให้ร้านอาหาร ราคาถุงละ 20 บาท
“นอกจากนี้เรายังนำผงถ่านมาผลิตเป็นสินค้าบำรุงผิวพรรณ ทำสบู่ ทำ Charcoal shower cream เพราะผงถ่านไม้ไผ่จะช่วยกำจัดแบคทีเรีย กำจัดไขมันและสิ่งสกปรกบนใบหน้าและร่างกายได้ดี” ผู้ใหญ่ยอดบอกถึงการนำสิ่งเหลือใช้มาสร้างมูลค่า
สร้างป่าเปียก-เดินตามแนวศาสตร์พระราชา
นอกจากการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากไผ่เป๊าะแล้ว ชาวตำบลสรอยยังร่วมกันดูแลดินน้ำป่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดปัญหาการเผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง หน้าดินถูกทำลาย สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการเลี้ยงวัวของชาวบ้าน
ชาวบ้านตำบลสรอยนอกจากทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังเลี้ยงวัวพื้นบ้านเพื่อขาย ถือเป็นทรัพย์สินในครอบครัว เมื่อวัวโตหรือยามจำเป็นก็จะขายให้พ่อค้า วัวที่เลี้ยงรวมกันทั้งตำบลมีกว่า 2,000 ตัว แต่ที่ผ่านมา ชาวบ้านจะเลี้ยงแบบปล่อย คือต้อนให้วัวออกไปหากินหญ้าในป่า และมักจะเผากอหญ้าแห้ง เมื่อฝนตกลงมาหญ้าจะได้แตกหน่อระบัดใบให้วัวได้กินอีก แต่ก็จะทำให้ผืนดินผืนป่าเกิดความแห้งแล้ง ต้นไม้ที่กำลังเติบโตถูกเผาทำลาย
ผู้ใหญ่ยอด บอกว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกแปลงหญ้าเนเปียร์เป็นอาหารให้วัว โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ใช้งบพัฒนาคุณภาพชีวิตจาก พอช. ทำแปลงหญ้าต้นแบบ ปลูกหญ้าเนเปียร์ในตำบลทั้ง 11 หมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 1-5 ไร่ เพื่อให้เป็นอาหารวัว ไม่ต้องต้อนวัวไปกินหญ้าในป่า หรือเผากอหญ้าแห้งอีก
รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหญ้าเนเปียร์เพิ่มเติม คนด้อยโอกาส คนว่างงานก็สามารถปลูกหญ้าเนเปียร์ขายให้คนเลี้ยงวัวได้ ราคากิโลฯ ละ 1 บาท ปลูก 3 เดือนก็เกี่ยวขายได้ นอกจากนี้ยังต่อท่อน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยางเข้ามาในหมู่บ้าน คนที่เลี้ยงวัวก็จะมีทั้งหญ้าและน้ำ สามารถเลี้ยงวัวแบบขังคอกได้ ไม่ต้องต้อนวัวเข้าไปหากินในป่า มูลวัวก็เอามาทำปุ๋ยอินทรีย์ได้อีก
“ส่วนการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง นอกจากจะช่วยรับน้ำ ป้องกันภัยพิบัติในช่วงน้ำหลาก และมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งแล้ว ที่ผ่านมาเราได้ปล่อยพันธุ์ปลาต่างๆ เช่น ปลานิล ยี่สก กุ้งก้ามกราม แล้วจัดเทศกาลตกปลา-กินปลาขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้เพิ่งจัดไป ได้เงินเข้ากองทุนมาพัฒนาหมู่บ้านประมาณปีละ 2 แสนบาท และจัดกิจกรรมวิ่งเทรลรอบอ่างเก็บน้ำและในป่าชุมชน เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้สัมผัสกับธรรมชาติ ให้เกิดความหวงแหน เพื่อช่วยกันดูแลต่อไป…
และต่อไปเรามีโครงการจะทำป่าเปียก โดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปพักบนถัง แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำลงมา โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพื่อทำให้ดินและผืนป่ามีความชุ่มชื้นเป็นป่าเปียก ไม้ใหญ่น้อยก็จะได้เติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ และหากเกิดไฟป่า ป่าเปียกก็จะเป็นแนวป้องกันไฟป่าได้ด้วย” ผู้ใหญ่ยอดเผยถึงนวัตกรรมชุมชนที่ชาวตำบลสรอยจะทำ เพื่อดูแลดินน้ำป่าตามแนวศาสตร์พระราชาต่อไป…!!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์