วันนี้ (21 เมษายน) เวลา 9.00-12.00 น. ที่หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ มีการจัดงาน ‘ปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 9’ เรื่อง “นโยบายของจริง ประชาชนร่วมได้จริง สังคมได้ประโยชน์จริง” โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ประมาณ 200 คน
‘โครงการปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม’ จัดโดยมูลนิธิหัวใจอาสาและภาคีเครือข่าย เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในการสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ และร่มเย็นเป็นสุข โดยการสร้างสังคมที่พึงปรารถนา ซึ่งประกอบด้วย สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่เข้มแข็ง สังคมคุณธรรม และสังคมประชาธิปไตย
อาจารย์ไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2484 ที่อำเภอผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Hull ประเทศอังกฤษ เคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ฯลฯ
อีกด้านหนึ่ง อาจารย์ไพบูลย์เป็นนักพัฒนาชุมชนและสังคม เคยทำงานเป็นผู้บริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’(ช่วงปี 2543-2547)
ด้านการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรองนายกรัฐมนตรี (สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ช่วงปี 2549-2551 ) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 สิริอายุ 71 ปี
ปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 9
ปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 9 เรื่อง “นโยบายของจริง ประชาชนร่วมได้จริง สังคมได้ประโยชน์จริง” โดยมีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา เป็นประธานในการจัดงานครั้งนี้ โดยมีนายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นผู้ปาฐกถา หัวข้อ “นโยบายของจริง ประชาชนร่วมได้จริง สังคมได้ประโยชน์จริง”
ผู้ร่วมอภิปรายนโยบายสาธารณะของสังคมไทย 4 ด้าน คือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจฐานราก กับการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือภาคพลเมือง ประกอบ ด้วย ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ ด้านธรรมาภิบาล, พญ.ดวงดาว ศรียากูล ด้านสาธารณสุข, จริยา แจ่มแจ้ง ด้านการศึกษา และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ด้านเศรษฐกิจฐานราก
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีใจความสรุปว่า อ.ไพบูลย์เป็นต้นแบบของนักพัฒนาสังคม ท่านมีคุณูปการอย่างยิ่งกับการพัฒนาประเทศไทยและกับทาง พอช. ตั้งแต่สมัยที่ อ.ไพบูลย์ทำงานที่สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง และต่อมาเมื่อมีการตั้ง พอช.ขึ้นมา อ.ไพบูลย์ได้ลาออกจากธนาคารออมสินมาเป็นประธานกรรมการคนแรกของ พอช. วางรากฐานให้องค์กรแห่งนี้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องหนี้สินว่า เกิดจากระบบทุนนิยมที่ไปกัดกร่อนพี่น้องประชาชนฐานราก เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงในช่วงที่ผ่านมา รายได้ของเกษตรกรลดน้อยลง ทำให้เป็นหนี้ สุดท้ายก็ต้องสูญเสียที่ดิน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากระบบโครงสร้างสังคมทำให้ชุมชนต่างๆ อ่อนแอลง เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่น ด้านการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เท่าเทียม เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้รับการพัฒนา แนวทางการพัฒนาประเทศจากบนลงล่าง จากอุตสาหกรรมสู่เกษตรกรรม จากเมืองสู่ชนบท แต่การพัฒนาดังกล่าวจะไปติดอยู่ที่ด้านบน เจ้าสัวรวยขึ้น
ขณะที่ด้านล่างหรือประชาชนมีหนี้สิน มีหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน เหมือนปลิงดูดเลือดประชาชน และมีปัญหาพ่อค้าคนกลาง สินค้าเกษตรในกรุงเทพฯ ราคา 100 บาท แต่ชาวบ้านได้ 35 บาท ที่เหลือคนกลางเอาไปหมด
“ผมคิดว่า คำตอบว่าเราจะแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้อย่างไร ทางออกของทั้งหมดนี้ก็คือ ความมุ่งหวังของท่านอาจารย์ไพบูลย์ คือชุมชนที่เข้มแข็ง จริงๆ ผมคิดว่าสมัยก่อนเขาเชื่อว่าคำตอบคือ ‘จากบนลงล่าง’ เราก็ต้องสลับคำสอน คำตอบคือ ‘จากล่างขึ้นบน’ หรือเปล่า ? เปลี่ยนจากล่างไปสู่บน คือสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชนจากฐานรากของชุมชน ถ้าเราทำได้นะครับ ผมบอกได้เลยว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนไป” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
พอช.จับมือชุมชนเดินหน้า 5 ด้านสร้างชุมชนเข้มแข็ง
ดร.กอบศักดิ์ ยกตัวอย่างการส่งเสริมชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ของ พอช. เช่น การสะสมทุนของชุมชน โดยการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา ออมเงินกันวันละบาท หากมีสมาชิก 4,000 คน วันหนึ่งจะมีเงิน 4,000 บาท หลายชุมชนขณะนี้มีเงินหลายสิบล้านบาท ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ปลิงดูดเลือดก็จะหมดไป และเงินที่สะสมก็จะกลายเป็นสวัสดิการชุมชนเอามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โครงการบ้านมั่นคงของ พอช. นำไปสู่การรวมกลุ่มกันพัฒนาด้านต่างๆ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของชาวชุมชน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้าย ถึงแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งของ พอช. โดยจะทำร่วมกับผู้นำชุมชนและประชาชน 5 เรื่อง ดังนี้
1.เริ่มจากผู้นำ ชุมชนถ้าผู้นำไม่เข้มแข็ง การพัฒนา การสร้างชุมชนจะเป็นไปไม่ได้เลย 2.ต้องขยายโครงการที่ดีๆ ออกไป เช่น การดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตขึ้นมามีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ โครงการป่าชุมชน สุขภาพของชุมชน ต้องพยายามขยายโครงการเหล่านี้ให้มากขึ้น
- นำเงินจากกองทุนต่างๆ นอกเหนือจากรัฐบาล นำมาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เช่น จากภาคเอกชน ชวนเอกชนมาทำงานกับชุมชน เป็นกิจกรรม CSR และเอกชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการ
4.การปรับโครงสร้างของพอช. การนำสื่อมีเดียต่างๆ มาช่วย รวมทั้งเป็นช่องทาง แนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านสามารถเขียนโครงการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ในการพัฒนาที่มีอยู่มากมาย แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านเข้าไม่ถึง
5.การแก้ปัญหากฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เป็นกฎหมายเพื่อคนตัวเล็ก เช่น พ.ร.บ.สวัสดิการของชุมชน ฯลฯ
“เราต้องทำ 5 เรื่องนี้ เพื่อสืบสานปณิธานของอาจารย์ไพบูลย์ เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง” ดร.กอบศักดิ์กล่าวย้ำ
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์