อยู่ดีมีแฮง : บทเรียนซ้ำซากน้ำท่วมเมืองอุบลฯ

อยู่ดีมีแฮง : บทเรียนซ้ำซากน้ำท่วมเมืองอุบลฯ

สภาพน้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2565

จังหวัดอุบลราชธานี ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากเป็นพื้นที่บรรจบกันของแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีรวมถึงลำน้ำสาขาต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง  หากปีไหนแม่น้ำโขงมีระดับสูงจะทำให้แม่น้ำมูลระบายได้ช้า  นั่นแปลว่า น้ำจะท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างแน่นอน  มากบ้าง น้อยบ้าง ก็แล้วแต่ปี  และนาน ๆ ที จะมีน้ำท่วมใหญ่สักหน  ซึ่งคำว่า “น้ำท่วมใหญ่” คือ เมื่อวัดจากสถานี M7 บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย แม่น้ำมูลมีความลึกมากกว่า 10 เมตร ขึ้นไป  และจากการเก็บสถิติกว่า 70 ปี ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมใหญ่ไปแล้ว 6 ครั้ง  คือ

ตุลาคม   2493   สูงสุด 11.56 เมตร
ตุลาคม   2509   สูงสุด 10.79 เมตร
ตุลาคม   2521   สูงสุด 12.76 เมตร
ตุลาคม   2545   สูงสุด 10.77 เมตร
กันยายน 2562   สูงสุด 10.97 เมตร
ตุลาคม   2565   สูงสุด 11.51 เมตร

ซึ่งก่อนปี 2493 อาจมีน้ำท่วมใหญ่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีใครสามารถวัดระดับน้ำได้  และที่น่าสังเกตอีกประการ คือ นับตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขมา น้ำจะท่วมใหญ่ห่างกันมากกว่าสิบปีทั้งนั้น  มีเพียงครั้งล่าสุดเท่านั้นที่ห่างจากครั้งก่อนเพียงแค่ 3 ปี จากพายุที่เข้าโดยตรงเพียง 1 ลูก  ต่างจากครั้งอื่น ที่มีพายุหลายลูกถึงทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้  ซึ่งประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐล้มเหลว

อุทกภัยสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่เป็นผู้ประสบภัยโดยตรงและประชาชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม  ผู้ได้รับผลกระทบทางตรง พวกเขาต้องพบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่มีน้ำเป็นอุปสรรคขวางกั้น  ทั้ง เรื่องการเดินทางหรือความไม่สะดวกในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน  หรือ ลำบากขึ้นหากต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง  รวมถึงเสียทรัพย์สินที่จมน้ำหรือการลักขโมย เพราะต้องอยู่ห่างบ้าน แล้วไม่มีการป้องกันทรัพย์สินที่ดี  หรือหนักที่สุดก็อาจสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากอุบัติเหตุทางน้ำ  ถ้าเอาทั้งหมดนี้มารวมกันก็จะเกิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่ต้องมีการจ่ายเงินเยียวยา ทั้งเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและจากการเสียโอกาสในการทำมาหากินต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปีทั้งประชาชนและภาครัฐต้องเสียเงินจากสถานการณ์นี้ไปเป็นจำนวนมาก

ชีวิตหลังน้ำท่วมของกลุ่มเปราะบาง

ความเสื่อมสภาพของสมองด้านการจดจำสิ่งต่าง ๆ ทำให้ ยายยุพิน  ผึ่งมา ไม่รู้ว่าตัวเองอายุ 84 ปีแล้ว  เพราะเมื่อเราถามไปก็ตอบ ไม่รู้ ๆ อย่างเดียว แต่ในด้านความทรงจำฝังลึกนั้นยังคงดีอยู่  หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านไม้ 2 ชั้นเก่า ๆ ที่ตั้งอยู่ท้ายบ้านท่าข้องเหล็ก ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ  จ.อุบลราชธานี  สมบัติชิ้นสุดท้ายที่สร้างร่วมกันมากับสามีผู้ล่วงลับไปก่อนหน้า  ซึ่งยายยุพินตั้งใจว่าจะอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ไปจนตาย  แม้ลูกหลานญาติพี่น้องจะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันและภัยจากคนแปลกหน้า  แต่คุณยายก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไปไหน

ต้นเดือนตุลาคม 2565 น้ำเริ่มเข้าท่วมรอบบ้านของคุณยาย  และเพียงไม่กี่วันมันก็ขึ้นมาเกือบถึงพื้นบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้นับตั้งแต่ปี 2521 แต่ยายยุพินก็ยืนกรานว่าจะไม่ย้ายไปไหน แม้ต้องพายเรือเข้าออกในบ้านอย่างทุลักทุเลตลอดสัปดาห์  ลูกหลานมาขอร้องหลายครั้งให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนแต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งหมดนี้เกิดจากความเกรงใจ จนกระทั่งวันนั้นยายยุพิน กำลังจะออกไปข้างนอกในจังหวะก้มหลบขอบประตูหน้าบ้าน  น้ำหนักถูกถ่วงไปด้านข้างอย่างเสียสมดุล  เรือพลาสติกลำเล็ก ๆ ก็ล่มอยู่ในบ้าน  คุณยายตะเกียกตะกายเกาะลำเรือไว้พร้อมร้องเรียกขอความช่วยเหลือ  โชคดีเพื่อนบ้านที่กำลังเก็บของอยู่ตรงข้ามได้ยินเสียงจึงเข้าช่วยชีวิตคุณยายได้ทันกาล  นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ลูกหลานต้องพายายย้ายไปอยู่บ้านญาติก่อน

“มาได้แต่ตัวของทุกอย่างจมอยู่ใต้น้ำหมดไม่มีแรงยกขึ้น  ตอนนี้ก็น่าจะพังหมดแล้วไม่รู้จะทำยังไงเสียดายของ”

ยายยุพินพูดทั้งน้ำตา

แม้จะไม่ต้องทำอะไรเมื่อมาอาศัยอยู่บ้านญาติ  ข้าวปลาอาหารมีลูกหลานเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ  แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ยายยุพินสบายใจมากนัก  ยายยังคงนั่งรอเวลาจะได้กลับไปอยู่บ้านของตัวเองอยู่ทุกวันเช่นเดิม

ฟื้นฟูหลังน้ำลดจากอาสาสมัครพิทักษ์โลก

ดินโคลนเดินทางมาพร้อมกับกระแสน้ำ  พวกมันจะเข้าไปอยู่ในทุกอณูทุกพื้นที่ที่น้ำไปถึง  ยิ่งแช่ขังนานมันก็จะยิ่งจับตัวแน่นขึ้น  ทำให้ตอนนี้สภาพบ้านแต่ละหลังมีคราบเกรอะกรังติดอยู่สูงต่ำตามระดับน้ำที่ท่วม  โดยเฉพาะตามพื้นจะมีดินโคลนหนาต้องใช้กำลังมากในการเอาออก  ข้าวของเครื่องใช้ที่เคยแช่น้ำต้องเอามากองรวมกันเพื่อประเมินว่าอันไหนยังใช้ได้หรือต้องทิ้งไป  เครื่องทุ่นแรงและกำลังพลจึงจำเป็นมากในช่วงเวลานี้

มูลนิธิกระจกเงา  อาจเป็นที่รู้จักในเรื่องการตามหาคนหาย แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาทำงานช่วยเหลือสังคมแทบทุกรูปแบบ  ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีปี 2562  พวกเขาก็เป็นกำลังหลักในการล้างบ้านให้กับประชาชนในเขตอำเภอวารินชำราบ  และกลับมาอีกครั้งในปี 2565 เพราะน้ำท่วมหนักกว่าครั้งก่อน

“เราจะเลือกช่วยเคสที่เป็นกลุ่มเปราะบางก่อนเนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องกลับเข้ามาอยู่บ้านโดยเร็วเพราะสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในศูนย์พักพิงนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อพวกเขา  โดยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะคิดถึงบ้าน  ซึ่งอันที่จริงเราก็อยากจะไปช่วยทุกบ้านหรือให้ได้มากที่สุดแต่มันเยอะเป็นพัน ๆ หลัง   ดังนั้นเราจึงลำดับความสำคัญว่ากลุ่มไหนเปราะบางสุดเราจะเข้าไปช่วยเหลือตรงนั้นก่อน  และเช่นเคยปีนี้เราก็ได้อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาช่วยกันทำ”

สมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา

มูลนิธิกระจกเงามีบุคลากรไม่มาก  แต่พวกเขามีอุปกรณ์ทำความสะอาด  ฉะนั้นกำลังหลักก็คือคนในพื้นที่  ซึ่งพวกเขาได้อาสาสมัครที่เป็นอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาช่วยกันทำงาน

“เราจะอยู่ที่นี่ประมาณ 1 เดือนเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและกำลังคน  นอกจากนั้นยังจะช่วยหาของใช้จำเป็นมามอบให้กับชาวบ้านเพราะที่มูลนิธิมีคนบริจาคข้าวของพวกนี้มาให้เยอะและจะขอบริจาคเพิ่มจากผู้มีจิตศรัทธาซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่แต่ขอให้เป็นของที่ใช้ได้แล้วจะส่งมาให้”

ผู้เขียนเองเคยคิดว่าหลังจากที่น้ำท่วมผ่านพ้นไป  เมื่อบ้านและข้าวของเครื่องใช้แห้งก็ย้ายกลับเข้ามาอยู่ได้  แต่ที่จริงแล้วน้ำสามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะพวก โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง และอื่น ๆ ทั้งหลายที่ทำจากไม้ เมื่อน้ำเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อไม้ (ส่วนใหญ่เป็นไม้อัด) จะทำให้บวม บางอันเปื่อยผุพังต้องทิ้งไป บางชิ้นเมื่อแห้งแล้วจะบิดเบี้ยวใช้งานไม่ได้ก็ต้องทิ้งไปเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียเฟอร์นิเจอร์ไปเกือบหมด  แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือตัวบ้านที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้จะเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันนี้  หรือบางหลังแม้ทำจากคอนกรีตก็แตกหักทรุดตัวได้จากการขยายแล้วหดตัวอย่างรุนแรงของปูนซีเมนต์

“เราไม่ควรรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะต้องรอเป็นปีกว่าเรื่องจะเสร็จฉะนั้นอะไรที่ช่วยเหลือตัวเองได้ต้องทำทันที  ซึ่งจะสังเกตว่าปีนี้ชาวบ้านไม่รอให้น้ำแห้งทั้งหมดเหมือนปี 62 ค่อยมาทำ  แต่พวกเขาจะเข้ามาทำก่อนพอน้ำแห้งสนิทก็สามารถเข้าอยู่ได้ทันทีนี่เป็นประสบการณ์ของชุมชน”

สมบัติ บุญงามอนงค์ / ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา

ยายยุพินรอให้บ้านแห้งอยู่ 5 วัน ก็ได้เวลาย้ายกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน  แม้ตัวบ้านจะแห้งเกือบสนิทแล้ว  แต่บริเวณโดยรอบยังคงมีน้ำขังบ้างเล็กน้อย  เครื่องเรือนถูกน้อง ๆ ขนออกมากองไว้นอกบ้านเพื่อให้ยายเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเก็บอันไหนไว้บ้าง  นั่นยังเป็นงานหนักที่รอคุณยายอยู่

บริหารจัดการน้ำอย่างล้มเหลวทำเกษตรกรล้มทั้งยืน

พื้นที่เกือบ 8 ไร่ ถูกแปลงโฉมจากนาข้าวให้เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน  พืชพันธุ์กว่าร้อยชนิดทั้งพืชล้มลุกและไม้ยืนต้น  มีทั้งที่เป็นอาหารและเป็นยาถูกปลูกสับหว่างไปรอบ ๆ สระน้ำที่ขุดขึ้นมาใหม่   ลูกปลาหลายสายพันธุ์กว่าหมื่นตัวถูกปล่อยลงน้ำ  ใส่แหนแดงลงไปเพื่อเป็นอาหารของพวกมัน  ทุกสิ่งทุกอย่างในสวนแห่งนี้ไม่มีสารเคมีเจือปนเพราะเน้นให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเต็มรูปแบบ  นี่คือหนึ่งในความมุ่งมั่นของ พรรณี  เสมอภาค  จากเครือข่ายเกษตรทางเลือกที่ต้องการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในกลุ่มของเธอรวมถึงผู้สนใจได้มาศึกษา  เพราะหลังจากน้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี 2562 ที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตของเกษตรกรอย่างหนัก จนข้าวแทบไม่มีกิน  เมล็ดพันธุ์จะปลูกใหม่ก็ขาดแคลน  ความแร้นแค้นเกิดขึ้นในหมู่เกษตรกรที่ประสบภัยอย่างถ้วนหน้า

ปี 2563 เธอตัดสินใจเปลี่ยนนาอินทรีย์ที่ทำอยู่ก่อนแล้วให้เป็นสวนเกษตร  มีการทดลองปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลว่าพืชแต่ละชนิดทนแล้งทนท่วมได้มากแค่ไหน  ในระยะเวลา 3 ปี  พืชอายุสั้นเติบโตเต็มที่  บางชนิดผลิดอกออกผลแล้ว  ส่วนพืชที่เป็นไม้ยืนต้นก็กำลังงอกงาม

พรรณี เสมอภาค กับสภาพสวนก่อนเสียหาย

ปี 2565 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งประชาชนว่าไม่ต้องตกใจกับพายุลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึง  แม้อาจมีน้ำท่วมแต่น่าจะไม่มากเท่าปี 2562 อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป  ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่วางใจจนไม่ได้เตรียมการรับมือ  แต่สุดท้ายแม้เป็นพายุแค่ลูกเดียวแต่ระดับน้ำที่ท่วมกลับสูงกว่าปี 2562 พื้นที่ทางการเกษตรของจังหวัดอุบลราชธานีเสียหาย 3.6 แสนไร่

สภาพพื้นที่ทางการเกษตรใกล้ตัวเมืองอุบลฯ เสียหายจากน้ำท่วมปี 2565

“เราเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เมื่อปี 2562 ที่น้ำท่วมสูงแล้วแช่ขังนานผิดปกติ  จนปีนี้กลับมาท่วมอีก  ถือว่าการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลฯล้มเหลวอีกครั้ง  ความล้มเหลวเริ่มตั้งแต่การเตรียมการ การสื่อสาร การให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนกับประชาชน  มีการประเมินว่าเหตุการณ์จะไม่หนักเท่าปี 62 และน้ำจะลดลงเร็ว แต่ทุกอย่างสวนทางกับที่เขาบอกหมดเลยถือว่าเป็นความผิดพลาด หลายคนประเมินสถานการณ์ว่าหากเลวร้ายที่สุดก็น่าจะเท่าปี 62 จึงเก็บของขึ้นสูงแค่นั้น  สุดท้ายก็เสียหายหมด”

พรรณี เสมอภาค

น้ำไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนแซงสถิติปี 2562 และคงระดับนั้นอยู่นานหลายสัปดาห์  พืชในสวนของพรรณีถูกน้ำท่วมทั้งหมดและแช่ขังอยู่อย่างนั้น  พวกมันยืนต้นตายอยู่ใต้น้ำทั้งหมด

“เรายังไม่เห็นภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพูดคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว และสิ่งที่ไม่เห็นเลยก็คือจะฟื้นฟูหลังน้ำลดอย่างไรซึ่งมันมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.ส่วนที่บ้านเรือนเสียหาย และ 2.ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหาย ตอนปี 2562 ที่เสียหายมีเฉพาะพืชชั้นล่างคือต้นข้าว  แต่ปีนี้เสียหายทั้งข้าวและไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้”

แม้พืชส่วนหนึ่งได้มาจากการเป็นของฝากของเพื่อนเกษตรกร  แต่มีหลายชนิดที่ต้องซื้อและจ้างแรงงานมาช่วยปลูกบ้าง  เธอบอกว่าครั้งนี้มูลค่าความเสียหายค่อนข้างมาก  แต่นั่นก็ยังไม่เท่าความเสียหายของสภาพจิตใจที่ยังรับไม่ได้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

“เมื่อพืชผลทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรต้องเริ่มต้นปลูกใหม่ทั้งกระบวนการจึงต้องหาทุนมาผลิตใหม่  ซึ่งในปี 62 รัฐชดเชยให้เพียงไร่ละพันกว่าบาทนั่นเป็นจำนวนที่น้อยมาก  แต่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองหลวงส่งเงินมาให้  แต่พอมีโควิด-19 ระบาดกลายเป็นสถานการณ์ซ้ำเติม ทำให้น้ำท่วมปี 65 นี้เกษตรกรพากันหมดเนื้อหมดตัวจนน้ำตาร่วง”

“สิ่งที่ควรทำคือต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาคุยกันว่าจะมีแผนป้องกันและเผชิญเหตุอย่างไรทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพราะในอนาคตสภาพอากาศน่าจะแปรปรวนรุนแรงขึ้นไปอีก  ถ้าไม่คุยกันอย่างจริงจังบอกได้เลยว่าถ้ามันเกิดขึ้นอีกคนอุบลฯ ลุกไม่ขึ้นแน่นอน”

พรรณี เสมอภาค กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องน้ำท่วมต้องแก้ด้วยความรู้

เราได้ยินเรื่องน้ำท่วมเมืองอุบลฯ มาตั้งแต่เกิด เรารู้ปัญหาว่าเป็นเพราะอะไร  แต่ทำไมเราแก้ไม่ได้สักที  วันนี้ “อยู่ดีมีแฮง” มีโอกาสได้ไปคุยกับนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำมานานอย่าง ดร.สุรสม กฤษณจูฑะ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยจากโครงการวิจัย การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัย เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือ ภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี  ชื่ออาจจะยาวสักหน่อย  อยู่ดีมีแฮงจึงขอคัดย่อบทสนทนาบางส่วนมาให้ได้อ่านกันครับ

ที่มาของงานวิจัย

“หลังจากน้ำท่วมปี 62 ก็ได้รวมทีมนักวิจัยในคณะศิลปะศาสตร์หลายๆท่านมาช่วยกันทำวิจัยเพื่อฟังเสียงของชาวบ้านที่น้ำท่วม และร่วมกันหาทางออกว่าน้ำท่วมเมืองอุบลฯ จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร  เรามองไปข้างหน้าว่าพอเกิดน้ำท่วมครั้งต่อไปเราจะเตรียมพร้อมรับมือหรือว่าจะจัดการเรื่องน้ำท่วมในระหว่างที่เผชิญเหตุและหลังเผชิญเหตุอย่างไร”

สิ่งที่ค้นพบจากการเก็บข้อมูลงานวิจัย

“งานวิจัยเราทำเป็น 2 ระยะ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ถามว่าพบอะไรบ้างหนึ่งล่ะเราได้ฟังเสียงจากชาวบ้านหรือเสียงของคนต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมไม่ใช่เฉพาะชาวบ้าน จะมีทั้งหน่วยงานราชการ มีทั้งภาคเอกชน สื่อมวลชนต่าง ๆ เราได้รวบรวมเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ประสบอุทกภัยปี 2562 ซึ่งได้รวบรวมไว้ 62 คน  เพื่อมาประมวลว่าในมุมมองของคนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมมีมุมมองอย่างไร  ต่อมาเราก็ได้ประเมินถึงผลกระทบจากน้ำท่วมที่กระทบต่อครัวเรือนและชุมชนว่ามีมากน้อยเพียงใด อันนี้เป็นความอยากรู้เพราะชาวบ้านเขาได้รับเงินเยียวยาเมื่อปี 62 ทั้งจากหน่วยงานที่ได้มาซ่อมแซมบ้าน และจากคุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ อีก 5,000 บาท งานวิจัยชิ้นนี้เลยลองไปสำรวจ 1 ชุมชน คือชุมชนท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนเมืองอยู่ติดกับแม่น้ำมูล  เราพบว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชุมชนที่มีประมาณ 100-200 ครัวเรือน ประมาณ 20 ล้านบาท แต่ได้รับค่าชดเชยจริงทั้งชุมชนประมาณ 2 ล้านบาทซึ่งมีความห่างกันเยอะมาก  ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้รวมการสูญเสียอาชีพระหว่างน้ำท่วม  ความเสียหายของทรัพย์สิน เช่น ทีวี  ตู้เย็น พัดลม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งอันนี้ไม่มีการเยียวยา จะเยียวยาเฉพาะบ้านที่พังโดยมีการประเมินแล้วจ่ายชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นแถมยังได้ช้าอีก  มันจึงทำให้เห็นว่า  น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2562 นี้ยิ่งทำให้คนจนจนลงไปอีก และยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้มีมากขึ้นไปอีก”

รากเหง้าต้นทางของปัญหาน้ำท่วม

“น้ำท่วมเพราะอะไรก็เพราะน้ำมันเยอะ น้ำมีมากกว่าที่จะระบายออกได้ทัน  ซึ่งนักวิเคราะห์ที่เป็นวิศวกรก็ได้อธิบายในเชิงภูมิศาสตร์ไปแล้วว่า อุบลฯ เป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นแอ่งกระทะน้ำจากทั้งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลก็ไหลมารวมกันที่นี่อันนี้คือการวิเคราะห์แบบทั่วไป  แต่ผมคิดว่าถ้าเราจะไปให้ไกลกว่านั้น ปัญหาที่แท้จริงของน้ำท่วมก็คือ “ความไม่รู้” เราคิดว่าเรารู้เราจัดการได้ๆแต่ที่จริงแล้วเราไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ในหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม หน่วยงานราชการที่แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วมก็ไม่รู้ในบางเรื่อง”

“น้ำท่วมเมืองอุบลฯ มีสาเหตุที่ซับซ้อนและหลากหลาย เช่น 1.น้ำเยอะโดยธรรมชาติ 2.เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของภาครัฐ 3.เกิดจากการปรับพื้นที่รับน้ำไปใช้ในงานก่อสร้างอาคารหรือบ้านจัดสรร 4.ความไม่พร้อมของชุมชนในการรับมือ และยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอ ทีนี้เราก็มาแก้ปัญหาด้วยการตามแก้ทีละจุดส่วนใหญ่จะแก้ที่ปลายเหตุ  แต่จริง ๆ แล้วปัญหาน้ำท่วมมันเป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคม ฉะนั้นเราจะต้องเอาความรู้จากทุกฝ่ายมาใช้ เช่น ความรู้จากชลประทานอาจช่วยแก้ปัญหาได้ประมาณ 50% ส่วนอีก 50% ที่เหลืออาจเป็นความรู้จากชาวบ้าน ความรู้จากนักวิชาการหรือความรู้ของสื่อมวลชน  เราต้องเอามาเติมเต็มให้เป็นความรู้ชุดเดียวกันและแก้ปัญหาไปในแนวเดียวกัน  ถ้าเรายังแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างคนต่างทำแบบนี้มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้”

มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมทางออกแก้น้ำท่วม

“ที่บอกว่าเราไม่มีความรู้  ปัญหาคือเราเข้าใจตัวเองหรือเปล่าว่าเราไม่มีความรู้  ความรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมที่เรามีมันยังไม่มากพอเรายังไม่เข้าใจมัน แล้วทำอย่างไรถึงจะมีความรู้มากพอ  ผมคิดว่าไม่ใช่จากงานวิจัยหรือมอบให้ใครคนใดคนหนึ่งไปสร้างความรู้ขึ้นมา แต่ทุกคนต้องมาช่วยกันสร้างความรู้ต้องมาเติมเต็ม ในต่างประเทศเขาไม่ได้มอบหมายให้คนใดคนหนึ่งไปจัดการแก้ปัญหา  แต่เขาให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เช่น จัดเวทีพูดคุยกันเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าหลังน้ำท่วมจัดครั้งหนึ่งแล้วก็เลิกกันไปเราต้องคุยกันบ่อย ๆ แล้วหาทางออกร่วมกัน”

“มีหลายกรณีที่เราแก้ปัญหาตรงจุดหนึ่งแต่มันไปสร้างปัญหาอื่นขึ้นมาแทน เช่น การลดระดับน้ำมูลให้ต่ำลง จนสามารถรองรับน้ำที่ไหลเข้ามาเติมได้  แต่ทำแบบนั้นก็จะไปสร้างปัญหาเกี่ยวกับการผลิตน้ำประปาแทน  หรือการสร้างคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองที่บางหน่วยงานคิดว่ามันจะแก้ปัญหาได้ แต่เรายังไม่รู้เลยว่ามันจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่  ซึ่งมันอาจจะดีก็ได้  แต่ถ้าไม่ได้มันก็จะกลายเป็นตัวปัญหาใหม่เสียเอง”

“ถ้าเราไม่มีกระบวนการแบบนี้  การเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น  เพราะสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง  แต่มันคือสังคมที่มีมีการฟังเสียงทุกเสียงของคนในสังคมและสิ่งที่สำคัญคือแต่ละคนพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังกันหรือไม่  ถ้าทำได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้”

“อีกประเด็นสำคัญคิดว่าเราควรทบทวนบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา  เนื่องจากปัจจุบันเรามีปัญหาด้านสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน อุบลฯ ไม่ใช่จังหวัดเดียวที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมอีกต่อไป  แต่หลาย ๆ จังหวัดเริ่มมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นเหมือนกัน  การสร้างชุดความรู้ขึ้นมาสักชุดที่เป็นเหมือนกับคู่มือหรือเป็นแนวทางแนวปฏิบัติให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะส่งต่อความรู้เหล่านี้ได้อย่างไร อย่างเช่นบทเรียนหนึ่งของอุบลฯ อย่างเรื่องโรงครัวกลาง  เมื่อเกิดน้ำท่วมกินระยะเวลานานนับเดือนถ้าเป็นเมื่อปี 62 จะมีความโกลาหลพอสมควร  แต่สำหรับปี 65 นี้จะเห็นได้ว่ามีการจัดการที่ดีขึ้นพอสมควร  ชาวบ้านสามารถที่จะจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น”

ปัญญารวมหมู่แก้น้ำท่วม

“ปัญหาน้ำท่วมต้องใช้วิธีการแบบปัญญารวมหมู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้ความรู้ในเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องใช้ประสบการณ์ของผู้คนที่สั่งสมมา เช่น จากชาวบ้านที่เคยเผชิญหน้ากับน้ำท่วมมาอย่างยาวนาน ซึ่งพวกเขาจะรู้ดีว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ที่ผ่านมามันไม่มีเวทีที่จะให้เขาได้ส่งเสียงของตัวเอง”

“จะเห็นได้ว่าจากปี 2562-2565 ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านไปบางด้านก็ทำได้ดีขึ้น บางด้านก็แย่ลง  การพยากรณ์ก็ไม่แม่นยำพอ  การแจ้งเตือนยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบลดลง ตรงนี้คือจุดที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังจะไปข้างหน้าด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ นั้น ถ้าน้ำท่วม ปี 2566 เรายังจะเป็นแบบนี้อยู่หรือไม่ เราจะแย่ลงหรือไม่ และสิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมคือทุกฝ่ายจะต้องไม่จ้องเอาผลประโยชน์ส่วนตน  ภาพของจิตอาสาที่มาช่วยเหลือก็ถือเป็นสิ่งที่ดีแต่การแก้ปัญหาจะมาอาศัยการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือกันนั้นมันยังไม่พอ เราไปซ่อมบ้านให้เขาทุกปีก็ไม่ได้  มันต้องมีความรู้บางชุดที่เราจะตอบให้ได้ว่าคนที่อยู่ริมแม่น้ำแล้วได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะอยู่กับน้ำได้อย่างไร”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ