จังหวัดลพบุรี : วันที่ 20 เมษายน 2566 คณะทำงานสวัสดิการชุมชนจังหวัดลพบุรี ร่วมกับคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน คณะทำงานสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก จัดเวทีเรียนรู้และออกแบบการทำงานของ ‘คณะทำงานระดับโซนที่ 4’ ของกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย อำเภอชัยบาดาล อำเภอลำสนธิ และอำเภอท่าหลวง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี
ในการดำเนินการดังกล่าวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาน้อย กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และนายสำเริง วงษ์สกุล ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการชุมชนจังหวัดลพบุรี ชี้แจงวัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อนำสู่การขอรับงบประมาณสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. และดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชนต่อไป
เวลาต่อมานางสาวรัชรา เอียดศิริพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (บริหาร) ภาคกลางและตะวันตก กล่าวถึงภารกิจการทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ภายใต้หลักคิดสำคัญเพื่อให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักและพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลักในการวางแผนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของตนเองและจัดกระบวนการพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลผ่าน พอช. เช่น แผนพัฒนาชุมชน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กองทุนสวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจและทุนชุมชน เป็นต้น รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถต่อยอดในการเชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน
นายธนพล ศรีใส ผู้แทนคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่างถึงจุดเริ่มต้นการก่อเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ปี 2548 เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ผ่านการระดมทุนในลักษณะเจ้าของร่วมเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่เกิดจนตาย จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อให้เกิดระบบระดมเงินในการช่วยเหลือกันผ่านการจัดสวัสดิการชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย จนนำมาสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เป็นวาระแห่งชาติและขอรับงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนจากรัฐบาล โดยปัจจุบันสวัสดิการชุมชนได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (4) พร้อมได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการออกระเบียบว่าด้วยการสมทบงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย รวมถึงมีการผลักดันเรื่อง “พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน” เพื่อให้กองทุนมีสถานะที่เกิดการยอมรับต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบบริหารงานกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการชุมชน (SWF) ซึ่งเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วม รวมถึงในอนาคตได้วางแนวทางการต่อยอดฟื้นฟูและขยายพื้นที่นวัตกรรมสวัสดิการชุมชน การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนใหม่ รวมถึงส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีการจัดทำแผนพัฒนาตำบล (ด้านสังคม) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับสภาองค์กรชุมชนและประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วนด้วย
ในส่วนการขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดลพบุรีนั้น มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนไปแล้วจำนวน 78 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.14 ของพื้นที่ อปท. ทั้งหมด ซึ่งในส่วนกลไกการขับเคลื่อนงานมีการทบทวนคณะทำงานสวัสดิการชุมชนจังหวัดลพบุรี รวมถึงมีการแบ่งทีมทำงานระดับโซนจำนวน 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี (17 ตำบล) และอำเภอพัฒนานิคม (7 ตำบล) โซนที่ 2 จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวุ้ง (10 ตำบล) และอำเภอบ้านหมี่ (7 ตำบล) โซนที่ 3 จำนวน 4 อำเภอได้แก่ อำเภอโคกสำโรง (9 ตำบล) อำเภอหนองม่วง (6 ตำบล) อำเภอโคกเจริญ (4 ตำบล) และอำเภอสระโบสถ์ 3 ตำบล โซนที่ 4 จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชัยบาดาล (7 ตำบล) อำเภอลำสนธิ (6 ตำบล) และอำเภอท่าหลวง (6 ตำบล)
ภายหลังจากกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยของกองทุนสวัสดิการชุมชนในแต่ละอำเภอ ซึ่งได้มีการทบทวนกลไกคณะทำงานระดับโซน คัดเลือกผู้ประสานงานระดับจังหวัด และออกแบบแผนการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล เช่น การสร้างหลักคิดและเจตนารมย์กองทุนสวัสดิการชุมชน การพัฒนาศักยภาพการใช้งานระบบโปรแกรมบริหารการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการชุมชน (SWF) การพัฒนาศักยภาพคณะทำงานระดับโซน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชนระหว่างอำเภอที่มาจากการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน
รายงาน : ศรสวรรค์ เฉลียว