ดันศูนย์กระจายสินค้าชุมชน กาญจนบุรี ชง พอช.หนุนสินเชื่อเป็นทุนเคลื่อนงาน

ดันศูนย์กระจายสินค้าชุมชน กาญจนบุรี ชง พอช.หนุนสินเชื่อเป็นทุนเคลื่อนงาน

กาญจนบุรี : วันที่ 10 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุม 110 อาคารบริการวิชาการและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชกาญจนบุรี ได้มีการจัดประชุมคณะทำงานศูนย์กระจายสินค้าชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี โดยเชิญหน่วยงานภายในจังหวัดและเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกเข้าร่วม เพื่อนำเสนอแนวคิด แนวทางการจัดทำศูนย์กระจายสินค้าชุมชน และรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ปัญหาข้อติดขัด พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาและการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง

นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรีเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานเทศบาลตำบลหนองตากยา สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สำนักงานเกษตร สำนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) พร้อมกันนี้มีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่เป็นผู้แทนขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนจากจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสมุทรสาครเข้าร่วม

447407

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการประชุมหารือร่วมกันหน่วยงานในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มตัว ทั้งเรื่องการจัดทำข้อมูล จัดทำสื่อ โมเดลศูนย์กระจายสินค้า ประมวลเนื้อหาเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ หรือ บอร์ด พอช. เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของภาคประชาชน พร้อมทั้งเสนอให้ พอช. สนับสนุนงบประมาณสินเชื่อแก่ศูนย์กระจายสินค้าจังหวัด เพื่อเป็นเงินทุนดำเนินการในระยะตั้งต้น ซึ่งจากการนำเสนอแนวทางของศูนย์กระจายสินค้าชุมชน ได้รับความสนใจจากประธานบอดร์ พอช. ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมและการศึกษาความเป็นไปได้ ปัจจุบันมีผู้สนใจแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเบื้องต้น 20 กว่าตำบล แต่จากลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีประมาณ 10 กว่าตำบลที่พร้อมจะเป็นศูนย์กระจายสินค้า และ 8 ตำบล มีความพร้อมในระดับของการเป็นร้านค้าชุมชน

“เราพยายามให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของร้านค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าด้วยการระดมหุ้น ซึ่งก็พบว่าในช่วงแรกอาจจะยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือ จึงจะขอเสนอสินเชื่อจาก พอช. ซึ่งต่อไปหากเริ่มต้นได้หากเงินทุนไม่พออาจจะประสานขอความร่วมมือกับ ธกส.เข้ามาสนับสนุน เราต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยงานเพื่อมาหนุนเสริมตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน วันนี้พี่น้องเกษตรกรทำได้ 2 อย่าง คือ การเป็นผู้ผลิตและบริโภคปลายทาง แต่ผลกำไรเราให้คนอื่นไปหมด ทำอย่างไรที่จะให้เราเป็นเจ้าของตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย โดยทุกคนเป็นเจ้าของร่วมด้วยการเข้ามาถือหุ้น และวันนี้ได้เชิญผู้แทนจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าร่วมด้วย เนื่องจากจะมีการดำเนินการพื้นที่นำร่องที่จังหวัดกาญจนบุรีในปีนี้ หากสำเร็จปีหน้าจะขยายผลไปยังจังหวัดข้างเคียงและภูมิภาคอื่นต่อไป”

447404

นางสาวรัชรา เอียดศิริพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (บริหาร) สำนักงานภาคกลางและตะวันตกกล่าวว่า ศูนย์กระจายสินค้าเป็นเรื่องใหม่ที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนคิดขึ้น และมีการเสนอขอสินเชื่อหรือการร่วมลงทุนในลักษณะของการลงหุ้น โดยปกติสถาบันฯ มีสินเชื่อเรื่องการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเมื่อมีการนำเสนอเข้าบอร์ด พอช. ประธานบอร์ดได้ให้ความสำคัญที่พี่น้องจะมีระบบเศรษฐกิจของตัวเอง แต่ในทางปฏิบัติ พอช.ยังไม่เคยสนับสนุนในเชิงการลงทุนในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น จึงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมว่าพี่น้องทำศูนย์กระจายสินค้าจะมีระบบแนวทางอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้มีการสนับสนุนช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยยึดหลักแบบองค์รวมหรือบูรณาการ และหลักการพัฒนาสมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการพัฒนาด้วยตนเอง มีเจตนารมณ์สำคัญที่มุ่งเน้นให้ “ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเอง และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน” โดยสถาบันฯ มีฐานงานที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน ที่สำคัญ คือ 1) ฐานระบบการเงินและทุน เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การสนับสนุนระบบสินเชื่อเพื่อการพัฒนา การบูรณาการกองทุน การแก้หนี้นอกระบบ และสถาบันการเงินชุมชน 2) ฐานการพัฒนาอาชีพ รายได้ เช่น การส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ การจัดตั้งธุรกิจชุมชน-วิสาหกิจชุมชน การจัดทำแผนชุมชน ระบบการผลิต และเกษตรยั่งยืน เป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐบาลมียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เน้นตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมอีกด้วย

“จากการหารือกับผู้นำและการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่า โดยในเบื้องต้นได้มีการประมาณการคร่าวๆ จะมีการเสนอสินเชื่อประมาณ 4,000,000 บาท ดำเนินการใน 2 ศูนย์นำร่อง คือ ที่ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค และตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน ซึ่งจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับจังหวัดทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้ ต่อจากนี้ยังมีเนื้องานที่ต้องไปทำต่อ อาทิ การออกแบบอาคารร้านค้า การคำนวณต้นทุนของศูนย์กระจายสินค้าโดยละเอียด การรวบรวมข้อมูลผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การรวบรวมแหล่งข้อมูลให้กับชาวบ้านในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าของตนเอง การติดต่อขอข้อมูลจากโรงงานสำหรับบรรจุสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบห้องเก็บสินค้า การแบ่งประเภทสินค้า การวางแผนการตลาดจนถึงการควบคุมสต๊อกสินค้าสำหรับวางจำหน่าย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการหรือผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน นอกจากจะเป็น พอช.หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนบุคลากร องค์ความรู้เชิงวิชาการในการขับเคลื่อนงาน การออกแบบโลโก้ สื่อประชาสัมพันธ์ ธกส. สนับสนุนเงินทุนหรืองบประมาณโครงการต่อยอดในระยะต่อไป สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด ในด้านการขอใช้พื้นที่สำหรับร้านค้าชุมชนหรือศูนย์กระจายสินค้า เนื่องจากหลายชุมชนอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. สำนักงานเกษตร สำนักงานพัฒนาชุมชน เรื่ององค์ความรู้และงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนงบประมาณ การบรรจุเข้าแผน เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานเสนอให้มีการจัดทำแผน เพื่อนำบรรจุเป็นแผนของหน่วยงาน จึงจะสามารถสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานในระยะต่อไปได้

447405
443239

รายงาน : เรวดี อุลิต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ