เยอรมัน แชมป์บอลโลก 2014 กับ “การจัดการที่ดิน” ตอนที่ 1

เยอรมัน แชมป์บอลโลก 2014 กับ “การจัดการที่ดิน” ตอนที่ 1

20141607114928.jpg

โดย : ธิวัชร์ ดำแก้ว

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของแฟนบอลชาวเยอรมัน(อาจบวกด้วยคนไทยที่เชียร์เยอรมันด้วย) หลังทีมอินทรีเหล็กคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ผมก็เกิดความสงสัยว่า ประเทศที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก มีการบริหารจัดการในสังคมกันอย่างไร มีสภาพสังคมเป็นอย่างไร คนเยอรมันเป็นอย่างไร แน่นอนว่าอาจจะแปลกกว่าเรื่องที่คนอื่นสนใจกัน แต่ผมก็คิดว่าประเด็นเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่นๆเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการที่ดิน  ท่านรู้หรือไม่ว่า ประเทศอย่างเยอรมัน เขาจัดการที่ดินกันอย่างไร ?

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The Federal Republic of Germany) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป มีพื้นที่รวมทั้งประเทศ 347,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยมลรัฐ 16 แห่ง เรียกว่า Lander มีประชากรประมาณ 82 ล้านคน มีรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือที่เรียกว่า กฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ประกาศวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1949 นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวได้ 65 ปีแล้ว

ข้อมูลดังกล่าวก็คงเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานธรรมดาเท่านั้น หากแต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ “แนวคิดและระบบในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศแชมป์ฟุตบอลโลกแห่งนี้” ก่อนอื่นเพื่อที่จะให้ง่ายต่อการเข้าใจ  ผมจะแสดงหลักการสำคัญพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ในเยอรมันเรียกกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยใช้คำว่า Grund gesetz หรือ Basic Law ในภาษาอังกฤษ) ในรัฐธรรมนูญของเยอรมัน มาตรา ๑๔

สิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการรับมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สภาพและขอบเขตของสิทธิให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การมีทรัพย์สินย่อมมีหน้าที่ด้วย การใช้ทรัพย์สินควรจะกระทำในลักษณะเพื่อส่วนรวม

การเวนคืนจะกระทำได้ก็แต่เพื่อส่วนรวม การเวนคืนจะกระทำได้ก็แต่โดยกฎหมาย ใช้อำนาจกระทำได้ หรืออาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งบัญญัติถึงลักษณะและขอบเขตค่าชดเชยด้วย การกำหนดค่าชดเชยนั้น ให้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ และผลประโยชน์ของผู้เสียหาย ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันในเรื่องค่าชดเชยให้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมได้

จากหลักการขั้นต้นดังกล่าว สาระสำคัญในวรรคที่ 2 ของมาตรา 14 ในรัฐธรรมนูญของเยอรมันมีความเกี่ยวพันและก่อให้เกิดความเกี่ยวโยงทางสังคมกับสิทธิในทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ทั้งนี้หมายความว่าทรัพย์สินไว้ในวรรคสองของมาตราเดียวกัน “ทรัพย์สินก่อให้เกิดหน้าที่ การใช้สอยทรัพย์สินต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” หมายความว่า สิทธิในการจัดการทรัพย์ สินของเอกชนได้ ถูกจำกัดไว้โดย “ประโยชน์ของคนทั้งชาติ” (commonweal) ซึ่งมีผลทำให้สิทธิในทรัพย์สินได้สูญเสียความสำคัญและหมดสภาพของการเป็นสิทธิสูงสุดและเด็ดขาดและเป็นที่ยอมรับกันว่าสิทธิในทรัพย์สินที่ไม่มีเงื่อนไขและละเมิดมิได้ นั้นไม่สามารถเป็นไปได้อีกต่อไปในความเป็นจริง

การใช้สอยทรัพย์สินของเอกชนต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและไม่ไปกระทบต่อประโยชน์ของเอกชนอื่น รัฐมีความชอบธรรมในอันที่จะจำกัดสิทธิในทรัพย์สินผ่านทางบทบัญญัติแห่งกฎหมายและสร้างความสมดุลของสิทธิในทรัพย์สินเข้ากับประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีการจัดรูปที่ดินในการพัฒนาเมือง โดยเริ่มต้นเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติ “Lex Adickes” (Law Concerning Land Transfer) เมื่อ พ.ศ. 2445 ณ เมือง Frankfurt กฎหมายนี้นับเป็นต้นแบบของการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาเมืองที่ประเทศต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น ในปัจจุบันประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมีระยะถนนมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนความยาวถนน 1.9 กิโลเมตรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร บ้านเมืองเป็นระเบียบสวยงาม และเป็นเมืองหนึ่งที่มีพื้นที่ส่วนสาธารณะมากที่สุดอีกด้วย องค์กรรับผิดชอบในการปฏิบัติได้แก่หน่วยงานรัฐบาลทั้งระดับรัฐ (state) ระดับจังหวัด, ระดับท้องถิ่น (Local Government) และหน่วยงานด้านการพัฒนา

ประเทศเยอรมัน ดําเนินการจัดรูปที่ดินเกษตรในเขตเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยความร่วมมือของเจ้าของที่ดิน ในการเป็นที่ดินส่วนหนึ่งและนํามาวางผังจัดรูปที่ดินใหม่พร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่โครงการ ภายหลังเมื่อจัดรูปแปลงใหม่แล้ว จะมีการจัดแบ่งให้เจ้าของที่ดินอย่างเหมาะสม ซึ่งได้ประโยชน์ทังเจ้าของที่ดินและหน่วยงานทองถิ่นที่ดำเนินการจัดรูปที่ดิน

นี้คือภาพย่อๆของการจัดการที่ดินของประเทศเยอรมัน ประเทศที่เพิ่งได้แชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ไปครอง ความสำเร็จของฟุตบอลเยอรมันอาจมีตัวชี้วัดคุณภาพของความสามารถในการเล่นเป็นทีมในสนามให้แฟนบอลทั่วโลกได้เห็นแล้ว แต่การเป็นชาติที่มักทะลุเข้าถึงรอบท้ายๆ ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลยูโร อาจเป็นตัวชี้วัดที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และความสำเร็จใน การจัดการการอยู่ร่วมกัน สร้างความสมดุลของสิทธิในทรัพย์สินเข้ากับประโยชน์สาธารณะ การใช้ทรัพยากรร่วมกันในสังคม อย่างเท่าเทียม

ท่านผู้อ่านอาจตั้งคำถามว่าประเทศที่จัดการที่ดินแย่ๆ แบบบราซิลก็เคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกเหมือนกัน คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่ตอนต่อไปครับ ผมจะฉายภาพรายละเอียดตัวเลขต่างๆ ให้เห็นความสำคัญของการจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เยอรมันนั้นต่างจากบราซิลชนิดที่เรียกว่าห่างชั้นกันแบบผลการแข่งขันที่เยอรมันชนะบราซิล 7-1  ในรอบรองชนะเลิศ

ไม่แน่ว่าความฝันที่พี่ไทยเราจะไปบอลโลกกับเขา บางทีอาจจะต้องเริ่มด้วยการที่รัฐไทยต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการที่ดินอย่างจริงจังเสียที

อ้างอิง

  1. รัฐธรรมนูญสหพันธ์รัฐเยอรมัน
  2. นัยนา เกิดวิชัย, รายงานการวิจัยการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐเวนคืนจากประชาชน,(กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549)
  3. การจัดรูปที่ดินในต่างประเทศ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ