สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ข้าพเจ้าคงไม่อ้างถึงอะไรก็ตามที่เป็นบทบัญญัติถึงเสรีภาพทางวิชาการ เพราะเป็นหลักสากลที่เขาปฏิบัติกันทั่วโลก แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำกับข้าพเจ้านั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ การอ้างเพียงแต่ความมั่นคงและต้องรายงานนาย แต่กระทำการข่มขู่ คุกคาม โดยไม่ได้แสดงตัวและไม่จริงใจที่จะเข้ามาพบปะพูดคุยกันก่อน เป็นเรื่องของการไร้มารยาทและขาดจิตวิทยาทางสังคมของเจ้าหน้าที่อย่างร้ายแรง การใช้คำพูด การแสดงท่าที รวมถึงทัศนคติต่อนักศึกษา ชาวบ้าน และข้าพเจ้า ไม่มีความเป็นกัลยาณมิตร มองเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรู เป็นพวกปลุกระดมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเช่นนี้กันทั้งประเทศ ประชาชนจะมีความสุขได้อย่างไร ประเทศชาติจะมั่นคงได้หรือ?
ข้าพเจ้าเพียงไปเก็บข้อมูลตามแผนดำเนินการวิจัยที่ได้กำหนดเอาไว้นานแล้ว เป็นประเด็นวิจัยเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาวะ โดยเฉพาะเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจและการพึ่งตนเองของชุมชน เพื่อที่จะให้ชุมชนได้ตระหนักถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจของตนเอง การพึ่งพาสินค้าต่างๆ จากภายนอก สัดส่วนที่ชุมชนผลิตได้เอง รูปแบบการใช้ฐานทรัพยากรของชุมชน และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลวางแผนร่วมกันของชุมชนในการแก้ปัญหาและทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งในอนาคต
งานวิจัยนี้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ข้าพเจ้าได้พานักศึกษาลงไปเรียนรู้ชุมชน ให้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเทคนิควิธีการในการเก็บข้อมูลในชุมชนโดยการสัมภาษณ์ ภายใต้รายวิชาที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นภัยต่อความมั่นคงแต่อย่างใด หรือว่าการที่ชุมชนพึ่งตนเองได้นั้น มันกระทบความมั่นคงของใคร? เหมืองแร่จะเกิดหรือไม่เกิด ชุมชนก็ต้องพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเขา ไม่เห็นจะเป็นเรื่องเสียหาย ข้าพเจ้ากลับมองว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก
พื้นที่เหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งก็จริง แต่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรง และชุมชนที่นี่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายตลอดมา ไม่ว่าจะผ่านรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ การต่อสู้ของชุมชนที่ห่วงกังวลว่าตนเองอาจจะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านตนเองเป็นความชอบธรรม เพราะเหมืองแร่จะไปชอนไชใต้ถุนบ้านเขาซึ่งจะมีการขุดแร่ในพื้นที่หลายหมื่นไร่นั้น เป็นใครก็ต้องวิตกกังวลและย่อมไม่ผิดที่เขาจะคัดค้านโครงการ
และที่ผ่านมาไม่ได้มีแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่เข้าไปทำงานวิชาการในพื้นที่ชุมชนเหล่านี้ ตลอดช่วงเวลาที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันคัดค้านเหมืองแร่มา 15 ปี มีนักวิชาการ นักศึกษา ได้มาศึกษาดูงาน ทำวิจัย ฝึกงาน บ่มเพาะประสบการณ์ด้านสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมฯ มากมาย เฉพาะงานวิจัยน่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 เรื่อง ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต หรือจบด๊อกเตอร์ไปก็หลายคน ก็ไม่เห็นว่าจะเกิดปัญหาอะไร
มีเพียงช่วงปีกว่าๆ มานี้เองที่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านถูกปิดกั้นเสรีภาพในการเรียกร้อง การแสดงออกและการมีส่วนร่วมฯ ด้วยรัฐบาลทหารประกาศ คำสั่งต่างๆ รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้ามาสอดแนมและคุกคามชาวบ้านจนไม่เป็นปกติสุข คนของบริษัทนายทุนเหมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ล้วนเป็นเสมือนพวกเดียวกันที่คอยรายงานการเคลื่อนไหวต่างๆ นานาของกลุ่มที่คัดค้านโครงการต่อผู้บังคับบัญชา จนชาวบ้านรู้สึกถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ความเครียด ความกดดันและความรู้สึกถึงความไม่พึงพอใจเจ้าหน้าที่รัฐจึงมากมายเป็นเท่าทวี นี่หรือคือการคืนความสุขให้ประชาชน
นอกจากนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้ออกระเบียบเรื่องการประชาคมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหม่ ให้เป็นเพียงการชี้แจงข้อมูลโดยไม่ต้องลงมติ และไม่ต้องประชาคมทุกหมู่บ้านในเขตเหมือง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ในค่ายทหาร มีเป้าหมายชัดว่าจัดให้ผ่านๆ ไป สักแต่ว่าได้จัดโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระหรือไม่สนใจว่าใครจะเข้าร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คุ้มกันอย่างแน่นหนาและเข้มงวด เพื่อที่จะดำเนินการให้ได้ด้วยความเรียบร้อย และในขั้นต่อไปก็จะเป็นการขอมติจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคงตามมาด้วยการอนุญาตประทานบัตร หรือการออกใบอนุญาตประกอบการแก่นายทุนในที่สุด คงเป็นการคืนความสุขให้นายทุนอย่างน่าภาคภูมิใจ
เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมของนโยบายเหมืองแร่ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ทุกรัฐบาลล้วนอยากให้มีการทำเหมืองแร่ แต่รัฐบาลนี้ ส่งเสริมสนับสนุนกิจการเหมืองแร่อย่างมัวเมาและบ้าคลั่ง โครงการเหมืองแร่โปแตชซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะภาคอีสานเท่านั้น กำลังสำรวจและยื่นขอประทานบัตรหลายโครงการ คงทยอยได้รับอนุญาตไปเรื่อยๆ ตามแผน น่าจะมีถึง 10 เหมือง ในพื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่ ผลิตแร่โปแตชปีละ 10 ล้านตัน (ทั้งๆ ที่ความต้องการภายในประเทศมีแค่ 8 แสนตัน) มีกากขี้แร่ที่เป็นเกลือเค็มๆ ปนเปื้อนสารเคมีเกิดขึ้นอีกประมาณปีละ 20-30 ล้านตัน และทั้งหมดเป็นเหมืองแร่ใต้ดินที่ตามกฎหมายแร่สามารถชอนไชใต้ถุนบ้านใครก็ได้ถ้ารัฐให้สัมปทานในเขตพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบ้านชาวบ้าน บ้านเศรษฐี วัด โรงเรียน ส่วนราชการ โรงพยาบาล หรือแม้แต่ค่ายทหาร สามารถมุดไปชอนไชเอาแร่ได้หมด
กฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาได้ผ่าน ครม. ไปแล้ว กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นคาดว่าจะผ่านการพิจารณาโดย สนช. และประกาศใช้ในที่สุด กฎหมายฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาสาระที่แย่กว่าเดิมเสียอีก เพราะการประกาศเขตเหมืองแร่และการทำเหมืองแร่สามารถทำได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่อนุรักษ์ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติ รวมถึงส่วนราชการสามารถทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในขั้นตอนการประกาศเขตเหมืองแร่ได้เลย โดยที่ภาคเอกชนที่จะมาขอทำแร่ไม่ต้องทำรายงาน EIA ในขั้นตอนขออนุญาตอีก เรียกได้ว่าเอื้ออำนวยประโยชน์กันอย่างที่สุด
ตอนนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่จะดำเนินการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และชุมชน รัฐมีนโยบายที่สวนทางกับสถานการณ์ปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ที่เหมืองทองคำที่จังหวัดเลยและพิจิตร ก็เต็มไปด้วยสารพัดปัญหาทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐเข้ามารับผิดชอบดำเนินการแก้ไข หรือแม้แต่จะกล้าชี้ชัดลงไปว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากเหมือง
ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพัฒนาที่พึ่งพาการขุดหาของเก่ามาขายกินนั้นมันจะเป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์อะไร เพราะมันไม่ต้องใช้สมอง ปัญญาหรือความเก่งกาจล้ำเลิศอะไรเลย ของที่อยู่บนดิน คือ แผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ไพศาลอย่างประเทศไทยที่ใครๆ ในโลกก็อยากจะครอบครองนั้น ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าสามารถทำมาหากินและสร้างสรรค์มูลค่าและคุณค่าได้อีกมากมายมหาศาลจวบจนชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืน ถ้าผู้กำหนดนโยบายใช้ปัญญาให้มาก ใช้อำนาจให้น้อย และรับฟังคนอื่นให้มากขึ้น
ข้าพเจ้าคงคาดหวังมากเกินไปที่คิดว่าบรรษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายจะรู้สึกอับอายและไม่ภาคภูมิใจกับการได้รับสิทธิประโยชน์ หรือการอนุมัติอนุญาตต่างๆ จากรัฐ โดยอาศัยอำนาจ กฎหมาย กลไกที่ไร้ความยุติธรรม ย่ำยีชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคน เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณใช้วิถีทางที่ไม่มีธรรมาภิบาลมาตั้งแต่ต้น แล้วจะอยู่ร่วมกับชุมชนไปอย่างราบรื่นและมีความสุขกันทุกฝ่ายได้อย่างไร
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขเลย ไม่คิดว่าประชาชนจะมั่งคั่ง ประเทศชาติ หรือภาคอีสานจะมั่นคงยั่งยืนอะไรเลยจากธุรกิจขุดหาของเก่าขาย และคงมีคนอีสานอีกหลายล้านคนที่รู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ฝักใฝ่ หรือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มใด เป็นเพียงนักวิชาการธรรมดา ทำหน้าที่ตามปกติ คือ สอน วิจัย บริการวิชาการ แต่จะให้วางตัวเป็นกลางและวางเฉยแบบไม่รู้สึกรู้สาปัญหาของชาวบ้าน คงทำแบบนั้นไม่ได้…
17 กันยายน 2558