ปกรณ์ อารีกุล
เมื่อวานนี้ หน้าเฟซบุ๊กของผู้เขียน เต็มไปด้วยข่าว “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเคาะ 200 ส.ว. มาจากสรรหา” ถูกแชร์โดยเพื่อนมิตรทั้งในทำนองมอบดอกไม้และปาก้อนหินแก่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อกดเข้าไปอ่านในเนื้อข่าวก็พบว่า โดยสรุป หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนไม่เกิน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หรือการสรรหา จากบุคคล 5 กลุ่ม และดำรงตำแหน่งวาระ 6 ปี และห้ามเป็นติดต่อกัน 2 วาระ
ส่วนจะสรรหากันแบบไหน อย่างไร ลองเข้าไปอ่านต่อที่ ประชาไท (คลิกอ่าน) แล้วกันนะครับ
เพราะประเด็นที่ผมสนใจ คือการที่ดูเหมือนจะมีเพื่อนมิตรไม่น้อย พอใจกับการที่เราจะมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยเหตุผลเรื่องความโปร่งใส ป้องกันนักเลือกตั้ง นักการเมืองชั่ว และคนดีจะได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.ในการตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมายของบ้านนี้เมืองนี้
ผมจึงสงสัยว่า ทำไมเพื่อนมิตรถึงรู้สึกเช่นนั้น ก็ในเมื่อเราเคยมีคน (ที่คาดว่าน่าจะ) ดี มากมายชนะการเลือกตั้ง ส.ว.จากประชาชนโดยตรง เช่น คุณแก้วสรร อติโพธิ คุณเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพมหานคร คุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่น่าจะดูขยันขันแข็งที่สุดในบรรดา กสม.ก็ชนะเลือกตั้งเป็น ส.ว.อุบลราชธานี คุณปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพระราชดำริหลายโครงการก็เคยเป็น ส.ว.กรุงเทพมหานคร ทุกท่านล้วน เป็น ส.ว.ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ทั้งสิ้น
จะว่าไปแล้วการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรงทั้งหมด เมื่อปี 2543 ทำให้เราได้พี่ๆ ในวงการพัฒนา วงการ NGO หลายคนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เรามี ‘คนดี’ มากที่สุดช่วงหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐจากกระบวนการเลือกตั้ง (ผมแปะชื่อไว้ข้างล่างบทความนี้แล้วครับ)
ส.ว.เลือกตั้ง คนหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือคุณมาลีรัตน์ แก้วก่า ส.ว.สกลนคร ท่านเป็น 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 พี่มาลีรัตน์ยังเคยเป็นอดีต ส.ส.สกลนคร พรรคชาติพัฒนา เมื่อปี 2538 หลังจากแพ้การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นหลายครั้ง อันนี้ต้องนับถือในจิตใจของพี่มาลีรัตน์นะครับ หลังจากนั้นแกก็มา เป็นแกนนำพันธมิตรคนหนึ่ง ที่นำมวลชนโค่นล้มระบบทักษิณเมื่อปี 48-49
วาทกรรมอย่างหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมในการปฏิเสธไม่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือการกลัวว่าพวกนักการเมืองที่เคยเป็น ส.ส. หรืออกหักจากการเป็น ส.ส. จะเปลี่ยนสนามข้ามฟากมาเล่นการเมืองในสภาสูง เรื่องนี้พอมันเกิดขึ้นกับพี่มาลีรัตน์ เรากลับไม่ใช้วาทกรรมนักการเมืองชั่วมาสวมใส่เป็นอาภรณ์ให้พี่มาลีรัตน์ นั่นเพราะว่าเราเชื่อว่าพี่มลีรัตน์เป็นคนดี
ประเด็นก็คือว่า เห็นมั้ยล่ะครับว่าคนดี ก็เคยเป็น ส.ส. ได้ คนดีแบบ คุณแก้วสรร ก็เคยเป็น ส.ว.เลือกตั้งได้ คนดีแบบพี่มาลีรัตน์ แก้วก่า ก็เคยเป็น ส.ส. แล้วมาเป็น ส.ว. ต่อได้
นั่นหมายความว่า ‘ระบบเลือกตั้ง’ เป็นระบบที่น่าจะทำให้คนดีมีโอกาสเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนได้ ใช่หรือไม่
โอเคครับ อย่าพึ่งสรุปตามที่ผมเขียน ลองใคร่ครวญ หยุดหายใจก่อนสักหน่อย ก่อนอ่านย่อหน้าต่อไป
หลายคนอาจโต้แย้งว่า การเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2543 นั้น เป็นการเลือกตั้ง ก่อนที่ระบบทักษิณจะสถาปนาขึ้นมาจนทำลายการเลือกตั้งทุกระดับ ให้เต็มไปด้วยความฉ้อฉลหม่นหมอง เป็นเรื่องสกปรกที่นักการเมืองเลวๆ เขาลงไปทำกัน
แต่สนามเลือกตั้ง ส.ว.อันคาวคลุ้ง เมื่อปี 2551 หลังระบบทักษิณถูกสถาปนาก็ทำให้เราได้นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานคนสำคัญ อย่างคุณรสนา โตสิตระกูล ซึ่งชนะเลือกตั้ง ส.ว. ที่กรุงเทพมหานคร เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง จนมีผลงานการตรวจสอบรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงพรรคเพื่อไทยมากมาย
สนามเลือกตั้ง ส.ว.อันคาวคุ้งนี้ เรายังมีคุณป้าสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เลือกตั้งจากเพชรบุรี อดีตครูและผู้บริหารโรงเรียน ผู้ที่เป็นหนึ่งในสมชิกกลุ่ม 40 ส.ว. เช่นเดียวกับทนายสาย กังกเวคิน ส.ว.เลือกตั้งจาก จ.ระยอง
ผมว่าการที่รัฐธรรมนูญปี 50 ลดจำนวน ส.ว.ลงเหลือเพียง 150 คน และมาจากการเลือกตั้งเพียง 76 คน นั้นทำให้คนดี มีโอกาสน้อยลงที่จะเสนอตัวไปให้ประชาชนเลือกตนเข้าไปทำหน้าที่สภาสูงด้วยซ้ำ
ต่อเนื่องมาถึงการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อปี 2557 เรายังคงเห็นชื่อคนดี เข้าป้ายมาวินในสภาสูง เช่นคุณหญิงเป็ดดร.จารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กรุงเทพ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ว่าการ สตง. เป็นอดีตกรรม คตส.หรือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่ง คมช.ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 ทั้งยังเป็นหนึ่งในลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่คุณหญิงเป็ดก็ยังสามารถกลับมาลงเลือกตั้งจนชนะในอีก 8 ปี ให้หลังได้
หรือแม้แต่พี่บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรสงคราม นักกิจกรรมด้านสิทธิผู้บริโภค ก็ยังคงฝ่าฟันสนามการเลือกตั้งอันสกปรกเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้
น่าเสียดายที่ ส.ว.คนดี จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ได้ทำหน้าที่เพียงไม่กี่เดือนก็มีอันเป็นไปจากคนดีอีกกลุ่มนาม นามว่า คสช. ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ จันทรโอชา เข้ามาสัมปทานความดีไว้เพียงหนึ่งเดียว
ไม่งั้นเราคงได้เห็นผลงานของทั้งคุณหญิงเป็ดและพี่บุญยืนในการทำงานตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทยอย่างแน่นอน
อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่าน อย่าพึ่งได้ตัดสินว่าผมกำลังประชดประชันวาทกรรม ‘คนดี’ ของคนบางกลุ่มบางพวกนะครับ หรือต่อให้ผู้เขียนมีเจตนาประชดซ่อนลึกอยู่ก้นบึ้งหัวใจ ก็ขออย่าได้ถือสาหาความ ผมเพียงแต่ชวนคิดว่าเวลาเราวิจารณ์อะไรสักอย่างนั้น เราควรลงลึกไปที่ปัญหาเชิงระบบของมัน มากกว่าเรื่องของบุคคล
#การเลือกตั้ง ส.ว.ก็เช่นกัน
25 ส.ว. ที่คุณอาจยังไม่รู้ว่า เขามาจากการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเมื่อปี 2543 (ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด)
แก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพมหานคร (ขึ้นเวทีพันธมิตรและกปปส.)
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา (ลูกชายพลเอกชาติชาย)
จอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กรุงเทพมหานคร (นักกิจกรรมทางสังคม)
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพมหานคร (ขึ้นเวทีพันธมิตรและกปปส.)
ดำรง พุฒตาล ส.ว.กรุงเทพมหานคร (ผู้ก่อตั้งหนังสือคู่สร้างคู่สม)
เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย (นักพัฒนาเอกชน)
ทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม (อดีตทนายความ)
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี (กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
พลต.อ. ประทิน สันติประภพ ส.ว. กรุงเทพมหานคร (อดีตแกนนำพันธมิตร)
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ส.ว.กรุงเทพมหานคร (NGO ด้านช่วยเหลือเด็ก)
ปราโมทย์ ไม้กลัด ส.ว.กรุงเทพมหานคร (อดีตอธิบดีกรมป่าไม้และรับผิดชอบโครงการพระราชดำริหลายโครงการ )
พิเชฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีม (อดีตแกนนำพันธมิตร)
มาลีรัตน์ แก้วก่า ส.ว.สกลนคร (อดีตแกนนำพันธมิตร อดีต สส.สกลนคร 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516)
ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ส.ว.ขอนแก่น (นักสังคมสงเคราะห์)
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กรุงเทพมหานคร (ครูหยุย)
สมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรี (ขึ้นเวทีกปปส.)
สมบูรณ์ ทองบุราณ ส.ว.ยโสธร (อดีตแกนนำพันธมิตรและขึ้นเวทีกปปส.)
การเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2551
รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร (นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน)
สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี (อดีตครูและผู้บริหารโรงเรียน )
สาย กังกเวคิน ส.ว. ระยอง (อดีตทนายและภาคประชาสังคมจ.ระยอง)
เลือกตั้งปี 2557 (เลือกตั้งเดือนมีนาคม เกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม)
ดร.จารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กรุงเทพ (อดีตผู้ว่าการสตง.อดีตกรรมคตส.)
บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรสงคราม (นักกิจกรรมด้านสิทธิผู้บริโภค)
ดร.อภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่ (นักพูด นักจัดรายการ)
ที่มา:
ประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2015/02/5810
เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย http://goo.gl/FOHGJa