เปิดรายละเอียดและวิเคราะห์รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

เปิดรายละเอียดและวิเคราะห์รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

20151102113729.jpg

เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการเปิดรายละเอียดและวิเคราะห์รายงาน EIA หรือการจัดทำข้อเสนอต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558) เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการเปิดรายละเอียดและวิเคราะห์รายงาน EIA หรือการจัดทำข้อเสนอต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสาระสำคัญของการเสวนาว่าด้วย “ความล้มเหลวของรายงาน E(H)IA ถ่านหินกระบี่”  และว่าด้วย “ทางรอดกระบี่”

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน 2557 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหินบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ ครั้งที่ 3 เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากการจัดเวทีครั้งที่ 1 และ 2 ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก  บรรยากาศในเวทีครั้งที่ 3 ที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยความตึงเครียด มีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายร้อยนายเข้ามารักษาความสงบในเวที ขณะที่ชาวบ้านซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการก็ไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นภายในห้องประชุมได้เนื่องจากพื้นที่เต็ม จึงต้องรวมตัวกันบริเวณปากทางเข้าเวทีเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้าน

โครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหิน บ้านคลองรั้ว ถูกวิพากย์อย่างหนักจากภาคประชาชน เนื่องจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากน้ำกระบี่ที่เป็นแรมซาร์ไซต์ และยังเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อันเป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่ถูกคุกคามนานาชนิดชาวบ้านในพื้นที่รวมไปถึงเครือข่ายนักวิชาการจึงมีความกังวลกันว่า หากมีการขนถ่านหินในพื้นที่นี้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติของคนและสัตว์ และจะกระทบต่อภาคประมงรวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวกระบี่

สำหรับการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการนี้ได้เสร็จสิ้นลงและกำลังถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณางาน (คชก.) ภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาจจะถูกยกขึ้นมาพิจารณาเป็นครั้งแรกภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

แม้ว่าขนาดของโครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหิน บ้านคลองรั้ว จะไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ก็ตาม แต่กฟผ.ได้ให้คำมั่นว่าจะทำรายงาน EIA ของโครงการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อประโยชน์ของการศึกษาและสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

สำหรับกำหนดการเสวนา มีรายละเอียดคือ

8.45-9.00 น.  รับชมวีดีทัศน์  เปิดงานโดย นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูป- ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

9.00-10.30 น. ภาค 1 ว่าด้วย “ความล้มเหลวของรายงาน E(H)IA ถ่านหินกระบี่”

“ใต้ทะเลกระบี่ จุดบอดเส้นทางถ่านหิน  โดย  ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“มลพิษแห่งมรกตอันดามัน”โดย  ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา

“หายนะของถ่านหินกระบี่ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”   โดย รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“คุณภาพรายงานฯกับมาตรฐานที่ต่ำเกินจริง   โดย  ณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร   อดีตนักวิชาการของคณะกรรมการ องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

10.30-10.40 น. พักรับประทานอาหารว่าง

10.40-12.00 น. ภาค 2 ว่าด้วย “ทางรอดกระบี่” 

“Green Energy & Green Tourism บนจุดเปลี่ยนถ่านหิน”  โดย อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“พลังงานหมุนเวียนกระบี่ ทางเลือกที่ขาดหาย” โดย ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

“ถ่านหินกระบี่กับวาระสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ” โดย จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ

“กระบวนการยุติธรรมกับความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม” โดย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ดำเนินรายการโดย จิตติมา บ้านสร้าง ผู้ชำนาญการอาวุโสงานแผนและยุทธศาสตร์ข่าว- ไทยพีบีเอส และที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก GREEN PEACE

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ