ย้อนรอยคดีอ่าวมาหยา กับข้อกล่าวหา ‘The Beach’ ทำอ่าวมาหยาพัง ?

ย้อนรอยคดีอ่าวมาหยา กับข้อกล่าวหา ‘The Beach’ ทำอ่าวมาหยาพัง ?

อ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อ่าวมาหยาได้ชื่อว่าอ่าวที่มีความสวยงามมาก ด้วยหน้าผาที่โอบล้อม มีตะกอนทรายละเอียด สีขาว และจุดเริ่มต้นที่ทำให้อ่าวมาหยาโด่งดังไปทั่วโลก เพราะหนังเรื่อง The Beach ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักอ่าวมาหยา แต่การถ่ายทำหนังเรื่องเดอะบีช นำมาซึ่งหายนะเเละความเสียหายทางสิ่งเเวดล้อมของอ่าวมาหยา

ชวนย้อนเรื่องราว 23 ปีของข้อกล่าวหา “เดอะบีช” ทำลายอ่าวมาหยาพัง เพราะรัฐปล่อยให้ถ่ายหนัง The Beach

จุดเริ่มต้นข้อพิพาท

ปี 2541 “ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์” บริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช ได้ดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช บริเวณอ่าวมาหยา โดย วันที่ 11 มิถุนายน 2541 บริษัททเวนตี้เซนจูรีฟ็อกซ์ ได้ติดต่อกับทางการไทยเพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์บนอ่าวมาหยา โดยจะมีการปรับแต่งชายหาด เพื่อนำต้นมะพร้าวมาปลูกประมาณ 100 ต้น ภายหลังลดลงเหลือ 60 ต้น และขุดทรายหน้าหาด ปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม

30 กรกฎาคม 2541บริษัทฯ ยื่นหนังสือต่อกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี กรมป่าไม้อนุญาต ให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ แต่ กรมป่าไม้ไม่มีอำนาจอนุญาต ให้กองถ่ายนำอุปกรณ์ เข้าไปตกแต่งพื้นที่หาดมาหยา และปลูกมะพร้าว ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ มาตรา 19 ว่าด้วยการสนับสนุน ให้การศึกษา การท่องเที่ยว การอำนวยประโยชน์ การบริการในอุทยานแห่งชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล จึงอนุญาตให้บริษัท ดำเนินการใด ๆ ภายใต้การกำกับของกรมป่าไม้”

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นมา ภาพการขุดอ่าวมาหยาปรากฏต่อสาธารณชน มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น รถแบ็กโฮ ขุดถ่าชายหาดและสันทราย พันธุ์ไม้ชายหาด เช่น รักทะเล พลับพรึงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล ถูกขุดเคลื่อนย้ายออกไป และพบการบรรทุกต้นมะพร้าวเข้ามาบริเวณหาดอ่าวมาหยา และเรือแล่นผ่านแนวปะการังน้ำตื้นขึ้นมาบนชายหาด รวมถึงมีการสั่งห้าม ไม่ให้นักท่องเที่ยว และบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต ขึ้นอ่าวมาหยาอย่างเด็ดขาด ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตและความห่วงกังวลของนักวิชาการ นักอนุรักษ์ต่อสภาพอ่าวมาหยาที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เเละ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

สิ้นสุดคดีอ่าวมาหยา

จากวันนั้นถึงวันนี้ การทำลายอ่าวมาหยา ถูกนำข้อพิพาทดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องการชดเชยค่าเสียหายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม อบจ.กระบี่ และ อบต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ได้ยื่นฟ้องผู้อนุญาตให้ “ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์” บริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา อ่าวที่สวยงามที่สุดบนเกาะพีพีเล ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ โดยฟ้องขอให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000,000 บาท

นับเป็นห้วงเวลา 23 ปี ที่การคดีอ่าวมาหยาอยุ่ในชั้นศาล ในวันที่ 13 กันยายน 2565 นี้ ศาลฎีกาได้นัดอ่านฟังคำพิพากษา โดยศาลฎีกา ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคำวินิจฉัยศาลฎีกา ระบุว่า “ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดในการปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำแผนการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอ่าวมาหยา จึงสอดคล้องกับภารหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและอยู่ในขอบเขตแห่งคำฟ้องและคำข้อท้ายฟ้อง”

และศาลยังวินิจฉัยต่อไปว่า “คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งอ้างว่า ปัจจุบันหาดมาหยามีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมแล้วเพราะได้มีการปิดอ่าวและปล่อยให้ธรรมชาติได้เยียวยาตนเองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบังคับคำขอถ้ายคำฟ้อง ศาลเห็นว่า ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นมาลอยๆในคำแก้ฎีกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้เชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำสืบคู่ความทั้งสองยอมรับตรงกันว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณอ่าวมาหยาจะสามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติ ประกอบกับข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นมานานเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว อันเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสอดคล้องกับสภาพตามจริงในปัจจุบันและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งในคำพิพากษาชั้นต้นดังกล่าวให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน คำแก้ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระสำคัญ อันจะทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้จนกว่าหาดมาหยามีสภาพเดิมตามธรรมชาติ ตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาเห็นชอบร่วมกันหรือตามศาลเห็นสมควรในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าวไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากนั้นที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ดาวน์โหลดคำพิพากษา https://drive.google.com/file/d/1bTugj_pkLZd7VKs0B9k3aRPKtgzwajPe/view?usp=sharing

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ