ทีมพอช.ภาคกลางและตะวันตกเรียนรู้งานเครือข่ายที่ดินที่อยู่อาศัย สระแก้ว

ทีมพอช.ภาคกลางและตะวันตกเรียนรู้งานเครือข่ายที่ดินที่อยู่อาศัย สระแก้ว

สระแก้ว : วันที่ 6 – 8 เมษายน 2566 สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดประชุมคณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตกสัญจร พร้อมทั้งลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ณ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เพื่อศึกษาเรียนรู้รูปธรรมการทำงานของพื้นที่ และเป็นการเสริมพลัง เปิดมุมมองใหม่แก่คณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสร้างทีมทำงานร่วมเพื่อสนับสนุนการทำงานแก่ขบวนองค์กรชุมชนระดับฐานล่างโดยใช้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นฐานที่ตั้ง

ในวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การสร้างทุนในพื้นที่ด้วยการยกระดับกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงเป็นสถาบันการเงินชุมชน การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ในพื้นที่ตำบลทุ่งมหาเจริญ ตำบลตาหลังใน และตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว พื้นที่ทั้ง 3 ตำบล ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ที่ดินป่าสงวน เป็นต้น โดยมีตำบลคลองหินปูนเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนงานต่างๆ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และได้มีการขยายแนวคิดและเชื่อมโยงการทำงานไปยังตำบลใกล้เคียงที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยมีหัวใจสำคัญของการทำงาน คือ ใช้กลไกความร่วมมือในระดับอำเภอ จังหวัด และการทำงานร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน โดยมีข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่การวิเคราะห์ หาแนวทางการแก้ปัญหา และนำไปสู่การเจรจาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

111

นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง แกนนำขับเคลื่อนงานที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลคลองหินปูน กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็นมีทั้งหมด 4 ตำบล ตอนนี้มีการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน 3 ตำบล ยังคงเหลือ 1 ตำบลที่ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มตัว จากการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดกลไกการทำงานระดับตำบล และระดับอำเภอ มีการรายงานสถานการณ์รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้นายอำเภอได้รับทราบเป็นประจำทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อนายอำเภอรับทราบจึงได้มีการรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง ทำให้เกิดการรับทราบและนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของหลายฝ่าย

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าวภายหลังจากการรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานกับพื้นที่ว่า  ทิศทางการทำงานของที่นี่มีการเชื่อมโยง 3 ตำบล ใช้กลไกระดับอำเภอในการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกัน มีคนทำงานทั้งในระดับตำบลและระดับอำเภอ โดยมีคณะทำงานของแต่ละตำบลที่มาจากหมู่บ้านละ 5 คน มีการขับเคลื่อนงานกันเองไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ พอช. ใครมีปัญหาชวนมาคุยกันมาช่วยกัน ร่วมกันสำรวจข้อมูล วิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงเป็นเครื่องมือในการสร้างคน ใช้การออมทรัพย์เป็นเครื่องมือในการรวมเงินมาเคลื่อนงาน และรายงานผลการขับเคลื่อนงานของกลุ่มให้นายอำเภอรับรู้ และรายงานต่อไปยังระดับจังหวัด ทำให้ปัญหาและการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานเป็นที่รับรู้ เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอและระดับจังหวัด

11111
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รอง ผอ พอช. (ทางซ้ายมือของภาพ)

“สิ่งที่เราเห็นในพื้นที่มีทุนของตัวเองทั้งเงินกองทุน สถาบันการเงินชุมชน ที่สามารถสนับสนุนการเคลื่อนงานในพื้นที่ มีระบบการสอบทานซึ่งกันและกันทำให้ทุกคนที่ทำงานได้เห็นข้อมูลร่วมกันหมด สิ่งที่เคลื่อนไปได้เพราะมีเครือข่าย มีคนทำงาน จากการที่มีเงินของตัวเองสามารถนำมาพัฒนาสร้างคนทำงานในพื้นที่ได้ มีกลยุทธ์ในการสร้างคน ฝึกผู้นำ สร้างเครือข่ายแม่ เครือข่ายลูก พอช.มีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ คนในพื้นที่เป็นหลักในการเคลื่อนงาน ทำงานท้าทายเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวบ้าน เครือข่ายดำเนินงานเชิงกระบวนการ เจ้าหน้าที่สนับสนุนเชิงเทคนิค มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคี ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของคนที่นี่ไม่ได้มาง่ายๆ แต่มีการทำกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ให้สมาชิกที่เดือดร้อนสำรวจข้อมูล ทำผังหมู่บ้านให้เห็นบ้านหลังที่ต้องซ่อมแซม บ้านที่มีคนพิการ คนแก่ เพื่อประสานหน่วยงานภายนอกมาดูแลต่อไป รวมถึงได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยเหลือคนตกงาน ในส่วนของการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย ได้มีการสำรวจที่ดินพบที่ดินของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน ได้มีกระบวนการพูดคุยว่าหากหมดสัมปทานจะจัดสรรให้กับประชาชนในพื้นที่ และหากที่นี่ทำได้จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป” รอง ผอ.พอช.กล่าว

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ดังกล่าวทำให้ทั้งคณะอนุกรรมการภาคและเจ้าหน้าที่ได้พบว่าสิ่งที่ทำให้ทั้ง 3 ตำบลเคลื่อนงานได้ คือ การใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหา การสร้างเครือข่ายทุกระดับตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด การวิเคราะห์โครงสร้างพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่ และการใช้เครื่องมือกับหน่วยงานภาคีที่ตอบโจทย์ชุมชน ดังนั้น สิ่งที่จะนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่รวมทั้งกำหนดแนวทางการทำงานของภาคกลางและตะวันตกในปีต่อไป คือ สร้างเครือข่ายการทำงานในทุกระดับทั้งตำบล อำเภอ และจังหวัด เน้นการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนงาน และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดทุนภายใน สร้างความเข้าใจเป้าหมาย ทิศทางร่วมในการขับเคลื่อนโดยเน้นชุมชนเป็นแกนหลัก

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมวังน้ำเย็นการ์เด้น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งได้มีการนำเสนอวาระที่สอดรับกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล คือ ทิศทางการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ปี 2566 ที่ได้มีการออกแบบไว้ก่อนหน้า ดังนี้ 

1) การยกระดับขบวนองค์กรชุมชนเป็นเจ้าของงานพัฒนา เพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรมทั้งเมืองและชนบท โดยส่งเสริมให้ชุมชนเป็นเจ้าของการพัฒนา คิดและออกแบบการทำงาน สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยตนเอง ค้นหาปัญหาร่วม สร้างความตื่นตัว ความเป็นเจ้าของ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน และยกระดับงานเชิงปริมาณสู่งานเชิงคุณภาพ สร้างพื้นที่รูปธรรมแห่งการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและนำไปสู่การขยายผล

2) พัฒนาศักยภาพคน กลไก ในระดับพื้นที่แบบองค์รวม ทั้งระบบวิธีคิด ทักษะ เครื่องมือและวางเป้าหมายการสร้างชุมชนเข้มแข็งร่วมกัน และยกระดับ สร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

3) พัฒนาระบบข้อมูลและการสื่อสารสู่สาธารณะ ด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลระดับตำบล จังหวัด เผยแพร่กิจกรรมการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน จัดการความรู้พื้นที่รูปธรรม และสื่อสารสู่สาธารณะ

4) พัฒนาองค์กรและระบบบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล โดยการยกระดับองค์กรชุมชนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และสร้างนวัตกรรมการทำงานและพัฒนาเครื่องมือ เพื่อหนุนเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี

5) สร้างความร่วมมือกับภาคี เครือข่าย โดยสร้างกลไกความร่วมมือที่หลากหลาย บูรณาการแผนพัฒนาทุกระดับ เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม

456

นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังมีเรื่องแจ้งเพื่อทราบได้แก่ โครงการแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกมีพื้นที่เป้าหมายนำร่องในปี 2566 ในพื้นที่ชุมชนวัดสุริยมุณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน ซึ่งในภาคกลางและตะวันตกมีพื้นที่นำร่องดำเนินการในปี 2566 จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท การเสนอสภาองค์กรชุมชนเป็นคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ซึ่งจะเป็นกลไกร่วมที่ภาคประชาชนเข้าไปร่วม เป็นโอกาสในการผลักดันเรื่องราวการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนเข้าไปอยู่ในแผนของหน่วยงาน รวมถึงการรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานของสำนักงานภาค ซึ่งเป็นวาระสำคัญของภาค คือ การบริหารข้อมูลเพื่อการพัฒนา วันนี้มีข้อมูลที่ต้องนำมาวิเคราะห์ให้พื้นที่ได้เห็น นำไปสู่การตัดสินใจและการวางแผน ซึ่งจากการประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลที่สำนักงานภาคได้ตั้งต้น เพื่อให้จังหวัดนำไปพัฒนาต่อสำหรับใช้ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ต่อไป

333

22222
444
9999

รายงาน : เรวดี อุลิต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ