เส้นทางสู่บ้านมั่นคง “คนป่าเด็ง” อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เส้นทางสู่บ้านมั่นคง “คนป่าเด็ง” อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เยี่ยมชาวบ้านตำบลป่าเด็ง

 ตำบลป่าเด็ง  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  เป็นตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็น ‘แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ’  ในปี 2564 เพราะมีความหลากหลายทางธรรมชาติ  เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนานาชนิด   นอกจากนี้ป่าแก่งกระจานยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี 

            อันแม่น้ำเพชรบุรีนี้  ในสมัยรัตนโกสินทร์  เป็น 1 ในแหล่งน้ำสำคัญที่จะนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีมงคลต่างๆ  สำหรับพระมหากษัตริย์  เพราะถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์  สะอาด  บริสุทธิ์  รวมทั้งเป็นน้ำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 โปรดเสวย..

            ล่วงมาถึงปัจจุบัน  แม้ธรรมชาติจะเปลี่ยนไป  สายน้ำจะเหือดแห้งกว่าแต่ก่อน  แต่ผืนป่าและสายน้ำแห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต   มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์   ทั้งกะเหรี่ยง   มอญ  โซ่ง (ไทยทรงดำ) และผู้คนที่ดั้นด้นมาจากทั่วสารทิศแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า…

เช่น  ‘ป้าโชติมณี  โสพรมณี’  วัย 50  ปีปลาย  พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์  และสามีชาวนครราชสีมา  ที่หอบหิ้วครอบครัวมาปลูกมะนาว  พริกขี้หนู  ขนุน  ฯลฯ  ในพื้นที่  3 ไร่  เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเมื่อราว 10 ปีก่อน…

อุทยานแก่งกระจานและคนป่าเด็ง

ตำบลป่าเด็ง  มีที่มาจากสภาพป่าในตำบลซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง  มีไม้เต็งขึ้นอยู่มาก   ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมเรียกตามสำเนียงพื้นถิ่นว่า “ป่าเด็ง”  มีพื้นที่ทั้งหมด  328,125 ไร่ (525 ตารางกิโลเมตร)  เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน 78,125 ไร่ (125 ตารางกิโลเมตร)  เป็นพื้นที่ป่าดิบ   อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประมาณ  250,000 ไร่ (400 ตารางกิโลเมตร)  มี  10  หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 7,000 คน  รวม 2,630  ครัวเรือน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีทั้งคนไทยพื้นราบ   ชาวกะเหรี่ยง  ชาวมอญ  และชาวลาวโซ่ง    มีอาชีพทำไร่  ปลูกมะนาว พริก  กล้วย  ยางพารา  กาแฟ  ทุเรียน  ทำนา  เลี้ยงวัว  รับจ้างทั่วไป  ค้าขาย  ฯลฯ   และมีช้างป่าที่อยู่อาศัยในตำบลประมาณ 80 ตัว  และมักจะเข้ามากินพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้

ขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ในปี 2524  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านไร่  (เป็นอุทยานฯ ที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย)  แต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวกะเหรี่ยงและประชาชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมมานานก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ

2

เช่น  ที่บ้านบางกลอย  ตำบลห้วยแม่เพรียง  อ.แก่งกระจาน  ซึ่งชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้อพยพออกมาจากป่าตั้งแต่ช่วงปี 2538-2539   ทำให้เกิดความขัดแย้ง  เพราะพื้นที่ที่มาอยู่ใหม่  ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกทำกิน  ชาวกะเหรี่ยงจึงย้ายกลับไปที่เดิม  จนถึงปี 2553  ความขัดแย้งปะทุรุนแรง  มีการเผาบ้านเรือน  ยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยง  เป็นข่าวโด่งดัง และปัญหายังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี  ในส่วนของพื้นที่ในตำบลป่าเด็ง (รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ)  ได้รับอานิสงส์จากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่  66/2557 ลงวันที่  17 มิถุนายน 2557  เรื่อง หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน” 

โดยมีสาระสำคัญ คือ  “ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง  ยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ ปัจจุบัน  ดังนี้  2.1  การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทำกิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้  ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่  จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ  เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

จากคำสั่งดังกล่าว  จึงนำมาสู่การตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ในปี 2557  ซึ่งรวมทั้งชุมชนในตำบลป่าเด็งด้วย   โดยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับอุทยานฯ แก่งกระจาน

เช่น   1.ที่ดินที่อุทยานฯ ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและครอบครองจะต้องเป็นราษฎรในชุมชนเท่านั้น  2.ผู้ที่อยู่อาศัยจะต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้  ห้ามแผ้วถางเพิ่มเติม  3.ห้ามมิให้  ชื้อ  ขาย  โอน  เช่า  ที่ดินให้กับบุคคลอื่น  ยกเว้นทายาทโดยธรรม   4.การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจะต้องขออนุญาตและปรึกษาคณะกรรมการหมู่บ้านและหัวหน้าอุทยานฯ ก่อน  ฯลฯ

3
เด็กชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอในตำบลป่าเด็

“ปลดล็อก”  การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่า

นอกจากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ชุมชนและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ทั่วประเทศมักจะมีปัญหาในการพัฒนาชุมชน  เช่น  ไม่มีถนน  ไฟฟ้า  น้ำประปา  เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  รวมทั้ง อบต.ไม่สามารถเข้าไปให้บริการชุมชนได้  เพราะจะผิดกฎระเบียบของหน่วยงานที่ดูแลป่า

               ดังนั้น  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  โดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (ก.ก.ถ.) จึงได้พยายามปลดล็อกอุปสรรคดังกล่าว   ใช้เวลานานหลายปี  จนประสบความสำเร็จ  นำไปสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือ  “การสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในเขตป่า”  เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยมี 6 หน่วยงานร่วมลงนาม ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.)  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยกรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ผลจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าว  กระทรวง พม. โดย พอช. จะมีหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้  1. ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนและการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 2. ร่วมสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  3. ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง   เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรชุมชน

4.ร่วมสนับสนุนกระบวนการออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  และ 5.สนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  ระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น  คุณภาพชีวิต  การสร้างกระบวนการเรียนรู้  ตลอดจนสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามความจำเป็น

4
นายวิษณุ   เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี  (นั่งกลาง) เป็นประธานการลงนามความร่วมมือเมื่อ 8 ก.พ.2564

“แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนป่าเด็ง

ผลจากการปลดล็อกดังกล่าว  ทำให้ พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่าต่างๆ ได้ทั่วประเทศ   โดยที่ตำบลป่าเด็ง  พอช.ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตำบลป่าเด็ง’ ขึ้นมาในปี 2564  โดยมีนายก .อบต.ป่าเด็งเป็นประธาน  มีผู้แทนชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ  มีที่ปรึกษาจากหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น อุททยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ฯลฯ  เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในตำบล

โดยมีการสำรวจข้อมูลตำบลในปี 2564    เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา  อุปสรรค  จุดแข็ง   ทรัพยากร   ต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่  ฯลฯ   แล้วนำข้อมูลมาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลป่าเด็งในทุกมิติ  ครบวงจรชีวิต   โดยคนตำบลป่าเด็งมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน  คือ

 “คนตำบลป่าเด็งมีที่อยู่อาศัยมั่นคง  มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์      มีรายได้มั่งคั่ง  มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

มีแผนงานที่สำคัญ  เช่น  ด้านสังคม  ส่งเสริมการรวมกลุ่ม  เพื่อประกอบอาชีพ  จัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก  เฝ้าระวังปัญหายาเสพติด  ด้านกายภาพ-ที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  แก้ไขปัญหาที่ดิน  ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  ปรับปรุงสาธารณูปโภค  น้ำประปา  ไฟฟ้า  ด้านทรัพยากร  ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในป่าชุมชน   ฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งน้ำ

ด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน   ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  แก้ไขปัญหาหนี้สิน  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง  ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต  จำหน่ายสินค้าชุมชนทางออนไลน์  เช่น  กาแฟ  ทุเรียน  ด้านสุขภาพ  ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ  ลดอาหาร  หวาน  มัน  เค็ม  ส่งเสริมการปลูกผัก  ผลิตอาหารปลอดภัย  ฯลฯ

วัชรา  สงมา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคกลางและตะวันตก  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช.บอกว่า  พื้นที่ในตำบลป่าเด็งมีความหลากหลาย  บางหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่อยู่บนพื้นที่สูง   ขาดแคลนสาธารณูปโภค  เช่น  ถนน  ไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน   เคยมีหน่วยงานเอกชนไปทำไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์เซลล์ให้  แต่เมื่อโซล่าร์เซลล์เสีย   ชาวบ้านก็ไม่มีความรู้ที่จะซ่อม

5
สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่   จำนวนมากมีฝาบ้านไม่ครบด้าน  ต้องใช้ผ้าหรือเสื่อมากั้น

บ้านมั่นคงป่าเด็งซ่อมสร้างชุดแรก 215 ครอบครัว 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านในตำบลป่าเด็งมีฐานะยากจน   บ้านเรือนผุพัง  พอช.จึงสนับสนุนกระบวนการซ่อมสร้างบ้าน  เช่น  จัดตั้งทีมสำรวจข้อมูลสภาพบ้านเรือน  ถ่ายรูป  ถอดแบบสภาพบ้านเรือนที่จะซ่อมสร้าง  รายการวัสดุที่จะต้องซื้อ   จะต้องใช้  อบรมทีมช่างชุมชนก่อนซ่อมสร้าง  ฯลฯ

“เรามีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตำบลป่าเด็งขึ้นมา  มีนายก อบต.ป่าเด็งเป็นประธาน    มีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตำบล  เช่น ป่าไม้  และตัวแทนชาวบ้านในชุมชน  ร่วมกันสำรวจสภาพครัวเรือนที่เดือดร้อนและสภาพที่ดินที่อยู่อาศัย  ซึ่งทั้งตำบลมีบ้านเรือนทั้งหมดกว่า 2 พันครัวเรือน   เบื้องต้นมีครอบครัวที่เดือดร้อนที่ พอช.สนับสนุนการซ่อมบ้านจำนวน  215 ครัวเรือน   โดยชาวบ้านตกลงกันว่าจะใช้ช่างชุมชนช่วยกันสร้าง  เพื่อประหยัดงบ  และจะไม่ใช้ไม้จากป่า”  วัชราบอก  และว่า  ขณะนี้ (มีนาคม 2565 ) ซ่อมบ้านไปแล้วประมาณ 40 หลัง

ทั้งนี้การซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ดำเนินงานภายใต้โครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง’  โดยจะมีการซ่อมสร้างบ้านเบื้องต้นจำนวน  215 ครอบครัว  งบประมาณไม่เกินครอบครัวละ 40,000 บาท  (รวม 8 ล้านบาท)

6
การสำรวจข้อมูลสภาพบ้านและครัวเรือน

นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภค  จำนวน  96,880 บาท  งบพัฒนาด้านสังคม  470,000 บาท  งบพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน 400,000 บาท  และงบพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนจำนวน  500,000 บาท    รวมงบพัฒนาทั้งหมด 9,466,880 บาท

ป้าโชติมณี  โสพรมณี  วัย 50  ปีปลาย  พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์  และสามีชาวนครราชสีมา  หอบหิ้วครอบครัวมาอยู่ที่ป่าเด็ง  ปลูกมะนาว  พริกขี้หนู  ขนุน  ฯลฯ  ในพื้นที่  3 ไร่  เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเมื่อราว 10 ปีก่อน  บอกว่า  ครอบครัวของป้ามีญาติมาอยู่ที่ป่าเด็งก่อนแล้ว  เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีคนขายที่ดิน 3 ไร่ที่ป่าเด็งในราคาไม่แพง  จึงรวบรวมเงินที่มีมาซื้อและเข้ามาอยู่อาศัยในปี 2555  เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานมาสำรวจที่ดินในเขตอุทยานฯ (ตามคำสั่ง คสช. 66/2557) ในปี 2557  ครอบครัวป้าจึงได้สิทธิผ่อนปรนอยู่อาศัยเพราะอยู่มาก่อนปี 2557 และได้รับเลือกให้ซ่อมบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.ในปีนี้

“ป้าจะกั้นห้องนอนใหม่  เพราะบ้านเดิมเป็นห้องโล่งๆ  กั้นด้วยไม้ไผ่  เทพื้นปูน  แต่เวลาฝนตกน้ำจะท่วมพื้นบ้าน  เพราะไม่ได้ยกพื้นบ้าน   แต่จะทำเฉพาะห้องนอน  เพราะงบที่ พอช.มาช่วยไม่เกิน 4  หมื่นบาท  จะยกพื้นเทปูน  กั้นเป็นห้องนอน  ขอแรงงานจากเพื่อนบ้าน  จากช่างชุมชน  ถ้างบไม่พอ  ป้าก็ต้องหาเงินมาเพิ่ม  เพราะตอนนี้ข้าวของแพงขึ้น”  ป้าโชติมณีบอก

7
สภาพบ้านของป้าโชติมณี

ทุเรียนหมอนทอง-กาแฟอินทรีย์ของดีที่ป่าเด็ง

ปัจจุบันทุเรียนหมอนทองที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติเป็นเลิศมีหลายแห่ง  เช่น  ‘ทุเรียนภูเขาไฟ’ ที่ปลูกแถบจังหวัดศรีสะเกษซึ่งสภาพพื้นที่ในอดีตเมื่อหลายล้านปีก่อนเคยเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ  ‘ทุเรียนป่าละอู’  ที่ปลูกในแถบป่าละอู  ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่  อำเภอหัวหิน  เขตอุทยานฯ แก่งกระจาน  ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลป่าเด็ง

เป็นทุเรียนหมอนทองคุณภาพดี  เนื้อหนา  เมล็ดลีบเล็ก  ผิวสีเหลืองอ่อน  เนื้อเนียนละเอียด  แห้ง  กลิ่นไม่แรง  รสชาติหวานมัน  ได้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ ‘GI’  จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2554    ทุเรียนจะสุกในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม   ราคาเปิดรับจองในขณะนี้  ขนาดเกรด 1  จำนวน 1 ผล  น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม  ราคาประมาณลูกละ 1,200 บาท  หรือเฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 400 บาท

ขณะเดียวกันในตำบลป่าเด็งก็ปลูกทุเรียนหมอนทองเช่นกัน  มีรสชาติไม่แตกต่างจากทุเรียนป่าละอู  เพราะพื้นที่ติดต่อกัน  ได้รับอิทธิพลทั้งฝน  ฟ้า  ดิน  น้ำ  จากป่าแก่งกระจานและเทือกเขาตะนาวศรี  พ่อค้าแม่ค้าบางรายจะรับทุเรียนที่ปลูกในป่าเด็งไปจำหน่ายและบอกว่าเป็น ‘ทุเรียนป่าละอู’  แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่เชื่อมั่นในคุณภาพของทุเรียนป่าเด็ง  โดยพยายามจะสร้างแบรนด์ ‘ทุเรียนป่าเด็ง’ ขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จัก

8
ทุเรียนป่าเด็ง (ภาพจาก facebook  ทุเรียนป่าเด็งสวนรัชฎา)

นอกจากนี้ป่าเด็งยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดี  โดยเฉพาะสายพันธุ์โรบัสต้าที่มีคุณภาพไม่แตกต่างจากกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกแถบชุมพร   โดยขณะนี้มีเกษตรกรปลูกกาแฟที่ป่าเด็งหลายสิบรายได้นำผลผลิตมาแปรรูปและเปิดร้านจำหน่ายทั้งในแบบกาแฟสด  กาแฟคั่วสำเร็จรูปจำหน่ายทางออนไลน์

ศิรินภา  เลิศคลัง  คณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลป่าเด็ง  บอกว่า  ที่ผ่านมาเกษตรกรในตำบลป่าเด็งจะปลูกต้นกาแฟร่วมกับพืชอื่นๆ  เช่น  ปลูกแซมในสวนทุเรียน  สวนกล้วย  สวนมะกอก  มะนาว  ฯล เป็นเกษตรผสมผสานและขายเป็นเมล็ดกาแฟตากแห้ง (กาแฟสารที่ยังไม่ได้สีเอาเปลือกหุ้มออก)  แต่ได้ราคาไม่ดี

ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนให้นำเมล็ดกาแฟมาแปรรูป  จำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว  กาแฟบด  ส่งขายทางออนไลน์  และจำหน่ายภายในชุมชน   โดยเริ่มผลิตกาแฟแปรรูปในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านใช้ชื่อว่า ‘Padeng  Coffee’  มีรสชาติเข้มข้น   หอมกลิ่นกาแฟ  ผสมกับกลิ่นและรสชาติของผลไม้อื่นๆ ที่ปลูกแซมในสวน

“สมาชิกกลุ่มที่ปลูกกาแฟจะนำกาแฟเชอร์รี่มาส่ง  หลังจากนั้นเราจะเอากาแฟเชอร์รี่มาล้างทำความสะอาด  แช่น้ำ   คัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก   แล้วนำมาตากแดดให้แห้งสนิท  เรียกว่า ‘กาแฟกะลา’   แล้วเอามาสีเป็น ‘กาแฟสาร’  ร้านกาแฟชื่อดังอย่างอะเมซอนก็ซื้อกาแฟสารจากเราแล้วเอาไปคั่วทำเป็นกาแฟสดขาย  ส่วนเราจะเอามาคั่วและบรรจุถุงขายเอง  ทำตามออร์เดอร์   มีทั้งกาแฟบดและไม่บด  กาแฟของเราจึงสดเพราะคั่วใหม่ๆ”  ศิรินภาบรรยายขั้นตอนการผลิตแบบง่ายๆ

ส่วนราคาจำหน่าย   กาแฟสารราคากิโลฯ ละ 150 บาท  กาแฟคั่วถุงละ 500 กรัม  ราคาถุงละ 180-200 บาท  ตามเกรด  และระดับการคั่ว

9
กาแฟอินทรีย์ป่าเด็งผลิตแบบพื้นบ้านก่อนนำไปคั่ว

วัชรา  สงมา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคกลางและตะวันตก  พอช. กล่าวเสริมว่า   ทุเรียนป่าเด็งและกาแฟป่าเด็งถือว่าเป็นผลผลิตจากชุมชนที่มีอนาคตสดใส  เพราะปริมาณการปลูกและผลผลิตยังไม่มาก  ที่สำคัญก็คือเป็นการปลูกและผลิตแบบอินทรีย์  เพราะชุมชนมีข้อตกลงกันว่า  ตำบลป่าเด็งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ  เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำปราณบุรี  ดังนั้นเราจะไม่ใช้สารเคมีให้ปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ

“ในส่วนของกาแฟมีหลายหน่วยงานมาช่วยกันสนับสนุน  เช่น  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี  มหาวิทยาลัยเกษตร  ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง  รวมทั้ง พอช.ก็มาร่วมกันสนับสนุน  และเชื่อมโยงกับพี่น้องในตำบลที่อยู่ใกล้เคียง  เช่น  ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่  อำเภอหัวหิน  ที่มีผลผลิตคล้ายกัน   เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน  โดยเริ่มต้นจากเรื่องบ้านมั่นคงก่อน”  วัชราบอก

โดยมีเป้าหมายตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตว่า…“คนตำบลป่าเด็งมีที่อยู่อาศัยมั่นคง  มีความหลาก หลายทางวัฒนธรรม  ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์   มีรายได้มั่งคั่ง  มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

10
แกนนำชาวป่าเด็งทำสัญลักษณ์เป็นรูปบ้าน  โดยจะร่วมกันพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงก่อน  เพราะบ้านเป็นพื้นฐานของชีวิต
11
นอกจากทุเรียนและกาแฟแล้ว  ป่าเด็งยังมีต้นทุนที่จะนำมาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ