‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พม. นำทีมชี้แจง ‘บ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร’สนับสนุนให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยมั่นคง-แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ขณะนี้สร้างบ้านในคลองลาดพร้าว-เปรมประชากรเสร็จแล้ว 4,700 ครัวเรือน
รัฐสภา / นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. นำทีมผู้บริหารชี้แจง กรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายเรื่องบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร พาดพิงการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงในหลายประเด็น โดยยืนยันว่าโครงการบ้านมั่นคงในคลองเปรมประชากรเป็นการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ทำให้ทัศนียภาพในคลองดีขึ้น ระบายน้ำได้สะดวก และแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ขณะนี้สร้างบ้านในคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากรแล้วเสร็จมีประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว 4,700 ครัวเรือน
ตามที่นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายเรื่องบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยพาดพิงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในหลายประเด็น เช่น ไม่มีการสำรวจรับฟังความคิดเห็นชาวชุมชนในการทำโครงการ เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผิดกฎหมาย โครงการบ้านมั่นคงทำให้ทัศนียภาพคลองทั้งหมดหายไป ทำให้เกิดน้ำท่วม รวมทั้งมีผู้ได้สิทธิ์ที่มีนามสกุลเดียวกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น
ผอ.พอช.– รมว.พม. ร่วมชี้แจงบ้านมั่นคงคลองเปรมประชากร
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์) เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. และนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ดังนี้
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงว่า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร มีกระบวนการ 10 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลชุมชน และขั้นตอนที่สำคัญก็คือ การประชุมพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน กำหนดออกแบบการอยู่อาศัยร่วมกัน ส่วนประเด็นโครงการบ้านมั่นคงทำให้ทัศนียภาพคลองหมดไป ขอชี้แจงว่า เดิมคลองเปรมประชากรมีการรุกล้ำของสิ่งปลูกสร้าง มีความกว้างเฉลี่ย 18-20 เมตร แต่เมื่อทำโครงการไปแล้ว ทำให้คลองมีความกว้างไม่น้อยกว่า 25 เมตร ทำให้เกิดความเป็นระเบียบ ทัศนียภาพคลองดีขึ้น น้ำในคลองไหลสะดวกมากขึ้น
“ส่วนประเด็นการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์ จากเดิมมี 42 ครัวเรือน เป็น 101 ครัวเรือนนั้น ขอชี้แจงว่า ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้มีทั้งหมด 88 ครัวเรือน แต่ก่อสร้างจริงตามสิทธิ์ 97 ครัวเรือน ซึ่งจำนวนที่เพิ่มมานั้น โครงการบ้านมั่นคงให้สิทธิ์กับประชาชนครอบครัวขยาย เพราะบางครอบครัวอยู่กันอย่างแออัด ฉะนั้นจาก 88 ครอบครัวจึงเพิ่มมาเป็น 97 ครัวเรือน ส่วนประเด็นการหาประโยชน์ในที่ดินนั้น ขอชี้แจงว่า พื้นที่ริมคลองเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ โดยกรมธนารักษ์ได้ให้ประชาชนเช่าอาศัยในราคาถูก เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ในราคาตารางวาละ 6 บาทต่อปี ทำให้ประชาชนลดรายจ่าย มีรายได้มาดูแลตัวเองมากขึ้น” ผอ.พอช. กล่าว
นอกจากนี้ ผอ.พอช. กล่าวถึงประเด็นโครงการบ้านมั่นคงทำให้เกิดน้ำท่วมว่า บ้านมั่นคงบริเวณวัดรังสิตเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล เมื่อมีการสร้างบ้านมั่นคง จัดระเบียบพื้นที่แล้ว ทำให้คลองมีความกว้างไม่น้อยกว่า 25 เมตร จึงทำให้น้ำในคลองไหลสะดวกมากขึ้น
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า ตามที่มีการกล่าวว่า มีผู้ได้บ้านมั่นคงในคลองเปรมประชากร มีนามสกุลเดียวกับรัฐมนตรีนั้น ตนได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นความจริง ชื่อป้าอ้วน เป็นญาติเของตนเอง เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งโครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการจากประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัย เป็นโครงการจากล่างขึ้นบน
“ป้าอ้วนที่เป็นญาติผม สามีเสียชีวิตไปแล้วกว่า 10 ปี โดยป้าอ้วนได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ก่อนที่ผมจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวง พม. ผมมารับตำแหน่งตอนปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอน ไม่ผิดกฎหมายแน่นอน” นายจุติกล่าว
ย้อนรอยโครงการบ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร
โครงการก่อสร้างบ้านมั่นคงและก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เป็นโครงการที่รัฐบาลมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554 โดยการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง เพื่อก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เพื่อให้การระบายน้ำในลำคลองมีประสิทธิภาพ โดยกรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนฯ และให้ พอช.จัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนริมคลอง เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวในปี 2559 และคลองเปรมประชากรดำเนินการในปี 2562
คลองลาดพร้าว ดำเนินการใน 7 เขต คือ เขตวังทองหลาง ห้วยขวาง บางเขน จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม โดยมีประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำพื้นที่ริมคลองและในคลอง รวมทั้งสิ้น 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน (ความยาวทั้งสองฝั่งคลองประมาณ 45 กิโลเมตรเศษ) ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และ
คลองเปรมประชากร มีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ คือ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง และ 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน โดยชุมชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ จะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและร่วมกันบริหารจัดการโครงการ และทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นชุมชนที่เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมาย ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี (หมดสัญญาต่อได้ครั้งละ 30 ปี) อัตราค่าเช่าผ่อนปรน (ประมาณ 1.50 -6 บาท /ปี/ตารางวา) ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้วจำนวน 1,150 ครัวเรือน (รวมทั้งสองคลองก่อสร้างบ้านเรือนเสร็จแล้ว จำนวน 4,700 ครัวเรือน)
จากชุมชนบุกรุกเป็น ‘เช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย’
ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ดำเนินการตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาล ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. โดยมีหลักการสำคัญ คือ
1.หากชุมชนใดสามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ซึ่งดูแลที่ดินราชพัสดุริมคลอง เปลี่ยนสถานะจาก ‘ผู้บุกรุก’ เป็น ‘ผู้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย’ และเนื่องจากพื้นที่ริมคลองมีความคับแคบ จึงต้องมีการปรับผังชุมชนใหม่ เพื่อให้พ้นจากแนวก่อสร้างเขื่อน และให้ทุกครัวเรือนสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ โดยการรื้อย้ายเพื่อสร้างบ้านใหม่ทั้งชุมชน โดยแต่ละครัวเรือนจะได้รับสิทธิ์ในที่ดินเท่ากัน
2.กรณีที่ดินเดิมไม่เพียงพอ ชาวชุมชนอาจรวมตัวกันจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อปลูกสร้างบ้าน หรือหาที่พักอาศัยใหม่ตามโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการของการเคหะแห่งชาติ
ส่วนการสนับสนุนจาก พอช.นั้น พอช.จะให้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกครัวเรือนเท่ากัน คือ 1.การก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง ครัวเรือนละ 50,000 บาท อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 25,000 บาท และช่วยเหลือลดภาระการสร้างบ้าน ครัวเรือนละ 72,000 บาท รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท และ 2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท ผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
โครงการบ้านมั่นคง พอช.เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีหลักการคือให้ชาวชุมชนที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุน เพื่อให้ชาวชุมชนและลูกหลานมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ขณะเดียวกันชาวชุมชนก็จะต้องร่วมกันออมเงินเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านใหม่ เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้แก่ลูกหลาน
ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรได้ใช้หลักการเดียวกัน คือให้ชาวชุมชนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา ในรูปแบบของการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการที่อยู่อาศัย โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน เช่น กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินระยะยาวในอัตราผ่อนปรน กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถาน การประปา การไฟฟ้า สนับสนุนสาธารณูปโภค สำนักงานเขต กทม. ทหาร และตำรวจ ร่วมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน ฯลฯ
ส่วนรูปแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการและรายได้ของครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 5 X 6 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี
‘บ้านมั่นคง’ บ้านที่ทุกคนมีส่วนร่วม
กระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง มีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ คือ “ให้ชุมชนผู้เดือดร้อนมีส่วนร่วม และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน” โดยมีกระบวนการดำเนินการทั้งหมด 10 ขั้นตอน เช่น
1.สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดย พอช.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน เช่น สำนักงานเขต กทม. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร
2.ทบทวนข้อมูลชุมชน โดย พอช.ร่วมกับชุมชน สำรวจข้อมูลครัวเรือนและชุมชน สำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน จัดเวทีประชาคมรับรองสิทธิ์ ป้องกันการสวมสิทธิ์ ฯลฯ
3.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถาน เพื่อสร้างวินัยการออมและเป็นทุนในการสร้างบ้าน และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล สำหรับทำนิติกรรมสัญญา เช่น เช่าที่ดินราชพัสดุ และบริหารจัดการโครงการ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากชาวชุมชน
4.รังวัด เช่าที่ดิน ออกแบบ วางผังชุมชน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีเนื้อที่และจำนวนครัวเรือนไม่เท่ากัน บ้านบางหลังมีเนื้อที่มาก จึงต้องรังวัดและออกแบบให้ทุกครอบครัวสามารถอยู่ในชุมชนเดิมได้ โดยทุกครอบครัวจะได้สิทธิ์ในที่ดินเท่ากัน และออกแบบผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน และที่สำคัญคือการเช่าที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้อง
5.อนุมัติโครงการและงบประมาณ ชุมชนที่จัดทำกระบวนการตามข้อ 1-4 เสร็จแล้ว จะต้องส่งโครงการเข้ามาเพื่อให้ พอช.อนุมัติโครงการและงบประมาณ
6.ขออนุญาตก่อสร้างบ้าน รื้อบ้าน รื้อระบบประปา ไฟฟ้า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่
7.เบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างบ้าน
8.ก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภค โดยสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมาจะบริหารจัดการก่อสร้าง โดยการจ้างผู้รับเหมา และมีคณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจรับงาน ฯลฯ
9.พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ หลังจากสร้างบ้านเสร็จทั้งชุมชน แต่ละชุมชนจะมีแผนการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ปรับภูมิทัศน์ จัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมอาชีพและกิจกรรมต่างๆ ทั้งเด็ก เยาวชน แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ฯลฯ
โครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร จะทำให้ชาวชุมชนที่เคยรุกล้ำคลอง ก่อสร้างบ้านไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เปลี่ยนมาเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง โดยการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน เมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ชาวชุมชนก็จะได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ รวมทั้งจะร่วมกันฟื้นฟูและดูแลคลองให้มีสภาพดีขึ้นด้วย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์