‘ภาคตะวันออก’ หนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 18% ของ GDP ประเทศ โดยเป็นภูมิภาคที่มีทั้ง ภาคอุตสาหกรรม เหมืองหิน เหมืองแร่ การท่องเที่ยว และเกษตรอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
ด้านหนึ่งความหลากหลายที่มีอยู่ในภูมิภาค ทำให้ภาคตะวันออก เป็นภูมิภาคที่สามารถเติบโต และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล แต่อีกด้าน การพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นปัญหา ในการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ จนไม่อาจรองรับผลกระทบที่ตามมาได้ทัน
นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกกว่า 30 คน มาช่วยกันคิด ร่วมกันมองถึงโอกาสและข้อท้าทายที่คนในพื้นที่มองเห็น เพื่อช่วยกันวาดภาพอนาคตของภาคตะวันออกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี ข้างหน้า
และนอกจากจะพูดคุยกับตัวแทนพี่น้องในพื้นที่แล้ว เราจะพูดคุยกันด้วยชุดข้อมูลที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้นกับนักวิชาการผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยโอกาส ศักยภาพ และข้อท้าทายของพื้นที่ Area Needs ภาคตะวันออก และตัวแทนนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในพื้นที่
- ดร.นรากร ศรีสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
- บุบผาทิพย์ แช่มนิล ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออก
อะไรคือ โอกาส และข้อท้าทาย ที่สำคัญของภาคตะวันออก
ดร.นรากร ศรีสุข อธิบายว่า สิ่งที่ได้จากฐานงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2564 และต่อเนื่องมาถึงปี 2565 กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประมาณ 209 คน เป็นงานวิจัย Area Needs ภาคตะวันออก
ซึ่งภาคตะวันออก มีทรัพยากรธรรมชาติ หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก รวมไปถึงเรื่องของประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยังต้องสงวนรักษาเอาไว้ แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามา ทำให้เกิดความเจริญ ซึ่งเราต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลให้ได้
ด้านบุบผาทิพย์ แช่มนิล กล่าวในประเด็นเดียวกัน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในนักขับเคลื่อน ซึ่งอยู่ในกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ทำงานมาตั้งแต่ปี 2537 ร่วมกับพี่น้องหลายคนในที่นี้ พอวันนึงเราอยู่ในขบวนของภาคประชาสังคม การก่อกำเนินของ กป.อพช. เกิดขึ้นมาจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกขนที่มารวมตัวกัน เราเห็นปัญหาเหมือนกับที่หลายคนเห็น
เราอยู่ในพื้นที่ที่คนสมัยก่อนเรียกว่า ดินดำ น้ำชุ่ม มีความรุ่มรวย และหลากหลายทางชีวภาพมาก ๆ รวมถึงวัฒนธรรมและประเพณี เราเห็นภาพนั้น แต่ในวันที่มีเรื่องของการพัฒนา ซึ่งจริง ๆ เราก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของการเปลี่ยนไปของโลก เรื่องของการพัฒนาก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่คนภาคตะวันออกเองอาจจะต้องตอบคำถาม ตอบโจทย์ของตัวเองว่าเรามีความพึงพอใจกับการพัฒนาที่มันมากขึ้นขนาดไหน แล้วจะทำอย่างไรจึงจะรักษาฐานทรัพยากรเดิมไว้ได้ และสิ่งใหม่ที่เข้ามาจะทำให้ตรงกับใจเราได้อย่างไร
อย่างตอนที่พี่น้องในพื้นที่สะท้อนเรื่องราวของภาคตะวันออกมา จะมีทั้งเชิงบวก เรื่องของทรัพยากร ผลไม้ แหล่งความมั่นคงทางอาหาร และสิ่งที่เราต้องปกป้อง ทั้งระวังน้ำผิวดิน ปัญหาเรื่องช้าง ปัญหาเรื่องน้ำก็มี
ภาพรวมใน 8 จังหวัด หลังจากเกิดอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 40 ปีที่แล้ว บ้านเมืองเราก็เปลี่ยนไป วันนี้คนภาคตะวันออกกำลังเผชิญกับอะไร เวลาเราเห็นภาพ เราจะแบ่งพื้นที่เป็นโซนภูเขาและโซนทะเล โซนทะเลจะประกอบไปด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ก็จะมีปัญหาเฉพาะพื้นที่และปัญหาร่วม อย่างโซนทะเลที่ชลบุรีกำลังมีเรื่องการขยายตัวของอุตสาหกรรม ระยองมีมาบตาพุด เป็นต้นแบบของการทำงาน ทั้งต่อสู้ แก้ปัญหายังไม่จบสิ้น มาบตาพุดก็จะถูกยกมาเป็นต้นแบบในหลาย ๆ เรื่อง
จังหวัดจันทบุรี ก่อนหน้านี้พี่น้องจันทบุรีลุกขึ้นมาต้านเหมืองทองกันทั้งจังหวัด ซึ่งแปลกมาก เพราะเขาเป็นพื้นที่ที่ทำเรื่องของการเกษตร แต่อยู่ ๆ ต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องเหมืองทองกัน สุดท้ายจังหวัดตราด มีการค้าชายแดน มีเกาะที่สวยงาม แต่วันหนึ่งพี่น้องบอกว่านิวเคลียร์จะไป
ส่วนโซนภูเขา เห็นชัดเรื่องการขยายตัวของอุตสาหกรรม เกิดเป็นมลพิษ หรือปราจีนบุรี ก็เป็นเมืองเกษตรที่ดี แต่การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม 304 ทำให้คนปราจีนบุรี มีสารตะกั่ว สารโลหะหนักอยู่ในเส้นผม ในปลา ส่วนสระแก้วกลายเป็นแหล่งขยะพิษ พี่น้องกำลังต่อสู้เรื่องของนิวเคลียร์ที่กำลังจะกลับมา จะเห็นว่าเรามีปัญหาร่วมกันอยู่
ซึ่งก่อนหน้านี้ กป.อพช. คุยกันว่า มี 4 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหา คือ 1. เรื่องช้างป่า 2. การจัดการน้ำทั้งระบบ เพราะน้ำถูกจัดการจากพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นพื้นทีที่ควรจะได้น้ำ แต่น้ำก็ถูกส่งไปอุตสาหกรรม ที่มาจากไหนก็ไม่รุ้ 3. เรื่องขยะพิษอุตสาหกรรม ตอนนี้มีการลักลอบทิ้งอยู่ และ 4. เรื่องของนิวเคลียร์ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของพลังงาน
ดังนั้นนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของภาคตะวันออกที่เราอาจจะต้องมาหาทางออกร่วมกัน เพราะเราเป็นคนภาคตะวันออก ทำไมเราถึงไม่ได้พูดถึงว่า จะมาพัฒนาอะไรถามคนตะวันออกหรือยัง เราอยากจะมีโอกาส ในการบอกว่า เราควรจะมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้มองว่า EEC หรืออุตสาหกรรมเป็นข้อจำกัด หรือเป็นอุปสรรคอย่างเดียว แต่เราจะทำอย่างไร ถึงจะได้การพัฒนาในนามของ EEC หรืออะไรก็ตามที่ตอบโจทย์ทำให้เราอยู่กับทรัพยากรได้ด้วย
ถ้าใครรู้จักระยองดี จะเห็นว่าบริบทฝั่งตะวันตก และตะวันออกมีความต่างกัน ฝั่งตะวันออก 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านฉาง อำเภอนิคม และอำเภอปลวกแดง มันจะดีไหมถ้าเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมเยอะ แต่อุตสาหกรรมนั้นถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ทำให้เป็นสมาร์ทซิตี้ไปเลย EEC มีบทบาทมากในการที่จะดูแลเรื่องวัตถุดิบ การผลิต การจัดการของเสีย คุณภาพชีวิตของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันฝั่งตะวันออกของจังหวัดระยอง ทรัพยากรดี เกษตรและการท่องเที่ยวน่าจะเป็นทางออกไหม ซึ่งจะทำให้เป็น 1 จังหวัด 2 ยุทธศาสตร์ได้ไหม แต่เราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้บอกแบบนั้น
คนในภาคตะวันออกเองก็ต้องตอบโจทย์ว่า เราอยากจะมีคุณภาพชีวิตแบบไหน โดยเฉพาะเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย สังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเติบโตขึ้นมา เราตอบโจทย์ชีวิตแบบไหน การศึกษาก็มีปัญหา คุณภาพชีวิตคนก็แย่ ยังต้องเผชิญกับมลพิษอีก ถามว่าพี่น้องที่ทำเกษตรอยู่ จะจำกัดมลพิษ จำกัดกลิ่นได้ไหม จำกัดน้ำได้ไหม เราอาจจะต้องมาตั้งต้นใหม่ วางแผนร่วมกันจริง ๆ สำหรับอนาคตภาคตะวันออก
งานวิจัยบ่งชี้ถึงความต้องการของคนภาคตะวันออกในเรื่องใดบ้าง
ดร.นรากร ศรีสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ความต้องการของคนภาคตะวันออก เราวิเคราะห์ตั้งแต่โอกาส อันดับ 1 เราเห็นว่า ภาคตะวันออกเป็นความหวังเรื่องของอุตสาหกรรม การผลิตอาหารของโลก บางที่ส่งออกไป และเรามีทรัพยากรโครงสร้างของระบบนิเวศ (ฺBiological Structure) หรือโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น แหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก แต่มีคนไปไหว้หลวงพ่อ และก็มีเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ส่วนจังหวัดระยอง ก็จะนึกถึงทะเล สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และการท่องเที่ยว ดังนั้นเรื่องของโอกาสการเจริญเติบโตของภาคตะวันออก ที่เราได้มาจากการลงพื้นที่มีด้วยกัน 3 มิติ คือ
- มิติด้านสังคม 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.1 ความยากจนของคนในภาคตะวันออก
1.2 ขาดรายได้ โดยเฉพาะเกษตรกรมีรายได้ต่ำ
1.3 อัตราการตายของมารดาที่คลอดบุตร
1.4 ความเจ็บป่วย 5 โรคสำคัญในภาคตะวันออก
1.5 การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุทางถนน
แต่สำหรับมิติด้านสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ มองว่า 3 ประเด็นที่เป็นปัญหารุนแรง ต้องเร่งแก้ไขก็คือ 1. ประเด็นอาชญากรรม 2. ปัญหากำลังแรงงานที่กำลังขาดทักษะที่เกี่ยวกับการจ้างงาน การมีงานที่ดีและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าไม่มีการรีสกิล หรืออัพสกิลก็จะตกงาน เพราะเทคโนโลยีกำลังดิสรัปต์เราอยู่ 3. เรื่องของเด็กและเยาวชน มองทุกมิติว่าจะมีมิติไหนบ้าง เรื่องการถูกดำเนินคดีต่าง ๆ
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
2.1 การปลูกข้าวนาปรังกระทบวิกฤตภัยแล้ง
2.2 ปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออก
2.3 การขาดแคลนน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
2.4 การรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออก
2.5 การนำเอาขยะกลับมาใช้ซ้ำในภาคตะวันออก
ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสำคัญ 3 เรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือ 1. เรื่องภัยแล้งที่กำลังรุนแรงมาก 2. กากของเสียด้านอุตสาหกรรม ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังดิสรัปต์เรา ผมมองว่า เราจะไม่รับไม่ได้ แต่จะอยู่อย่างไรให้สมดุล เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และเราต้องอนุรักษ์ทั้งเรื่องของโครงสร้างของระบบนิเวศ (ฺBiological Structure) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และประเพณีวัฒนธรรม 3.พื้นที่ภัยแล้ง หรือเกิดอุทกภัย
- มิติด้านเศรษฐกิจ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
3.1 การปรับตัวลงของความเชื่อมั่นใน SMEs ประเทศไทยเรามีความสำคัญมาก ถ้าดูพีระมิด ผู้ประกอบการที่อยู่ข้างบน 20% – 30% เท่านั้นที่จะมีความสามารถในการส่งออกไปต่างประเทศ ฐานกลาง คือ SMEs ฐานล่างที่เป็นพีระมิด คือ เกษตรกร ซึ่งเราต้องทำให้ฐานกลางกับฐานล่างของเราอยู่รอด โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ฐานล่างที่พอจะตั้งต้นได้ล้มลง
3.2 ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอยในภาคตะวันออก
3.3 การว่างงาน เพราะโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมต้องปิด เราต้องยอมรับเรื่องของสถานการณ์โลก แต่เราจะแก้ปัญหาอย่างไรในช่วงที่กำลังฟื้นขึ้นมา ทำให้เกิดเรื่องของแรงงานคืนถิ่น พอว่างงานแรงงานกลับคืนถิ่น เกิดการว่างงานซ้ำซ้อน
3.4 แรงงานอุตสาหกรรมขาดความรู้ความสามารถ แม้โรงงานจะก้าวหน้าไปไกล ซื้อเทคโนโลยีมาเยอะ แต่คนของเราขาดทักษะ อย่างมหาลัยราชภัฏราชนครินทร์ก็จะต้องมีหลักสูตรอัพสกิล รีสกิล เพื่อให้คนไปทำงานตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมได้
3.5 ความเหลื่อมล้ำ ข้อนี้เป็นความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสำคัญด้านนี้ไว้ 3 เรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือ 1. เกิดผลรุนแรงด้านภาวะหนี้สิน คนตกงาน คนทำงานไม่ได้ แรงงานคืนถิ่น 2. ค่าครองชีพสวนทางกับค่าจ้าง และ 3. ต้นทุนผลิตสินค้าสูง
ข้อน่าสังเกตุตอนทำงานวิจัย Area Needs ตอนปี 2564 สิ่งที่คนให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 คือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ปี 2665 คนมองไปที่เรื่องเศรษฐกิจและความยากจน ซึ่งอาจจะต้องย้อนกลับมามองว่า เกิดอะไร เกิดจากวิกฤตโควิด 19 หรือเปล่ามี่ทำให้ผลเปลี่ยน
ส่วน บุบผาทิพย์ แช่มนิล กล่าวว่า ในมุมของนักประชาสังคม ที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นฐานหลัก ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าน้อง ๆ เยาวชนที่เติบโตมา เขาสามารถที่จะรู้รากเหง้าของตัวเอง รักษาวัฒนธรรม ประเพณี และเท่าทันสังคม รู้ว่าโลกจะเป็นอย่างไร และสามารถปรับตัว ตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น จนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ มันจะตอบสิ่งเหล่านี้ไหม ถ้าเราเลือกได้ว่าจะไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรม เขาควรจะได้มีโอกาสเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือแล้วไปตกอยู่ที่การว่างงาน
ซึ่งเขาควรที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เหลื่อมล้ำ เพราะตอนนี้พอเด็กเติบโตมาอยู่ในวงเรื่องของการแข่งขันเรื่องของการศึกษา แล้วพอคนไปสายพานนี้ไม่ได้ก็ถูกเขี่ยตกหมด เขาก็ตกไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องคืนถิ่นหมด
จากข้อมูลงานวิจัยที่ ดร.นรากร บอก 3 อันดับแรกของแต่ละด้านที่อาจารย์นำมาให้ดู มันล้วนแล้วมาจากการพัฒนาที่เป็นอุตสาหกรรม เวลาเราพูดถึง ณ ปัจจุบันนี้ เรากำลังจะพูดถึงว่า EEC คือโอกาส หรืออุปสรรค แต่จริง ๆ มันครอบคลุมชีวิตไปทุกด้าน ทั้งด้านบริบทพื้นที่ ด้านคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันควรที่จะต้องมาคลี่กันว่า ถ้าไม่ให้คนตกงานว่างงาน น่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่ให้ภัยแล้ง การจัดการน้ำในภาคตะวันออกจะต้องทำเพื่อใคร ซึ่งจะต้องยอมรับความจริง มันถึงจะแก้ปัญหา 3 ข้อที่อาจารย์บอกได้ สิ่งเหล่านั้นเชื่อมกับการพัฒนาทั้งนั้น เป็นนโยบายที่เราควรจะต้องได้บอก แต่ไม่มีโอกาสบอก
ความต้องการของคนพื้นที่ สู่นโยบายการพัฒนา
ดร.นรากร ศรีสุข กล่าวว่า วิจัย Area Needs ที่ได้นำเสนอไป เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะถูกนำเข้าไปอยู่นแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (ววน.) ระดับภาค และระดับภูมิภาค เพื่อนำไปปรับปรุงเป็นแผนของแต่ละภาค
ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เป็นดิจิทัลหมดทุกอย่าง เราอาจจะต้องดิสรัปตัวเอง หนึ่งในนั้นก็อาจจะเป็นอาชีพผมด้วยก็คือ อาจารย์มหาลัย และก็พนักงาน แรงงานอุตสาหกรรม และแบงค์ อะไรก็ตามที่มีเทคโนโลยีก้าวเข้ามา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนแล้ว อย่างนักศึกษามหาลัยจะเห็นก่อนโควิด-19 ไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับตัว เด็ก ๆ เองเริ่มไม่อยากมาเรียน อยากเรียนแบบออนไลน์ ทุกคนสามารถเสิร์ชหาในออนไลน์ได้โดยใช้ดิจิทัล
ดังนั้นเราต้องปรับตัว แต่ปรับอย่างไรให้สมดุล อย่างเช่น มหาวิทยาลัย เราเป็นตัวกลางด้านวิชาการ ก็ต้องปรับตัวให้หลักสูตรของเราตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เพื่อให้เด็กของเรามีสมรรถนะตรงกับภาคอุตสาหกรรม เท่านี้ยังไม่พอ เรายังต้องสอนอาชีพที่สอง ที่เป็นอาชีพเสริมให้กับพวกเขา นอกเหนือจากที่เขาเรียนอยู่ เขาจะต้องเรียนรู้ภาษา เรียนออนไลน์ นี่คือสิ่งที่อาจจะเพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับการศึกษา
ถ้าเรามองทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างเกิดจากเทคโนโลยีที่ดิสรัปเราหมด สาเหตุสำคัญคือ โลกเราก้าวสู่ยุคดิจิทัล แล้วเราก็รับสิ่งนี้เข้ามา แต่ต้องคิดต่อว่า เราจะอยู่ยังไง เราก็อาจจะต้องมีเวทีแบบนี้ เพื่อระดมสมอง ซึ่งภาครัฐก็มีเวทีแบบนี้ แต่บางทีการเข้าถึงของคน และฟังก์ชันต่าง ๆ อาจจะยังเข้าไม่ถึง หรือมีน้อย ซึ่งถ้าเป็นหน่วยงานราชการ โครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งที่เราต้องรู้ เพราะวิจัย Area Needs เราทำทั้ง 6 ภูมิภาค เพื่อที่จะนำไปทำแผนพัฒนาประเทศต่อ เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น หลังจ่ากนั้นก็ต้องมีคนมารับช่วงไปทำต่อ
เสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ภาคตะวันออก กับภาพอนาคตที่อยากให้เห็น
ตาล วรรณกูล เครือข่ายฟันน้ำนม จ.ฉะเชิงเทรา แสดงความคิดเห็นว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีของดี มีช้างป่าเป็นของดีของคนทั่วประเทศ แต่เป็นของร้ายสำหรับคนในพื้นที่ ในมิติของการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่ภาคตะวันออก ค่อนข้างมีปัญหา และมีความผิดพลาดจากในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ในอนาคตเราก็คาดหวังว่า การจัดการทรัพยากรสัตว์ป่ามันอาจจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับพี่น้องที่อยู่พื้นที่ ไม่ใช่อนุรักษ์จนเกินสมดุล กลายเป็นปัญหาระดับช้างมาจนถึงทุกวันนี้ และใช้งบประมาณมหาศาลมาแก้ไข
พีระพัฒน์ สนองสุข คนรุ่นใหม่ จ.จันทบุรี แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลัก ๆ เป็นปัญหาเรื่องช้างป่าที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ในพื้นที่แก่งหางแมว ที่เป็นโครงการของรัฐ ซึ่งทำเพื่อส่งไปทางโครงการ EEC อีกทั้งช่วงนี้ทุเรียนแพง เราก็ต้องการแหล่งน้ำในการใช้ปลูกทุเรียน
ในนามตัวแทนของคนรุ่นใหม่ พยายามมองดูว่า มันจะไปทางไหน เราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไรต่อไป
สุเมธ เหรียญพงษ์นาม กลุ่มคนรักษ์กรอกสมบูรณ์ จ.ปราจีนบุรี แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องของความต้องการ ถ้าเราไม่มีส่วนร่วมจริง ๆ เราจะไม่เห็นความต้องการจริง ๆ เราอาจจะไปถามในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อเขาไม่ได้รับผลกระทบ ความต้องการจริง ๆ ก็ไม่มี
อย่างเรื่องของ EEC หลายคนบอกว่า เมืองระยองเป็นเมืองมหัศจรรย์ เมืองที่เราอยู่แล้วสามารถมีความสุข มีผลไม้ ภูเขา มีอุตสาหกรรม มีทุกอย่าง สามารถสร้างรายได้จากตรงนั้น เรามีครบแล้ว แต่ทำไม EEC ถึงมุ่งที่จะอยู่ที่ระยองอย่างเดียว
อย่างเช่น ภาคอีสาน ประชากรที่าจากภาคอีสานที่มาทำงานอยู่ที่นี่มีเท่าไหร่ เราเคยคิดไหมว่า ประชากรภาคอีสาน และภาคเหนือมีอยู่เท่าไหร่ ทำไมการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำถึงมุ่งตรงมาที่ระยองอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ที่นี่มีทุกอย่างครบ เลี้ยงคนทั้งประเทศได้ รวมทั้งคนทั้งโลกก็ยังได้ แต่ทำไมเราถึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมโดยที่ไม่ฟังเสียงของคนจริง ๆ ว่าเขาพอแล้วหรือยัง
ซึ่งเท่าที่ผมฟังมา คือพวกเขาบอกว่าพอแล้ว แต่รัฐบาลบอกว่า ยังไม่พอ ผมจะทุ่มที่นี่ไปอีก ทำไมภาคอีสานต้องย้ายถิ่น หรืออุบัติเหตุแต่ละปี สงครามอ่าวเปอร์เซียสู้กัน กลับบ้านช่วงสงกรานต์ หรือปีใหม่ไม่ได้ เพราะนั่นคือการหลั่งไหลย้ายถิ่นของประชากร แล้วทำไมเราต้องให้เขาย้าย ทำไมเราไม่อำนวยความสะดวกเอาภาคอุตสาหกรรมไปไว้ที่ขอนแก่น หรืออุดรธานี ลองไปถามเขาดู ทำไมเขาถึงต้องมาทำงานที่นี่ ที่นั้นมีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่สุดท้ายเมื่อคนไม่มีส่วนร่วมกับโครงการ EEC อย่างเช่น ที่ จ.ปราจีนบุรี กำลังถูกมองว่าเป็นที่กำจัดขยะแบบครบวงจรของโลก เพราะรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าขยะทุกอย่างมาที่ประเทศไทย หลังจากที่จีนปิดแล้ว ด้วยคำสั่ง 4/2559 ที่นั้นคำสั่งยังรวมไปถึงการยกเลิกผังเมืองทุกอย่างที่มี ถ้าคุณอยากจะตั้งอุตสาหกรรม อยากตั้งบ่อขยะ ที่เกี่ยวกับโรงขยะ โรงไฟฟ้า คุณมาจิ้มเอาเลย เกษตรกรรมชั้นดีคุณก็สามารถจิ้มเอาได้ ด้วยคำสั่ง 4/2559 ของคณะปฏิวัติ
อันนี้ต้องถามประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการไหม มีบ่อขยะมาตั้งที่บ้านผม เมื่อเช้าก็ยังเหม็น เหม็นทุกวัน ทั้งวัน ทั้งคืน และก็ไม่มีใครแก้ไขปัญหานี้ได้ รัฐบาลเองก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถามว่าชาวบ้านรู้ไหมว่าโรงขยะจะมาตั้งที่บ้านเขา ชาวบ้านไม่รู้ มารู้ตอนที่สร้างเสร็จแล้ว พอสร้างเสร็จแล้วชาวบ้านก็ไม่มีส่วนร่วม พอไม่มีส่วนร่วมก็ไม่มีโอกาสที่จะคัดค้าน หรือบอกว่าจะเอาหรือไม่เอา
การมีส่วนร่วมจะโยงไปทุกอย่าง รวมถึงเรื่องการคอร์รัปชันด้วย เพราะประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ถ้าชาวบ้านบอกไม่เอา ก็ไม่มีใครเซ็น ตรงนี้ถ้าชาวบ้านมีส่วนร่วม เขาก็สามารถที่จะพัฒนาบ้านของตัวเองไปได้ เป็นวงจร
ผมทำเรื่องขยะ เพราะผมมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าพ่อผม ลูกผม และเพื่อนของผมที่อยู่ในหมู่บ้านจะเป็นอย่างไร เรามองไป ไม่เห็นทางออก และต้องดูดมลพิษจากขยะเข้าไป เพราะขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ซึ่งมันเป็นจุดตั้งต้นของทุกอย่าง บางคนชอบอุตสาหกรรม ถ้าเขามีส่วนร่วม ก็ไปตั้ง แต่ถ้าเขาอยากให้เป็นที่ดินเกษตรกรรม เราก็ไม่ต้อง หาวิธีอื่น เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่มีรายได้ แต่ตอนนี้พอไม่มีส่วนร่วมเราก็ต้องรับทุกอย่างทั้งที่ไม่อยากได้
ดร.อบรม อรัญพฤกษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และที่ปรึกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง กล่าวว่า ภาคตะวันออกในมิติที่ไม่เหมือนกัน ปัญหาก็เลยออกมาไม่เหมือนกัน ผมยกตัวอย่างโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา วิ่งมาถึงโรงกลั่นที่ จ.ระยอง และมุ่งไปถึงปราจีนบุรี และจันทบุรี จาก อ.แกลง ไป เราจะเห็นมิติมันต่างกันในประเด็นปัญหา ถามว่าปัญหามันเกิดจากอะไร ถ้าพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ปัญหามันเกิดจากเหตุที่ต่างกัน เราจะเห็นปัญหาของ 3 จังหวัดที่พูดถึง โครงการ EEC
ก่อนหน้านี้ผมเห็นภาพถ่ายของนาซ่า ตอนกลางคืนกรุงเทพฯ กับชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นภาพเดียวกัน มีคนคอมเมนต์บอกว่านี่คือวิถีชีวิตของคนประเทศเราต่างกัน เพราะกรุงเทพฯ กับ 3 จังหวัดในตะวันออกเป็นเมืองที่ทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แสงจากโรงงานอุตสาหกรรม แสงจากขนส่ง แสงจากท่าเรือ แม้แต่เรือไดหมึกก็เห็นแสง นั่นหมายความว่า พื้นที่พัฒนา EEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้พื้นที่ในการแข่งขันระดับประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะอยู่อย่างไรให้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ของเรา ความเร่งด่วนที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม คือ อากาศ อย่างที่อาจารย์นรากรพูดว่า บริบทเปลี่ยน อากาศไม่ดียังพอรอด แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีตัง ก็ไม่ไหว ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างไม่ได้เปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เขากำลังคิดว่า โควิด-19 มา มีผลกระทบ ภาพของงานวิจัยเลยจะออกมาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสูงกว่าสิ่งแวดล้อม เพราะวันนี้ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่นึกถึงสุขภาพที่ดี หรือโรงพยาบาลที่ดีแน่นอน
EEC มีความจำเป็นต้องพัฒนา แต่เราจะอยู่อย่างไรในภาคเกษตร ภาคเมือง ผมเคยดูอากาศที่เขาชะเมา กับมาบตาพุด ในเวลาเดียวกัน ภูมิอากาศบ้านเราน่าตกใจ ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยน ไม่ใช่แค่เรื่องที่ต้องอัพสกิล หรือรีสกิลอย่างเดียว แต่การแก้ไขปัญหา ณ เวลานี้ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ เราก็ต้องสามารถวัดคุณภาพน้ำได้ด้วยเทคโนโลยี
ความฝันของผม คืออยากได้สภาพอากาศที่อยู่ในพื้นที่มาแมชชิ่งกับสุขภาพชุมชน (Community Healyh) ซึ่งถ้าวันหนึ่งเรารู้สุขภาพของคนตำบลหนึ่งว่ามีอาการเป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรัง มันไปสอดคล้องกับอากาศที่เกิดในพื้นที่นั้นไหม ซึ่งมันอาจจะสามารถทำได้อย่างนี้ในอนาคต
ดังนั้น ผมคิดว่า EEC มีความจำเป็น แต่เราจะอยู่อย่างไร และสำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเราอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราต้องยอมรับว่า ท้องถิ่นยังมีช่องว่างเรื่องของความรู้และความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีมาก ไม่ได้หมายความว่าท้องถิ่นไม่เก่ง แต่อาจจะยังความเข้าใจว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไร ที่จะพัฒนาชีวิตของคนในพื้นที่ ไม่ต้องมองไกลว่าเมืองเราจะต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาก ๆ เอาแค่จุดเล็ก ๆ ที่เราสามรถวัดน้ำ วัดอากาศ เตือนประชาชนในมือถือได้
ลองดูอากาศตั้งแต่เชียงใหม่จนมาถึงกรุงเทพฯ ตอนนี้เชียงใหม่อยู่อันดับ 7 ของโลก ระยองเองก็ใช่ย่อยตอนที่ขับรถมาอยู่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งผมใช้การวัดค่าของต่างประเทศในการวัดสภาพอากาศ ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันในเมืองไทย เราดูเพื่อรับรู้ว่าตอนนี้ในพื้นที่เราเป็นอย่างไร
ถ้าภาคอุตสาหกรรมมาคุยร่วมกับกลุ่มสุขภาพชุมชน หรือ อสม. แล้วมาคุยร่วมกัน เพื่อดูว่าอะไรที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีที่จะเอาผลสุขภาพของคนในชุมชนขึ้นมาเป็นข้อมูลดาต้า ซึ่งข้อมูลทุกข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ ก็ต้องเป็นข้อมูลที่มาจากความเป็นจริงในพื้นที่
ถ้าถามว่าเรามอง EEC เป็นแบบไหน ในฐานะที่ผมเคยเป็นกรรมการใน EEC ผมว่าจากอีสเทิร์นซีบอร์ดมาจนถึง EEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องทำ แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีบางประเด็นที่สงสัยและข้องใจว่า ในเมื่ออุตสาหกรรมในปัจจุบันเป็นพิษ ดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีความชัดเจนในรัฐบาล ผมอยูี่บ้างฉาง เวลามีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมาลงที่อู่ตะเภา ชาวบ้านดีใจกันใหญ่ มีนักท่องเที่ยว 376 คน มาลง ผมไปคุยกับชุมชนว่า รัสเซียเคยมาซื้ออะไรจากชุมชนบ้านฉางบ้างไหม
ผมจะบอกว่า เวลามีนักท่องเที่ยวมา เศรษฐกิจก็จะไปกองอยู่ที่พัทยา กองกับทุน ผมไปคุยกับทัวร์ให้พานักท่องเที่ยวมาลงที่บ้านฉางสัก 1-2 วัน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างน้อย 4-5 แสนบาทก็ยังดี แต่ด้วยเทคโนโลยีกับชุมชนมันไกลกัน EEC พัฒนาอุตสาหกรรมก็จริง แต่ชุมชนไม่ได้อะไร มันเกิดนโยบายหนึ่งที่ผมขับเคลื่อนอยู่ คือ เรื่องของการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area Based Community) เน้นที่เรื่องของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เราพยายามดูสินค้าของชุมชนที่มีศักยภาพ เช่น มีเกษตรอินทรีย์ที่ทำแพคเกจเก๋ ๆ เราสามารถวางขายได้ และดึงมาเป็นจุดขายของพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่เรามีศักยภาพที่จะผลิต ซึ่งทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกัน
เสนาะ รอดระหงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ระยอง กล่าว มี 2 ประเด็นที่อยากจะพูด เรื่องแรก คือ อุตสาหกรรม EEC หลายท่านอาจจะรู้แล้วว่า ทำไม EEC ถึงต้องมาลงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นความมั่นคงของประเทศ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมองว่า ต้องมาลงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เนื่องจากชัยภูมิแถวนี้มีสนามบินอยู่ 3 สนามบินติดกัน และมีทะเล มีท่าเรือน้ำลึก เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด จึงมาลงที่ตรงนี้ก่อน แต่ต่อไปคงจะขยายไปทั่วประเทศ ถ้าโปรเจกต์นี้สำเร็จ และอยู่ร่วมกับพี่น้องในท้องที่ได้อาจจะขยายไปโครงการอื่น ๆ
EEC มีกฎหมายรองรับ ใครมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้า แม้ไม่ใช่รัฐบาลเดิมก็ต้องทำ เพราะกฎหมายรองรับ ดังนั้น EEC ต้องเกิด เพราะรัฐบาลผลักดันให้เกิด เป็นความมั่นคงของประเทศ แต่เราจะอยู่ร่วมกันกับอุตสาหกรรม EEC ได้อย่างไร ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ
ผมเชิญชวนทุกคนที่แกนนำดูแลชุมชน ดูแลวิสาหกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เข้าร่วมเวทีทุกเวทีที่มีการประชุม แล้วเราจะได้รับข้อมูล พร้อมกับเสนอปัญหาให้แก้ไข ตรงนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุด เราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับ EEC ซึ่ง EEC ติดกับพรมแดนเราตรง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง บริเวณเขาไม้แก้ว 14,000 ไร่ เริ่มนับหนึ่งแล้ว มีการเวนคืน จ่ายเงินไปบางส่วนแล้ว อันนี้จะเป็นเมืองใหญ่เลย
ถ้าถามว่า EEC มีผลกระทบกับจังหวัดเราอย่างไร จังหวัดระยอง ท่านผู้ว่าคนเก่าและคนปัจจุบัน ให้จังหวัดระยองมี 3 เสา 1. เกษตร 2. การท่องเที่ยว บริการ และครัวเรือน ส่วนที่ 3. อุตสาหกรรม ซึ่งถ้าเป็นผลกระทบในเรื่องน้ำ จ.ระยองมีน้ำอยู่ 4 อ่างหลัก 1. อ่างดอกราย 2. อ่างหนองปลาไหล 3. อ่างประแสร์ 4. อ่างคลองใหญ่ ทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำได้ประมาณ 589 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันจังหวัดระยองเราใช้น้ำอยู่ทั้งหมด 450 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้นถ้าปีไหนน้ำเต็มอ่างก็จะพอใช้ ถ้าปลายปีน้ำไม่เต็มอ่างเรามีปัญหา ซึ่งเราไม่ได้ใช้แค่ในจังหวัดระยองเท่านั้น แต่เราต้องส่งน้ำไปให้กับจังหวัดชลบุรีด้วย เพราะชลบุรีไม่มีแหล่งน้ำหลัก เราจึงต้องส่งไปให้ภาคอุคสาหกรรมหลักที่ชลบุรี และก็ส่งไปที่บางพระ
ดังนั้นแหล่งน้ำยังเป็นปัญหาอยู่ อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยายังบอกอีกว่า ปลายปีนี้มีโอกาสจะแล้งอีกด้วย วันนี้ผมมอนิเตอร์น้ำในอ่าง ตอนนี้มีอยู่ 440 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรลดลงมาจาก 500 กว่า ถ้าปลายปี ฝนทิ้งช่วงก็จะส่งผลกับจังหวัดระยองและชลบุรีโดยรวม เพราะฉะนั้นน้ำเป็นเรื่องอันตรายมาก และได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกไปแล้วว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไร
เราเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุด เรามีแม่น้ำหลักอย่างบางประกง ซึ่งไหลมาจากปราจีนบุรี แต่เราไม่ได้จัดการมันอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบ จึงทำให้จังหวัดระยองและชลบุรีเราขาดแคลนเรื่องน้ำเป็นบางช่วง เราขาดแคลนสุด ๆ เมื่อปี 2548 และปี 2563 ที่ต้องมอนิเตอร์ทุกอ่างน้ำ เราต้องให้โรงงานชัตดาวน์ และให้ลดการใช้น้ำลง ทำทุกทางเพื่อให้อยู่รอดให้ได้
น้ำมีอยู่เท่านี้ไม่พอแน่นอน เพราะจังหวัดระยองเราใช้อยู่ 440-450 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อ EEC เข้ามาเต็มรูปแบบน้ำจะเพิ่มขึ้นมาอีก 30%-40% เราต้องมีแหล่งน้ำที่มั่นคงกว่านี้ถึงจะอยู่ได้ ตอนนี้ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทำแผนเรื่องนี้มา และรัฐบาลต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจะได้มีความมั่นคงเรื่องน้ำอย่างจริงจังสำหรับภาคตะวันออกของเรา
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ผังเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง คนที่จะสร้างอุตสาหกรรมได้ใน 3 จังหวัด จะไม่ได้เปิดทั้งจังหวัด สามารถสร้างได้แค่ไลน์ EEC เท่านั้น อย่างบ้านค่ายวังจันทร์ โรงงานเข้าไปไม่ได้เลย นอกจากโรงงานเกี่ยวกับเกษตรเท่านั้น ถึงจะปล่อยเข้าไป ที่จังหวัดระยองมีอยู่นิดเดียว ยึดตามผัง EEC เลย ตอนนี้มีการกันไว้ไม่ให้ไปลุกล้ำพื้นที่เกษตร อุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเราใช้อยู่แค่ 5%-8% เท่านั้นไม่ได้มาก เราพยายามเข้มงวดไม่ให้อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงเกิด อันไหนที่ส่งผลกระทบน้อยก็ให้เกิดได้ หรือที่เกิดมาแล้วต้องควบคุมอย่างไรให้มันเกิดน้อยกว่าเดิม หรือลดลงไม่ให้มี
ในภาคการเกษตร จังหวัดระยอง เราเป็นเมืองเกษตรมาก่อน ก่อนที่อุตสาหกรรมจะเข้ามา โดยจังหวัดระยองเรามีจำนวนประชากรอยู่หลายแสนคน อยู่ในภาคเกษตร 60%-70% อยู่ในภาคอุคสาหกรรม เพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่คนในจำนวนนี้ยังมีรายได้ไม่มั่นคงจากการทำเกษตร แล้วจะให้จังหวัดระยองมีความแข็งแรงได้อย่างไร ในเมื่อวันนี้เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เนื่องจากเกษตรกรถนัดแค่การผลิต แต่ไม่ถนัดขาย ไม่ว่าจังหวัดไหนก็ตาม
จังหวัดระยองเรามีพืชหลัก ๆ อย่างเข่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สับปะรด และผลไม้อื่น ๆ รวมถึงเรามึพืชหลักอย่าง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัด ส่งเสริมเรื่องพวกนี้ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการตลาด เกษตรกรปลูกแล้วไม่รู้ไปขายที่ไหน พี่น้องเกษตรกรต้องแบกต้นทุนที่สูงมาก ปุ่ย ราคาขยับขึ้นมา 100% ส่วนยาขึ้นมา 30% และยังมีเรื่องแรงงานที่ไม่มีแรงงานใช้อีก แรงงานทั่วไปไม่ว่าจะเป็น จันทบุรี ตราด ระยอง และชลบุรี เราต้องใช้แรงงานเพื่อนบ้าน แต่มีข้อจำกัด คือ เราต้องทำ MOU เท่านั้น ซึ่งเกษตรแบบ MOU ไม่ประสบผลสำเร็จ เราต้องเสียเงิน 23,000-25,000 บาท ต่อแรงงานหนึ่งคน และส่วนใหญ่แรงงาน พอขึ้นทะเบียบเสร็จแล้วมาอยู่แค่ 1-2 เดือน ก็ไปแล้ว นายจ้างต้องรับภาระทั้งหมดเป็นแสน ๆ
แต่ในภาคอุตสาหกรรม ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะสวนผลไม้ กับสับปะรด คนไทยไม่ทำเลย เราเป็นห่วงภาคเกษตรมากกว่าภาคอุตสาหกรรม พืชหลัก ๆ ที่มีปัญหา คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ส่วนพวกทุเรียน และมังคุดพอไปได้ ผลผลิตเพิ่ม 10% ก็พอไปได้ ไม่มีปัญหา
จึงอยากให้มีนโยบายเรื่องการจ้างงานในภาคการเกษตร ทำ MOU เรื่องการจ้างแรงงานเพื่อนบ้าน และเรื่องของนโยบายส่งเสริมการขาย
ประไพ สาธิตวิทยา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า พอฟังจากภาคอุตสาหกรรม และ EEC แล้ว อยากจะฝากว่า ภาคอุตสาหกรรม และ EEC เราไม่ว่า แต่ขออย่างเดียว โรงงานที่มาตั้ง อย่าทิ้งน้ำเสียลงทะเล เพราะเรากำลังเจอผลกระทบ สัตว์น้ำน้อยลง พื้นที่ทำกินหมดไป เกิดจากถ่มพื้นที่ออกไปอีก 1,500 ไร่ เราเดือดร้อน เพระาพื้นที่แคบลง สัตว์น้ำ และพื้นที่ทำกินเราน้อยลง ไม่กี่วันมานี่เขาบอกว่าประมงชายฝั่งจะต้องเสียภาษีอวนอีกเมตรละ 0.25 บาท ภาคอุตสาหกรรมเข้ามา ทำให้เราเดือดร้อน ทุกอย่างเป็นเงิน เป็นทองหมด
เราอยากฝากบอกทางภาคอุตสาหกรรมว่า คุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณขุดบ่อไปเลย น้ำเสียตรงนั้นอย่าทิ้งลงทะเล คุณบอกว่าแต่ละโรงงานเข้าไปบำบัดแล้วถึงจะลงทะเล แต่ถามว่า กี่โรงงานที่มารวมกัน และปล่อยลงทะเล เมื่อก่อนพื้นที่เราปะการังสวยงาม ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว แค่ 1 ปี พอเรียกร้อง บอกเป็นที่ดินฟ้าอากาศ อากาศร้อน ทำให้ประการังเราตาย แต่จริง ๆ ไม่ใช่
น้ำเสียวิ่งลงมาที่เรา ความร้อนจากโรงงานก็วิ่งมาที่เรา แล้วมาบอกว่า ความร้อนที่ปล่อยลงมากว่าจะมาถึงเรา มันเจือจาง คุณกั้นไปเลย ถ้าอยากปล่อย แต่อย่าให้มาถึงบ้านเรา เพราะเราเสียหายมาก สมมติเป็นวงกลมแบบนี้ จุดศูนย์กลางที่ทำกิน อยู่ศูนย์กลาง ทุกคนมาที่ตรงกลางหมด แต่สุดท้าย เขาถ่มไปแล้ว ตรงไหนอยู่ใกล้เขาดูแล ตรงไหนไกลเขาไม่ดูแลเลย อันนี้ฝากภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งอีกไม่กี่วันเขาจะดูดทรายขึ้นมาถ่ม หาดทรายเราก็จะหายไปอีก ชายฝั่งจะไม่มี ก่อนหน้านี้มีประมงที่ไปออกเรือถ่ายรูปไปแจ้ง สุดท้ายเขาก็เข้ามาเจรจาแล้วก็เงียบหายไป
ดร.อบรม กล่าวว่า ต้องยอมรับ กรณีน้ำมันดิบรั่ว มีผลต่อปะการังเยอะมาก ปะการังที่สวยที่สุดของเราอยู่เกาะแสมสาร แต่พอฝั่งบ้านฉางเรากลับเฉา จริง ๆ แผนฟื้นฟูปะการังเราต้องมีแผนรูปธรรมและชัดเจน ว่าเกิดขึ้นแล้วต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะฟื้น แต่ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านพบ คือ ปะการังเริ่มตาย สัตว์ทะเลจับได้ 100 ตัว ปัจจุบันเหลือ 40 ตัว มันหายไปเกินครึ่ง แผนที่มีจะต้องเป็นรูปธรรมและชาวบ้านมีส่วนร่วม ซึ่งแผนที่ออกมาชาวบ้านจะต้องไม่เดือนร้อน อย่างถ่มทะเลห้ามไม่ได้ เพราะเป็นนโยบาย แต่ถามว่า เราจะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศฟื้นฟูกลับมา
ด้าน ดร.นรากร ศรีสุข เสริมต่อว่า ไม่ว่าเราจะเรียนสูงขนาดไหน ทุกวันนี้เราเรียนตามเทคโนโลยี โลกไปไกลมากแล้ว ประเด็นที่ผมมองวันนี้ อย่างแรก คือ เรื่องเกษตรกร ถ้าเป็นสมัยก่อน เกษตรรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราเคยเล่า คงไม่มีใครใช้สารพิษ เราอยู่กับบ้าน เราปลูกทานกัน ส่วนตลาดเราเป็นระบบแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี เรายอมรับไม่ได้ ทุกวันนี้คนใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ม่ใครส่งจดหมายแล้ว อันนี้เราต้องยอมรับ เกษตรเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องการตลาด
ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีปัญหาเรื่องเกษตรกร มีการตลาด แต่พอเร่งผลผลิตด้วยการใช้สารเคมี ขายได้ ก็ยิ่งใช้สารเคมี บ้านเรามีเทคโนโลยีเยอะ คุณจะซื้อสูตรอะไรก็ได้ แค่ไปบอกที่ร้าน คุณจะเร่งอะไรก็ได้ เพราะปัจจุบันนี้คุณต้องยอมรับว่า หมู ไก่ ทุกอย่างใช้ดกรทฮอร์โมนทั้งนั้น เราทานอาหารที่มีสารเคมี มันส่งผลต่อสุขภาพ ที่เรามาพูดคุยกันอยู่ตรงนี้ เพราะเราใช้เทคโนโลยี ตอบสนองจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น
แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า ปัญหามันเกิด มันส่งผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตอนนี้เรากำลังหาทางแก้ไขปัญหากัน เทคโนโลยีเราต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และดิจิทัลต่าง ๆ เราต้องย้อนกลับไป สิ่งสำคัญคือเรื่องของจิตสำนึก ทุกวันนี้ที่เราคุยกันเรื่องโรงงานจะปล่อยน้ำเสีย จะปล่อยของเสีย มาตรฐานปล่อยไป เราตรวจสอบครบไหมกับค่าต่าง ๆ
ถ้าเราอยู่แบบบาลานซ์แล้วมีกฎระเบียบที่เข้มงวด และเจ้าของมีจรรยาบรรณ ก่อนที่คุณจะปล่อยน้ำเสีย หรือปล่อยควันพิษ เราร่วมกันทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคเรา ทุกที่ เพราะตอนนี้เป็นปัญหาระดับโลก ตอนนี้น้ำแข็งละลายเยอะมาก ใครจะไปรู้ อีกหน่อยรุ่นลูกรุ่นหลานเรา เราอาจจะไม่มีเผ่าพันธุ์หลงเหลืออยู่ เหมือนไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไป ไม่มีใครรู้
สุดท้ายมันอยู่ที่จรรยาบรรณ กฎระเบียบ ระบบ และกลไก มันคือแผนต่าง ๆ ตั้งแต่แผนชาติ แผนยุทธศาสตร์ แผนระดับกลาง แผนฟังก์ชัน เมื่อเราพูดแผนเสร็จทุกคนบอกว่า ต้องเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไประดมความเห็น เพื่อให้เกิดแผนที่มีประสิทธิภาพ และเอามาใช้ให้ได้ผล แผนนั้นคือกลยุทธ์ มันกระจายไปแต่ละพื้นที่ ทุกคนก็ต้องช่วยกันยกระดับมันขึ้นมา
วัฒนา บรรเทิงสุข นักวิชาการสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเป็นยา ให้ความคิดเห็นว่า ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง แต่อย่างไรก็ตามเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เพราะนโยบายภาครัฐ แล้วรัฐกับประชาชนคือใคร รัฐต้องฟังประชาชน หรือประชาชนต้องฟังรัฐ เราต้องไปด้วยกันไม่ใช่หรือ งั้นถ้าเราจะฟังเสียงประเทศไทย คนไทยเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราจะแมชชิ่ง ภาคเศรษฐกิจกับสุขภาพมันต้องแมชชิ่งกันว่าจะเดินไปอย่างไร ถึงจะถึงเป้าหมายความสุข สุขภาพ และความยั่งยืนตรงนั้น เพราะเราปล่อยให้มันออกมาทำลายเรา จนไร้จรรยาบรรณ ทุกคนใช้แต่กิเลส ทำให้เกิดโมหะ หลงเชื่อ ซึ่งมาจากนโยบายด้วย
นโยบายมาจากใคร ก็มาจากภาครัฐไม่ใช่หรือ ว่าต้องทำ ต้องเป็นแบบนี้ ใครทำแล้วผิดพลาด ของดีอาจจะไม่ดีก็ได้ ของดีอาจจะราคาถูกก็ได้ ของหลอกราคาแพง วันนี้เราของเรื่องของความจริงใจ ความซื่อสัตย์ที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ที่อาจารย์และภาคเกษตรของเราได้พูด เราต้องกัดฟันทำ เพื่อจะได้มีกิน แต่วิถีที่มันเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเพิ่งพาเศรษฐกิจ เราทำสิ่งนี้ เพื่อไปซื้อข้าว ซื้ออาหาร และซื้อสุขภาพ แม้ว่าโรงพยาบาลจะเกิดน้อย แต่ก็เกิดไม่น้อยกับการที่จะแลกเปลี่ยนการฟอกไต การไปทำ NCDs ในบั้นปลายชีวิต ก็ต้องฝากพี่น้องของเราทุกคนเหมือนกัน ณ วันนี้เสียงจากระยอง เสียงจากคนไทยคนหนึ่ง ที่เป็นจิ๊กซอร่วมกันพี่น้องทั้งประเทศ มันเป็นความสำคัญร่วมกับภาครัฐ เพราะฉะนั้น รัฐอย่าเอาการตัดสินใจที่บอกว่า “ต้อง” มาใช้กับคนไทยทั้งหมด มองให้เห็นว่า คนไทยทั้งหมด คือ ลูกหลาน การที่ท่านทำบาป คือ การที่ท่านฆ่าเขาไปทีละเล็กละน้อย ขอชีวิตของพวกเราให้มีความสุข เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ตามที่พวกเราคาดหวัง
ขอให้วินัย และสุขภาพที่จะเกิดขึ้นอยู่ตั้งแต่ลุกหลานของเราเข้าสู่ระบบ จนไปสู่ปลายทางของวิถีทำมาหากิน บั้นปลายของผู้สูงอายุด้วย
มานพ เจริญมหาบารมี รองประธานกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง แสดงความคิดเห็นว่า ภาคตะวันออกเป็นภาคที่โชคดี เหมือนยกทั้งประเทศมาไว้ที่ภาคตะวันออก มีภูเขา มีทะเล มีสวนผลไม้ มีชายแดน มีทุกอย่างครบ
สิ่งที่อยากเห็นก็คือ การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า และมีคุณภาพ โดยเฉพาะ “น้ำ” ปัจจัยหลักของคนทั้งโลก และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนภาคตะวันออก กลุ่มของเราเป็นกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเสีย เราต้องช่วยกันดูแล และจัดสรรอย่างมีคุณภาพ
และที่ทุกคนพูดมาก่อนหน้า เห็นด้วยกับทุกท่าน โดยเฉพาะเรื่องจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อมเราคุยกันเยอะ ต้องใช้ภาษาว่า เตี้ยอุ้มค่อม จูงคนตาบอด ที่รัฐบาลบอกว่า พยายามจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในทุก ๆ กระบวนการ เป็นตาบอดจูงตาบอด ไม่เคยได้ให้เลย จนหมายแทบทุกฉบับ ทุกท่านเคยไปนั่ง เคยไปฟัง หรือเคยได้เสนอไหม ไม่เคยเลย เขาโยนลงมาทางนั้น โยนลงมาเสร็จแล้วบอกว่า อยากให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ ต้องใช้หลักธรรมอีก เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า ความจริงอันประเสริฐมี 4 ประการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่ง ทุกข์ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น สมุทัย หาสาเหตุมันให้เจอ นิโรธ คือ แนวทางการแก้ไข และมรรค คือ วิธีการ เมื่อคุณรู้ว่า อุตสาหกรรม EEC จะมาลงเท่าไหร่ มีโรงงานกี่โรง แต่ละโรงมีคนเท่าไหร่ การใช้ การบริโภค การขับถ่ายของเสีย คุณมีการประมาณการอยู่แล้ว ดังนั้นคุณให้มาด้วยว่า 1 ปี ฝนที่ตกทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก คุณคิดว่า น้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนขุนด่านปราการชน ในด่านเก็บน้ำ หนองปลาไหล หนองประแสร์ หรือเขาจุก มันเหลือกักไว้กี่เปอร์เซ็นต์ ไหลทิ้งทะเลไปกี่เปอร์เซ็นต์
ถ้าผมอยู่บ้าน 2 คน กับภรรยา สมัยก่อนพอกินทั้งปี พอมีลูกมา 5 คน ผมต้องซื้อโอ่งเพิ่ม เพื่อรองน้ำฝนไว้ให้กินทั้งปี ไม่ปล่อยน้ำฝนไหลทิ้ง ถ้า 8 จังหวัด มีเขื่อน มีอ่างเก็บน้ำ เหมือนโอ่งที่เก็บไว้ในบ้าน สำรองไว้ ถามว่า มันพอเพียงไหม เมื่อน้ำดีก็ส่งไปถึงผักของ ดร.วัฒนา ปลอดสารพิษแน่นอน ส่งไปถึงสวนเงาะ สวนทุเรียน ส่งไปถึงโรงงาน มีน้ำใช้ มีน้ำกินดีแน่นอน เด็กที่ไปเรียนหนังสือ ดีแน่นอน คนแก่สุขภาพดีแน่นอน ท้ายที่สุดมันมาจากน้ำ ทำไมคุณถึงไม่ทำโอ่ง
รัฐบาลคุณรู้อยู่แล้ว นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่เท่าไหร่ โรงงานเท่าไหร่ คนเท่าไหร่ ใช้น้ำเท่าไหร่ ของเสียเท่าไหร่ คุณรู้อยู่แล้ว คุณไม่ใช่เอาโรงงานมาลง แล้วไม่เอางบประมาณมาป้องกัน ไม่ใช่ฟื่้นฟู เราไม่ต้องการฟื้นฟู เราต้องการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ไม่ต้องซื้อเพื่อปลูกป่า คุณแค่รักษามันไว้ มันโตพอ อย่างนี้คือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณค่า เรามีบริษัทจัดการน้ำภาคตะวันออก แต่จัดการทรัพยากรน้ำ เพื่ออุตสาหกรรม ไม่ใช่เพื่อชาวบ้าน และเพื่อการเกษตรอย่างที่ทุกคนรู้ ไม่ใช่นิคมมาแย่งน้ำ คุณต้องหาที่รองรับก่อน ไม่ใช่มาตักน้ำในโอ่งผมไป ลูกผมไม่มีกิน ผมก็ต้องร้องเรียน ประจานแบบนี้เป็นต้น
กลุ่มผม คือ กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน ดูทั้งน้ำดี น้ำอุปโภค บริโภค แต่คนมาก ถ่ายมาก เมื่อถ่ายมาก ปัญหามันก็มาก ทุกวันนี้ได้รับร้องเรียนวันนึงไม่รู้กี่ที่ เรื่องน้ำเสีย ดังนั้นผมอยากให้รัฐบาลจริงจัง จริงใจกับคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน ว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าคุณมีนโยบายแจกน้ำปลาร้า แต่เอาไปแจกคนใต้ คนใต้เขาไม่กิน เขากินน้ำบูดู หรือเอาน้ำบูดูไปแจกทั่วประเทศ คนเหนือเขาไม่กินบูดู เขากินน้ำปู เพราะฉะนั้นคุณจำทำนโยบาย คุณควรถามคนในพื้นที่
แต่เห็นด้วยว่า เมื่อมันเกิดแล้ว แก้อะไรไม่ได้ เราต้องทำตาม แต่จะทำอย่างไร ให้ระยองเป็นทั้งอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว คุณขีดโซนให้มันชัดเจน เช่น ปลวกแดงทั้งหมด นิคมอุตสาหกรรม อยู่เหนือน้ำ แล้วคนก็เอาไปใช้ สุขภาพก็มีปัญหา ผัก สินค้าแปรรูปต่าง ๆ ก็มีปัญหา คุณคิดไม่ครบวงจร ไม่เป็นระบบ เราไม่ต้องการฟื้นฟู แต่ต้องการป้องกันไม่ให้มันเกิด เพราะเกิดแล้ว เรื่องของการขอฟื้นฟูเป็นเรื่องยาก เราไม่มีแรงสู้ เวลาที่เหลือเลยอยากฝากบอกว่า ถ้ารายการนี้สามารถทำข้อมูลที่คุณคุยกับประชาชนในวันนี้ นำไปเสนอรัฐบาลได้ ให้ตัวคนที่มีอำนาจ แก้ไขได้มานั่งฟัง แล้วเอาไปแก้ไข ถึงจะไม่ไช่ตาบอดจูงตาบอด
วัชนะ บุญชัย หัวหน้าสวนพฤกศาสตร์ระยอง จ.ระยอง กล่าว ในฐานะที่ตนเองเกี่ยวข้องกับสวนพฤกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม อยู่ระยองมา 20 ปี ค่อนข้างเห็นภาพ บริบทของสังคม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3 ส่วนนี้เกี่ยวโยงกันหมด พอเป็นนโยบายรัฐ ภาพรวมของประเทศทั้งหมด เขาเลือกที่จะสร้างจุดขายของประเทศ
เราต้องมองว่า ในแต่ระดับของประเทศเราอะไรเป็นจุดเด่นที่จะสู้กับโลกได้ รัฐเขาเลือกมาที่ EEC ต่อยอดมาจากอีสเทิร์นซีบอร์ด มันคือเศรษฐกิจล้วน ๆ แต่เศรษฐกิจตรงนี้มีที่อื่นที่เป็นตัวเลือกไหม มีภาคอีสานตามแนวชายแดน ภาคใต้ เขาวิเคราะห์หมดแล้ว เพราะฉะนั้นจุดยุทธศาสตร์ คือ EEC เราต้องเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะคนระยองค่อนข้างจะเห็นด้วย ไม่แย้ง เพราะเคยแย้งไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ เลยต้องร่วมกัน มีทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายอุตสาหกรรม โดยมีสภาอุตสาหกรรมด้วย การท่องเที่ยว หลาย ๆ องค์กร ร่วมกันทำ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ แล้วมีปัญหาเดิมเข้าไปด้วย EEC เข้ามา เขาต้องการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมด โดยมีกฎหมายเฉพาะ มี พ.ร.บ.พิเศษ
ในส่วนของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนต้องไปศึกษากฎหมาย เอามาอ่านเฉพาะแล้วจะช่วยให้เราเข้าใจแล้วร่วมไปกับ EEC ในมุมของผม มองในด้านเศรษฐกิจ พอดีผมได้ไปเรียนสถาบันการสร้างชาติ เขามีมุมมองว่า ประเทศไทยเรา เมื่อรัฐบาลทุ่มงบประมาณมาที่ EEC เกือบ 80% ขบวนการตรงนี้จะขับเคลื่อนอย่างไร มันยังมองไม่ชัด เพราะขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจารย์บอกว่า ยุทธศาสตร์ที่จะนำพาประเทศไทย และ EEC ทั้งหมดไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนประเทศอื่นเขา มีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ อาหาร การเป็นครัวโลก เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของเรา เกษตรเป็นเรื่องของอาหาร
อาหารสำคัญอย่างไร ปัจจุบันอาการของเรายังไม่ปลอดภัย ใช้สารเคมี ใช้อะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นแนวทางการผลิตอาหารที่เป็นเกษตรอินทรีย์เราจะทำอย่างไร เราต้องร่วมคิดร่วมทำ ใครจะมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องนี้ ก็ต้องฝากไปยังสภาอุตสาหกรรม เพราะต้องมาดูแลเรื่องขบวนการการผลิต การตลาด พวกเราทำไม่ได้ มันต้องเป็นระดับจังหวัด เพื่อที่จะมีพลังส่งไปยังระดับประเทศ
โชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการสวนสุภัทราแลนด์ กล่าวว่า เรื่องของการท่องเที่ยวเอง แม้แต่นโยบายระดับชาติก็ยังต้องอาศัยท่องเที่ยว เราไปรับต่างชาติมา แต่ต่างชาติไม่ได้ไปรับระยอง เขาเข้าพัทยาหมด ดังนั้นท่องเที่ยวสำคัญมาก ประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว บางคนรู้ระดับจังหวัด บางคนรู้ระดังกลาง บางคนก็อาจจะอยู่ระดับล่าง ส่วนผมอยู่กับการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวได้งาน ผู้ประกอบการได้เงิน นี่คือนโยบายที่พยายามทำอยู่ของจังหวัดระยอง เรามามองคำว่า EEC ช่วยอะไรภาคกลางท่องเที่ยวได้บ้าง งบประมาณ EEC ไม่ได้เป็นคนถือ แต่ EEC เป็นคนออกนโยบาย เพราะฉะนั้นนโยบายส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม แต่เราอย่าลืมว่า คน 70%-80% ที่อยู่ในภาคเกษตรและบริการ ส่วนอุตสาหกรรมมาจากที่อื่นทั้งนั้น มาใช้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่เป็นทุกข์ใจ คือคนในพื้นที่
เรามองว่า ถ้าอยากส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ต้องส่งเสริมตั้งแต่บุคลากรในพื้นที่ แต่บุคลากรในพื้นที่ก็มีน้อยอีก เพราะเข้าโรงงานหมด จังหวัดระยอง แม้แต่ภาคเกษตร ก็ต้องใช้ราคาในการผลิตเท่ากับภาคอุตสาหกรรม แต่ด้วยทำเล มันเกิดแล้ว เราจะอยู่กับมันอย่างไรให้ได้ ตอนนี้นโยบายขจริง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องการท่องเที่ยว หรือเกษตร ขอให้นโยบายของรัฐในการควบคุมโรงงานที่ทำแต่ละอย่าง ให้ควบคุมจริง ๆ เวลาปล่อยน้ำลงมาในระบบคลอง มันอยู่ในแหล่งน้ำทั้งนั้นเลย พออยู่ในแหล่งน้ำ แต่ละโรงงานที่ทิ้งมา หน่วยงานราชการบอกรับได้ ข้างล่างก็บริโภคกันไป ใช้กับการท่องเที่ยว การเกษตรกันไป โรงละ 0.1 แต่ถ้าข้างบนมีตั้ง 200 โรง จะเป็นเท่าไหร่
มานพ สนิท สมัชชาสุขภาพ จ.ระยอง ปิดท้ายว่า เมื่อก่อนบ้านเราเคยอุดมสมบูรณ์ พูดถึงเรื่อง EEC ผมคิดว่ามันมีโอกาสพอสมควร แต่ก็มีความท้าทายพอสมควร ตัวสมัชชาสุขภาพ จังหวัดระยอง เราเคยผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเรื่องของอาหารปลอดภัย เป็นวาระจังหวัดที่ทำร่วมกับหลายคน เราพบว่า ความท้าทายคือเรายังมีเขตเรื่องของควบคุมมลพิษ เรายังมีมลพิษที่ปนมากับเรื่องน้ำ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราจะมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย หรือความมั่นคงทางด้านอาหารที่เรามี ไม่ว่าจะเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรชายฝั่ง เรายังเจอเรื่องสถานการณ์น้ำมันรั่ว มลพิษที่ยังเจออยู่ เราเจอเรื่องกฏหมาย EEC เป็นความท้าทายจากบนลงล่าง แต่เรามีส่วนร่วมแค่นิดเดียว คนเล็กคนน้อยยังต้องต่อสู้ เรื่องถมทะเล มลพิษ ปลาการังเสียหาย เรื่องแผนฟื้นฟูก็ยังไม่ชัดเจน
ต่อมาเป็นเรื่องของคนล้นโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งยังขาดอุปกรณ์ และบุคลากร ทั้ง ๆ ที่ รพ.สต. เป็นโรงพยาบาลพื้นฐาน ถ้าเราเป็นพื้นที่พิเศษ EEC เรื่องพวกนี้อาจจะต้องวางเป้ายาว ว่า 2575 มันจะขยายการรองรับอย่างไร เพราะว่า เรามีประชากรแฝงครึ่งต่อครึ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระยอง และเป็นแรงงานข้ามถิ่นในจังหวัดระยอง และเป็นปัญหาเรื่องภาษี การรักษาพยาบาล และก็สิทธิ
ถ้าเราอยากกำหนดให้เป็นพื้นที่พิเศษภายใต้กฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ เราต้องทำให้การรองรับเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นให้ได้ โรงพยาบาลไม่ต้องแออัด และกระจายเรื่องการรักษาพยาบาลไปสู่โรงพยาบาลพื้นฐาน อย่าง รพ.สต. และทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะเราจะเจอโรคทั้งติดต่อ และไม่ติดต่อ เรามีโรคทางเดินหายใจและโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งของคนระยอง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องท้าทาย และเป็นโอกาสต่อว่า EEC จะทำอย่างไร ต้องทบทวน เราลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว เราศึกษาเรื่อง EIA และ CHIA ต่าง ๆ เยอะมาก และคนเล็กคนน้อยประมงต่าง ๆ ก็ต้องยอมเรื่องการเสียพื้นที่ เสียอาชีพ และเสียคุณภาพชีวิตต่าง ๆ
คนเหล่านี้จะทำอย่างไร เรื่องประเมินผลกระทบ EIA คุณภาพสิ่งแวดล้อม และเรื่องยุทธศาสตร์คุณจะเอามาใช้หรือเปล่ากับการที่ EEC ต้องทบทวนเรื่องนี้ เพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วมเกิดอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นความท้าทาย
นี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในวงฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคตะวันออก หลากหลายประเด็น หลากหลายข้อท้าทาย และศักยภาพของพื้นที่ ที่คนภาคตะวันออกได้มาแลกเปลี่ยนกัน ใครอยากฟังวงเสวนาแบบเต็ม ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถรับฟังกันได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้