เครือข่ายสวัสดิการชุมชน หารือแผนกลุ่มจังหวัด ยกระดับกองทุนอีสาน

เครือข่ายสวัสดิการชุมชน หารือแผนกลุ่มจังหวัด ยกระดับกองทุนอีสาน

ร้อยเอ็ด / 29-30 มีนาคม 2566 การประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประดับเงิน โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามสถานการณ์การขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ระบบข้อมูล การเข้าถึงโปรแกรม การประชุมคณะขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัด เป้าหมายทิศทางการพัฒนาในปี 2566 และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายในระดับชาติ โดยมีผู้แทนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด แกนนำเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน คณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พอช.เข้าร่วมประชุม

S 2990241

นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน พอช. กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมี 2 พันกว่ากองทุน เกือบเต็มทั้งภาคอีสาน ที่ผ่านมาได้รับงบสมทบจากรัฐบาลหลายพันล้านบาท เป็นการพิสูจน์การพึ่งตนเองอย่างเป็นรูปธรรมของภาคประชาชน เริ่มจาก 1 บาท และถือเป็นการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบในการให้ชุมชนบริหารจัดการกองทุนด้วยตนเอง อย่างกองทุนหมู่บ้านที่เป็นการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ กองทุนสวัสดิการเริ่มจากชาวบ้าน รัฐสมทบ ท้องถิ่นร่วมสมทบด้วย เป็นพัฒนาการทางสังคม เป็นการกระจายอำนาจในทางอ้อม และมีการติดตามทั้งจาก สตง. ทั้งกระทรวง พม.

ทางสถาบันฯ ผู้ใหญ่ในกระทรวง ต้องการปฏิวัติกระบวนการสวัสดิการชุมชนทั้งระบบ สิ่งที่เราทำอยู่ พิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านสามารถทำได้ สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องจิตอาสา เริ่มที่โครงสร้างกลไกเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ให้ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการกองทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โครงสร้างจังหวัดอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มโครงสร้างโซน เป็นการเชื่อมโยงโครงสร้างแบบใหม่ และมีการจัดสรรงบประมาณไปที่ระบบโซนในการบริหารจัดการ โดยโซนมาจากพื้นที่ตำบล มีการทดลองทำแล้ว คนรุ่นใหม่ก็เข้ามาได้ เกิดการบริหารภายในโซน มีการปรับการจัดสรรงบประมาณแนวใหม่ เดิมให้งบที่ภาค และจังหวัด และให้ตำบลที่เข้มแข็ง ปี 65 ได้มีการทดลอง ปี 66 มีการจัดสรรงบประมาณให้ทุกจุด ท่านต้องพิสูจน์ให้ได้ งบประมาณที่ลงไปที่โซน มีการบริหารจัดการได้ โดยงบประมาณที่ใส่ลงไปต้องก่อให้เกิดกองทุนสวัสดิการ ต้องให้บรรลุวัตถุประสงค์ ในเรื่องงบประมาณโซน ก็มีภารกิจในการบริหารจัดการงานโซนบรรลุ

ในระดับตำบลที่ยังตั้งไม่ได้ และสมาชิกน้อย เราต้องคิดบริหารแนวใหม่ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก ต้องหาวิธีการใหม่ๆ นั่งสุมหัวหารือกัน เราต้องบริหารให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกองทุน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงกองทุนสวัสดิการชุมชน สวัสดิการจะเครื่องมือที่ยั่งยืน อนาคตกองทุนสวัสดิการชุมชน ความสำเร็จอยู่ที่โอกาสที่ชุมชนจะแสดงความสามารถ

S 2990239

นายมณเฑียร สอดเนื่อง คณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน พอช. กล่าว่า เราต้องพัฒนาสวัสดิการแนวใหม่ เริ่มเปลี่ยนเป็นกองทุนกลางที่ดูแลคนทั้งพื้นที่ จากนี้ไปจะเป็นกองทุนกลางของตำบลแม้ไม่ใช่สมาชิกก็ได้รับการดูแล และจะมีช่องทางการเข้าถึงมากขึ้น ในเรื่องการทำงานในระดับโซน เป็นการทดลองกลไก และมีงบประมาณรองรับ เป็นโซนที่สามารถวิเคราะห์กองทุนในระดับโซนได้ และมีแผนในการแก้ไขปัญหา มีการกำกับดูแล บริหารจัดการจริง กลไกจังหวัดต้องมีการปรับตัว เป็นผู้ประสานงานในระดับจังหวัด ประสานงบประมาณจากช่องทางต่างๆ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เชื่อมโยงแผนพัฒนาจังหวัด ในระดับภาค ควรมีชุดยุทธศาสตร์ ที่เห็นสภาพ และออกแบบการเคลื่อนภาคอีสาน 20 จังหวัด

ปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ คือเรื่องความรู้ความเข้าใจคนที่ขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนทุกระดับ เจตนารมณ์ อุดมการณ์ ถ้าเราหาสาเหตุไม่เจอ เราใช้เวลาแก้มากี่ปีแต่ปัญหายังอยู่ ยังเป็นปัญหาเดิม ระบบบัญชี ระเบียบ ระบบการบริหารจัดการ การบริหารทุน การจัดสวัสดิการเกินกำลัง ต้นตออยู่ตรงไหน เริ่มจากการวิเคราะห์จัดกลุ่มสถานการณ์กองทุน มีกี่แบบกี่กองทุน แยกกลุ่ม เห็นสถานการณ์ นำไปสู่การออกแบบ ในการฟื้นฟูกองทุนฯ และคนที่จะลงไปมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

S 2990237

นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญของประเทศในระยะข้างหน้า ต้องเป็นสวัสดิการคู่ขนานสวัสดิการในระบบ เราไม่ช่สวัสดิการทางเลือก เราเป็นสวัสดิการคู่ขนานกับในระบบ เมื่อเราเห็นปัญหาก็ต้องลงมือแก้ไข ซึ่งมีการช่วยกันคิดร่วมกับผู้อาวุโส แกนนำภาค และเจ้าหน้าที่ ที่มาช่วยกันคิดกันจัดระบบ เพื่อช่วยกันเคลื่อนเรื่องนี้ งบประมาณของ พอช.ในแต่ละปี สามารถจัดกลุ่มได้ 3 กลุ่ม 1) งานบ้านมั่นคง 2) สวัสดิการชุมชน และ3) เรื่องอื่นๆ ซึ่งทางสำนักงานภาค ร่วมกับส่วนกลาง พร้อมขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง ในการตอบโจทย์พี่น้อง

S 2990238

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 การพัฒนาคนและกลไกระดับจังหวัด โซน และกองเลขา เป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพกลไก ที่มาองค์ประกอบและการได้มา แต่ละกลไกมีบทบาทหน้าที่อะไร การพัฒนาศักยภาพแต่ละกลไกจะทำอย่างไร , กลุ่มที่ 2 กองทุนสมทบและพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2565 มีกระบวนการ วิธีในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย, กลุ่มที่ 3 กองทุนสมทบและพัฒนาใหม่ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย การบริหารจัดการงบประมาณและวิธีในการจ่ายงบประมาณ และกลุ่มที่ 4 กองทุนดำเนินการปกติ รับงบสมทบปี 2566 วิธีการลดความเสี่ยงการพัฒนาและยกระดับกองทุน การรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อค้นหาแนวทาง และแผนงานกลุ่มจังหวัดในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสานให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ