เขาบอกเราปีนี้น้ำไม่เยอะ แต่พอน้ำมาแรงมากที่บอกไว้และเยอะกว่าปีที่ผ่านมา
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักกว่า 5 ครั้ง คือ พ.ศ. 2481 2521 2545 2562 และ 2565 เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะจึงเป็นพื้นที่ปลายน้ำของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ปริมาณน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง จึงเป็นพื้นที่เปราะบางและเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในอำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ

ชุมชนท่าบ้งมั่ง อำเภอวารินชำราบ อยู่บริเวณริมแม่น้ำมูลติดกับพนังกั้นน้ำ เป็นชุมชนเมืองที่มีการตั้งถิ่นฐานมานานคนจากชนบทย้ายเข้ามาเพราะต้องการหารายได้ แม้จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงต่อน้ำท่วม แต่เพราะใกล้แหล่งน้ำที่เหมาะมาหากินและเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของจึงตั้งชุมชนที่นี่

ชุมชนท่าบ้งมั่งเป็นชุมชนแรกที่ถูกน้ำท่วมเข้าและเป็นชุมชนสุดท้ายที่น้ำลดลง ถูกน้ำท่วมในทุกๆ ปี ในอดีตระยะเวลาน้ำท่วมประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ในปี 2562 และ 2565 ใช้เวลา 2-3 เดือน น้ำถึงระบายลงสู่แม่น้ำโขง จากข้อมูลสำรวจความเสียหายน้ำท่วมในชุมชนท่าบ้งมั่งเปรียบเทียบระหว่างปี 2562 และ 2565 แบ่งเป็น 3 ช่วงสำคัญคือ ก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม เพื่อดูการวิธีการรับมือกับน้ำของชุมชนและการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา

ก่อนน้ำท่วมมีการซ้อมรับมือน้ำท่วมเหมือนเดิม แต่การแจ้งเตือนภัยกับการจัดสภาพบ้านแย่ลง ช่วงระหว่างน้ำท่วมมีปัญหาเรื่องการย้ายทรัพย์์สิน การอพยพคนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวและเรื่องสุขภาพที่ไม่ดีขึ้น ความปลอดภัย อาหารการกิน ห้องน้ำมีเท่าเดิม ส่วนหลังน้ำท่วมการซ่อมแซม การฟื้นฟูที่ดินเกษตรและการช่วยเหลือจากรัฐน้อยแย่ลงจากปี 62

เสียงเหล่านี้มาจากพื้นที่ท่าบ้งมั่ง

การขนย้ายสิ่งของคือสิ่งลำบากที่สุดในช่วงน้ำท่วม
เวียงทอง นครพล ชาวบ้านในชุมชนเล่าประสบการณ์ภาวะน้ำท่วมที่เจอแต่ละครั้ง เวลาน้ำมาเราต้องช่วยเหลือตนเองกว่าจะรอให้คนมาช่วยก็ไม่ทัน ขนไปก็เปียก ฝนก็ตก พายุก็มาสารพัดปัญหาที่เจอแต่เฮา (เรา) อยู่กับมันได้ทุกปีเพราะเรารู้ว่าต้องเตรียมความพร้อมอะไร
สิ่งที่สำคัญคือจิตใจ ทำใจแล้วว่าต้องเจอแบบนี้ทุกปี ส่วนการช่วยเหลือมีจากหน่วยงานหลาย ๆ ที่จากที่ลำบากมากอยู่แล้วก็ช่วยบรรเทา จากไม่มีน้ำกินก็มี ไม่มีข้าวกินก็มี
ระหว่างน้ำท่วมจะย้ายไปอยู่ที่เต็นท์ ทางเทศบาลจัดหาไว้ให้ประมาณ 3 เดือนมีทั้งผู้ป่วย เด็ก คนแก่อยู่รวมกัน ปัญหาหลักคือเรื่องอาหารและห้องนำ้
เราอาศัยที่ที่เราไม่รู้จัก อาหารการกินก็ไม่เหมือนเดิม ห้องน้ำก็ต้องไปขอวัดเข้า ลำบากคนเยอะและก็ไกลด้วย
น้ำท่วมจนถึงน้ำลดทำให้การทำมาหากินไม่ได้ รายได้ไม่มี บางคนที่มีอาชีพทำงานประจำก็ทำไม่ได้เพราะน้ำท่วม
บ้านเราเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก รู้ว่าต้องเตรียมอะไรก่อนน้ำจะท่วม การฟื้นฟูหลังน้ำลดส่วนมากจะทำกันเอง ทำความสะอาดบ้านใครบ้านมัน ขยะก็เยอะ ลำบากมาก บ้านเราที่ไม่เคยเสียหายอะไรเลยมาปีนี้พังทั้งหลัง ยังอาศัยกันที่โรงเรียนอยู่เลย เข้าบ้านไม่ได้เพราะซ่อมแซมอยู่ไปกู้ยืมเงินเขามาซ่อมเพราะไม่มีเงินตอนช่วงน้ำท่วม
การวางแผนการรับมือคือ ย้ายสิ่งของไว้ที่สูงหรือชั้นสองของบ้านก่อนน้ำมาประมาณ 1 เดือน แต่การสื่อสารที่ไม่ตรงกันกับปริมาณน้ำที่มาทำให้ข้าวของที่ขนย้ายไว้หายไปกับน้ำหมด ปีนี้เตรียมศูนย์พักพิงในเทศบาลสำหรับผู้ป่วย มีจุดอพยพผู้ป่วยและหมอคอยดูแลตลอด ต่างจากปีที่ผ่านมาไม่มีเลยลดปัญหาเรื่องกลุ่มคนเปราะบาง ผู้ป่วยไประดับหนึ่ง

นีระมิต พื้นทอง
ตอนฝนจะตก พายุจะมายังรู้ว่าจะมา ตอนน้ำท่วมก็อยากรู้ว่าจะมาตอนไหน เวลาไหน เราเตรียมพร้อมตลอดเวลาในการขนย้ายอยู่แล้ว ขอให้แม่นยำบอกว่าจะมาตอนไหน
การจัดการก็เหมือนเดิมซ้ำซาก ที่อยู่อาศัย เรื่องเอาเรือมาช่วย มันควรจะพัฒนามากกว่านี้
เราเป็นแชมป์ในการขนอยู่แล้ว ถ้าบอกน้ำมาเป๊ะ ๆ เราจะได้ขนเลย
ปี 62 พายุหลายลูกก็เข้าใจว่าทำไมน้ำถึงเยอะ แต่ปี 65 พายุมีไม่กี่ลูก แต่ทำไมน้พเยอะขนาดนี้ เสียหายหนักมาก

มนตรี พรมพาณิชย์ หัวหน้าชุมชนท่าบ้งมั่ง
ปัญหาในช่วงเผชิญน้ำท่วมของชาวบ้านคือที่อยู่อาศัย อยากให้มีศูนย์พักพิงในแต่ละชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านของชุมชนนั้นได้อพยพไปอยู่ในช่วงน้ำท่วมที่ถูกสุขลักษณะ และถาวร ชาวบ้านสามารถเข้าไปอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ให้ไปรอรับสังกะสีหรือไม้มาต่อเติมบ้านอย่างเดียว
หลังน้ำลดแล้วมีการจัดการเรื่องเงินเยียวยาค่อนข้างช้า หลายคนต้องซ่อมแซมบ้านเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตแบบปกติแต่ไม่มีเงินที่จะเอามาซ่อม บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บางคนต้องอยู่บ้านที่ยังไม่ได้ซ่อมไปก่อนเพราะยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลฯ 5 ครั้งแล้วที่คนอุบลต้องเชิญกับการอยู่ร่วมกับน้ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเป็นอีกครั้งที่นักศึกษาม.อุบลราชธานีได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนน้ำท่วม ท่าบ้งมั่ง สำรวจความเจ็บปวดของชาวบ้านที่ต้องเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมและประสบการณ์ส่วนตัวในการรับมือที่จะสามารถอยู่กับน้ำ เพื่อเก็บข้อมูลการสำรวจมาพัฒนาต่อเป็นแนวทางการรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งต่อไป
เรียบเรียงโดย
กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ
อรกช สุขสวัสดิ์