พอช. เครือข่ายขบวนที่ดินที่อยู่อาศัยกลุ่มจังหวัดกลางล่าง 1 จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเขาโจด

พอช. เครือข่ายขบวนที่ดินที่อยู่อาศัยกลุ่มจังหวัดกลางล่าง 1 จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเขาโจด

กาญจนบุรี : วันที่ 22 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมศาลาพิกุลทอง อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมกับคณะบริหารขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มกลางล่าง 1 และคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยตำบลเขาโจด ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือทิศทางการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดินรัฐ และเตรียมความพร้อมในการผลักดันเข้าสู่กระบวนการของบ้านมั่นคงชนบท โดยมีนายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ร่วมแลกเปลี่ยนและให้แนวทางการขับเคลื่อนงาน

ในการประชุมดังกล่าวมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 บ้านโป่ง อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเขาโจด นอกจากหน่วยงานแล้วยังมีตัวแทนคณะทำงานระดับตำบลที่มาจากหมู่ที่ 1 – หมู่ที่ 5 เข้าร่วมแลกเปลี่ยน กระบวนการหารือร่วมกัน โดยทิศทางการดำเนินงานต่อในระดับพื้นที่ จะมีการลงทำกระบวนการสร้างความเข้าใจ ทบทวนข้อมูลที่มีและเก็บตกข้อมูล รวมถึงการ workshop รายหมู่บ้านควบคู่กับการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Timeline 20230322 233930

บริบทปัญหาความเดือดร้อนและการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่ผ่านมา

ตำบลเขาโจดประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน เกือบทั้งหมดอยู่ในที่ดินรัฐ ทำให้ประสบปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่และการจับกุม จึงนำมาสู่การหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเมื่อปี 2557 ได้รับงบประมาณจาก พอช. ในการเดินสำรวจข้อมูลและจับพิกัดรายแปลงที่ดินและที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ซึ่งจากการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลมาจนถึงปัจจุบัน จำนวน 788 ครัวเรือน จากประชากรในพื้นที่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนที่มีที่ดินที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 369 ครัวเรือน อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ 125 ครัวเรือน เขตป่าสงวน 225 ครัวเรือน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 31 ครัวเรือน และพื้นที่ ส.ป.ก. 38 ครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาได้พบปัญหาชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และแต่ละหมู่บ้านมีความห่างไกล การติดต่อสื่อสารยากลำบาก ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา

การประชุมครั้งนี้จึงเป็นเวทีแรกที่เป็นการพบปะระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดิน เพื่อให้เห็นข้อมูลการสำรวจที่ดิน และเดินหน้าหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในเชิงบูรณาการ ตลอดจนเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการแก้ไขปัญหาของขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 โดยใช้พื้นที่เขาโจดเป็นพื้นที่ร่วม

ปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่

นายวีระเดช สอนใจ ผู้แทนคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยตำบลเขาโจด กล่าวว่า  ในพื้นที่ตำบลเขาโจด  ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินของชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ มี 2 เรื่องหลัก คือ 1) ชาวบ้านบุกรุกทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และ 2) ชาวบ้านทำกินอยู่ในที่ดินเดิม แต่เนื่องด้วยมีการเปลี่ยนแปลงชุดเจ้าหน้าที่และมีการใช้แผนที่ไม่ตรงกัน ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก ขณะที่ชาวบ้านไม่มีข้อมูลประกอบการชี้แจงหรือโต้แย้งกับหน่วยงาน ในปี 2557 ได้รับงบประมาณจาก พอช. ในการจัดทำข้อมูล โดยมีการจับพิกัด รังวัดที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่เขตป่า มีการจัดตั้งคณะทำงานในทุกหมู่บ้าน และมีการจัดทำเอกสารรับรองแปลงที่ดินโดยชุมชน โดยไม่มีผลทางกฎหมายแต่สามารถขอทะเบียนบ้าน ขึ้นทะเบียนเกษตร เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมกับ ธกส.ได้

“เราเริ่มจากปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีปัญหากับหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน ป่าสงวน เราต้องการให้จบปัญหาเพื่อชาวบ้านได้ทำกินอย่างสะดวกและไม่มีความขัดแย้งกับหน่วยงาน เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นคนในพื้นที่ สิ่งที่เราอยากจะได้เห็นคือความร่วมมือ เพราะอุทยานก็มีโครงการสร้างความร่วมมือกับชาวบ้าน แต่บางครั้งชาวบ้านถูกจับกุมก็ไม่รู้จะให้ความร่วมมืออย่างไร วัตถุประสงค์ตอนนั้น ขบวนชุมชนต้องการนำข้อมูลที่เราทำได้มาคุยกับหน่วยงาน เพื่อให้รับรู้เข้าใจตรงกันกับหน่วยงานว่าข้อมูลที่เราทำไว้ถูกต้องหรือไม่ แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ซึ่งต่อมา พอช.มีโครงการบ้านมั่นคงชนบท จึงได้มีการเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ โดยจะมีการทบทวนข้อมูลที่ดินเพื่อขออนุญาตใช้ที่ดินสำหรับดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบทต่อไป” แกนนำตำบลเขาโจด กล่าว

นายสมชาย บ้านกลางสมภพ รองนายกฯ เทศบาลตำบลเขาโจด กล่าวว่าสิ่งที่ต้องการคือขอให้รัฐจัดทำแนวเขตให้ชัดเจน ซึ่งนายก อบต.เขาโจดเห็นว่ามีการสำรวจ CN แต่ไม่มีเอกสาร ไม่มีข้อมูลอื่นๆ จึงได้ประสาน พอช.มาประชุมร่วมกัน โดยดูตัวอย่างจากตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมามีการเดินสำรวจข้อมูล ทำพิกัดรายแปลงแล้ว แต่หน่วยงานไม่ยอมรับเพราะทำกันแต่ชาวบ้าน จึงได้ประชุมกับ พอช. และดำเนินการต่อเพื่อเป็นข้อมูลของชาวบ้านเอง

“เรามีการดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 80 อุทยานประกาศการเดินแนวเขตใหม่ พื้นที่ที่เราสำรวจอยู่ในเขต CN (พื้นที่แปลงควบคุม (CN) ในแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า)ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าที่ดินทำกินของเราจะได้รับการยอมรับจากป่าไม้หรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐาน มีแต่ที่อุทยาน เราต้องขอพิกัดจากอุทยาน อยากให้ทั้งกรมป่าไม้และอุทยานและชุมชนใช้แผนที่เดียวกัน” รองนายกฯ เทศบาลตำบลเขาโจดกล่าว

หน่วยงานยืนยัน one map เป็นทางออกที่แก้ปัญหาและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แนะช่วยกันผลักดันให้ประกาศใช้โดยเร็ว

ในด้านของหน่วยงาน นายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ หัวหน้าอุทยานเฉลิมรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าตนเองเห็นด้วยกับการใช้แผนที่ one map ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วหลายปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศใช้ เพราะแม้ว่าขอบเขตจะชัดเจนแต่หากยังเป็นแผนที่หลายฉบับจะเกิดประโยชน์หรือไม่ ไม่เพียงแต่ราษฎรหน่วยงานเองก็มีปัญหาในเชิงปฏิบัติเช่นเดียวกัน ควรมีการผลักดันทำแผนที่ฉบับเดียวกันจะทำให้เกิดการทำงานง่ายขึ้น เพราะมีกฎหมายหรือระเบียบที่รองรับฉบับเดียวกัน หรือประสานเพียงหน่วยงานเดียวไม่ต้องไปหาหลายหน่วยงานดังเช่นปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ที่กล่าวว่าจังหวัดกาญจนบุรีไม่มีความชัดเจนในเขตที่ดิน และมีที่ดินทับซ้อน ซึ่งทางหน่วยงานตนเองก็เฝ้ารอการประกาศใช้ one map เช่นเดียวกัน เพราะการแก้ปัญหาสุดท้ายจะวนไปที่เดิมคือแนวเขตต้องมีความชัดเจนและทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่ง one map จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ยังนิ่งอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตาม มาตรา 64 มีกฎหมายตราโครงการกฤษฎีกากำหนดและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีการอนุโลมผ่อนปรนให้ชาวบ้านทำกินและอยู่ได้ โดยมีหน่วยงานรัฐไปส่งเสริมด้านอาชีพและการทำกินให้กับราษฎรได้ ส่วนผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 บ้านโป่ง กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบัน ยังจะไม่มีการประกาศใช้ one map แต่ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานภาคสนามเรื่องแนวเขตเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความชัดเจนเพราะเกี่ยวพับกับเรื่องการกระทำผิด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีแนวเขตของตำบลเขาโจดที่บ้านท่าลำใย ในการทำงานได้ใช้แผนที่และขึ้นรูปแปลงของชาวบ้าน โดยใช้ข้อมูลตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2561 และข้อมูลที่ชาวบ้านแจ้งเพิ่มเติม แต่ปัญหาที่พบคือการทำเกษตรไร่หมุนเวียน หรือไร่ที่มีการทำประโยชน์ในอดีต ซึ่งต้องดูตามร่องรอยการใช้ประโยชน์ โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเครื่องมือ

Timeline 20230322 233941

เเนวทางการขับเคลื่อนและการสนับสนุนจาก พอช.

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช.มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำข้อมูล ผลที่เกิดขึ้นคือ ข้อมูลที่ทำมาแล้วทำให้ชาวบ้านเกิดความกระตือรือร้น แม้ว่า พอช.มีงบประมาณให้ไม่มาก แต่ได้มีการเติมเงินจากพี่น้องในพื้นที่ในการร่วมกันจัดทำข้อมูล การสำรวจรายแปลง เพื่อให้เห็นว่าแปลงที่ดินของใครอยู่ตรงไหน มีขนาดครอบครองเท่าไร นำไปสู่การยอมรับจากหน่วยงานในเบื้องต้น สามารถนำไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถกู้เงินจาก ธกส.ได้ โจทย์ต่อไป คือ จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของ คทช.ชาติ  โดย พอช. จะดำเนินการต่อเรื่องที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่มีแผนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพและรายได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะมาทำงานร่วมกัน โดยเริ่มขยับในพื้นที่ที่ไม่ทับซ้อนเป็นพื้นที่นำร่องในการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นตัวอย่างการทำงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนมาหาทางออกร่วมกันต่อไป

“ในส่วนของ พอช. มีการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงชนบท ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกันทั่วประเทศ เช่น ที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  ตำบลทับลาน จังหวัดปจาจีนบุรี ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบทในพื้นที่อุทยาน และยังมีพื้นที่ประเภทอื่น เช่น พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ในการทำงานเกิดความร่วมมือกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าว

Timeline 20230322 233932

ต่อมานายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ที่ปรึกษาบอร์ด พอช. และยังเป็นแกนนำที่มีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยชนบท เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาควรมีการแยกประเภทที่ดินให้ชัดเจน ซึ่งหากแยกตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ค่อนข้างมีความชัดเจน ดูว่าตรงไหนชัดเจน ตรงไหนทับซ้อน แต่ทั้งนี้ต้องทำข้อมูลให้เห็นด้วยว่าใครมาอยู่ก่อน-หลัง และในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงชนบทนั้น ชุมชนต้องเป็นผู้กำหนดแนวทางพัฒนาและวิธีการขับเคลื่อนของตนเอง และเป็นการพัฒนาทั้งตำบล แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพัฒนาทุกมิติ ที่ทรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของพื้นที่ นำไปสู่สร้างความร่วมมือภายในชุมชนทั้งท้องถิ่น ท้องที่ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยมีเครือข่ายที่ดินที่อยู่อาศัยตำบล สภาองค์กรชุมชน  สวัสดิการชุมชน เป็นกลไกในการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ และมีระบบฐานข้อมูลทุกมิติที่มาจากการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการที่ทุกภาคส่วนยอมรับ มีผังชีวิตชุมชน/ตำบลของตนเอง มีระบบทุนร่วมของคนในตำบล กลุ่มกองทุน/กลุ่มออมทรัพย์/สวัสดิการที่ต่อเนื่อง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นกลไกในการเชื่อมโยงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่

แผนการขับเคลื่อนของพื้นที่และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เร่งจัดตั้งคณะทำงาน ตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อความชัดเจนเรื่องที่ดิน พร้อมทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตต่อไป

ภายหลังจากการรับฟังข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงาน นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ในฐานะประธานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าว่า จากข้อมูลข้างต้นเห็นว่าในพื้นที่ตำบลเขาโจดสามารถดำเนินการต่อได้เลย โดยใช้พื้นที่ไม่ทับซ้อนมาดำเนินการนำร่อง แต่ทั้งนี้จะไม่ทิ้งพื้นที่ที่ยังมีปัญหาทับซ้อน ซึ่งต้องมาทำข้อมูลร่วมกันและเชิญหน่วยงานเจ้าของที่ดินมาคุยร่วมเพื่อแก้ปัญหาในระดับจังหวัดก่อน หากยังไม่เป็นผลอาจจะต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป โดยขอให้ พอช.นำเสนอกับคณะทำงานระดับประเทศ ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับตำบล และดูข้อมูลการสำรวจที่กันที่ดินออกจากอุทยานแล้วมีจำนวนเท่าไร ที่ดินที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นมีจำนวนเท่าไร เป็นของใคร มีจำนวนเท่าไร เพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าสู่แผนการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เคลื่อนงานต่อได้

“วันนี้จะมีคณะทำงานระดับตำบลได้หรือไม่ เพื่อพิสูจน์ว่าครัวเรือนไหนไม่ทับซ้อนและดำเนินการต่อ ส่วนครัวเรือนที่ทับซ้อนต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น การดูว่าทับซ้อนหน่วยงานใดบ้าง หากสามารถตกลงกับพื้นที่ได้จะเป็นสิ่งที่ดี หากในตำบลสรุปไม่ได้อาจจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรู้และดูว่าแก้ไขได้หรือไม่ หากไม่ได้ให้เสนอในระดับชาติต่อไป ทั้งนี้ คงหนีไม่พ้นเทศบาลที่จะเป็นคณะทำงานหลักในการเชิญพี่น้องประชาชนมาพูดคุยร่วมกัน โดยมี พอช.หนุนเสริม ซึ่งที่ผ่านมาทำเกือบทุกเรื่องที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง” แกนนำเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากการหารือร่วมกับหน่วยงาน ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างแกนนำในพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่น พอช. และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เพื่อร่วมกันออกแบบการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้มีแผนเดินหน้าเปิดเวทีสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน โดย จนท.พอช. และแกนนำในพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดการสร้างความเข้าใจและปฏิบัติการจัดทำข้อมูลรายครัวเรือน พร้อมทั้งจัดทำแผนแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566

Timeline 20230322 233937

รายงาน : เรวดี อุลิต /วศัลย์ศยา บุญเกิน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ