ขอนแก่น สำนักงาน พอช.ภาคอีสาน / วันที่ 22 มีนาคม 2566 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. นำโดยนายสยาม นนท์คำจันทร์ รักษาการผู้อำนวยการภาคตะวันออกเฉียงเหนือนายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน นายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขายุทธศาสตร์และขบวนชุมชนเข้มแข็ง นายสถาพร สมศักดิ์ หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายประชาสังคม พร้อมด้วย ผู้นำเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร เข้าร่วมประชุมเพื่อออกแบบการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน ณ สำนักงาน พอช. ภาคอีสาน
ในช่วงแรกของการประชุม นายสยาม นนท์คำจันทร์ รักษาการผู้อำนวยการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์/เป้าหมาย ในการจัดเวทีจังหวัดบูรณาการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนำเสนอผลการจัดการความรู้เรื่องการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการและผลการสัมมนาจังหวัดบูรณาการ การสร้างส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด การเข้าถึงการตัดสินใจการพัฒนาโครงการในพื้นที่และการจัดการงบประมาณ
ในการประชุมผู้นำเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองที่ผ่านมา และความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนงานจังหวัดบูรณาการของพื้นที่ โดยที่ประชุมเห็นว่าควรมีการสร้างประเด็นร่วมในแต่ละพื้นที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน เช่น สร้างพื้นที่กลางในการเสนอแผนระดับจังหวัด “สภาสาเกตุนคร จ.ร้อยเอ็ด” ในการสร้างแผนชุมชนตำบล รวบรวมเป็นแผนระดับอำเภอ ซึ่งมีพื้นที่นำร่องในระดับตำบล มีการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลครัวเรือนเฉพาะรายบุคคลของครัวเรือน ข้อมูลผู้พิการ ข้อมูลหนี้สิน หรือการสร้างเครือข่ายร่วมของการพัฒนาเมืองขอนแก่นระหว่างภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่นอกเมืองขอนแก่น เป็นต้น
นายสามารถ นามโยธา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส ได้มีการแลกเปลี่ยนและสรุปแนวทางการบริหารจัดการขบวนจังหวัดและการบริหารงบประมาณเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดขบวนที่สามารถขับเคลื่อนงานการบูรณาการได้ทันทีคือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาคน การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ปฏิบัติการ การเชื่อมร้อยภาคีภาคส่วน” โดยภาคส่วนของประชาชนต้องมีการกำหนดบทบาทในการจัดการพื้นที่ของตนเอง
ช่วงท้ายของการประชุมมีการสรุปและสังเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการในบริบทพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 1) กระบวนการในการดำเนินงานของจังหวัด 2) การจัดวางบทบาทของขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัด 3) การสร้างแนวคิดและสร้างอุดมการณ์ร่วมในการดำเนินงาน
4) สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกันรวมถึงการออกแบบกระบวนการการดำเนินงาน
5) สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ 6) กำหนดการวัดประเมินผลตามเป้าหมาย/วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนในปีต่อไป
นิตยา ชันพิมาย สำนักประสานเครือข่ายประชาสังคม รายงาน