“แม่ฮ่องสอน” เมืองแห่งความสุขแต่ยากจนที่สุด! : กับความฝันการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขความยากจน

“แม่ฮ่องสอน” เมืองแห่งความสุขแต่ยากจนที่สุด! : กับความฝันการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขความยากจน

การสำรวจเมืองแห่งความสุขของเอแบคโพลล์เมื่อปี 2556 ระบุว่า จังหวัดที่มีความสุขที่สุดได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ แม่ฮ่องสอน โดยผู้ตอบสำรวจนั้นเป็นคนทั่วไปหลายจังหวัด และใช้เกณฑ์ประเมินจากสภาพแวดล้อมซึ่งมีธรรมชาติล้อมรอบ วิถีชีวิตของชาวบ้าน ความปลอดภัยในทรัพย์สิน ฯลฯ

โพลล์สำรวจนี้ได้รับจากเผยแพร่และโจษขานกันอยู่พักใหญ่ๆ เป็นที่ฮือฮา จวบจนปัจจุบันก็ยังถูกหยิบยกมากล่าวถึงอยู่เนืองๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เมืองที่ว่าที่เป็นเมืองแห่งความสุขที่สุดนี้ ข้อมูลจากสภาพัฒนาและแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งรายงานข้อมูลความยากจนของประชากรในแต่ละจังหวัดทุกปี  แม่ฮ่องสอนคือ 1 ใน10 ที่จะต้องติดโผจังหวัดยากจน บางปีอยู่ในลำดับต้นๆเป็นลำดับ 1-2 บางปีอาจลดระดับลงเป็นอันดับที่ 9-10 แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็จะเห็นความเป็นเมืองยากจนปรากฏชื่อแม่ฮ่องสอนขึ้นมาอยู่ร่ำไป

เมืองแม่ฮ่องสอน มองจากพระธาตุดอยกองมู

TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ได้ระบุความยากจนของคนฮ่องสอนว่า มี 4 ประเภท คือ

1. ยากจนด้านการศึกษา

2. ยากจนด้านรายได้

3. ยากจนด้านที่อยู่อาศัย

4. ยากจนด้านสุขภาพ

และภาพรวมคนจนของแม่ฮ่องสอนในปี 2566 นี้ จากการสำรวจประชากรแม่ฮ่องสอนจำนวน 170,228 คน พบว่าอยู่ในเกณฑ์คนจนจำนวน 5,661 คน

เมื่อมีความยากจนทั้งรายได้ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และสุขภาพ การจะแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงต้องอาศัยหน่วยงานและองค์กรทุกองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนมาประสานความร่วมมือเพื่อจะคลี่คลายแต่ละจุดแต่ละเปลาะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ซึ่งเป็นสภาที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการรับรองในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) นับได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในการพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนให้ตรงจุด

หมู่บ้านปาเกอะญอ ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

เวที “พัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดแม่ฮ่องสอน” จึงไม่ใช่เวทีที่ภาครัฐมานั่งคุยและกำหนดฝ่ายเดียว แต่เป็นเวทีที่ตัวแทนประชาชนทุกตำบลร่วมแสดงความคิดเห็น และเมื่อมีชุดข้อมูลจากงานวิจัยของวิทยาลัยชุมชน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในงานวิจัย โดยมีการเก็บข้อมูลอย่างลงลึกจากคนในพื้นที่และนำข้อมูลมาลงระบบด้วยภาพชุดอินโฟกราฟิก มีการวิเคราะห์และกลั่นกรองหลากหลายมิติ อาทิ การประเมินต้นทุนของพื้นที่ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนกายภาพ เพื่อจะได้สอดคล้องกับการแสวงหาแนวทางแก้ไข จึงเป็นชุดข้อมูลสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การหว่านเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่หากเลือกหยิบจับครัวเรือนหรือชุมชนที่เปราะบางเข้ามารับความดูแลและช่วยเหลือก่อน ขณะเดียวกันก็มองหาต้นตอของปัญหาเพื่อจะได้วางแผนความมั่นคงในชีวิตของชุมชนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

บ้านผู้สูงวัยปาเกอะญอแม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย ได้รับการดูแลจากสภาองค์กรชุมชนและคก.บ้านมั่นคงชนบทซ่อมสร้างบ้านยายให้แข็งแรง

ด้านการศึกษา แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นสูงมาก เมื่อใช้ชุดประเมินการศึกษาแบบเดียวกับที่กรุงเทพออกแบบมาตลอดหลายสิบปีนี้ ทำให้เกิดภาวะเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษานับพันคน ซึ่งเมื่อพวกเขาเมื่อหลุดจากระบบการศึกษา โอกาสที่จะพัฒนาอาชีพหรือเข้าถึงอาชีพที่จะสร้างเสริมรายได้ให้เหมาะสม ได้มาตรฐานเรื่องรายได้เช่นคนไทยทั่วไปจึงมีน้อย การได้รับโอกาสในการเข้ามาเป็น 1 ในโรงเรียนนำร่อง (จาก 11 โรงเรียน) ของโครงการ “นวัตกรรมการศึกษา” (พ.ร.บ. นวัตกรรมการศึกษา รองรับ) โดยการสนับสนุนของ กสศ. จึงทำให้ ความพยายามจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้ครอบคลุมครบทุกมิติดูจะเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น

เยาวชนรุ่นใหม่บ้านแม่หาด อ.สบเมย ซึ่งได้รับทุนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแพร่ แต่น้องไม่ละทิ้งองค์ความรู้เดิม

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา 20 องค์กรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ลงนามแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนแม่ฮ่องสอน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาองค์กรชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีความมุ่งหวังไปในแนวทางเดียวกันที่จะทำให้คนแม่ฮ่องสอนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ดีกินอิ่มและมีความสุขสงบร่มเเย็น

ทรงศักดิ์ ปัญญา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สะท้อนภาพความมุ่งหวังในการจะแก้ไขปัญหาความยากจนของแม่ฮ่องสอนว่า ที่นี่มีความซับซ้อนของปัญหา และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง ไม่อาจใช้วิธีการหรือหลักการเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ได้ หรือถ้าว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมีความเฉพาะในบริบทพื้นที่ การจะแก้ไขปัญหาใดๆ ให้แก่ชุมชน จึงต้องมีการลงลึกด้านรายละเอียด เราไม่อาจใช้ตัวเลขรายได้ครัวเรือนเพียงอย่างเดียวมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของชีวิตได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะพากันมุ่งแก้ไขความยากจนด้วยเงิน มุ่งไปที่เงิน แล้วสุดท้ายอาจทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลับต้องสูญเสียไป การแก้ไขอย่างยั่งยืนจึงต้องทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วยังคงอยู่ต่อไปได้ด้วย

ทรงศักดิ์ ปัญญา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำหรับนักพัฒนาแล้ว ความพยายามสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตของคนแม่ฮ่องสอน 4 ด้านนี้ (การศึกษา รายได้ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ)  นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แม่ฮ่องสอนมี 9 ชนเผ่า 13 กลุ่มชาติพันธุ์ และประชากรเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเขตป่าเขา (ข้อมูลบางแห่งระบุว่าเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งภาพที่คนภายนอกเห็นว่าที่นี่คือเมืองแห่งความสุขนั้นเป็นเพียงข้อเท็จจริงในเปอร์เซ็นต์เล็กๆ เท่านั้น

แต่ไม่ว่าอย่างไรในวันข้างหน้า เราคงทำให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งความสุข ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้จริงๆ — นั่นคือความฝันที่เราทุกคนอยากเห็น.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ