(2) คนปัตตานีใช้ทุนธรรมชาติ-วัฒนธรรมปลุกเศรษฐกิจชุมชน “ชมหัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ”….ที่สายบุรี

(2) คนปัตตานีใช้ทุนธรรมชาติ-วัฒนธรรมปลุกเศรษฐกิจชุมชน “ชมหัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ”….ที่สายบุรี

เรือกอและ  เรือประมงพื้นบ้านในแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้  มีลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ห่างจากชุมชนท่องเที่ยวบูนาดาราไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตรเข้าเขตอำเภอสายบุรี   ที่นี่เป็นหัวเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่ง   มีแม่น้ำสายบุรีเป็นเส้นเลือดสำคัญ  เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย   จึงมีชาวต่างชาติล่องเรือเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน  โดยเฉพาะชาวจีน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า  ในหลวงรัชกาลที่ 5  เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะชวาทางเรือ  พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้และเมืองสายบุรีถึง 2 ครั้ง   โดยมีเจ้าเมืองสายบุรีมาเฝ้ารับเสด็จ  พระองค์ทรงเยี่ยมเยือนชุมชนชาวจีนและศาลเจ้าประจำชุมชน

ในปี  2444  ในรัชสมัยของพระองค์  เมืองสายบุรีได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘จังหวัดสายบุรี’ สังกัดมณฑลปัตตานี  ต่อมาภายหลังอีกหลายสิบปี  สายบุรีลดระดับเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี

ปัจจุบันเมืองสายบุรี  โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองตะลุบัน  ยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง  เช่น   วังเเจ้าเมืองสายบุรี , เรือนหอพระยาพิพิธภักดี (บุตรชายเจ้าเมืองสายบุรี)  มัสยิดรายอ   (ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่ามัสยิดสร้างขึ้นในปี 2428 พร้อมๆ กับวังสายบุรี)

วังเจ้าเมืองสายบุรี  เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส  (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ยังมี ศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง  ศาลเจ้าประจำชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งรกรากที่เมืองสายบุรีตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  และได้สืบทอดทายาทธุรกิจที่มีชื่อเสียงในภาคใต้และในกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน  เช่น   กลุ่มพิธานพาณิชย์   กลุ่มอิสระ   ฯลฯ

ฟื้นเมืองเก่าและวัฒนธรรม

รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเหล่านี้   คนสายบุรีกลุ่มหนึ่งได้พยายามสืบสาวขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้   เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น  รวมทั้งยังนำมาจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย

เช่น  นักวิชาการในท้องถิ่นได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง  ‘หัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ  บนฐานพหุวัฒนธรรมมลายู  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  จ.ปัตตานี’  โดย ผศ.ดร.อับดุลลาเต๊ะ   สาและ  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี (สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลาม  มีวิทยาเขตที่ยะลาและปัตตานี) ได้รับทุนวิจัยในปีงบประมาณ 2565  จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

เรือนหอพระยาพิพิธภักดี (บุตรชายเจ้าเมืองสายบุรี)  ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าชม

โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรม ‘หัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ  บนฐานพหุวัฒนธรรมมลายู  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  จ.ปัตตานี’  ที่วังสลินดงบายู (เรือนหอพระยาพิพิธภักดี)  ในเขตเทศบาลเมืองตะลุบัน  เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา  ภายในงานมีการออกร้านแสดงสินค้าวัฒนธรรม   ผ้าบาติก  ว่าวเบอร์อามัส  อาหารท้องถิ่น

มีเวทีเสวนาความเป็นมาของชุมชนจีน  พุทธ  และมุสลิม   การถอดบทเรียนหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่น  เพื่อรักษาและสืบทอดวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น  เช่น  การทำว่าวเบอร์อามัส  ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นสินค้าที่ระลึกได้   การสอนทำน้ำบูดูเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนหรือทำขาย  แปรรูปเป็นบูดูผง  บูดูก้อน  การสอนประวัติศาสตร์   เรียนรู้โบราณสถานต่างๆ ในท้องถิ่น  และวัฒนธรรมของคนจีน  ไทยพุทธ  และมุสลิม  เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเกิดสันติสุข  ฯลฯ

ธีรพงษ์  แซ่โค้ว  ผู้แทนชุมชนชาวไทยเสื้อสายจีนเมืองสายบุรี  บอกว่า  ชุมชนชาวจีนในสายบุรี  หากสืบสาวประวัติศาสตร์จะพบว่า   คนจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาอยู่ที่สายบุรีโดยเรือสำเภาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง  หรือเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน   และยังมีการสืบทอดประเพณีต่างๆ  จนถึงปัจจุบัน  เช่น  ศาลเจ้าและพิธีไหว้เจ้า  ประเพณีแบบดั้งเดิม  ซึ่งที่แผ่นดินใหญ่ประเทศจีนไม่มีแล้ว  เพราะถูกทำลายล้างหรือยกเลิกไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ช่วงปี 2509-2519 สมัยเหมา  เจ๋อตุง)

“สายบุรีเป็นเมืองท่าที่มีคนหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันมานานหลายร้อยปี  เช่น  คนจีนจะล่องเรือเข้ามาเพื่อซื้อพืชผลของคนมลายูท้องถิ่นและคนไทยเพื่อเอาไปขาย  และมีเรื่องเล่ากันว่า  คนจีนรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาจะต้องหัดพูดภาษาท้องถิ่น  คือ  มลายูให้ได้   และจะให้ความเคารพคนท้องถิ่นที่อยู่มาก่อน  คนจีนจึงอยู่แบบพึ่งพาและอยู่ร่วมกับคนทุกกลุ่มได้   นอกจากนี้คนจีนจะยกลูกของตนให้เป็นลูกบุญธรรมของคนมลายู  จึงมีความผูกพันและอยู่กับแบบครอบครัวกับคนท้องถิ่น”   ธีรพงษ์บอก  และว่า  คนจีนจะถือหลักความกตัญญู  นับถือคนที่มีอายุมากกว่า  และอยู่กันด้วยความไม่เบียดเบียน  จึงอยู่ร่วมกันกับคนทุกกลุ่มได้

ท่าเทียบเรือในแม่น้ำสายบุรี  เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสายบุรี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สมเกียรติ  จินดารัตน์   ตัวแทนชุมชนชาวไทยพุทธสายบุรี  บอกว่า  ชาวไทยพุทธอยู่กันกลมกลืนกับชาวจีนมานาน  และพื้นที่แถบนี้คนไทยพุทธก็เคยอยู่อาศัยมาก่อน  เพราะมีการขุดพบพระพุทธรูปหินทรายโบราณอายุเก่าแก่หลายร้อยปีที่ชุมชนหวายขม  ปัจจุบันเป็นชุมชนมุสลิม

“คนไทยพุทธอยู่กันด้วยความสามัคคี  มีความเมตตากรุณา  อยู่ด้วยกันด้วยความไม่ระแวง   มีอะไรก็มาปรึกษาหารือกัน  ศาสนาพุทธสอนให้เรามีความเมตตาต่อทุกคน  ไม่คิดอาฆาต  เบียดเบียนผู้อื่น”  ผู้แทนชุมชนชาวพุทธบอกถึงหลักการอยู่ร่วมกัน

ผู้แทนชาวมุสลิม  ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ปัตตานี  บอกว่า  การอยู่ด้วยกันบนหลักศาสนาอิสลาม  จะให้ความเชื่อถือให้เกียรติกัน  ให้ความช่วยเหลือกัน  ซึ่งระบบอิสลามเรียกว่า “ระบบซูรอ”  และหากมีความขัดแย้งขึ้นมาในเรื่องใดๆ ก็ตาม  ก็ให้แต่ละฝ่ายถอยออกมาคนละก้าวก่อน  แล้วค่อยเข้าไปหากัน  เมื่อพูดคุยตกลงกันได้  ก็จะทำให้เกิดความรักความร่วมมือกัน

“การถอยคนละก้าวเป็นหลักปรัชญาของนักคิดมุสลิม  เวลาโมโห  จะให้ไปอาบน้ำละหมาด  ไปล้างมือ  ล้างหน้าก่อน  เพื่อให้จิตใจเย็นลง  และให้ทบทวนความคิดก่อน  จะได้อยู่ร่วมกันได้”   ผู้แทนชาวมุสลิมบอก

ผศ.ดร.อับดุลลาเต๊ะ  สาและ    มหาวิทยาลัยฟาฏอนี  กล่าวว่า  ทุกสังคมทั้งไทยพุทธ  จีน  และมุสลิมจะใช้ความเมตตา  เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ให้เกียรติกัน  ใช้ความรักความสามัคคี   ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมโดยเฉพาะที่เมืองสายบุรีแห่งนี้ได้

การจัดงานตลาดนัดวัฒนธรรมที่เมืองสายบุรีเมื่อเร็วๆ นี้ (ภาพจากเทศบาลเมืองตะลุบัน)

นายนิติ  นิเดหะ นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน  บอกว่า   เมืองสายบุรีและเทศบาลเมืองตะลุบัน  มีผู้คนทั้งไทยพุทธ  เชื้อสายจีน  และมุสลิมอยู่ร่วมกัน  เป็นพหุวัฒนธรรม  แต่มุสลิมจะมีมากที่สุด  คือประมาณ 85 %   แต่เมื่อมีงานต่างๆ  ทุกคนก็จะไปร่วมงาน  หรือไปขายของ  เช่น  มีงานศาลเจ้าของชุมชนจีน  คนมุสลิมก็ไปขายของ  ขายอาหาร  ฯลฯ

นอกจากนี้เทศบาลยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เพื่อนำจุดเด่นของพหุวัฒนธรรมมาจัดแสดง  จัดกิจกรรม  เช่น  การจัดตลาดนัดวัฒนธรรม  จัดงานการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชน  การฟื้นฟูวัฒนธรรม   การแสดงลิเกฮูลู  เทศกาลว่าวเบอร์อามัส   เทศกาลตกปลา  การจัดกีฬาชายหาด  ชกมวย  ฯลฯ  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว   และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น

Pattani Traveling
วงเวียนกลางเมืองสายบุรี (ภาพจากเทศบาลเมืองตะลุบัน)

ล่าสุดระหว่างวันที่  18-20  มีนาคมนี้  มีการจัดงาน ‘ตลาดท่าพระยาเมืองสาย’  และ ‘เทศกาลว่าวพื้นเมืองสายบุรี’  ที่บริเวณริมทะเลหาดวาสุกรี   เทศบาลเมืองตะลุบัน   ภายในงานมีกิจกรรมการออกร้าน  จำหน่ายอาหารพื้น เมือง  สินค้า  การแสดงศิลปะ  วัฒนธรรม  การแข่งว่าวเบอร์อามัส  ฯลฯ

เรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดดังกล่าวนี้…คือตัวอย่างของคนปัตตานีที่พยายามใช้ทุนทางธรรมชาติ  ทุนทางประวัติศาสตร์  ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น  มาเชื่อมร้อย…เพื่อสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน  รวมทั้งนำมาจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว…กระตุ้นให้เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้…เดินหน้าต่อไป  !!

ว่าวเบอร์อามัส  มีสีสันและลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์  ในอดีตเจ้าเมืองมลายูจะใช้ว่าวเพื่อทำนายดินฟ้าอากาศ  โดยจะมีพิธีขึ้นว่าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว  และเจ้าเมืองจะต้องปิดทองที่หัวว่าวก่อน   ว่าวที่พลิ้วไหวตามกระแสลมจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญรู้ว่า  ในปีนั้นฝนฟ้าจะเป็นอย่างไร  จะเริ่มฤดูทำนาได้เมื่อไหร่ ? (ภาพจากหนังสือเมืองสายบุรี)

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ