ฟังเสียงคนใต้ เลือกใช้ภาษีกับอะไรเพื่ออนาคต

ฟังเสียงคนใต้ เลือกใช้ภาษีกับอะไรเพื่ออนาคต

การตัดสินใจใช้ภาษีที่นอกจากจะมีอย่างจำกัดแล้วก็ยังต้องถูกใช้อย่างไตร่ตรองและคุ้มค่าด้วย ถ้าหากประชาชนได้มีส่วนร่วมหรือแม้แต่การได้ออกแบบและจัดการการใช้ภาษีนั้นด้วยตัวเอง จะออกมาเป็นอย่างไร ครั้งนี้มาสำรวจกิจกรรมการจัดลำดับการใช้ภาษีของคนภาคใต้กัน ว่าใครเลือกใช้ภาษีกับอะไร และเพราะอะไร 

กิจกรรม Where’s my tax? ภาษีควรใช้กับเรื่องไหน

ชวนคนใต้จำลองการใช้ภาษี

ผลสำรวจของผู้เข้าร่วมทั้งหมด 49 คน โดยใช้ลูกบอลเป็นตัวแทนของภาษี ให้ลูกบอลคนละ 3ลูก และให้ผู้เข้าร่วมหลอดลูกบอลเพื่อจำลองการใช้ภาษีในประเด็นต่าง ๆ 6 ประเด็น ผลสำรวจพบว่าเรื่องที่ผู้เข้าร่วมให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ภาษีมากที่สุดคือ เรื่องการศึกษา ต่อมาคือเรื่องระบบสุขภาพ การกระจายอำนาจ เศรษฐกิจทั่วถึง สิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือเรื่องสังคมสูงวัย 

ฟังเสียงคนที่มาร่วมกิจกรรม

นายบัณฑิต มั่นคง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะคิดว่าเป็นเรี่องของคนทุกวัย และที่สำคัญคือคนรุ่นหลังด้วย และควรจะทำเรื่องนี้ไว้รองรับคนทุกคน ให้ประชาชนจ่ายภาษีไปกับกองทุนสักกองทุนหนึ่งเพื่อให้ทำเรื่องการศึกษาสำหรับคนทุกวัย คิดว่าอันหนึ่งเป็นการกระจายภาษีไปยังโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนที่อยู่ชุมชน ไม่อยากให้เกิดโรงเรียนร้าง หรือโรงเรียนใกล้บ้านที่ไม่มีครู แล้วไม่อยากให้เด็กต้องตื่นแต่เช้าไปเรียนโรงเรียนในเมืองซึ่งห่างจากบ้าน 40 – 50 กิโลเมตร  เพราะการศึกษากระจายไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษานายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า การศึกษาเป็นพื้นฐาน ถ้ามองเรื่องของอนาคตการศึกษาที่ดีมันทำให้คนมีองค์ความรู้ที่สามารถสังเคราะห์ความรู้ได้ และเป็นฐานที่ทำให้สามารถตัดสินใจภายใต้องค์ประกอบที่รอบด้านและสามารถที่จะตามทันการเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคสมัยได้และสามารถถ่ายทอดต่อให้คนอื่นได้การศึกษาที่ดีก็จะช่วยเรื่องอนาคตได้

นอกจากนั้น นาย ธีรพจน์ ยังขยายความถึงประเด็นสุขภาพว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เข้ามาใกล้ตัว ประเทศไทยต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ว่าคนไทยก็ยังไม่ค่อยรู้สึก

แม้แต่คนใต้ที่อากาศดีที่สุดก็ยังไม่รู้ว่าฝุ่นมาจากเวียดนาม มันเป็นมลพิษข้ามแดน

เราต้องมองไปไกลกว่านั้น มันเคลื่อนเข้ามาจากจีน ญี่ปุ่น เราดูผ่าน Map ที่เป็นข้อมูลกลางที่ใครก็เช็คได้ วิกฤตฝุ่นและสุขภาพมันใกล้ตัวเข้ามาทุกด้าน ซึ่งภาคใต้ยังโชคดีที่เป็นฐานคุณภาพอากาศที่ดีในระดับประเทศ คุณภาพชีวิต และเอื้อกับการมีชีวิตที่ดี อาจจะเป็นแนวทางให้ภาคอื่นคิดต่อ อย่าปล่อยให้ภาคใต้สุขภาพดีอยู่ภาคเดียว

นายธีรพจน์ ยังเสริมเรื่องรูปธรรมเรื่องของฐานทรัพยากรว่า

ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปควรเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก เพราะในระดับโลก ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่บอกว่าเราใช้ธรรมชาติเกินพอแล้ว ถ้า ณ วันนี้เรายังไม่สามารถจัดการฐานทรัพยากรที่ดี กลุ่มที่เดือดร้อนจัไล่ไปตั้งแต่รากหญ้าขึ้นไปและจะกระทบกันหมด

นายสิทธิศักดิ์ สันสะอีด เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครหาดใหญ่ พูดว่าเรื่องของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อยากให้มีทุกโรงพยาบาล เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากจากประสบการณ์ในการทำงานช่วงโควิดที่ผ่านมา ระบบการแพทย์ทางไกลเป็นระบบที่ต่อเนื่องจาก out patient isolation ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 หลังโควิด ระบบนี้ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกโรงพยาบาลในสังกัดจังหวัดสงขลาแล้ว จึงอยากผลักดันให้ระบบการแพทย์ทางไกลเป็นรูปธรรมมากขึ้นและสามารถใช้งานได้และผู้ป่วยเข้าถึงได้ รูปธรรมของการแพทย์ทางไกล เช่น ปีนัง ประเทศมาเลเซีย คือระบบการแพทย์ทางไกลของเขา มีความเป็นไปได้จริง มีการจัดส่งยาที่ไม่ล่าช้า และไม่กระจุกตัว และลดความแออัดได้จริง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับหาดใหญ่ยังไม่สามารถทำได้มากขนาดนั้น

นายวงศธร สว่างภพ นักดิจิทัลพัฒนาเมืองสงขลา เครือข่าย DEPA Thailand เสนอเรื่องการกระจายอำนาจว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่ารัฐไทยส่วนใหญ่จะใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ คิดว่าถ้าหากมีการกระจายอำนาจให้กับพื้นที่ที่มีความพร้อมและสามารถตัดสินใจในเรื่องที่พื้นที่นั้นถนัดได้ เช่น เหมือนในเรื่องของใบอนุญาต ถ้าเราใช้อำนาจตัดสินใจให้นายกเทศมนตรี หรือ ท้องถิ่น ก็จะสามารถลดหย่อนความล่าช้าของภาครัฐได้มากขึ้น แต่จะสามารถสานต่อและพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ได้อีกด้วย

นายกำราบ พานทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ และเครือข่ายชุมชนสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พูดถึงประเด็นเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ด้วย พูดว่า กำลังขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนแบบรวม แต่เนื่องจากสถานการณ์ของทางเกษตร หรือชีวิตของพี่น้องเกษตร เจอวิกฤตอยู่ อย่างแรกคือ วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ราคาผลผลิตถูกลงมาก ต่อมาเป็นวิกฤตโลกร้อนโลกรวน ซึ่งทำให้ผลผลิตตกต่ำและเกิดวิกฤตของอาหารการกินที่เรียกว่าความมั่นคงทางอาหาร และวิถีชีวิตและการผลิตของชาวบ้านแย่ลง เพราะฉะนั้นจึงเสนอให้มีการพัฒนาเรื่องเกษตรนิเวศ ขึ้นมา แทนเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเกษตรปัจจุบัน ถัดมาคือเสนอให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของเกษตรกรขึ้นเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสุดท้ายมองถึงเรื่องสุขภาพ ต้องมีชุมชนสีเขียวเกิดขึ้น ซึ่งในชุมชนสีเขียว อาจจะประกอบไปด้วยตลาดสีเขียว ผู้ประกอบการสีเขียว และผู้บริโภคสีเขียว มาทำงานร่วมกัน

ทางด้านนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ได้นำกิจกรรม Where’s my tax ฉบับย่อส่วนไปเล่นในพื้นที่รอบ ๆ หาดสมิหลา และชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา 

ผลสำรวจ คือ ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจทั่วถึงถูกเลือกใช้ภาษีมากที่สุด ต่อมาคือการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย และสุดท้ายคือกระจายอำนาจ โดยหนึ่งในนักศึกษาที่ลงพื้นที่ได้สะท้อนเสียงหลังพื้นที่และเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประเด็นที่ถูกเลือกมาที่สุดคือประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ว่า

เศรษฐกิจในพื้นที่สงขลาแย่ลงตั่งแต่โควิดมาจนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนจะยังไม่ดีขึ้นขนาดนั้น ถ้าหากเรื่องเศรษฐกิจถูกแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ชีวิตคนในพื้นที่ก็จะดีขึ้นตามมาด้วย

อ่านบทความกิจกรรมที่นักศึกษานำไปเล่นในแต่ละพื้นที่ได้ที่นี่

ทั้งนี้  กิจกรรม Where’s my tax เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคใต้ ที่จัดขึ้นบริเวณริมหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ใครเข้ามาร่วมได้แก่เครือข่ายในแต่ละพื้นที่ เจ้าของประเด็น นักวิชาการ ฯลฯ

สำหรับผู้ใดที่อยากเล่นเกมส์จำลองการใช้ภาษีเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศสามารถเล่นได้ที่นี่

https://mypolitician.csitereport.com/?mibextid=ncKXMA

สามารถติดตามรายการฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคใต้ ได้ที่นี่

https://fb.watch/joh0AIvw6u/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ