ชุมชนเก้าเส้งอยู่ติดกับคลองสำโรงที่เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย มีความกว้างประมาณ 50 เมตร โดยส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ และทำประมงพื้นบ้าน สภาพบ้านเรือนแออัด ทรุดโทรม บางหลังอยู่อาศัยกันถึง 15 คน คุณภาพชีวิตไม่ดี น้ำประปา ไฟฟ้าไม่มี ต้องพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้ ไม่มีทะเบียนบ้านถาวร ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ และกรมเจ้าท่า
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทางทีมงานไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ได้ลงพื้นที่ภาคใต้ จัดวงเสวนารายการฟังเสียงประเทศไทย เลือกอนาคตภาคใต้ จังหวัดสงขลา ณ สวนสาธารณะฝั่งหาดสมิหลา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา จึงมาร่วมกิจกรรมและลงพื้นที่สำรวจปัญหาและทางออกในบริเวณพื้นที่หาดสมิหลา และ ชุมชนเก้าเส้งที่อยู่ในระแวกใกล้ ๆ กับหาด นอกจากจะสำรวจปัญหาในพื้นที่แล้วก็ยังมีข้อเสนอและทางออกในการจัดการปัญหาที่พบเจอในพื้นที่อีกด้วย
นโยบายรายพื้นที่จากคนรุ่นใหม่
นางสาวปริศนา นำยุรี นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เสนอ นโยบายเสรีทรงผม
เกิดจากการร้องเรียนของนักเรียนในพื้นที่ที่ลงไปเก็บข้อมูล พบว่า ทรงผมที่ต้องเป็นไปตามกฎของโรงเรียนส่งผลทำให้นักเรียนไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน หรืออายทรงผมตัวเองจึงบางครั้งต้องใส่หมวกเพื่อปิดบังทรงผมที่ทางโรงเรียนมองว่าถูกระเบียบ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทรงผมไม่ได้มีผลกับการเรียน เพราะความตั้งใจเรียนมันขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่อาจจะให้มัดรวบให้เรียบร้อยเเละให้เด็กมัธยมต้นไว้ผมถึงคางอย่างให้เลยคาง มัธยมปลายให้ไว้ยาวเเละมัดรวบผูกโบว์ให้เรียบร้อย ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในด้านของทรงผมในการไปโรงเรียน เเละยังทำให้เด็กมีเเรงผลักดันในการไปโรงเรียนเเละตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น
นางสาวธนัชพร ใจสมุทร นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เสนอ นโยบาย สงขลาเปลี่ยนได้
ด้วยความที่ตัวเองเห็นปัญหาหลาย ๆ ด้าน ซึ่งสงขลาตอนนี้ถามว่าเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง มันก็ยังเปลี่ยนไม่ถึงที่สุด แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง มีผู้นำที่ดีเข้ามาบริหาร คิดว่าก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็คิดนโยบายออกมาในคอนเซป SONGKHLAสามารถเปลี่ยนแปลงได้
S = Sustainability ต้องสร้างความยั่งยืน ต้องมองทุกอย่างจากความเป็นจริง ไม่ใช่แค่มองโลกของตัวเอง ต้องมองที่สภาพปัญหาของคนในชุมชนว่าตอนนี้มีปัญหาอะไรอยู่ อย่างเช่น ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมันมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง ต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องหาวิธีจัดการเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาขยะด้วย
O = Do ต้องทำให้จริง ต้องมีผู้นำที่ทำได้จริง ถ้าคิดนโยบายมาแล้วไม่มีการทำได้จริง มันก็เปล่าประโยชน์
N = Need ต้องมองให้เห็นว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่มีความต้องการอะไร และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วจะได้รู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนคืออะไร
G = Generate ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง
K = Knowledge อยากจะสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างเช่น อาจจะจัดตั้งโครงการขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ จะทำให้สังคมเกิดความสมดุล
H = Human relation หลังจากที่ผู้นำสร้างนโยบายขึ้นมาแล้ว อยากให้ไปเรียนรู้กับชุมชนและผู้คนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำและประชาชนด้วย
L = life เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต อย่างเช่น ปัญหาในเรื่องของปากท้อง เรื่องสังคมสูงวัย อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของชีวิต ควรมองถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยเพื่อความครอบคลุม
ทั้งหมดนี้คิดว่าจะทำให้สงขลาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
นาย อาราฟัต หมาดทิ้ง นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เสนอ นโยบายการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวหาดสมิหลา
ปัญหาเกิดจากนักท่องเที่ยว ไกด์ และคนในพื้นที่หาดสมิหลา มีปัญหาเรื่องของห้องน้ำ หลัก ๆ คือ ห้องน้ำที่มีปัจจุบันอาจจะมีเป็นรถสุขาซึ่งมันไม่สะดวกและไม่สะอาด และถึงแม้จะมีเป็นห้องน้ำก็ต้องเสียค่าเข้า อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการสร้างห้องน้ำสาธารณะที่สามารถเข้าได้ทุกคนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเข้า และสะอาด สะดวก และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในพื้นที่หาดสมิหลา เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รู้สึกพึงพอใจกับการได้มาเที่ยวที่หาดสมิหลา นอกจากห้องน้ำ ก็ยังมีเรื่องการจัดการขยะและถังขยะในพื้นที่ด้วย รวมไปถึงที่จอดรถเพื่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
นายกัมปนาท เทียมแก้ว นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา เสนอ นโยบายอาชีพที่เหมาะกับผู้สูงอายุ
เนื่องจากการลงพื้นที่ชุมชนเก้าเส้งพบว่ามีผู้สูงวัยค่อนข้างขาดแคลนรายได้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้ออาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจิปาถะ และในเรื่องของอาชีพเช่นเรื่องการทำประมงอาจจะไม่เหมาะกับคนสูงอายุแล้ว เนื่องจากมีข้อจำกัดทางร่างกาย จึงมองว่า ถ้าภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลเรื่องนี้ได้จัดหางานหรืออาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และสามารถทำให้ผู้สูงอายุในแต่ละชุมชนสามารถเข้าถึงอาชีพที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ เช่น จัดตั้งศูนย์จัดหางานให้ผู้สูงอายุ หรือ สนับสนุนสินค้า OTOP เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้มากขึ้น
นางสาวนิอัสรีณา นิหวัง นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เสนอ นโยบายเรื่องความรวดเร็วในจากช่วยเหลือชาวบ้านจากภาครัฐ
เพราะว่าเห็นว่าทุกคนควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว และทั่วถึงทุกพื้นที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบรับความต้องการของชาวบ้านที่เรียกร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับสิ่งนั้น และอยากให้หน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญของการร้องเรียนของคนทุกคนด้วย
นายกันตพล ผลทวี นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เสนอ นโยบายเรื่องความถูกต้องของการทำงานภาครัฐ
อยากให้มีหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องความถูกต้องในการทำงานของภาครัฐ ทั้งรัฐส่วนกลาง และรัฐท้องถิ่น พร้อมกับมีการจำแนกให้ประชาชนรับรู้ว่างบประมาณทั้งศูนย์กลางและท้องถิ่นว่ามีการจัดสรรอย่างไรและใช้ไปกับอะไรบ้าง ถ้ามีการทุจริตก็ให้ปลดออกจากการทำงาน ไม่มีการให้โอกาสใด ๆ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐถูกต้องและสุจริตเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่ ถ้าสามารถทำสิ่งนี้ได้ ประเทศไทยจะไม่เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นด้วย
นี่คือข้อเสนอจากคนรุ่นใหม่ภาคใต้ที่ใฝ่ฝันและอยากให้เกิดขึ้นจริง
การสร้างสร้างสรรค์นโยบายของประชาชนทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมืองไปยังระดับประเทศ เนื่องจากข้อเสนอต่าง ๆ เป็นการเสนอในระดับพื้นที่และปัจเจก ซึ่งถ้าหากมีการกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ก็จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ และปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกนำมาเป็นข้อเสนอก็จะถูกเปร่งเสียงให้ดังขึ้นอีกด้วย
หากมีข้อเสนอหรือต้องการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายเพิ่มเติม หรือเสนอใหม่ก็ได้ สามารถกดลิงก์
https://yourpriorities.yrpri.org/community/4306