เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ร่วมกับสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานภาคใต้ และภาคีวิชาการ วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ สวนสารพัด ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การสร้างเครื่องมือ Smart Farm IOT ให้แก่ขบวนองค์กรชุมชนกับตำบลเป้าหมายและตำบลที่สนใจ ได้แก่ ตำบลนาขา ตำบลหลังสวน ตำบลบ้านควน ตำบลบางมะพร้าว รวมจำนวน 23 คน
นายนิรันดร์ สมพงษ์ (โอ๋) ประธานสหกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และทีม ได้ให้ความรู้ Smart Farm iot นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ “ลดเวลา ลดต้นทุน ลดแรงงาน เพิ่มผลผลิต” ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ด้วยงบประมาณหลักร้อยบาท รู้จักอุปกรณ์ในการสร้างและใช้งานระบบ ระบบ Smart Farm iot คุณสมบัติต่าง ๆ การเลือกซื้อราคา ร้านค้า อุปกรณ์ทดแทน การนำอุปกรณ์มาประกอบด้วยกัน
วิระ ปัจฉิมเพชร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาขา ทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก และเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า 10 ปี บนพื้นที่สวนสารพัด 20 ไร่ เล่าว่า “ผมแสวงหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยภาคการเกษตร ก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ จาก Smart Farm iot มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีการสอนเรื่องการเขียน code รู้จักว่ามี port มีคำสั่ง เรียนรู้เสร็จตาลอยกลับมา เพราะยังไม่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่แปลงเพาะปลูกได้ จากนั้นพยายามหาว่า มีใครไหมที่ให้ความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ จะได้นำมาพัฒนาปรับปรุงการทำเกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้
การได้เข้าร่วมหลักสูตร 2 วันนี้ “ถือว่าตรงใจ ตรงความต้องการ” จากที่รู้คร่าว ๆ รู้แบบตาลอยคราวก่อน วันนี้ได้รู้จักอุปกรณ์แต่ละชิ้น ได้เรียนรู้ การประกอบอุปกรณ์ เห็นวิธีการทำงาน ถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์ตรงความต้องการ “ความรู้ที่ได้จาก 2 วันนี้ กับความรู้ที่ได้จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น”
“ด้วยความตั้งใจ ผมซื้ออุปกรณ์เพิ่มอีก 2 ชุด และจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนเกษตรอินทรีย์ ได้นำไปใช้ให้มีความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดเวลาการทำงานลง ถือว่าเป็นสุดยอดความรู้ในการได้รับ 2 วันนี้”
จากการทดลองติดตั้งอุปกรณ์ในสวนสารพัด บริเวณโรงเรือนปลูกผัก จำนวน 4 โรงเรือน เดิมใช้เวลาเปิด-ปิด ระบบวาล์วน้ำ 4 โรงเรือนปลูกผัก ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากได้รับความรู้ระบบอัจริยะ Smart Farm iot ที่สามารถเปิดไล่เรียงไปแต่ละโรงเรือน โรงเรือนที่ 1 2 3 4 เปิด-ปิด ระบบวาล์วน้ำได้ โดยดไม่ต้องเสียเวลาเพียงกดคำสั่งผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบบนี้สามารถกำหนดเวลาทำให้เกิดความแม่นยำในการทำงานมากขึ้นด้วย
นายทิวากร การทหาร (Bank) อายุ 31 ปี เกษตกรอินทรีย์รุ่นใหม่ เรียนจบจาก มอ.หาดใหญ่ ด้วยใจรักในอาชีพเกษตร และมีความตั้งใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยเห็นว่าดีต่อสุขภาพตนเอง ครอบครัว ผืนดิน และได้แบ่งปันอาหารที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค แม้ว่าช่วงแรกจะทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความยากลำบาก เพราะต้นทุนการทำเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างสูงกว่าเกษตรเคมี หลังจากทำเกษตรอินทรีย์มา 7 ปี ปัจจุบัน Bank มีรายได้หลังหักต้นทุน เดือนละ 8,000 บาท หลังจากรู้จักกับพี่วิระ ปัจฉิมเพชร ประธานวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์อำเภอหลังสวน ทำให้ได้รับความรู้ต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งได้รับความรู้เรื่อง Smart Farm iot ในการเข้าร่วม 2 วันนี้ อนาคตอยากจะขยายแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ชวนใคนมาปลูกผัก ส่งในตลาด ให้มากขึ้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากเพื่อนเกษตรกร 2 วัย ใจเดียวกันที่รักและเกษตรอินทรีย์ และมีความใฝ่เรียนรู้ นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ Smart Farm iot ซึ่งจะขยายผลต่อไปให้กับเพื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ต่อไป
เรียบเรียงโดย สมจิตร จันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้อาวุโส
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร