พอช.เดินหน้าพัฒนา ‘ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย’ ชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ 27,084 ครัวเรือน ส่วนปี 2565 พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้วเกือบ 3 หมื่นครัวเรือน

พอช.เดินหน้าพัฒนา ‘ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย’ ชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ 27,084 ครัวเรือน ส่วนปี 2565 พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้วเกือบ 3 หมื่นครัวเรือน

พอช / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ เดินหน้าขับเคลื่อนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ตามโครงการบ้านมั่นคง- บ้านพอเพียง  เช่น  ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  พัฒนาคุณภาพชีวิต  สร้างความเข้มแข็งชุมชนโดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเป็นฐาน  นำร่องปีนี้ 20 แห่ง  ใช้อาคารทิ้งร้างในเมืองปรับปรุงเป็นที่พักคนจน  พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ 35 จังหวัด 300 ชุมชน  รวม 27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้านบาท  ส่วนปี 2565 ที่ผ่านมา  พอช.พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้วเกือบ 3 หมื่นครัวเรือน 

            สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) มีภารกิจหลัก  คือการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็ง  โดยให้ชุมชนผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  มีโครงการที่สำคัญ  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานราก หรือสภาองค์กรชุมชน  การส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ

ในปีงบประมาณ 2566  พอช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ จำนวน 5 โครงการ  วงเงิน 1,272  ล้านบาทเศษ   คือ 1.โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

งบประมาณรวม  959  ล้านบาทเศษ   เป้าหมาย  29,850 ครัวเรือน

2.โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน  งบประมาณ  233 ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย 780 กองทุน  3.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท   งบประมาณ  32  ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย 500 ตำบล/เมือง

4.ผลผลิตชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง  งบประมาณ 32 ล้านบาทเศษ  เป้าหมายจำนวน 1,050 ตำบล   และ 5.สนับสนุนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน  โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน  งบประมาณ 14  ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย  210 ตำบล/เมือง 35 เครือข่าย 7 จังหวัด

พอช.เดินหน้าเคลื่อนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยปี 2566

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา  มีการประชุมคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน ครั้งที่ 3/2566 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา  ประธานคณะอนุกรรมบ้านมั่นคงฯ  เป็นประธานการประชุม  มีผู้เเทนหน่วยงานต่างๆ   เช่น  สภาพัฒน์  กระทรวง พม. เครือข่ายชุมชนเมืองและชนบท และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมประชุม

2
นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

โดยที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบโครงการต่างๆ  ดังนี้  1.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จำนวน 469 โครงการ 448 พื้นที่   งบประมาณรวม 24,764,400 บาท

2.โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคนโดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน   งบประมาณจำนวน     6,000,000  บาท  3. โครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการอาคารทิ้งร้างเพื่อพัฒนาเป็นที่พักอาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย  500,000 บาท

4.โครงการบ้านพอเพียง  จำนวน 12 โครงการ  รวม  500 ครัวเรือน  งบประมาณ  10,450,000 บาท และงบฯสนับสนุนค่าขนส่งวัสดุก่อสร้างเครือข่ายชาวเลอูรักลาโว้ย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกาะห่างไกล  จำนวน  160,000 บาท และ5.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองและชนบท จำนวน 9 โครงการ 1,449 ครัวเรือน (อยู่ในระหว่างการปรับปรุงโครงการและงบประมาณ)

รวมโครงการที่อนุมัติทั้งหมด 492 โครงการ  ผู้รับประโยชน์  1,949  ครัวเรือน  งบประมาณรวมทั้งหมด109  ล้านบาทเศษ

3
การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวตามโครงการบ้านมั่นคง  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วใน 35 ชุมชน  ประมาณ 3,500 ครัวเรือน

สร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐานนำร่อง 20 แห่ง

ทั้งนี้โครงการที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม  มีโครงการที่น่าสนใจ  เช่น  โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคนโดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน   โดยในปีนี้จะนำร่อง 20 แห่ง  และขยายอีก 40 แห่งต่อไป

โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคนโดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน  มีแนวคิดมาจาก ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ หรือ ‘ประธานบอร์ด พอช. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน  โดยมีแนวคิดในการสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ๆ ให้มีความรู้  สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาชุมชน  นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน  สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

โดยจะเริ่มพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก  โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต  เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการ  ทั้งด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคม  หากมีการส่งเสริม  สร้างสิ่งแวดล้อม  จัดการเรียนรู้  การเล่น  ให้เหมาะสม  เด็กๆ ก็จะมีพัฒนาการที่ดี  มีไอคิวไม่ต่างจากเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว

การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กชุมชน  เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสมอง  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคม  โดยการนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ไฮสโคป’ (High  Scope) มาใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ทั้งนี้ไฮสโคปจะเน้นให้เด็กเป็นผู้เล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ  อย่างอิสระด้วยตนเอง  โดยมีของเล่น  หนังสือ  สื่อ  อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ดร.กอบศักดิ์  ผู้บริหาร พอช.  ผู้นำชุมชน  และภาคเอกชน  เช่น  กลุ่มเซ็ลทรัล  ธนาคารกรุงเทพ  ได้เดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่ตำบลบางคู้  อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  ซึ่งนายแพทย์สันติ  ลาภเบญจกุล  ผอ.รพ.ท่าวุ้ง  และนางอุไรลักษณ์  ลาภเบญจกุล  ผู้บริหารโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) ได้นำรูปแบบการเรียนแบบไฮสโคปมาใช้ที่นี่  เพื่อจะนำแนวทางมาใช้พัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่ พอช.มีโครงการสนับสนุน

4
ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช. ศึกษาศูนย์ต้นแบบที่ลพบุรี

โดยขณะนี้ พอช.ได้คัดเลือกศูนย์เด็กเล็กที่จะเข้าร่วมโครงการและมีความเหมาะสม จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ  (จากศูนย์เด็กเล็กที่ส่งโครงการเข้ามาพิจารณาทั้งหมด 179 แห่ง) เช่น  มีคณะกรรมการชุมชนที่มีความเข้มแข็ง  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมจะสนับสนุน  มีบุคลากรที่พร้อมจะพัฒนาความรู้  ฯลฯ  หลังจากนั้นจะมีการปฐมนิเทศครูผู้สอน  จัด workshop  ในพื้นที่   ในช่วงเดือนเมษายนนี้

ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม-กุมภาพันธ์  2567   หลังจากนั้นจะขยายระยะเวลาและพื้นที่ดำเนินการต่อไป   โดยเบื้องต้นจะใช้ประมาณในการพัฒนาศูนย์เด็ก  20 แห่ง  เช่น  จัดซื้อหนังสือนิทาน  อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้  ของเด็กเล่น  ฯลฯ  แห่งละประมาณ 50,000 บาท   (มีภาคเอกชนร่วมสนับสนุน)  นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่กลางของชุมชนนำมาจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก  จำนวน 40 แห่ง  รวมงบประมาณทั้งหมด 6 ล้านบาท

บ้านพอเพียงชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

ส่วนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ  มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม  เช่น  โครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 12 โครงการ  รวม  500 ครัวเรือน  งบประมาณ  10,450,000 บาท  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณไปสู่องค์กรชุมชนเพื่อสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท  โดยชุมชนจะร่วมสมทบการซ่อมสร้างในด้านต้างๆ  เช่น  แรงงาน  วัสดุ  สิ่งของ   อาหาร  ฯลฯ

โดยในปี 2566 นี้  มีภาคีเครือข่ายต่างๆ  ส่งโครงการมาขอรับการสนับสนุน  เช่น  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน  เครือข่ายสมัชชาชาวนาชาวไร่  เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  เครือข่ายพัฒนาสิทธิชุมชนภาคใต้จังหวัดตรัง-จังหวัดสงขลา  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  เครือข่ายชมรมชาวเลอูรักลาโว้ย  ฯลฯ

5
สภาพบ้านเรือนและวิถีชีวิตชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

ชาวเลอูรักลาโว้ย  เกาะหลีเป๊ะ  อ.เมือง  จ.สตูล  ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างด้วยไม้และสังกะสี  สภาพทรุดโทรม  นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  เพราะถึงแม้ชาวเลจะอยู่อาศัยบนเกาะ  แก่ง  ชายหาดต่างๆ มาตั้งแต่บรรพบุรุษ  แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ  จึงไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน  จึงมักถูกขับไล่  ฟ้องร้อง  จากผู้มาอยู่ภายหลัง  นายทุน  เจ้าของธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว  ถูกปิดกั้นทางเดินสาธารณะ  ถูกออกเอกสารสิทธิ์ทับหลุมฝังศพ  สุสาน  ฯลฯ

โดยชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะได้เสนอโครงการบ้านพอเพียงจำนวน 1 โครงการ  เพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรมจำนวน   76  ครอบครัว  ได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,588,400 บาท (เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,000 บาท) และงบบประมาณ  160,000 บาท  เพื่อเป็นค่าขนส่งวัสดุ  อุปกรณ์ในการซ่อมสร้างบ้าน  จากท่าเรือปากบาราไปยังเกาะหลีเป๊ะโดยเรือ  ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง

ใช้อาคาร-ที่ดินร้างพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

โครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการอาคารทิ้งร้างเพื่อการพัฒนาเป็นที่พักอาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย  งบประมาณจำนวน 500,000 บาท  โครงการนี้มีแนวคิดจากคนจนเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย  ต้องทำมาหากินอยู่ในเมือง  เช่น  ลูกจ้างบริษัทห้างร้าน  รปภ.  แม่บ้านทำความสะอาด  ขายอาหาร  รถเข็น  เก็บของเก่าขาย  ฯลฯ  แต่ที่อยู่อาศัยในเมืองมีราคาแพง  คนจนเข้าไม่ถึง  ต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด  หรืออยู่นอกเมือง  มีภาระเรื่องการเดินทาง

6
อาคารร้างในกรุงเทพฯ  (ภาพจาก www.cijthai.com/news)

โครงการจึงมีโมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัย 3 รูปแบบ คือ  1.ปรับปรุงห้องว่าง  บ้านว่าง  ศูนย์ชุมชน  หรือสร้างใหม่ในที่ดินว่างของชุมชน  จัดทำเป็นห้องเช่าราคาถูก  ดำเนินการโดยชุมชนบ้านมั่นคง

2.พัฒนาตึกร้างในเมือง  ให้เป็นห้องเช่าราคาถูก  โดยการประสานงานกับเจ้าของอาคาร   เช่น  ธนาคาร  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  หน่วยงานในท้องถิ่น  กรุงเทพมหานคร  ฯลฯ  และ  3.สร้างใหม่  โดยใช้ที่ดินของหน่วยงานต่างๆ  เช่น  ที่ดินสาธารณะ  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ฯลฯ  โดยเช่าที่ดินเพื่อนำมาทำห้องเช่าราคาถูก

ทั้งนี้โครงการมีข้อเสนอให้สร้างที่อยู่อาศัยเป็นโครงการนำร่อง  เช่น  ใช้ที่ดินว่าง  ห้องว่าง  ในศูนย์พัฒนาและศูนย์ฟื้นศักยภาพคนไร้บ้านที่ จ.เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี   เพื่อสร้างรูปธรรมการแก้ไขปัญหา  โดยจะมีการสำรวจอาคารร้าง  ที่ว่าง  ฯลฯ ร่วมกันระหว่าง พอช.  กทม.  เครือข่ายชุมชน  ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ที่บริเวณอาคารร้างย่านหัวลำโพง  วงเวียน 22 กรกฎาคม  จุดขึ้นลงทางด่วนพระราม 4 บ่อนไก่  ซอยรามคำแหง 81 ฯลฯ

พัฒนาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ 27,084 ครัวเรือน

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 14  มีนาคมที่ผ่านมา  เห็นชอบอนุมัติแผน 5 ปี (2566-2570) แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ  ตามที่กระทรวง พม.เสนอ  รวม 35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้านบาทเศษนั้น

7

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.  ในฐานะโฆษก พอช. กล่าวว่า  หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแผนงานการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยแล้ว  พอช.ก็พร้อมจะเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชน   โดยขณะนี้มี  6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีนี้   คือ  1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน   ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน  เขตราชเทวี  จำนวน  306  ครอบครัว  โดย พอช. อยู่ในระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย

2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา  43 ครอบครัว  3..ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก  30 ครอบครัว   4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.ขอนแก่น 169  ครอบครัว  และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225  ครอบครัว  รวมทั้งหมด 939 ครอบครัวที่จะดำเนินการในปีนี้

“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น  พอช.จะสนับสนุนตามกระบวนการบ้านมั่นคง  คือ  ชาวชุมชนที่เดือดร้อนต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  และจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการโครงการ  เมื่อสามารถเช่าที่ดินจาก รฟท. หรือหาที่ดินแปลงใหม่ได้แล้ว  พอช.ก็จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  การก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  เช่น  ถนน  ประปา  ไฟฟ้า  ระบบบำบัดน้ำเสีย   รวมครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน  160,000 บาท  และสินเชื่อซื้อที่ดิน  ก่อสร้างบ้านไม่เกิน 250,000 บาท  ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี”   นายสยามชี้แจงรายละเอียด

ส่วนรูปแบบการดำเนินการนั้น  จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้)  การก่อสร้างบ้านในที่ดินใหม่   หรือจัดซื้อ-เช่าในโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ  ฯลฯ   นอกจากนี้เมื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้ว  พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นจะร่วมกันส่งเสริมอาชีพ  พัฒนาสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมเด็กและเยาวชน  การดูแลผู้สูงอายุ  ฯลฯ  เพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

ตามแผนงานโครงการ  ในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการใน  6 พื้นที่  รวม 939 ครอบครัว  ใช้งบประมาณ   267 ล้านบาทเศษ  และจะดำเนินการในปีต่อๆ ไป จนถึงปี 2570 รวมทั้งหมด  35 จังหวัด 300 ชุมชน  จำนวน  27,084 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด  7,718 ล้านบาทเศษ

ปี 2565  พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  29,395 ครัวเรือน         

อย่างไรก็ตาม  นอกจากแผนงานพัฒนาต่างๆ ในปี 2566 ดังกล่าวแล้ว  ในปี 2565  ที่ผ่านมา   พอช.ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้วจำนวน  29,395 ครัวเรือน   แยกเป็น  บ้านพอเพียงชนบท 25,108 ครัวเรือน   บ้านมั่นคง  4,087 ครัวเรือน   ชุมชนริมคลองเปรมประชากร 200 ครัวเรือน

สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน  โดย  พอช. สมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  จำนวน  145 กองทุน  งบประมาณรวม  182 ล้านบาทเศษ  สมาชิกรับประโยชน์รวม  1,180,975 คน

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ 5,916 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6.4 ล้านคน  เงินกองทุนรวมกันประมาณ 19,062 ล้านบาทเศษ  ฯลฯ

8
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นอีก 1 โครงการที่ พอช.สนับสนุน   ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  บางกองทุนนำขยะมาสร้างรายได้   ช่วยทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการสมาชิก

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ