วันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปี 2563 ระหว่างเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีร่วมพัฒนา โดยในปี 2566 เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จำนวน 4 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 14,577,178 ดังนี้ 1) โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชน งบประมาณ 199,432 บาท 2) โครงการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน งบประมาณจำนวน 1,645,966 บาท 3) โครงการบ้านพอเพียง จำนวน 35 ตำบล 607 ครัวเรือน งบประมาณ 12,094,500 บาท และ 4) โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน งบประมาณจำนวน 637,280 บาท
นายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานของ พอช. ในปี 2566 โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในการสนับสนุนการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน พอช.มีหลักการทำงานสำคัญ คือ การพัฒนาโดยชุมชนเป็นแกนหลัก มีแนวทางการทำงานร่วมในทุกโครงการ/กิจกรรม สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลักในการวางแผนและดำเนินการตามแผนพัฒนาชุมชน ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ และสนับสนุนให้ชุมชนเจ้าของปัญหา มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและวางแผนการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่รอแต่การสนับสนุนจากภายนอกหรือรอทำตามแผนของหน่วยงาน โดยใช้โครงการต่างๆ เป็นเครื่องมือ และเชื่อมโยง ประสานงานกับหน่วยงาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจังหวัดประจวบฯ มีกลไกสภาองค์กรชุมชน จำนวน 60 สภาฯ ใน 8 อำเภอ ครอบคลุม 48 ตำบล มีกองทุนสวัสดิการชุมชน 47 ตำบล มีพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชน 29 ตำบล มีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน 23 ตำบล การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยโครงการบ้านพอเพียง 43 ตำบล จำนวน 1,159 ครัวเรือน และมีการขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 24 ตำบล ผลจากการดำเนินงานเกิดแผนพัฒนาตำบลโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลาง พร้อมทั้งเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ จนเป็นการจัดทำแผนระดับจังหวัดปี 2565 – 2569 นอกจากนี้ยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ขยายผลสู่การจัดการสวัสดิการสังคม ดูแลสมาชิกและกลุ่มเปราะบาง สามารถเชื่อมโยงงบประมาณกับหน่วยงานต่างๆ ได้ เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพ การท่องเที่ยว สร้างความมั่นคงทางอาหาร การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนเข้ามาเป็นแกนหลัก มีธรรมมาภิบาลในการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส เกิดเครือข่ายอำเภอเป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถเชื่อมโยงงบประมาณ ทรัพยากรในการแก้ปัญหาในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งใน 15 องค์กรที่ได้รับโล่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นเครือข่ายสีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระดับดีเยี่ยม โดยเป็นผลจากการขับเคลื่อนงานการมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยประชาชนและองค์กรชุมชน ใน 24 ตำบล
รายงาน : กมลรัตน์ สุตตสันต์ / เรวดี อุลิต