ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2566’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ปูชนียบุคคลของสังคมไทย
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เกิดปี 2459 เสียชีวิต 2542) เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ฯลฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ สมถะ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558
นอกจากนี้ ดร.ป๋วยยังเคยเสนอแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตตามแนวคิด ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ในเดือนตุลาคม 2516 จนเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาได้นำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม และเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของดร.ป๋วย (9 มีนาคม 2459) หน่วยงานต่างๆ จึงถือเอาวันนี้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อสืบสานปณิธานของ ดร.ป๋วย
โดยวันนี้ (9 มีนาคม) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ มีการจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2566’ เพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่มีธรรมาภิบาลดีเด่น และกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่น โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานในงาน มีผู้ประกอบการ SME ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
8 กองทุนสวัสดิการชุมชนรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
การจัดงานธรรมาภิบาลดีเด่นประจำปี 2566 มีการมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่น รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลของสังคมไทย เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2559
ในปี 2566 นี้ เป็นการจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นปีที่ 6 เริ่มกระบวนการคัดเลือกกองทุนสวัสดิการที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีกองทุนฯ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ จำนวน 50 กองทุน และผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองในระดับภาคสู่ระดับประเทศ จนได้กองทุนดีเด่น 8 กองทุนใน 8 ประเภท จากรางวัลทั้งหมด 10 ประเภท คือ
- กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร รางวัลประเภทที่ 2 : ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร
2.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย
3.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ..สุราษฎร์ธานี รางวัลประเภทที่ 5 : ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
4.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง อ..เมือง จ.ปทุมธานี รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน
5 .กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี กรุงเทพฯ รางวัลประเภทที่ 7 : ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย
6.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี รางวัลประเภทที่ 8 : ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน
7.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ อ. พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รางวัลประเภทที่ 9 : ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม
และ 8.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช รางวัลประเภทที่ 10 : ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ
ทั้งนี้รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก และประเภทที่ 4. ด้านการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการดำรงชีวิต ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล (ดูรายละเอียดกองทุนที่ได้รับรางวัลที่ www.codi.or.th)
ดร.กอบศักดิ์ “สวัสดิการชุมชนเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวแสดงความยินดีกับกองทุนที่ได้รับรางวัลมีใจความว่า ตนมีความสัมพันธ์กับแบงก์ชาติ เนื่องจากได้ทุนไปเรียนต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี ส่วน ดร.ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นผู้สรรค์สร้างทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การคลัง ความมั่นคงของแบงก์ชาติ และดร.ป๋วยเป็นคนวางรากฐานที่ดีให้กับประเทศไทย
“แต่น่าเสียดายท่านต้องจากเมืองไทย เพราะว่าท่านมีใจรักเรื่องชุมชน หากดร.ป๋วยยังอยู่ในประเทศไทย ประเทศไทยอาจมีความเจริญมากกว่านี้ และคำพูดของดร.ป๋วยที่ชอบพูดว่า ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เป็นความหวังของดร.ป๋วย ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนได้รับสวัสดิการ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ก็ยังไม่สามารถมีสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย สวัสดิการชุมชนในขณะนี้ประชาชนทำเพื่อดูแลตัวเอง จึงเกิดเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะการมีสวัสดิการจะทำให้เยาวชนได้รับการดูแล การรักษาที่ดี การศึกษาที่ดี มีอาชีพที่ดี แม้กระทั่งตายก็ต้องได้รับการดูแลที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ชุมชนจัดการตนเอง โดยการคิดค้นนวัตกรรม เริ่มต้นจากการเก็บออม ตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และกองทุนสวัสดิการชุมชน ตอนนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนก็ได้ขยายทั่วประเทศ และในวันนี้มีการมอบรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น ป่าชุมชน สัมมาชีพในชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ
ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้ายว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับกองทุนสวัสดิการทั่วประเทศ และต่อไปอยากให้ทำเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องเด็ก สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ส่วนตนมีความตั้งใจให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก และเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ส่วนกองทุนสวัสดิการชุมชนก็จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิด พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของประเทศที่แท้จริง
“18 ปีกองทุนสวัสดิการชุมชน” จัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 5,915 กองทุน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า เรื่องสวัสดิการชุมชนเป็นมิติหนึ่งที่ทาง พอช.ให้ความสำคัญในการหนุนเสริมชุมชนรวมกับมิติอื่น เช่น ประชาธิปไตยของชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชน เรื่องของคุณภาพชีวิต เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการพัฒนาอาชีพและรายได้ ฯลฯ
“สวัสดิการชุมชนเป็นฐานงานอันหนึ่งที่ พอช.ให้ความสำคัญมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพัฒนาจากไม่กี่กองทุนมีจุดเริ่มแรกในปี 2548 จนถึงปัจจุบันมี 5,915 กองทุน มีสมาชิกประมาณ 6 ล้านกว่า มีเงินกองทุนรวมกันอยู่ที่ประมาณสองหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินของพี่น้องประชาชน หรือมากกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเงินทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และให้การสนับสนุน” นายกฤษดากล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการสนับสนุนโดยการสมทบเงินเข้ากองทุนของรัฐบาลยังอยู่ในกรอบที่ยังไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนให้การสมทบเข้ามา จึงอยากจะให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะว่างบประมาณของรัฐบาลบางส่วน รัฐบาลต้องลงเงินไปทั้งหมด แต่สวัสดิการชุมชนเป็นเงินที่ประชาชนลงมาแล้วรัฐบาลเข้ามาเป็นหุ้นส่วน แล้วก็สามารถไปตอบโจทย์การดูแลพี่น้องประชาชนได้ เปรียบเหมือนกับชุมชนมีคลังชุมชนเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะคลังอาหาร หรือคลังการเงินเป็นของตัวเอง หากประเทศชาติเกิดวิกฤติประชาชนสามารถที่จะรองรับวิกฤตินี้ได้ เพราะมีคลังของตนเอง ดูแลตนเอง
ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้ายว่า หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยการหนุนเสริมผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ฉพาะ พอช.อย่างเดียว เช่น หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ก็จะทำให้เกิดมิติของการดูแลผู้คนได้เต็มพื้นที่ นอกจากนี้หากภาคธุรกิจเอกชนที่มีสถานประกอบการในพื้นที่ สามารถเข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และทำให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การจัดการชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจัดการตัวเองได้
ทั้งนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ในระดับตำบล เทศบาล และระดับเขตในกรุงเทพฯ จำนวน 5,915 กองทุน สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (ข้อมูลเมื่อกันยายน 2565) ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน 1,970,314 ราย เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ
ธนกร ชัยภักดี ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งได้รับรางวัลประเภทที่ 8 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน โดยกองทุนสวัสดิการได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาครัวเรือนที่ยากจน โดยการซ่อมสร้างบ้านไปแล้วกว่า 90 หลัง และกำลังผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินให้แก่ชาวบ้านในตำบลกว่า 200 ครอบครัว บอกว่า รางวัลที่ได้รับถือว่าเป็นกำลังใจให้กับชาวตะลุบัน ส่วนทิศทางของกองทุนหลังจากนี้ กองทุนจะนำปณิธานของ ดร.ป๋วย “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ไปขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีสวัสดิการที่มาจากชาวบ้านจริงๆ และมั่นคง
นางดวงตา เรืองสุข ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน มีผลงานเด่น เช่น ส่งเสริมอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวให้แก่ผู้ว่างงานในตำบล ส่งเสริมการทำผ้ามัดย้อมจำหน่าย ฯลฯ กล่าวว่า แผนงานต่อไปของกองทุนสวัสดิการฯ คือจะส่งเสริมเรื่องอาชีพชาวชุมชนที่ว่างงานหรือผู้สูงอายุให้มีรายได้ เช่น การสานตะกร้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชุมชน และการปักสไบมอญเพื่อใช้ในการทำบุญในเทศกาลงานต่างๆ เพราะพวกเรามีเชื้อสายมอญ จึงอยากส่งเสริมอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นภูมิปัญญาของชาวมอญให้คงอยู่ต่อไป
นายโส แก้วชัง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย กล่าวว่า แผนงานต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ คือ การทำโรงเรียนผู้สูงอายุในตำบล เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โดยนำวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นอาชีพ เช่น เอามะพร้าวที่มีอยู่มากมาทำมะพร้าวแก้ว เอาไม้ไผ่ ข้าวเหนียว มาทำข้าวหลาม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะกัน มีกิจกรรม ไม่เครียด มีสุขภาพกายและจิตใจแข็งแรง
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์