เชื่อมประสบการณ์ภัยพิบัติจากอันดามันสู่ยอดดอย จับมือสานเครือข่ายลดความเสี่ยงในภาคเหนือ

เชื่อมประสบการณ์ภัยพิบัติจากอันดามันสู่ยอดดอย จับมือสานเครือข่ายลดความเสี่ยงในภาคเหนือ

เชื่อมประสบการณ์ภัยพิบัติจากอันดามันสู่ยอดดอย 
จับมือสานเครือข่ายลดความเสี่ยงในภาคเหนือ

ชี้ภาคเหนือมีเสี่ยงภัยพิบัติหลายลักษณะ หมอกควัน น้ำป่า ดินถล่ม แผ่นดินไหว  นักวิชาการจับมือเครือข่ายประชาชนด้านภัยพิบัติ เตรียมการรับมือ สานเครือข่ายกับอันดามัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างฐานข้อมูลเตรียมการและสื่อสารเพื่อเตรียมความพร้อม มหาวิทยาลัยพะเยาอาสาสร้างทีมวิชาการ ไทยพีบีเอสสานเครือข่ายประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางสื่อสารลดความเสี่ยงภัยพิบัติร่วมกัน.

20160808180513.jpg

          เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559  ณ เรือนเอื้องคำ มหาวิทยาลัยพะเยา มีวงคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์หัวข้อ  “จากอันดามันสู่ยอดดอย :  สานเครือข่ายสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (ภาคเหนือ)” โดยมีตัวแทนสถาบันการศึกษาจากภาคเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เชียงราย เครือข่ายจัดการภัยพิบัติ จ.เชียงราย จ.อุตรดิตถ์ จ.น่าน อ.ฝาง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และสื่อชุมชนคือ พะเยาทีวี ร่วมหารือ รวมทั้งมีตัวแทนสถาบันการศึกษาจากภาคใต้ คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และทีวีอันดามันมั่นคง มาร่วมแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ด้วย โดยมี รศ. ชาลี ทองเรือง รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย ดร.รัฐภูมิ พรหมณะ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา อำนวยการพูดคุยแลกเปลี่ยน

           การประชุมครั้งนี้ เกิดจากข้อเสนอในการประชุมกองบรรณาธิการร่วมภาคเหนือ ที่ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาร่วมกับไทยพีบีเอสจัดขึ้นเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อร่วมกันมองวาระสำคัญของภาคเหนือที่จะต้องร่วมกันสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 2 ที่จ.เชียงใหม่มีข้อเสนอให้ความสำคัญกับประเด็น “ภัยพิบัติ” ซึ่งเป็นวาระร่วมสำคัญของภาค  โดยประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ มุ่งไปที่การหาแนวทางลดความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยการจัดการความรู้และกระตุ้นให้เกิดสื่อสารของภาคพลเมืองร่วมกับสื่อหลัก รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนกลไกการทำงานของแต่ละพื้นที่

         นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส กล่าวว่า  เครือข่ายสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ก่อตัวขึ้นหลวมๆ  จากการที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการในภาคเหนือและภาคใต้ได้ร่วมในการประชุม  ABU (สหภาพสื่อมวลชนเอเชีย-แปซิฟิก) ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยพีบีเอสเป็นเจ้าภาพเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ จ. กระบี่  เพื่อวางแผนการทำหน้าที่ของสื่อในภาวะวิกฤต สร้างความตระหนักรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สื่อสารการปรับตัวรับมือภัยพิบัติ     

20160808181451.jpg

            การประชุมครั้งนั้น ภาคประชาสังคมมีข้อเสนอต่อสื่อ และสิ่งที่จะลงมือทำด้วย โดยประกาศเป็น ปฏิญญากระบี่ภาคประชาชน ว่า เราสามารถพัฒนาระบบข้อมูลและการสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เราสามารถยกระดับเครือข่ายทางสังคมที่มีการบรูณาการความรู้อันจากภาควิชาการ สื่อ และประชาสังคม และเราพบว่าการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารของประชาชน สามารถลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

           ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ เราพบว่าภัยพิบัติในภาคเหนือ เป็นวาระสำคัญที่มีการเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น  หมอกควัน ดินโคลนถล่ม น้ำป่า แผ่นดินไหว  ซึ่งการจัดการด้านภัยพิบัติจะมี 3 ระยะคือระยะเตรียมพร้อม ระยะเผชิญสถานการณ์ และระยะฟื้นฟู แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดเหตุการณ์จะเน้นที่ฟื้นฟู  แต่แท้จริงแล้วภัยพิบัติสามารถคาดการณ์และเตรียมรับมือได้ ถ้ามีความรู้ทั้งวิชาการและจากประชาชน  ส่วนด้านการสื่อสารพบว่า เนื้อหาด้านภัยพิบัติที่ปรากฏในสื่อจะเสนอแต่ปัญหา ไม่ค่อยเสนอการจัดการระยะยาว และไม่ค่อยสื่อสารความรู้เพื่อรับมือ   จึงมีข้อเสนอร่วมกันว่าในพื้นที่ภาคเหนือ ควร เชื่อมโยงการทำงาน ผสานองค์ความรู้   แปลงความรู้ไปอยู่ในสื่อ โดยความร่วมมือของวิชาการและสื่อภาคประชาชนทดลองสื่อสารเลย   

20160808181618.jpg

            ในวงแลกเปลี่ยน หลายพื้นที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและแนวทางการรับมือในพื้นที่ของตนเอง และได้พูดถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารและหาแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติ โดยให้เหตุผลคล้ายกันว่า เนื่องจากในสถานการภัยพิบัติหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆที่รับผิดชอบด้านการช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในบางครั้งทำให้สถานการณ์นั้นเกือบถึงจุดวิกฤต เช่น เหตุการณ์สึนามิ ในภาคใต้เมื่อ ปี 2547 โดย นายสมศักดิ์ แก้วจินดา เครือข่ายทีวีชุมชนอันดามัน และเครือข่ายอาสากู้ภัยในพื้นที่ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่ชาวบ้านผู้ประสบภัยในครั้งนั้น ไม่สามารถเข้าพื้นที่ของตนเองเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้องของพวกเขาได้ เนื่องจากขาดความรู้และถูกกันพื้นที่จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากนั้นชาวบ้านเองได้จัดตั้งกลุ่มกันขึ้นและประสานหน่วยงานเพื่อเข้ามาอบรมให้ความรู้เบื้องต้นกับชาวบ้าน โดยผลจากการรวมตัวทำให้ในคนพื้นที่มีแนวทางที่จะสามารถดูแลและรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้ การทำงานในแต่ละพื้นที่ ข้อจำกัด และสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมโดยพบว่า   เมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ สึนามิ น้ำป่า ดินถล่ม แล้ง   ชุมชนต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก  พื้นที่ห่างไกล พื้นที่ถูกปิด การช่วยเหลือเข้าไปไม่ได้ ไม่ทั่วถึง  การสื่อสารล่าช้า ไม่คล่องตัว ระบบสื่อสารออนไลน์ หรือระบบที่วางไว้ล่มเมื่อเกิดเหตุจริง การเยียวยา ฟื้นฟูเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่  ส่วนใหญ่เราอยู่ในช่วงเผชิญกับสถานการณ์  ขาดการซักซ้อมเพื่อเตรียมรับมือ

20160808181807.jpg

           อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่เคยผ่านเหตุการณ์รุนแรง เช่น อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เกิดความเข้มแข็ง มีเครือข่ายประชาชนที่จัดการภัยพิบัติในพื้นที่  โดยมีการออกแบบวิธีการตรวจวัดเพื่อประเมินสถานการณ์เองในพื้นที่ เช่น การวัดปริมาณน้ำฝน การสังเกตุตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ติดตั้งระบบธงสีต่างๆในชุมชน เพื่อระบุพิกัดกลุ่มเสี่ยง เปราะบางที่ต้องดูแลในกรณีเกิดเหตุ มีการทำข้อมูล ปฎิบัติการระดับชุมชน เช่น การวัดน้ำฝน เป็นต้น และงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ มีการเกิดอาสาสมัครในพื้นที่ คนในชุมชนเพื่อบรรเทาสถานการณ์ หลังเกิดเหตุการณ์เช่นการซ่อมสร้าง มีนักวิจัย จิตอาสาไปถอดประสบการณ์และพัฒนาองค์ความรู้   ทั้งนี้ไม่ควรมองภัยพิบัติเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิต ความมั่นคงของชีวิต การจัดระบบชุมชนเช่นที่ดิน การใช้น้ำ การวางผังเมือง  และพลังงานที่ต้องเตรียมการ 

20160808182032.jpg

         ด้านการสื่อสารพบว่า มีการใช้ระบบเทคโยโลยีสารสนเทศในการสื่อสารหลายระดับเช่น กลุ่มไลน์ วิทยุชุมชน  ระบบ GIS และเชื่อมกับสื่อกระแสหลักอยู่บ้าง  ขณะที่ไทยพีบีเอสกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับนักข่าวพลเมืองในการรายงานสถานการณ์เหตุการณ์สำคัญๆ อยู่ด้วย อ.สมพร  ช่วยอารีย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จาก ม.อ.ปัตตานี ได้พัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี pbwatch.net เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี (พีบีวอทช์ดอทเน็ต) ที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเป็นการประมวลข้อมูลพื้นฐานจากหน่วยงานรัฐเช่น กรมอุตุฯ กรมชลประทาน  ผนวกกันการทำเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลร่วมกันรายงานภาพเหตุการณ์ และรายละเอียดที่เกิดภัยพิบัติ  เพื่อที่จะใช้วิเคราะห์ แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนฟ้าอากาศโดยภาคประชาชน  รวมถึงมีแบบจำลองสถานการณ์เกิดภัยพิบัติหลายลักษณะ  ทั้งนี้ เว็บดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปยังเครือข่ายภาคเหนือหากมีความสนใจและยินดีถ่ายทอดเทคนิคให้ ซึ่งได้รับความสนใจจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนเป็นอันมาก   เพราะสามารถเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลใหญ่ หรือเป็นการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ 

20160908204146.jpg

         นอกจากนี้นักวิชาการในภาคเหนือฟลายท่านได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านภัยพิบัติเช่น แผ่นดินไหว มีแอพพลิเคชั่นปลาอานนท์  มีแอพพลิเคชั่นรายงานตำแหน่งการเกิดไฟป่า (จุดความร้อน) ของ ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(เชียงราย) ที่มีใช้งานจริงและร่วมทำงานกับหน่วยดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่ตลอดจนองค์ความรู้เรื่องการก่อสร้างอาคารป้องกันแผ่นดินไหวของ ดร.ปรีดา ไชยมหาวัน อาจารย์จากคณะวิศวกรรมโยธา  มหาวิทยาลัยพะเยา  ที่มีแผนดำเนินการขยายเครือข่ายอบรมให้กับวิศวกรในพื้นที่เสี่ยง พร้อมกับจัดทีมวิศวกรอาสาเพื่อให้ความรู้เรื่องการ สร้างบ้านและอาคารป้องกันแผ่นดินไหวให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงด้วย
          
นอกจากในแง่มุมของนักวิชาการยังมีอีกหนึ่งแง่มุมคือเรื่องราวของสัญชาติญาณป่าและทะเลที่เกิดจากการสังเกตของคนในชุมชนเองที่จะรู้เหตุการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าจากการสังเกตความผิดปกติของสัตว์ป่าหรือธรรมชาติรอบตัว ซึ่งตรงนี้ก็สามารถที่จะช่วยเหลือให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยเองสามารถอพยพและเตรียมตัวในระดับหนึ่ง เช่น การใช้ภูมิปัญญา ผักผีปู่ยา ในจังหวัดน่าน ทำนายปริมาณน้ำในปีนั้นๆ  ซึ่งประเด็นนี้ นายพิภพ พานิชภักดิ์ สื่อมวลชนอิสระมองว่า ถ้ามีการบูรณาการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ร่วมกับนักวิชาการ ก็สามารถที่จะนำภูมิปัญญาดังกล่าวเข้ามามีส่วนช่วยในการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติได้เช่นเดียวกัน

         ที่ประชุมได้พยายามหาแนวทางการผสานความร่วมมือ และใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและรับมือกับภัยพิบัติ และขยายฐานความรู้เข้าสู่คนในชุมชนได้รับรู้ และมีการสื่อสารออกมาในสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงการมองถึงแผนในอนาคตเรื่องการต่อยอดพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นการสร้างระบบวิเคราะห์การเตือนภัยที่พัฒนาจากผลงานวิชาการที่มีอยู่ เพื่อให้ชุมชนใช้งานได้ และการขยายเครือข่ายหาวิธีการสื่อสารที่จะสร้างความตระหนักของภาคประชาชน ตลอดจนการทำโมเดลนำร่อง โดยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาภาคเหนือร่วมกับผลงานวิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือภัยพิบัติที่จะเชื่อมโยงกับฐานความรู้ในชุมชนต่อไป

20160808182136.jpg

          ปลายทางการแลกเปลี่ยนความรู้และการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงหาแนวทางรับมือภัยพิบัติร่วมกันระหว่างเครือข่ายเท่านั้น มีการดึงเอามิติด้านการสื่อสารของสื่อกระแสหลักเข้ามาช่วย โดยตั้งโจทย์ต่อว่าเมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นนั้น คนในชุมชนของตัวเองจะเลือกที่จะสื่อสารออกไปอย่างไรให้กับคนภายนอกได้รับทราบถึงเหตุการณ์นั้นๆ  ซึ่งในด้านสื่อกระแสหลักอย่าง ไทยพีบีเอส ก็ได้ชี้ให้เห็นช่องทางในการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้โดยใช้ช่องทางของสื่อพลเมือง ทีวีชุมชนที่มีอยู่ รวมถึงช่องทางของสื่อกระแสหลักอย่าง ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆที่ไม่ใช่แค่ให้คนในชุมชนได้รับรู้เท่านั้น แต่ยังขยายความรู้ประสบการณ์ให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่อื่นๆให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ในประเทศไทยต่อไป

ที่ประชุมจึงมีข้อสรุป

     1. มีทีมทำงานชุดวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยพะเยา อาสาเป็นแกนหลักในการประสานมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย   นำร่องพัฒนาระบบ “โมเดลนำร่อง” เชื่อมโยงฐานความรู้จากชุมชน โดยสร้างฐานข้อมูลพัฒนาต่อยอดจากเว็บของอาจารย์สมพร จากม.อ.ปัตตานี ให้เป็น BIG DATA เตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดนัดหมาย ปลายเดือนสิงหาคม 2559

      2. ภาคเครือข่าย และภาคสื่อนำฐานข้อมูลนี้ไปต่อยอดและขยายผล หาวิธีการสื่อสารที่จะสร้างการรับรู้ของภาคประชาชนเพื่อเตรียมการรับมือ หรือสร้างเครือข่ายด้านการสื่อสารเชื่อมต่อกัน โดยไทยพีบีเอสดำเนินการวางแผนการพัฒนา  และหาแนวทางการเชื่อมต่อกับสื่อกระแสหลัก ให้ฐานข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเปิดที่สื่ออื่นสามารถมาใช่ร่วมได้

เรื่อง : วราชัย  ชูสิงห์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ