การสอบปลายภาคที่มาพร้อมกับการกลับมาอีกครั้งของละครเวทีโดยนิสิตสื่อใหม่ มพ.

การสอบปลายภาคที่มาพร้อมกับการกลับมาอีกครั้งของละครเวทีโดยนิสิตสื่อใหม่ มพ.


จะเป็นอย่างไร ถ้าข้อสอบปลายภาคของเทอมนี้ไม่ใช่การนั่งสอบในห้องเรียนเหมือนเทอมที่ผ่านมา?

สิ่งที่ฉันกังวลมากที่สุดกำลังจะเกิดขึ้น นั่นก็คือการสอบปลายภาควิชาสร้างเสียงประกอบสำหรับสื่อดิจิทัล ของคณะนิเทศ สาขาสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา ถ้าพูดถึงเรื่องรูปแบบการสอบแล้วทุกคนคงจะชอบการสอบแบบปรนัยกันมากกว่าเพราะตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะหากมีข้อที่ไม่สามารถทำได้อย่างน้อยก็มีตัวเลือกอื่นให้เสี่ยงดวงอยู่ ความคิดพวกนี้วนเวียนอยู่ในหัวของฉันพร้อมกับคำถามที่ว่า “ถ้าข้อสอบเทอมนี้ไม่ใช่ทั้งปรนัยและอัตนัยเหมือนเทอมที่ผ่านมาล่ะ?”

วิชาสร้างเสียงประกอบของสาขาสื่อใหม่ของเรานั้นเป็นการเรียนแบบลงมือทำ โดยนิสิตจะได้เรียนการทำ foley และเสียงต่างๆอีกมากมายและแน่นอนว่าข้อสอบก็ต้องเป็นการปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นรูปแบบปรนัย

เสียงเฮดังลั่นห้องเรียน เมื่ออาจารย์บอกว่าข้อสอบปลายภาคเทอมนี้นิสิตต้องทำ “ละครเวที” เป็นไปตามคาด ข้อสอบปลายภาคเทอมนี้ต้องลงมือทำจริง สิ่งที่ฉันต้องทำต่อจากนี้ก็คือสะบัดความกังวลและความกลัวทั้งหมดออกไปและทำมันออกมาให้เต็มที่ที่สุด

เส้นทางของละครเวทีที่จัดทำโดยนิสิตสาขาสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยากำลังจะเริ่มขึ้น และฉันจะพาทุกท่านร่วมเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ในการสอบปลายภาคที่แปลกใหม่นี้ด้วยกัน เมื่อสิ้นสุดการเดินทางแล้วท่านอาจจะต้องอยากสัมผัสมันด้วยตัวของท่านเองเลยก็เป็นได้


การกลับมาของละครเวทีสาขาสื่อใหม่มหาวิทยาลัยพะเยา

ละครเวทีครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวัง เพราะมันเป็นการกลับมาในรอบ 10 ปี ฉันเคยได้ยินรุ่นพี่พูดกันว่าสาขาสื่อใหม่ของเราก็เคยมีการแสดงละครเวทีกันเมื่อนานมาแล้ว แล้วก็เว้นช่วงไปนานมากจนมาถึงรุ่นของพวกเรา และความพิเศษของปีนี้คือเราจะมีการถ่ายทอดสดบน facebook เพจ สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา New Media Communication-NMC UP ที่สำคัญคือเราได้ร่วมทำงานกับพี่ปีสามที่มาจัดการเรื่องงาน Production เป็นครั้งแรก ความยิ่งใหญ่และอลังการนี้ทำให้ฉันและทีมงานคนอื่นก็รู้สึกกดดันขึ้นมาทันทีเพราะจะต้องทำได้ให้ดีที่สุด ให้สมกับการรอคอยและความคาดหวังของใครหลายๆคน

บทละครที่พวกเราได้ร่วมกันโหวตที่จะทำละครเวทีมีอยู่สองเรื่อง คือ .”ส้มตำกลับใจ” และ “ไขwho” โดยนิสิตในชั้นเรียนนี้มีสองเซค อาจารย์เลยให้แต่ละเซคทำเซคละหนึ่งเรื่อง เซคของฉันได้ทำเรื่อง “ไขwho”

ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปวางแผนงานอาจารย์ก็ได้บอกเงื่อนไขในการทำงานครั้งนี้ว่า

“งานละครเวทีของเราจะต้องพากย์เสียงสดและต้องทำเสียง foley สดๆ”

เพื่อนที่นั่งข้างๆฉันถึงกับอ้าปากค้าง ส่วนตัวฉันนั้นวิญญาณได้หลุดลอยไปแล้ว ที่ผ่านมาเราทำเสียงประกอบ foley กันแต่ใน studio อัดเสียงลงคอมพิวเตอร์ ถ้าพลาดก็ทำใหม่หรือไม่ก็ไปตัดต่อ แต่ในงานนี้เราต้องทำสดๆไปพร้อมกับการแสดงของนักแสดงบนเวที!

เริ่มต้นรังสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดง

สิ้นสุดคำสั่งจากอาจารย์ ทุกคนในทีมก็เริ่มแบ่งตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน เพื่อนฉันหลายคนก็แยกย้ายไปตามตำแหน่งที่ตัวเองถนัด บ้างก็เป็นคนพากย์เสียง บ้างก็เป็นคนกำกับเรื่องของเสียง การทำเพลง เกือบจะทุกคนแล้วที่มีหน้าที่กัน เหลือก็แต่ฉันที่ไม่รู้แน่ว่าตัวเองนั้นถนัดอะไร

“ตำแหน่ง art director ว่าง” นี่แหละตำแหน่งที่ฉันคิดว่าฉัดน่าจะถนัดที่สุด เพราะฉันนั้นมีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ ถึงมันจะน้อยนิดแต่ก็คิดว่าฉันสามารถทำมันออกมาได้ดี ฉันคาดหวังไว้แบบนั้น ฉันไม่รอช้าที่จะลงชื่อเข้าไปในตำแหน่งนี้ทันที

art director สำหรับฉันมันก็ไม่ได้ยากแต่ก็ไม่ได้ง่ายสะทีเดียว พวกเราวิเคราะห์เนื้อเรื่องของละครที่ทำและกำหนดฉากในเรื่อง อุปกรณ์ที่ตัวละครใช้ จากนั้นก็ลงมือทำได้!

ฉันและเพื่อนอีกสามสี่คนได้รับตำแหน่งช่างทำต้นไม้ ส่วนคนอื่นที่เหลือก็ไปทำฉากในห้องเรียน ในตอนแรกที่ทำคือคิดไม่ออกเลยว่ามันจะออกมาเป็นต้นไม้ยังไง ฉันและคนในทีมช่วยกันงัดสกิลศิลปะที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยอนุบาลจนกระทั่งถึงตอนนี้ และช่วยกันคิดวิธีสร้างต้นฉำฉาให้มันออกมาปังที่สุด

ปัญหาแรกที่ทีม art director ต้องเจอนั้น คือ “งบ” การจะจับจ่ายอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะถ้างบไม่พอเพื่อนคนอื่นก็ต้องระดมทุนกันมากกว่าเดิม วัสดุที่เอามาทำจึงมีข้อจำกัดเพราะมันต้อง ถูก หาได้ง่าย เช่น กล่องลังที่คนไม่ใช้แล้ว กระดาษรีไซเคิลที่ไปขอจากห้องพักอาจารย์ ซึ่งมันก็ประหยัดงบไปได้ค่อนข้างมาก 

พวกเราลองผิดลองถูกกันไปไม่รู้กี่รอบ โดยเอากล่องลังมาทำเป็นลำต้น กิ่ง และดูเหมือนว่ามันจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ปัญหาต่อไปก็คือส่วนที่ทำยากที่สุดของต้นฉำฉา นั่นก็คือใบ กลับมาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง พวกเรามาช่วยกันคิดอีกว่าจะทำยังไงกับใบของต้นฉำฉาที่ข้อจำกัดในการหาวัสดุนั้นต้อง ถูก และหาง่าย

 

ไม่นานนักอยู่ๆภาพครูศิลปะที่กำลังสอนเรื่อง paper mache ตอนมัธยมต้นก็ขึ้นมาในหัว ฉันเสนอไอเดียนี้ไปและเพื่อนๆก็เห็นด้วย เมื่อเริ่มเห็นหนทางที่จะไปต่อแล้วเราก็ลงมือกันอีกครั้ง!

 

เวลาผ่านไปราวๆเกือบหนึ่งเดือนที่พวกเราในทีมมือเปื้อนกาว เสื้อเลอะสีกันเกือบทุกคน ในที่สุดฉากต่างๆรวมถึงต้นฉำฉาของเราก็พร้อมที่จะไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีแล้ว “เก่งมาก” เราทุกคนในทีมมอบคำชื่นชมนี้ให้กันและกันรวมถึงตัวเองด้วย จากจุดที่มองไม่เห็นแสงสว่างเลยจนตอนนี้ต้นฉำฉาได้ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าพวกเราแล้ว

พวกเราได้พักหายใจจากงานทำฉากไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ถึงเวลาที่ต้องยกต้นไม้ ชั้นหนังสือ ทั้งหมดไปซ้อมบนเวทีกับนักแสดง ในห้องซ้อมเต็มไปด้วยทีมงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะกล้องสำหรับการถ่ายทอดสด ไฟ แสง สี เสียง เห็นแค่นี้ก็รู้แล้วว่าวันจริงจะอลังการแค่ไหน

พวกเราซ้อมกันหนักมากตั้งแต่เช้ายันเย็น ซ้อมกันเกือบทุกวัน วันละหลายสิบรอบ ถ้าดูจากสีหน้าของทุกคนและเสียงกระดูกลั่นกร๊อบแกร๊บแล้วก็คงจะรู้เลยว่าเหนื่อยกันมากแค่ไหน แม้ว่าในช่วงแรกมันอาจจะออกมาได้ไม่ดีมากนัก แต่ถึงกระนั้นทีมงานทุกคนก็ไม่เคยหยุดที่จะพยายามเลย


ได้เวลาเปิดตำนานบทใหม่ของละครเวทีคณะนิเทศสาขาสื่อใหม่ มพ.

ปฏิทินบนโต๊ะถูกกามาจนถึงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2566 ที่มีปากกาแดงเขียนโน้ตไว้ว่า “วันแสดงจริง” วันนี้เป็นวันที่ทุกคนรอคอยกันมาอย่างยาวนาน เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่จัดงานก็เจอกับทีมงานทุกฝ่ายที่ไปถึงอยู่ก่อนแล้ว ภาพที่เห็นคือทุกคนกำลังขมักเขม่นอยู่กับการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีเหมือนกับทุกครั้งที่ทำมา

วินาทีที่ไฟถูกสาดลงบนเวที และการแสดงก็กำลังดำเนินไปนั้นทำเอาฉันขนลุกขึ้นมาอย่างดื้อๆ เพราะเพื่อนๆที่เห็นกันมาตั้งแต่ปีหนึ่ง กำลังเฉิดฉายอยู่บนเวที พวกเขาทั้งร้อง ทั้งเต้น ฉันได้เห็นการแสดงนี้มากี่สิบรอบแล้วก็ไม่รู้แต่ก็ยอมรับเลยว่าประทับใจทุกครั้ง

ฉันเคยได้ยินเสียงเพื่อนทุกคนและรู้ว่าเสียงของคนนั้นเป็นอย่างไร แต่ทีมพากษ์ทำเอาฉันลืมไปเลยว่าเสียงที่ตัวละครพูดอยู่นั้นไม่ได้มาจากนักแสดง จังหวะและอารมณ์มันเป๊ะ! จนคิดว่าเป็นคนเดียวกัน อีกทีมหนึ่งที่ทำฉันอึ้งเลยคือทีม foley ที่ทำเสียงประกอบการแสดงได้เหมือนจริงมาก เหมือนกับว่าเราได้ไปอยู่ ณ ที่สถานที่นั้นจริงๆ และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเพลงประกอบ มันติดหูฉันมาตั้งแต่วันแรกที่ได้มาซ้อม (ฉันนั้นอยากให้เพื่อนๆเอาไปปล่อยใน YouTube เสียจริง จะได้เปิดฟังทุกวัน) และองค์ประกอบเหล่านี้เองที่ช่วยทำให้ละครเวทีทั้งสองเรื่องออกมาสมบูรณ์แบบ

คัท! เสียงจากทีม Production ดังขึ้น จากนั้นในห้องของการแสดงก็เต็มไปด้วยเสียงร้องเฮดีใจและเสียงปรบมือดังสนั่น “ได้กลับบ้านแล้ว” เสียงตะโกนจากเพื่อนของฉัน อาจจะเพราะฉันอ่อนไหวไปหน่อย อยู่ๆขอบตาก็มีน้ำใสๆคลออยู่ ความรู้สึกโล่ง ดีใจ มันคับแน่นอยู่ในอกจนอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ความพยายามที่พวกเราทุกคนร่วมทำด้วยกันมามันสำเร็จแล้ว และการสอบปลายภาควิชาสร้างเสียงประกอบของนิสิตชั้นปีที่สองสาขาสื่อใหม่ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ตอนนี้ฉันเกิดความรู้สึกอยากขอบคุณอาจารย์ที่มอบหมายงานนี้ให้พวกเราทำ ตอนนี้ฉันตอบตัวเองได้แล้วว่าจะเป็นอย่างไรถ้าข้อสอบปลายภาคไม่ใช่การสอบแบบปรนัยและอัตนัย

การสอบปลายภาคครั้งนี้ให้อะไรหลายๆอย่างกับฉัน ฉันได้ทั้งประสบการณ์ที่ไม่เคยได้ที่ไหนมาก่อน ฉันได้รู้จักเพื่อนที่เคยเดินสวนกันในชั้นเรียนที่ปกติไม่ค่อยจะได้พูดคุยหรือทักทาย ฉันได้ทำงานกับคนที่หลากหลายและคนที่เป็นมืออาชีพ

ฉันจะเก็บประสบการณ์ที่ล้ำค่านี้ไว้และนำมันมาพัฒนาตัวเองต่อไป และที่สำคัญจากนี้ฉันคงไม่กลัวที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆอีกแล้ว ในเทอมหน้าไม่ว่าข้อสอบจะเป็นแบบไหนฉันก็พร้อมลุยมันเต็มที่และหวังว่าฉันจะทำมันออกมาได้ดีกว่าเดิม!

สิ้นสุดการเดินทางแล้วฉันคงต้องลาพวกท่านไปแต่เพียงเท่านี้ หากท่านอยากรู้ว่าละครเวทีที่ฉันได้ทำนั้นมันจะยิ่งใหญ่และอลังการเหมือนที่ได้กล่าวไว้หรือไม่ ท่านสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่ face book สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา New Media Communication-NMC UP

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ