8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ “มโนราห์ไม่มีวันตาย” การสืบทอดมรดกของบรรพชน (8 ) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว จ.นครศรีธรรมราช

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ “มโนราห์ไม่มีวันตาย” การสืบทอดมรดกของบรรพชน (8 ) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว จ.นครศรีธรรมราช

เยาวชนตำบลเขาขาวสืบทอดมรดกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว  อ.ทุ่งสง   จ.นครศรีธรรมราช   เป็นอีก กองทุนที่ได้รับรางวัลจากการประกวด “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”  ประจำปี 2566  ประเภทที่ 10 ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ  โดยมีผลงานที่โดดเด่น  คือการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน มโนราห์’  ให้คงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

‘เขาขาว’ แหล่งครูมโนราห์

ตำบลเขาขาว  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ  87 ตารางกิโลเมตร    มี 12 หมู่บ้าน   จำนวน  2,467  หลังคาเรือน  ประชากร  13,486 คน   ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน  สวนผลไม้   ปลูกทุเรียน  มังคุด  พืชไร่  เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง

นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริม  ด้วยการรวมกลุ่มกันทำอาชีพต่างๆ   เช่น  บ้านไร่เหนือ  หมู่ที่ 9  ทำขนมปัง  ขนมเค้ก เบเกอรี่  ขนมไทย  ทองหยิบ  ฝอยทอง  ฯลฯ ใส่กล่องขายในตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง  บางกลุ่มทำเสื้อผ้ามัดย้อม  กระเป๋าสาน  งานหัตกรรม  ทำข้าวซ้อมมือ  แป้งสาคู   น้ำผลไม้จากหม่อน  กลุ่มเกษตรอินทรีย์  ปลูกผักสวนครัว ฯลฯ

2
กลุ่มทำขนมหมู่ที่ 9  ได้รับการส่งเสริมอาชีพจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว

รวมทั้งมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ  เช่น  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  กลุ่มสตรี   กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชนตำบล  ศูนย์ฝึกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเยาวชนตำบลเขาขาว  โรงเรียนผู้สูงอายุ    ฯลฯ  สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็ง  ความร่วมมือร่วมใจของคนตำบลเขาขาว         โดยเฉพาะการส่งเสริม  อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ‘มโนราห์’

ฉะอ้อน  แก้วขาว  อายุ 56 ปี  ครูมโนราห์  อาชีพหลักปลูกผักขาย   บอกว่า  ในตำบลเขาขาวมี 12 หมู่บ้าน  แต่มีครูมโนราห์มากกว่า 10 คน  มีทั้งครูหญิง  ครูชาย  เรียกว่าทุกหมู่บ้านจะต้องมีครูมโนราห์  หรือ  ‘ครูหมอโนรา’ และมีความเชื่อกันว่า  มโนราห์จะมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษหรือ ‘ตายายโนรา’ หรือสืบสายมาจากครูบาอาจารย์  เรียกว่า “สืบสายเชื้อโนรา” และถ้าใครไม่มีเชื้อสายจะเรียนโนราอย่างไรก็ไม่มีวันสำเร็จ   แต่ถ้ามีเชื้อสายแล้ว  หากไม่ได้สืบทอดก็จะเกิดเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ

“ตอนฉันอายุประมาณ 7 ขวบ  ตอนนั้นฉันปวดท้องมาก  พ่อพาไปหาหมอ  รักษาเป็นอาทิตย์ก็ไม่หาย   พ่อจึงบนบานกับ ‘ตายายโนรา’  ว่า  ถ้าฉันโตขึ้นจะพาไปรำโนรา  หลังจากนั้นฉันจึงหายป่วย  พออายุ 12 ปี   เรียนจบชั้น  ป.4  พ่อจึงแก้บน  พาไปฝากเรียนโนรากับน้าชาย ‘ครูพนมศิลป์’ ที่เป็นครูโนราอยู่ที่สงขลา”  ครูฉะอ้อนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก

3
ครูฉะอ้อน  สืบเชื้อสายโนรา

เรียนโนราห์กับครูพนมศิลป์ที่สงขลาเพียง 1 ปี  ฉะอ้อนก็เก็บเกี่ยวเอาความรู้ทางนี้มาเกือบหมด  อาจจะเป็นเพราะ ‘มีเชื้อสาย’ ฉะอ้อนจึงเรียนรู้ได้เร็ว  พออายุได้ 13 ปี  ฉะอ้อนก็ออกเดินสายรำโนรากับครูพนมศิลป์  ทั้งงานรำแก้บน  และงานจ้างต่างๆ  ได้ค่าตัวคืนละ 350 บาท

ด้วยลีลาที่อ่อนช้อย  ร่ายรำได้สวยงามทุกท่วงท่า  ในปีนั้นเอง  ฉะอ้อนก็ได้รับว่าจ้างให้ไปสอนรำโนราให้แก่นักศึกษาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลา  และเดินสายรำโนราเป็นอาชีพมาตลอด

ปัจจุบันฉะอ้อนไม่ได้รำโนราเป็นอาชีพแล้ว  เพราะต้องดูแลครอบครัว  แต่เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว  โรงเรียนประถมในตำบลเขาขาวจ้างฉะอ้อนให้ไปสอนเด็กๆ  สัปดาห์ละ 1 ครั้ง   และเมื่อมีงานสำคัญฉะอ้อนก็จะไปช่วยรำโนราตลอด

“ฉันคิดว่ามโนราห์ไม่มีวันตาย  เพราะมีตายาย  มีครูอาจารย์สืบทอด  เด็กๆ รุ่นใหม่ก็ยังเมาเรียนโนรา  คนที่มีเชื้อสายก็ต้องสืบทอดต่อไป…โนราจึงไม่มีวันตาย”   ฉะอ้อนบอก

กองทุนสวัสดิการฯ เขาขาวหนุนเยาวชนสืบทอดมโนราห์

มโนราห์  หรือเรียกสั้นๆ  ว่า “โนรา”   สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากการร่ายรำของชาวอินเดียโบราณที่ล่องเรือมาค้าขายยังอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อกว่า 1 พันปีก่อน   นิยมแสดงเพื่อความบันเทิงและประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เช่น ไหว้ครู  แก้บน  ฯลฯ

เครื่องดนตรีประกอบด้วย  โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ชวา   มีท่ารำ  บทร้องเป็นกลอนสด  ผู้รำมีทั้งหญิงและชาย  แต่งตัวสวยงาม  ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำร้องให้สัมผัสกันได้ฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำ  และเครื่องแต่งกาย

ปัจจุบันโนรายังคงเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ชาวใต้ยังให้ความนิยม  แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  เพราะมีสื่อและสิ่งบันเทิงต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว  เพียงใช้นิ้วมือถูๆ ไถๆ หน้าจอสมาร์ทโฟนเพียงไม่กี่วินาที  ความบันเทิงจากทุกมุมโลก  ทั้งตะวันตก  เกาหลี  ญี่ปุ่น   ฯลฯ  ก็จะทะลักล้นบนหน้าจอ

แต่ก็อย่างที่  ‘ฉะอ้อน’  ครูโนราที่มีความเชื่อว่า “โนราไม่มีวันตาย”   โดยเฉพาะในตำบลที่มี  ‘ครูโนรา’ เกือบทุกหมู่บ้าน  จึงไม่ยากนักที่ชาวบ้านจะช่วยกันสืบสานศิลปะพื้นบ้านชนิดนี้เอาไว้  โดยมี ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว’ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญ !!

วจินา  หนูแก้ว  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว  บอกว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2553  ริเริ่มโดยกลุ่มสตรีและ อสม. มีสมาชิกเริ่มต้น  686 คน  ปัจจุบันสมาชิกสะสม 1,770 คน

จัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก  14 ด้าน  เช่น  เกิด แก่ เจ็บ ตาย งานศพ  ศาสนพิธี ผู้ด้อยโอกาส  ผู้พิการ  ผู้ป่วยติดเตียง  พัฒนาอาชีพ (กลุ่มทำขนม ส่งเสริมเยาวชนให้มีอาชีพ) ทุนการศึกษา  ประเพณีต่าง ๆ  ภัยพิบัติ  เช่น  ดินถล่ม น้ำท่วม   ฯลฯ

ส่วนการสืบสานโนรานั้น  ประธานกองทุนบอกว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563  โรงเรียนต้องหยุดเรียนหรือเรียนทางออนไลน์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ  เด็กและเยาวชนมีเวลาว่าง  จึงมีความเป็นห่วงว่าพวกเขาจะติดเกมจากโทรศัพท์มือถือ  หรืออาจจะไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

คณะกรรมการกองทุนฯ  จึงปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก และเห็นว่าในตำบลมีทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว  คือ ‘มโนราห์’  หรือ  ‘โนรา’  เพราะชาวบ้านในตำบลเขาขาวเกือบทุกบ้านนับถือ ‘ครูหมอโนรา’  และมีเชื้อสายของโนราอยู่เกือบทุกบ้าน  มีหิ้งบูชาครูหมอโนราและมีการทำพิธีไหว้ครูทุกปี   จึงนำเรื่องโนรามาเป็นทางเลือกให้แก่เด็กๆ

โดยก่อตั้ง ‘ศูนย์ฝึกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเยาวชนตำบลเขาขาว’  ขึ้นมาในปี 2563 นั้นเอง  และเชิญ ‘โนราภาส’  ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านและศิลปินพื้นบ้านมาเป็นครูสอนรำโนราให้กับเด็กๆ และเยาวชนที่สนใจ  แรกเริ่มมีเด็กมาเรียน  จำนวน 20 คน   รับตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป  บางคนโตเป็นหนุ่ม   อายุ 17-18  ก็ยังมาเรียน  ในช่วงโควิดจะให้เด็กมาเรียนทุกวัน  พ่อแม่ก็สนับสนุนเพราะอยากให้ลูกหลานได้สืบทอดการรำโนรา

4
การเรียนโนราที่ศูนย์ฝึกในตำบลฯ  เด็กโตที่รำเป็นหรือเก่งแล้วจะช่วยสอนคนอื่น

ครูโนราจะสอนเด็กๆ ตั้งแต่พื้นฐาน  การฝึกตัวให้อ่อน  มืออ่อน  การย่อตัว  ฝึกรำท่าต่างๆ  เช่น  รำเพลงครู  รำแก้บน  ฯลฯ  เด็กจะใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน  ไม่ถึงปีก็สามารถรำท่าพื้นฐานได้  เวลามีงานเด็กๆ  ก็จะไปรำโชว์   ทั้งในตำบลเขาขาวและที่อำเภอทุ่งสง

“เรารับทั้งงานแต่ง  ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช  งานศพ  งานประจำปี  งานลอยกระทง  งานตลาดนัด  ฯลฯ  เรียกว่ามีงานแสดงทั้งปี  ถ้าเป็นเด็กเล็กจะได้ค่าขนมคนละ 200  บาท  เด็กโต 400 บาท  แต่เวลาแสดงมักจะมีผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กๆ  มอบค่าขนมให้ต่างหาก  บางคนได้ใบแดงหลายใบ  รำไปยิ้มไป  ไม่รู้สึกเหนื่อย”   ประธานกองทุนบอก

ปัจจุบันมีเด็กมาเรียนโนราประจำเกือบ  100 คน  ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานสมาชิกกองทุนสวัสดิการ  ช่วงที่โควิดซา  เด็กไปโรงเรียนตามปกติ  ก็จะเปิดเรียนโนราเฉพาะเย็นวันศุกร์  เสาร์  และอาทิตย์

5
ภูวิศ  โนราน้อย  ด้วยทรวดทรงที่จ้ำม้ำ  จึงได้รับบทเป็น ‘พรานบุญ’ ตามนิยายพื้นบ้าน ‘พระสุธนมโนราห์’

เด็กชายภูวิศ  เพชรมาศศรี  ชั้น ป.1  โรงเรียนสหกรณ์นิคมกสิกรรมทุ่งสง  บอกว่า  มีพี่ชายเป็นมโนราห์อยู่แล้ว  แต่อยากมาเรียนที่ศูนย์ฯ เพราะสนุกดี   มีเพื่อนมาเรียนด้วยหลายคน  เรียนตั้งแต่ช่วงโควิด  ตอนนี้ก็ยังเรียนอยู่  และจะเรียนต่อไปเรื่อยๆ ให้เก่ง  จะได้มีงานแสดงบ่อยๆ

ธนาธิป  ศิริผล  อายุ 19 ปี   เรียนจบชั้น ม.6 แล้ว  กำลังจะสอบเรียนต่อที่ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช  บอกว่า  เพิ่งเรียนโนราได้ 2 ปี   แต่ก็มาช่วยสอนเด็กๆ ที่ศูนย์แห่งนี้ด้วย  ตอนนี้ก็รับงานกับโนราถาวร  เป็นโนราใหญ่  ส่วนใหญ่จะเป็นงานรำแก้บน  เจ้าภาพจะจ้างไปรำแก้บนเมื่อหายเจ็บป่วย   บางงานรำแค่คืนเดียว  ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน  บางงาน 1 วัน 1 คืน  ค่าจ้างก็แล้วแต่ครูโนราจะตกลงกับเจ้าภาพ  ส่วนตัวเขาจะได้ค่าจ้าง 1-2 พันบาท  แล้วแต่งาน

6
ธนาธิป (กลาง) กับโนรารุ่นใหม่  แม้จะชอบเพลงและสไตล์วัยรุ่นเกาหลี  แต่หัวใจมีแต่โนรา

ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า  นับแต่เปิดศูนย์ฝึกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเยาวชนตำบลเขาขาว  ตั้งแต่ช่วงปี 2563  จนถึงปัจจุบัน   สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ   เด็กและเยาวชนลดเวลาในการเล่นโทรศัพท์ เล่นเกม  เกิดความรัก  ความสามัคคี  ทำงานกันเป็นทีม  แบ่งหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน  เป็นการฝึกการทำงานในขณะที่ยังเป็นนักเรียน และยังได้ค่าขนม  ทำให้เด็กกลุ่มอื่นๆ  เห็นเป็นแบบอย่างจึงมาเข้าร่วมเรียนโนรากับศูนย์ ฯ มากขึ้น

ก้าวต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการเรียนรู้และสืบทอดการรำโนราของเด็กและเยาวชนดังกล่าว   กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาวยังมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงวัยในตำบลด้วย  โดยเปิด ‘โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลเขาขาว’ เมื่อเดือนกันยายน 2565  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การเรียนรู้การดูแลรักษาสุขภาพ   เศรษฐกิจพอเพียง  ศาสนา  ศิลปะ วัฒนธรรม   การรำกลองยาว  รำวง  ฯลฯ  เรียนทุกวันศุกร์  มีผู้สูงวัยมาเรียนประมาณ 100 คน  ทำให้ผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  ออกกำลังกาย  ได้พูดคุย  สนุกสนาน   สุขภาพดีทั้งกายและใจ

7
สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุด้วย

ส่วนแผนงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ในระยะต่อไปนั้น  วจินา  หนูแก้ว  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า  มีแผนงานในการเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนสมาชิก  เพราะขณะนี้กองทุนฯ มีสมาชิกทั้งหมด 1,770 คน  ขณะที่ประชากรทั้งตำบลมีประมาณ 15,000   คน  หรือมีสมาชิกกองทุนฯ ประมาณ 15% ซึ่งยัของประชากรทั้งหมด   โดยจะใช้วิธีการ ประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มต่าง  ๆ  ตำบล

ส่วนด้านการฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม  กองทุนฯ มีแผนการส่งเสริมให้เป็นการเรียนโนราเป็นหลักสูตรของโรงเรียนในตำบล   โดยกำหนดโครงการในแผนพัฒนาตำบล  เช่น  การฝึกซ้อมมโนราห์  การทำชุดมโนราห์ การร้อยลูกปัด ทำเครื่องประดับชุดมโนราห์  เพื่อสร้างอาชีพให้กับเด็กเยาวชนในศูนย์ฝึกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเยาวชนตำบลเขาขาวรวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกหลายอย่าง  เช่น หนังตะลุง เพลงบอก  เพื่อนำมาฝึกสอนให้กลุ่มเยาวชน มีทางเลือกอื่นๆ ในการแสดงออกและฝึกซ้อม

จากผลงานด้านการส่งเสริม  การอนุรักษ์  สืบทอดศิลปะการแสดงโนราดังกล่าวนี้   จึงทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว  อ.ทุ่งสง   จ.นครศรีธรรมราช   ได้รับรางวัลจากการประกวด “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ตามแนวคิด จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”  ประจำปี 2566  ประเภทที่ 10 ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

โดยจะมีพิธีมอบรางวัลพร้อมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 8 กองทุน (8 ประเภท) ในงานธรรมาภิบาลดีเด่น  แห่งปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ  ในวันที่  9 มีนาคมนี้ !!

8
สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ และสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ  ผู้สนับสนุนให้ลูกหลานสืบทอดโนรา

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ