เจาะลึก 3 รอบ 3.5 ล้านไร่ ว่าด้วย ‘นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ’

เจาะลึก 3 รอบ 3.5 ล้านไร่ ว่าด้วย ‘นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ’

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 16 ก.ย. 2558 เพจ ASEAN Mining WATCH
แก้ไข 18 พ.ย. 2558

20151911140903.jpg

20151911141008.jpg

ภาพ: ผู้นำชุมชนตะวันออกลงพื้นที่เหมืองทองพิจิตร และเวทีประชุม อ.แก่งหางแมว 
ที่มา: เครือข่ายคนตะวันออก

000

เวทีประชุมใหญ่ ของเครือข่ายคนตะวันออกถูกกำหนดไว้แล้ว แรงขับเคลื่อนจากมวลชนเพื่อคัดค้านนโยบายเปิดเหมืองทอง 12 จังหวัด ยังคงดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บ้านกลุ่มส่วย ม.2 และ ม. 3 ต.พวา อ. แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีการจัดประชุมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมืองทองคำใน จ.จันทบุรี 

เวทีย่อยในการให้ข้อมูลลักษณะนี้ได้ขยายไปจนทั่วทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัด ก่อนจะยกระดับในสู่การจัดเวทีประชุมใหญ่ ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนที่ร่วมกันกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

แม้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเปิดเผยว่า ได้ยื่นคำกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา กรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณพื้นที่ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จากหลักฐานข้อมูลที่ส่งมาจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย รวมถึง การที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศชะลอนโยบายดังกล่าว ท่ามกลางการประท้วงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และชาวบ้านในพื้นที่ 12 จังหวัด ซึ่งหวั่นผลกระทบจะเกิดซ้ำรอบเกิดขึ้นกับพื้นที่ของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายก่อนสิ้นปีนี้ ‘ยกเลิกนโยบายเปิดเหมืองทอง 12 จังหวัด’ ยังเป็นคำถามใหญ่ที่มวลชนรอทวงคำตอบ และพวกเขาจะไม่หยุดจนกว่า จะมี ‘คำสั่ง’ ยกเลิกนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

000

เจาะลึก 3 รอบ 3.5 ล้านไร่ ว่าด้วย นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 

รอบที่ 1 ปี 2532

เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ (4 แปลง) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 กระบวนการเริ่มจากการร่างนโยบายฯ หลังจากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบ

3 กุมภาพันธ์ 2530 ครม.มีมติเห็นชอบ การกำหนดนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ ของ กระทรวงอุตสาหกรรม

4 กรกฎาคม 2530 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศ กำหนดนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำว่า การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่

10 มกราคม 2532 ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในท้องที่ จ.เลยและ จ.หนองคาย ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจธรณีวิทยาแหล่งแร่ท้องคำในท้องที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดพื้นที่ จ.เลย จ.หนองคาย และจ.อุดรธานี เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง รวมพื้นที่ 1,515,625 ล้านไร่ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ชลบุรี (ไม่สามารถสืบค้นข้อมูล)

19 กรกฎาคม 2532 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ (4 แปลง)

26 เมษายน 2533 กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดให้มีการประมูลขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่เป็นจำนวน 4 แปลง บริเวณท้องที่ จ.เลย อุดรธานี หนองคาย มีผู้ประมูลขอสิทธิฯ ทั้งหมด 6 ราย ผู้ได้รับสิทธิ 4 ราย ได้แก่บริษัท ผาคำ เอ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ ไมนิ่ง จำกัด 1 แปลง, บริษัท ผาทอง เอ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ ไมนิ่ง จำกัด1 แปลง, บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด 2 แปลง

5 พฤศจิกายน 2534 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม กับบริษัทผู้ได้รับสิทธิ ลงนามในสัญญาและรับมอบผลประโยชน์พิเศษตอบแทนให้แก่รัฐบาล จำนวน 16.07 ล้านบาท โดยผู้ได้รับสิทธิต้องไปยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ทองคำให้เต็มตามพื้นที่ที่ได้รับสิทธิภายใน 15 วัน และ

กรมทรัพยากรธรณีบริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (บริษัทลูกของ บ.ทุ่งคาฯ) ทำสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง เป็นการให้สิทธิการสำรวจและทำเหมืองแร่ บนพื้นที่ 545 ตร.กม โดยการผูกขาดและไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดในสัญญาซึ่งหากจะมีบริษัทอื่นใดขอสำรวจแร่ทับบนพื้นที่นี้ บริษัทนั้นๆ จะต้องได้รับความยินยอมจาก บ.ทุ่งคำ ก่อน

มีการระบุในสัญญาชัดเจน ว่า ‘กรมสัญญาว่ากรมจะไม่เปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจ… เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากบริษัทเสียก่อนหรือหลังจากอาชญาบัตรสิ้นอายุแล้ว โดยไม่มีการต่ออายุอีก กรมอาจเปิดเผยผลการดำเนินงานตามอาชญาบัตรพิเศษเฉพาะฉบับหนึ่งฉบับใดตามความในข้อสัญญานี้ และการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะต้องไม่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาชญาบัตรพิเศษฉบับอื่น ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ’

‘ในกรณีที่บริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรสำหรับพื้นที่ส่วนใดใน “เขตสิทธิ” และได้รับประทานบัตรตามที่ขอนั้น กรมสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยผลการดำเนินงานและการสำรวจ ตามข้อ 6(2) และ 6(3) ในพื้นที่ส่วนนั้น’

28 มีนาคม 2535 บ.ทุ่งคำฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษ ผูกขาดการสำรวจแร่ 34 แปลง บนเนื้อที่ 335,672 ไร่ตามสัญญาที่บริษัทได้ทำไว้กับกรมทรัพยากรธรณีโดยสัญญาระบุไว้ว่า ‘อาชญาบัตรพิเศษจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี การให้สิทธิสำรวจ “แร่ทองคำ” ตามสัญญานี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษหรือเป็นการขออาชญาบัตรพิเศษใหม่ จะมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 5 ปี’

ปี 2538 บ.ทุ่งคำฯ ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่จำนวน 112 แปลง รวมพื้นที่31,116 ไร่ ใน ต.เขาหลวง ต.ปากปวน อ.วังสะพุง และใน ต.นาโป่ง ต.น้ำหนาม ต.เสี้ยว ต.หนองงิ้ว อ.เมืองเลย ได้ประทานบัตรไปแล้ว 6 แปลง 1,291 ไร่ ใน ต.เขาหลวง เมื่อปี 2545 และได้รับอนุญาตให้เปิดทำเหมืองทองคำในปี 2549

ทั้งนี้ ในสัญญาระบุว่า ‘เมื่อบริษัทได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมือง “แร่ทองคำ” …แล้ว กรมจะดำเนินการเพื่อให้มีการออกประทานบัตรฉบับหนึ่งฉบับใดตามคำขอเป็นระยะเวลาไม่เกิน 25 ปี การคำนวณกำหนดอายุประทานบัตร กรมจะพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อมูลของสภาพแหล่งแร่ ปริมาณสำรองแร่ วิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการในการดำเนินงานของบริษัท เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณ’

กระบวนการโดยสรุปในรอบนี้ คือ 

กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำร่างนโยบายฯ –>เสนอครม.ให้มีมติเห็นชอบ –>ประกาศเป็นนโยบายฯ –>ประกาศพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ –>เปิดให้เอกชนประมูล –>รัฐ กับ ผู้ได้สิทธิฯ ทำสัญญาให้สิทธิการสำรวจและทำเหมืองแร่ –>ออกอาชญาบัตรพิเศษ –>ออกประทานบัตร

นับเป็นครั้งแรกที่เอกชนได้ “เขตสิทธิ” ผูกขาดแร่ทองคำบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ใช้การประกาศกฎกระทรวง มี มติครม. รองรับ และนำไปสู่การเปิดเหมืองทอง ภายใต้สัญญาผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยขั้นตอนพิเศษหลายขั้นตอน ไม่ต้องผ่านข้อกฎหมายตามปกติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (9/09/2558) ระบุมีการให้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำทั้งหมด 65 รายการ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 555,944 ไร่แต่ข้อมูลอาชญาบัตรพิเศษ ของ บ.ทุ่งคำฯ รวมถึงอาชญาบัตรพิเศษบนพื้นที่ 4 แปลงที่เอกชนได้เขตสิทธิ ทั้งหมดยังถูกปกปิดมาจนปัจจุบัน 

000

รอบที่ 2 ปี 2554

กระทรวงอุตสาหกรรมออก ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง นโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 6 พฤษภาคม 2554 เป็นการออกประกาศในระหว่างที่ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ให้ชะลอการออกอาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ทองคำไว้ก่อน

ศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งกับ มติครม. วันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คศช.) ศึกษาและเสนอแนะนโยบายในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำโดยนำมิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าทองคำภายในประเทศ และมิติด้านสังคม ชุมชน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาพิจารณา และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการหารือเพื่อจัดทำแนวนโยบายฯ และให้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ โดยระหว่างการศึกษาดังกล่าวให้ชะลอการออกอาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ทองคำไว้ก่อน

ส่วนความเห็นจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีตรวจสอบการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (ชื่อปัจจุบัน บริษัท อัครา รีสอร์ทเซส จำกัด (มหาชน)) บ่งชี้ในตอนนั้นว่า การสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สาธารณประโยชน์ สิทธิชุมชน และภาครัฐอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่ากับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น เพื่อเก็บรักษาทรัพยากรทองคำไว้เป็นสมบัติของประเทศชาติและสำหรับอนุชนรุ่นหลัง และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการงดการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงินเพิ่มเติมให้กับ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด

ทั้งนี้ กสม. ได้ส่งหนังสือถึง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยให้ กพร. พิจารณางดให้ประทานบัตร 5 แปลง ของบริษัทฯ ภายใน 60 วัน และให้กำกับควบคุมการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ 105 แปลง มิให้ทำการสำรวจในที่ดินราษฎร เว้นแต่ได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นผลจากการสำรวจแร่แก่ราษฎรดังกล่าวจนครบ ภายใน 1 เดือน

จากนั้น ครม. มีมติรับทราบ ผลการศึกษาเรื่องนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตามที่ คศช. เสนอเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับรายงานดังกล่าวไปพิจารณา โดยให้นำความเห็นของ คศช. เกี่ยวกับการให้สิทธิสำรวจและการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบใหม่โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของผู้ประกอบการต่อจำนวนพื้นที่ที่ได้รับสิทธิในการทำเหมือง ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนการแต่งแร่ให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ 

และพิจารณาทบทวนนโยบายและขั้นตอนการทำเหมืองแร่ทุกประเภทในภาพรวมทั้งหมด โดยพิจารณาความคุ้มค่าของผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม รวมถึงสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญและการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด และการกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำควรพิจารณากำหนดให้ผันแปรตามศักยภาพและผลกระทบจากการทำเหมืองและกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าตามระดับราคาทองคำรวมทั้งให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย

 

ข้อเสนอนโยบายการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่จากผลการศึกษาเรื่องนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ของ คศช.

2.3.1 นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทั่วไปในภาพรวม

(1) เห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทั่วไปในภาพรวมใหม่ โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดประเภทแร่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขตพื้นที่ทำเหมืองแร่ หน่วยงานรับผิดชอบ และระยะเวลาในการดำเนินการ

(2) เห็นควรให้มีการศึกษาในเชิงลึกเพิ่มเติม 2 เรื่อง ได้แก่

(1.1) ความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ตลอดห่วงโซ่การผลิตหรือขั้นตอนการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศ และความเป็นไปได้ของตลาดที่จะรองรับกับอุตสาหกรรมที่เกิดจากการต่อยอดการผลิต

(1.2) ความเหมาะสมของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่ และรูปแบบการเก็บผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม ความคุ้มค่าและเป็นธรรมที่ภาครัฐและชุมชนควรได้รับ และการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการ

2.3.2 นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ

(1) กำหนดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ หากผลการพิจารณาในข้อ 2.3.1 ข้อ 1) เห็นว่าแร่ทองคำเป็นแร่เชิงเศรษฐกิจที่ควรนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์

(2) แก้กฎหมาย ประกาศกระทรวง กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เช่น พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ให้ทำเหมืองแบบเปิดใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหมืองใต้ดินซึ่งมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ การปรึกษากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้อย่างชัดเจน และกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจจนถึงการฟื้นฟูหลังปิดเหมือง เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัตินำไปใช้เป็นแนวทางและเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

(3) กำหนดให้มีการทบทวนวิธีการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่เก็บจากการทำเหมือง ให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาทองคำ โดยทบทวนอัตราค่าภาคหลวงใหม่ทุกครั้งที่ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นผิดปกติ โดยให้พิจารณารวมถึงตัวแปรต่างๆ ให้ครบถ้วน อาทิ ความผันแปรตามศักยภาพของเหมืองแต่ละแห่ง และผลกระทบจากการทำเหมือง

(2544-2550 บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด จ่ายค่าภาคหลวง 383.82 ล้านบาท จากแร่ทองคำและแร่เงินที่ผลิตได้มูลค่า 12695.48 ล้านบาทหลังปี 2550 กพร.ปรับปรุงพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำร้อยละ 2.5 (ราคาทองคำต่อกรัมไม่เกิน 400 บาท) ไปจนถึงร้อยละ 20 (ราคาทองคำต่อกรัม 1,501 บาทขึ้นไป))

(4) ปรับปรุงกระบวนการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบ โดยพิจารณาให้มีหน่วยงานที่เป็นกลาง โดยมี กพร. หรือ สผ. เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ควรมีการพิจารณารูปแบบของกองทุนจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยให้ยึดหลักธรรมาภิบาล และทบทวนการกระจายอำนาจให้ อบต. ให้เหมาะสมกับขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการไกล่เกลี่ยกรณีเกิดข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการทำเหมือง

(5) กำหนดมาตรการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น (1) กำหนดเงื่อนไขให้มีการปลูกป่าชดเชยทั้งจำนวนและพันธุ์ไม้และการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังสิ้นสุดโครงการอย่างต่อเนื่อง (2) กำหนดให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูหรือเงินค้ำประกันการฟื้นฟูที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ การจดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคในชุมชน และกองทุนพัฒนา อบต. และ (3) กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดเหมือง

(6) สำหรับพื้นที่ที่ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรในการสำรวจไว้แล้วแต่ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ควรให้ชะลอการอนุมัติไว้ก่อน โดยให้รอผลการกำหนดประเภทแร่ การกำหนดเขตพื้นที่ทำเหมืองและการปรับนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใหม่ ส่วนพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจและมีสิทธิขออนุมัติประทานบัตรเพื่อทำเหมือง ซึ่งถือว่ามีผลผูกพันทางกฎหมายแล้วตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และอยู่ในอำนาจการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ โดยให้คำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นขอประชาชน และการจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มมาตรการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการในประทานบัตร

ต่อมา คศช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

3.1 การให้สิทธิสำรวจและการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ต้องพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของผู้ประกอบการต่อจำนวนพื้นที่ที่ได้รับสิทธิในการทำเหมือง และผลประโยชน์ตอนแทนต่อรัฐ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนการแต่งแร่ให้เป็นทองคำบริสุทธิ์

3.2 ควรให้มีการพิจารณาทบทวนนโยบายและขั้นตอนการทำเหมืองแร่ทุกประเภทในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแต่เหมืองแร่ทองคำเท่านั้น โดยพิจารณาความคุ้มค่าของผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ เปรียบเทียบกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม รวมถึงสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด

3.3 การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ควรพิจารณากำหนดให้ผันแปรตามศักยภาพและผลกระทบจากการทำเหมืองและกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าตามระดับราคาทองคำ

3.4 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ ได้แก่

3.4.1 พื้นที่การทำเหมืองแร่ กำหนดให้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ต้นน้ำ เป็นพื้นที่ห้ามทำเหมือง

3.4.2 การกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ควรพิจารณาให้หน่วยงานที่เป็นกลางโดย กพร. และ สผ. เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณารูปแบบของกองทุนจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

3.4.3 เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมือง ในการอนุมัติประทานบัตรการทำเหมืองควรมีการพิจารณาเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมืองที่มีความทันสมัยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

3.4.4 การฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมือง ควรมีการกำหนดแนวทางหรือมาตรการที่จะดำเนินการไว้ชัดเจน

 

 

4 พฤษภาคม 2553 มติ ครม. เห็นชอบกับกรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ และเป็นแนวทางในการสร้างกลไกในการเยียวยาและ แก้ไขปัญหาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว ถึงแม้ว่าโครงการพัฒนาจะสิ้นสุดลงแล้ว ประกอบด้วย

1.1.1 ยุทธศาสตร์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ 4 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันปัญหา เป็นการจัดเตรียมกระบวนการเพื่อการทำเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการป้องกันปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การกระจายประโยชน์ที่เป็นธรรมและหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโดยอาศัยกลไกราคา และความคุ้มค่าต่อสังคม โดยการสนับสนุนกลไกตลาดให้เกิดการพัฒนาแหล่งแร่ที่ยั่งยืนและมีโอกาสที่จะเลือกทางเลือกที่เอื้อประโยชน์สูงสุด
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และฟื้นฟูพื้นที่ โดยให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการมากขึ้นในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

1.1.2 ข้อเสนอแนะมาตรการทางการคลังในการเยียวยาปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ ให้มีการศึกษาการนำมาตรการทางการคลังมาใช้ในการเยียวยาปัญหาผลกระทบและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ เช่น ระบบกองทุน โดยให้ความสำคัญกับ

– กองทุนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงสาธารณะด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

– ระบบเงินประกันความเสี่ยง

– ระบบเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเฝ้าระวังปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการประกอบกิจการเหมืองแร่

– ระบบเงินประกันการฟื้นฟูพื้นที่จากการทำเหมืองแร่

1.2 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบภายใต้ยุทธศาสตร์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สภาการเหมืองแร่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ นำกรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ ไปดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรพิจารณาความจำเป็นในการพัฒนาแร่เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ปริมาณที่เหมาะสมในการนำแร่มาใช้ประโยชน์ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่รวมค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและมูลค่าในอนาคต และทบทวนแนวทางการส่งออกแร่ในรูปวัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) มีส่วนร่วมรับรู้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

8 กุมภาพันธ์ 2554 ครม. มีมติ เห็นชอบ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีราษฎรร้องทุกข์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA    

และ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปประเมินความคุ้มค่าของภาคหลวงแร่ที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเร่งรัดการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552

หมายความว่า มติครม. ย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำร่าง นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ไปปรับแก้ โดยให้นำความเห็นของ คศช. รวมทั้งให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม 6 พฤษภาคม 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมออก ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง นโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 

ข้อสังเกต 

การประกาศกฎกระทรวงในรอบนี้ไม่ปรากฏในสาธารณะว่ามีการรับฟังความความคิดเห็นของทุกภาคส่วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อย่างถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ 

ไม่ปรากฏว่า ครม. มีมติเห็นชอบต่อนโยบาย หรือกฎกระทรวงดังกล่าวก่อนจะประกาศใช้ และนโยบายดังกล่าวไม่ได้นำการศึกษาของ คศช. กรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณามาประกอบ มีเพียงการกำหนดแนวทางการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ โดยใช้ EIA/EHIA เป็นเครื่องมือเท่านั้น

หลังจากประกาศกระทรวงฯ ข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2554 ว่า คณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 พิจารณาผ่าน คำขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำ 50 แปลง จากเอกชน 3 ราย ได้แก่

1.บริษัทเอราวัณ ไมนิ่ง จำกัด จำนวน 4 แปลง ในพื้นที่ จ.จันทบุรีและระยอง 
2.บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด จำนวน 44 แปลง ใน จ.เพชรบูรณ์
3.บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด จำนวน 2 แปลง ใน จ.จันทบุรี 

และคาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำหลังจากนี้อีก 3 ราย ได้แก่ บริษัท อารอนไมนิ่ง จำกัด 4 แปลง ใน จ.จันทบุรี บริษัท อมันตา มิเนอรัลส์ จำกัด 3 แปลง ใน จ.เชียงรายและสุราษฎร์ธานี และ บริษัท อมันตา จำกัด 1 แปลง ใน จ.สตูล 

ส่วนสำนักข่าวไทยพับลิก้า รายงานว่า กลุ่มบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 

1.บริษัท อมันตา มิเนอรัลล์ ใน อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี 2 แปลง แปลงหนึ่งอยู่ใน ต.บ้านส้อง พื้นที่ 8,675 ไร่ และ ต.เขานิพันธ์ พื้นที่ 9,831 ไร่ 
2.บริษัท อมันตา จำกัด ใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล พื้นที่ 4,315 ไร่ ยื่นขอเมื่อ 2 กรกฎาคม 2552 
3.บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ใน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร 4 แปลง คือ ต.วังทรายพูน 2 แปลง พื้นที่รวม 19,812 ไร่ ใน ต.หนองพระ 10,000 ไร่ และต.หนองปล้อง 10,000 ไร่ ยื่นคำขออาชญาบัตร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 
4.บริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ใน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ทั้งหมด 9 แปลง คือ ต.ไทรย้อย 4 แปลง รวมพื้นที่ 33,465 ไร่ ต.บ้านมุง 2 แปลง รวมพื้นที่ 18,335 ไร่ ต.วังยาง พื้นที่ 3,869 ไร่ และต.วังโพรง 2 แปลง รวมพื้นที่ 20,000 ไร่ ยื่นขอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554

หากมีการพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษให้ทั้ง 6 บริษัท ตามข่าว จะมีพื้นที่การสำรวจแร่ทองคำอีกกว่า 500,000 ไร่ จากก่อนหน้านี้ที่มีการให้ประทานบัตรเหมืองทองคำไปแล้ว 30 แปลงในพื้นที่ 7,619 ไร่ และให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไปแล้ว 53 แปลงในพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (9/09/2558) ระบุมีการให้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำทั้งหมด 65 รายการ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 555,944 ไร่และเป็นอาชญาบัตรพิเศษที่หมดอายุในปี 2554 แล้วทุกรายการได้แก่ 

อาชญาบัตรพิเศษของ บจก.ริชภูมิไมนิ่ง 31 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 269,691 ไร่ ได้แก่ 30 แปลง 260,301 ไร่ ใน ต.วังโพรง ต.วังยาง ต.บ้านมุง ต.ไทรย้อย ต.ชมพู ต.เนินมะปราง ต.ซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ 1 แปลง ใน ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 9,320 ไร่

อาชญาบัตรพิเศษของ บจก.อัคราไมนิ่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 205,475 ไร่ ได้แก่ 14 แปลง 136,725 ไร่ ใน ต.ทับคล้อ ต.เขาทราย ต.ท้ายทุ่ง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร, 5 แปลง 49,250 ไร่ ใน ต.วังทรายพูน ต.ไหล ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ 2 แปลง 19,500 ไร่ ใน ต.ห้วยพุก ต.วังงิ้ว อ.เจริญ จ.พิจิตร
อาชญาบัตรพิเศษของ บจก.อมันตา 4 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,970 ไร่ 3 แปลง 25,158 ไร่ ใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล และ 1 แปลง 9,812 ไร่ ใน ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

อาชญาบัตรพิเศษของ บจก.ไทยโกลบอล เวนเจอร์ส 9 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 45,878 ไร่ ได้แก่ 5 แปลง 13,608 ไร่ ใน ต.วังหิน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ 4 แปลง 32,270 ไร่ ใน ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร 

ข้อสังเกต 

ประการแรก คือ กระบวนการที่เอกชนได้ “เขตสิทธิ” ผูกขาดแร่ทองคำบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ตามประกาศกฎกระทรวงฯ โดยขั้นตอนพิเศษหลายขั้นตอน ไม่ต้องผ่านข้อกฎหมายตามปกติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 จะเหมือนกระบวนการในรอบแรกที่จะต้องเปิดประมูล จะต้องมีการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน หรือไม่ อย่างไร ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้

ซึ่งหากมีการประมูลพื้นที่ และมีการทำสัญญาเหมือนที่แล้วมา ในสัญญาจะกำหนดไว้อีกหรือไม่ว่า ‘กรมจะไม่เปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจ …และการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะต้องไม่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาชญาบัตรพิเศษฉบับอื่น ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ …’

ข้อมูลอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทเอกชน 3 ราย รวม 50 แปลง ที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ตามข่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2554 จึงไม่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ที่ กพร. เปิดให้สาธารณะได้ค้นหาข้อมูล

ประการที่สอง ก่อนที่ ครม.จะมีมติให้ชะลอการออกอาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ทองคำ เพียง 4 วัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 เพื่อถามความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ กรณี บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม 9 แปลง ในจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ และขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 44 แปลง ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ กพร. ยืนยันกับสื่อมวลชน และระบุบนสื่อสาธารณะของหน่วยงานมาตลอดว่า ‘ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังไม่มีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำรายใหม่ ดังนั้นหากผู้ใดพบเห็นและมีหลักฐานการสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งแร่ทองคำที่ใดก็ตามสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที เพราะถือเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.แร่พ.ศ. 2510’

‘ขอย้ำอีกครั้งว่า ปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำรายใหม่ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550’

000

รอบที่ 3 ปี 2557

ค่าภาคหลวงแร่ทองคำมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2557 รัฐสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำได้ประมาณ 477 ล้านบาท เป็นข้อมูลล่าสุดจาก กพร.

ต้นปีที่ผ่านมา จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชูนโยบายเตรียมเปิดพื้นที่สัมปทานแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ใน 31 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยอยู่ระหว่างร่างนโยบาย 

ต่อมา กพร.อ้างว่าได้นำความเห็นของ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 โดยปัจจุบันร่างนโยบายดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ถูกคัดค้านอย่างหนักในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายพื้นที่

โดยสรุปสาระสำคัญของร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในความเห็นของผู้เขียน มีดังนี้

ประเด็นแรก จากร่างนโยบายฯ ที่ระบุว่า พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำที่ภาครัฐได้สำรวจแล้ว ‘กระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศกำหนดเขตเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่’ โดยจะ ‘เปิดประมูลสิทธิเข้าสำรวจและทำเหมือง’ การประกาศเขตสิทธิเพื่อผูกขาดการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำนี้จะ ‘ประกาศเป็นคราวๆ ไป’ และจะมีการบริหารจัดการไม่ให้การประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการผลิตแร่ชนิดอื่น ซึ่งตีความได้ด้วยว่า พื้นที่ที่ประกาศนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มหรือลดขนาดพื้นที่ได้อีก

และหากพิจารณาจากข้อมูลการให้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ จำนวน 555,944 ไร่ ที่หมดอายุในปี 2554 บนเว็บไซต์ของ กพร. รวมกับพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง 1,515,625 ล้านไร่ ที่ให้เอกชนประมูลไปแล้วเมื่อตอนประกาศนโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำรอบแรกในปี 2532 และหากเนื้อหาในข่าวที่อ้างถึงในข้างต้นเป็นข้อเท็จจริง อย่างน้อยจะมีพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจากรายใหญ่เพิ่มอีก 50 แปลง ประมาณการพื้นที่อย่างหยาบคงไม่ได้น้อยกว่า 5 แสนไร่ จากการประกาศนโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำรอบที่สองในปี 2554

รวมแล้วในประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่มีการสำรวจแร่ทองคำแล้วไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านไร่ บวกกับ พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำที่ภาครัฐได้สำรวจแล้วที่ประมาณการว่ามีอยู่อีก 1 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด รวมพื้นที่ศักยภาพแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศ 3.5 ล้านไร่

คำถาม

ประเด็นแรก พื้นที่ 3.5 ล้านไร่นี้ หรือแม้แต่ที่ดิน 1 ล้านไร่ ตามเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นที่ดินประเภทใด อยู่ภายใต้สิทธิ หรือภายใต้ความรับผิดชอบของใคร อย่างไรบ้าง?

และประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมในรอบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากการประกาศในสองรอบที่มา คือ เป็นการละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินของเจ้าของที่ดิน ที่สาธารณะประโยชน์ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงก้าวล่วงอำนาจความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการอื่นที่ทำหน้าที่บริหารจัดการดูแล ที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตร ป่าไม้ ต้นน้ำ แหล่งน้ำลำธาร อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนทุกคนในชาติ

กรณีที่กำหนดไว้ให้ผู้ขอสิทธิจะต้องจ่ายผลประโยชน์แก่รัฐ ทั้งในขั้นตอนการขออาชญาบัตรพิเศษการขออนุญาตประทานบัตร ‘ตามหลักเกณฑ์ที่ กพร.กำหนด’ ‘เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมคุ้มค่าแก่ทุกฝ่าย’บนพื้นที่ที่มีการสำรวจแร่ทองคำ 3.5 ล้านไร่ ประชาชนในสังคมคงไม่ปล่อยให้ กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ภาครัฐกำหนดกฎเกณฑ์แต่เพียงลำพังอย่างแน่นอน 

ส่วนการขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ทั่วไป (นอกพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่) ต้องขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และหากมี ‘การขอสิทธิสำรวจแร่ทองคำเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน’ และไม่มีข้อยุติ กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้วิธีการเปิดประมูลสิทธิ หรือใช้วิธีการอื่นตามความเหมาะสม

การระบุเช่นนี้ในร่างนโยบาย ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการให้สิทธิสำรวจแร่ทองคำเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันได้เกิดขึ้นแล้วและไม่สามารถเจรจาให้มีข้อยุติได้ ส่วนกระบวนการในการให้สิทธิกับเอกชนจะถูกต้องหรือไม่อย่างไร วันหนึ่งเรื่องคงจะแดงออกมาเอง

ประเด็นที่สอง ความแตกต่างจากนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำที่ต่างจาก 2 ฉบับแรก คือ การไม่ให้สิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการทำเหมืองแร่ทองคำในด้านภาษีต่างๆ

ข้อสังเกต คือ โรงประกอบโลหกรรม (โรงแต่งแร่) หรือในอนาคตหาก โรงงานสกัดทองคำบริสุทธิ์ สามารถตั้งขึ้นมา แต่ทั้งสองประเภทต้องขออนุญาตในประเภทโรงงาน โดยแยกออกจากโครงการทำเหมืองแร่ ข้อนี้ในร่างนโยบายฯ จึงเขียนขึ้นล่อลวงตบตาประชาชนให้รู้สึกดีเท่านั้น
ส่วนกรณีที่ให้ ‘ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องสนองตอบต่อนโยบาย’ ของกระทรวงฯ ในการเพิ่มมูลค่าแร่ทองคำด้วยการทำให้เป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์ภายในประเทศโดยส่งเข้าโรงงานของผู้ประกอบการภายในประเทศ หรือโดยการจัดตั้งโรงงานเองหรือร่วมกับผู้ลงทุนรายอื่นๆ ก็ได้ หลังจากการออกประกาศนี้แล้วเป็นระยะเวลา 1 ปีกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่อนุญาตให้ส่งออกโลหะผสมทองคำที่ได้จากการทำเหมืองไปต่างประเทศอีก

ลองทบทวนอีกครั้งสำหรับผลกระทบนับ 10 ปี จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเพียง 2 แห่งในประเทศ กับปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม และลุกลามจนทำให้ประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรัง และทยอยล้มตาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายโดยไม่สามารถเยียวยา ฟื้นฟู กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ กพร.สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ มีกี่พื้นที่ที่แก้ไขได้เป็นผลสำเร็จ? การร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจและการทำเหมืองทองได้รับการเหลียวแลหรือไม่ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับ ตรวจสอบ ดูแล และมีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ หรือไม่

และหากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่สามารถลงทุนก่อสร้างโรงงานสกัดทองคำบริสุทธิ์ ขึ้นมาได้จริง รัฐบาลและผู้ประกอบการก็จะใช้เป็นข้ออ้างเหมือนที่เคยทำมา คือ ลงทุนไปเยอะ ประเทศได้ผลประโยชน์ตอบแทนมหาศาล ส่วนการเปิดเหมืองทองก็ขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้สร้างเหตุผลอันชอบธรรมเพียงว่า ประเทศไทยสามารถสร้างห่วงโซ่การผลิตและสร้างมูลค่าแร่ทองคำเพิ่มภายในประเทศได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ตอบโจทย์ผลกำไรส่วนใหญ่ให้กับผู้ประกอบการต่างชาติได้อย่างครบวงจร

ตัวอย่างคำถามง่ายๆ ในประเด็นนี้ คือ เจ้าของที่ดินที่ตั้งอยู่บนแหล่งแร่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง หรือประชาชนคนไทยจะได้ซื้อทองในราคาถูกลงหรือ?

ประเด็นที่สาม ร่างนโยบายฯ กำหนดให้ ผู้ขอประทานบัตรจะต้องทำการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในโครงการ พื้นที่รอบโครงการ‘ภายในรัศมี 2 กิโลเมตร’และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงเส้นทางขนส่งหรือทางน้ำที่ ‘อาจ’ ได้รับผลกระทบจากโครงการ รวมทั้งตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชนรอบพื้นที่โครงการ ก่อนเริ่มทำเหมือง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเปรียบเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองให้ชัดเจน และ ‘ควร’ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจแร่

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี กองทุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูพื้นที่ และสภาพแวดล้อม ‘ในเขตประทานบัตร’ ตามข้อกำหนดใน EIA/ หลักประกันสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่และการปิดเหมือง ‘ในเขตประทานบัตร’ ตามข้อกำหนดใน EIA/ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพของชุมชนรอบพื้นที่โครงการเหมืองแร่/ กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการประกอบการในกรณีฉุกเฉิน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นการฉุกเฉิน/ ประกันภัยคุ้มครองความเสียหายต่อชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลกระทบจากการทำเหมืองแร่/ กองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่โดยมีตัวแทนจากหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนร่วมกับ กพร. และหน่วยราชการอื่น โดยให้เก็บสะสมเงินในบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่ กพร. กำหนด ทั้งนี้ ‘การบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ใช้หลักเกณฑ์ตามที่ กพร. กำหนด’

ตลอดจน ร่างนโยบายระบุด้วยว่า ‘กพร.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบการทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรมของตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามหลักเกณฑ์ที่ กพร. กำหนด’ 

… ประชาชนสามารถเชื่อถือได้จริงหรือ

… พื้นที่การตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 กิโลเมตร เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ประกอบการไว้เพียง 2 กิโลเมตร 

… 2 กิโลเมตร เพียงพอหรือสำหรับการไหลของน้ำ น้ำท่า น้ำใต้ดิน ลม ฝน และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหารหรือในระบบนิเวศ

เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระบวนการศึกษา EIA/EHIA พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าล้มเหลว ส่วนหลักฐาน การศึกษาทางวิชาการทั้งจากรัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทที่ปรึกษา สถานพยาบาล ต่อผลกระทบ ต่อความเจ็บป่วย ต่อความตาย คือคำว่า “ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองทอง” กระบวนการเหล่านี้ล้วนไม่ได้รับความเชื่อถือของประชาชน

นอกจากกรณีตัวอย่าง เช่น เหมืองถ่านหินแม่เมาะ เหมืองตะกั่วคลิตี้ เหมืองหินเขาคูหาสวรรค์ ที่ใช้เวลาในกระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาลยาวนานนับสิบปี แต่คำพิพากษาของศาลที่ตัดสินว่าเหมืองแร่สร้างผลกระทบ มาจนปัจจุบันสามารถฟื้นคืนผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ได้หรือไม่

ดังนั้นแล้ว ความคุ้มครองที่มีงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่กำหนดโดย กพร. รวมถึง ความคุ้มครองจากระบบประกันภัยทั้งหมดนี้จะทำให้นโยบายเหมืองแร่ทองคำฉบับนี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและ กพร. โชว์ว่า ‘เป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทย’ ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนไทย จริงหรือ?

ประเด็นสุดท้าย จากกระบวนการผลักดัน ร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังไม่มีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่รวมค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และมูลค่าในอนาคต เปรียบเทียบกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม รวมถึงสิทธิของชุมชน

แต่เป็นการเลือกหยิบยกความเห็นของ คศช. ที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการขยายพื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ครบวงจรขึ้นมากล่าวอ้างเท่านั้น

อีกทั้งยังไม่มีการกล่าวถึงการใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 เพราะการผลักดัน พ.ร.บ.แร่ ฉบับกพร. ได้ผ่าน ครม. และผ่านความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้องค์ประกอบคณะกรรมแร่เพิ่มเติมไปเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาโดยสรุปใน พรบ.แร่ ฉบับนี้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกประทานบัตรเหมืองแร่ขนาด 100 ไร่ อธิบดี กพร. สามารถออกประทานบัตรเหมืองแร่ขนาด 625 ไร่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประทานบัตรเหมืองแร่ขนาด 625 ไร่ขึ้นไป 

ความชัดเจนของร่างนโยบายฯ กับ พรบ.แร่ ฉบับ กพร. จึงมีเป้าหมายใหญ่ที่มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความต้องการจะ “เปิดเหมืองทอง”

กลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ในกิจการเหมืองทองในประเทศที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ คือใคร สัญชาติใด เชื่อว่าคนไทยคงไม่ต้องอาศัยการเดา

000

ลำดับความเป็นมา

ก.ค. 2558 คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เห็นชอบแผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย 5 ชนิด ได้แก่ ทองคำ โปแตช ควอตซ์ เหล็ก และ ถ่านหิน โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนของแร่แต่ละชนิดอย่างละเอียด

กลางเดือน ก.ค. 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดรายละเอียด การอนุญาตประทานบัตร อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ คำขอประทานบัตร คำขออาชญาบัตรพิเศษ โครงการเหมืองแร่โปแตช รวม 3,521,796 ไร่ ในภาคอีสาน

10 ส.ค. 2558 อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน ในพื้นที่ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง และ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน หลังจากไม่มีการออกประทานบัตรเหมืองถ่านหินมา 4 ปี

19 ส.ค. 2558 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่เพื่อการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ควอตซ์ ใน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

31 ส.ค. 2558 อธิบดี กพร. เปิดเผยว่า กพร. อยู่ระหว่างการพิจารณาออกอาชญาบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา 3-4 ราย รายละ 2-3 หมื่นไร่ กาฬสินธุ์ 1 ราย 6 หมื่นไร่ และสกลนคร 1 ราย 1 แสนไร่ เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรและประทานบัตรเหมืองแร่ รวมกว่า 200 แปลง ภายใน 1 ปี สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมมากว่า 50 ปี สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาร่างแล้วเสร็จเรียบร้อย

22 ก.ย. 2558 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจแร่ทองคำและทำเหมืองทองคำ 12 จังหวัด และกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ยื่นรายชื่อประชาชน 27,522 รายชื่อ เรียกร้องให้นายกฯ ยุติการสำรวจและการทำเหมืองทองคำทั้งหมดโดยทันที และแก้ปัญหาให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใน 15 วัน และ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยังมีการคัดค้านนโยบายฯ และการเรียกร้องรายประเด็น รายพื้นที่มาโดยตลอด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีการค้านนโยบายเหมืองทอง “กำลังทบทวนอยู่ มันเป็นเรื่องเดิมอยู่แล้วด้วย ทั้งเรื่องที่ดินแปลงเก่า แปลงใหม่ ที่ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เช่นการต่อสัญญา รวมถึงจะต้องทบทวนเรื่องของผลกระทบที่ผ่านมา ประชาชนต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ฉะนั้นต้องไปแก้ทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการเปิดเหมืองทองคำเพิ่ม

“ก็จะทำอย่างไร ก็ทำอย่างนี้ จนกว่าจะเรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็เปิดไม่ได้ ถ้ามันมีปัญหาก็ปิดเท่านั้นเอง ทุกอย่างนั่นแหละ ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องของ กฎหมาย เรื่องของการพัฒนา ประเทศไทยเราก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามการทำเหมืองทอง ดังนั้นเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม พ.ร.บ.การประกอบการทำอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้การดำเนินการต้องไม่สร้างผลกระทบ ไม่สร้างความเดือดร้อน โรคภัยไข้เจ็บ ต้องดูว่ามันใช่หรือไม่ใช่ มันจริงหรือไม่จริง มันพิสูจน์ได้หรือเปล่า ถ้าฟังตรงนี้ตรงนู้นก็ทำอะไรกันไม่ได้สักอย่าง ก็อยู่แค่ตรงนี้”

1 ต.ค. 2558 นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวเลขอย่างเป็นทางการ พื้นที่คำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 177 แปลง เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ สตูล สุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ประมาณ 1,618,539 ไร่

6 ต.ค. 2558 มติ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าเกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเหมืองแร่ทองคำ ใน จ.พิจิตร พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการทำเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพของประชาชนน้อยที่สุด เพื่อให้โรงงานเหมืองแร่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

7 ต.ค. 2558 ทูตออสเตรเลีย เข้าพบ นางอรรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ขอความชัดเจนนโยบายเหมืองแร่ทองคำ หลังการคัดค้านของประชาชน 12 จังหวัด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของออสเตรเลียพบข้อมูลความผิดปกติในการโอนเงินข้ามประเทศจากออสเตรเลียเข้าไทยหลายบัญชี และคดีนี้อาจเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีอำนาจในการอนุมัติการทำเหมืองแร่

2 พ.ย. 2558 นางอรรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อ ขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ‘ในช่วงนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อยู่ระหว่างจัดทำนโยบายแร่สำคัญ 5 ชนิด รวมถึงทองคำ ที่ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศแต่ละปีมากถึง 300,000 ล้านบาท ด้วย จึงจำเป็นต้องสรุปและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็วเพื่อจะได้จัดทำ นโยบายแร่สำคัญให้เสร็จสิ้นต่อไป’

4 พ.ย. 2558 สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ปิดประกาศ เรื่องขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรของ บริษัท ศรีรุ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่ควอตซ์ 169-1-66 ไร่ ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน หมู่ 6 และ หมู่ 8 ต.กุดแห่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โดยให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือมีการเกี่ยวข้องด้วยประการใดยื่นคำร้อง ภายใน 20 วัน จากวันปิดประกาศ

(5 – 7 พ.ย. 2558 ฐานเศรษฐกิจ) อธิบดี กพร. ยืนยันแผนพัฒนาแร่เศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ทองคำ โปแตช ควอตซ์เหล็ก และถ่านหิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเดินตามแผน

5 พ.ย. 2558 นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้คณะผู้บริหาร บริษัท ไทย มิเนอรัล เวนเจอร์ส จำกัด (ยื่นอาชญาบัตรพิเศษ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ราว 2 แสนไร่ สำรวจแร่วุลแฟรมและแร่ทังสเตน ซึ่งในพื้นที่มีสายแร่ทองคำรวมอยู่ด้วย) เข้าพบเพื่อขอทราบนโยบายและหารือประเด็นทางเศรษฐกิจ 

16 พ.ย. 2558 กพร. เผยแพร่ รายงานสรุปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 – กันยายน 2558 (คลิกดู: http://www.dpim.go.th/pr/article?catid=42&articleid=6579)

1. ค่าภาคหลวงแร่ ทั้งหมด 704 ล้านบาท – แร่ทองคำ 74 ล้านบาท
2. ค่าธรรมเนียมการใช้เนื้อที่ประทานบัตร 7.5 หมื่นบาท
3. เงินผลประโยชน์พิเศษฯ เพื่อตอบแทนการออกประทานบัตรของ บริษัทอัคราฯ 4.6 ล้านบาท
4. เงินผลประโยชน์พิเศษฯ เพื่อตอบแทนการออกประทานบัตรของ บริษัททุ่งคำฯ – ไม่มี –

20151911142242.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ