เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือรุกหนัก สร้างวัดให้เป็นพื้นที่สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะ

เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือรุกหนัก สร้างวัดให้เป็นพื้นที่สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะ

         เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2559 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือตอนบน (คพชน.) จัดประชุมเครือข่ายพระสงฆ์ 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสวดมนต์สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานพัฒนชุมชน อาทิ พระครูพิพิธสุตาทร วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใม่,  พระครูสุจิณนันทกิจ วัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน, พระสาธิต  ธีรปัญโญ สถาบันธรรมาภิวัฒน์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และอีกหลายท่านที่ทำงานประเด็น ทรัพยากรธรรมชาติ ลดละเลิดอบายมุข สัจจะสะสมทรัพย์  โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานพร้อมทั้งกำหนดแผนการทำงานของเครือข่ายพระสงฆ์ภาคเหนือตอนบน

                ด้าน พระครูพิพิธสุตาทร ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน (คพชน.) กล่าวว่า บทบาทเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาถือว่ามีความสำคัญ เป็นกลไกหนึ่งที่ขับเคลื่อนงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหลายประเด็น เช่น ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อมโยงโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของแต่ละจังหวัด และเชื่อมร้อนพระสงฆ์ทั้ง 4 ภาค นำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนงานในเชิงนโยบาย ได้แก่ การขับเคลื่อนงานสมัชชาแห่งชาติ ประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ จัดตั้งกองบุญเพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อาพาธเป็นต้น

                พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าคณะอำเภอสันติสุจ เล่าประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนว่า  ช่วงที่ผ่านมาจังหวัดน่านเผชิญกับวิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ ป่า  ท่านจึงเริ่มรณรงค์กับผู้สูงอายุ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงชวนเด็กๆ เข้าวัดทำกิจกรรม โดยช่วงเย็นตีระฆังเพื่อเป็นสัญญาณให้เด็กเข้ามาภายในวัด เพื่อฟังนิทาน แต่ก่อนที่จะฟังนิทานก็ต้องสวดมนต์ไหว้พระ หลังจากนั้นก็ปุจฉา วิสัชนา และอธิบายเรื่องดิน น้ำ ลม ป่า เดินศึกษาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จนกลายเป็นกลุ่มเยาวชนในเมืองน่าน กระตุ้นให้พ่อแม่ ลดพฤติกรรมตัดไม้ทำลายป่า จนมีผู้ปกครองบางคนเอาอุปกรณ์ตัดไม้มาถวายวัด  

พระอมรมิตร คัมภีรธัมโม ผู้ประสานงานโครงการสวดมนต์สร้างปัญญา กล่าวว่า การสวดมนต์ที่เรากำลังพูดถึงขณะนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสวดมนต์ปกติทั่วไป แต่หมายถึงกระบวนการทำงานต่อเนื่องที่ทำให้คนเกิดปัญญา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม ลดอบายมุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่สวดมนต์ก็รู้สึกตัวอยู่เสมอ เหมือนเช่นครูบาอาจารย์หลายท่านในอดีต แต่เราต้องตอบให้ได้ว่า  การเปลี่ยนแปลงจากการสวดมนต์ทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เบื้องต้นโครงการตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 80,000 คน ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ  

         พระสาธิต ธีรปัญญโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมภิวัฒน์ จ.ลำปาง กล่าวว่าเด็กและเยาวชนที่เข้ากิจกรรมต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อนทุกครั้ง ปัจจุบันมีการขยายไปยังองค์กรอื่นๆ เช่น สถานศึกษาที่นำเอาการสวดมนต์ในสถาบันการศึกษา พร้อมถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุ แนวคิดที่ท่านพยายามเสนอตลอดมาก็คือ หนึ่งบ้านหนึ่งห้องสวดมนต์ เพราะคนปัจจุบันนิยมทำห้องคาราโอเกาะในบ้านร้องเพลง ถ้าเรารณงค์ให้คนทำห้องสวดมนต์และสวดเป็นประจำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี  

          การประชุมครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญที่จะช่วยให้บทบาทพระสงฆ์เข้ามาแก้ไขปัญหาชุมชน โดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา ทำงานแบบมีส่วนร่วม เหมาะสมกับกาลและสมัย เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ทางโลกไม่ช้ำ ทางธรรมไม่เสีย 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ