8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (7 ) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา “สร้างความเป็นธรรม เชื่อมโยงทุนในชุมชนสร้างสวัสดิการ 11 ด้าน”

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (7 ) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา “สร้างความเป็นธรรม เชื่อมโยงทุนในชุมชนสร้างสวัสดิการ 11 ด้าน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา  ได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ประจำปี 2566

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่  อ.พระนครศรีอยุธยา   จ.พระนครศรีอยุธยา   เป็น ใน 8 กองทุนที่ได้รับรางวัลจากการประกวด “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”  ประจำปี 2566  ประเภทที่ 9  ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม…    

จาก ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ สู่สัจจะสะสมทรัพย์

ตำบลบ้านใหม่  มี  9 หมู่บ้าน  จำนวน  1,349 หลังคาเรือน ประชากร 5,228 คน  ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  มีรายได้น้อย ประกอบกับตำบลบ้านใหม่เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม  เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก  ทำให้ไร่นาเสียหาย ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย  มีหนี้สิน ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ คิดเป็นร้อยละ 21 ของครัวเรือนทั้งหมดในตำบล

‘เพ็ญศรี มากสุข’  หรือ  “หมอเพ็ญ”  อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ (ปัจจุบันเกษียณราชการ) เล่าว่า  เธอเป็นคนบ้านใหม่  เกิด  เติบโต  และทำงานที่นี่  จึงมองเห็นปัญหาและวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตำบล  โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540   ทำให้ชาวบ้านตกงาน  รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง  ชาวบ้านเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ  จึงไม่มีทุนประกอบอาชีพ   เธอจึงคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือกัน

ในปี 2541  ได้ไปศึกษาดูงานที่กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของ ‘พระอาจารย์สุบิน ปณีโต’  วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด เมื่อกลับมาจึงมาตั้ง ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ หมู่ 7’  เปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก  โดยถือหุ้นๆ ละ 10 บาท ได้เงินตั้งต้นจำนวน 8,000 บาท  แล้วนำมาปล่อยให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืมไปใช้จ่าย  8 คน  คนละ 1,000 บาท

พอถึงเดือนที่ 2 ทุกคนชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ทำให้กู้เพิ่มได้อีก 1 – 2 คน หลังจากนั้นกลุ่มได้เติบโตและขยายสมาชิกขึ้นเรื่อยๆ   จนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 438 คน  มีเงินทุนหมุนเวียน 4,502,422 บาท  มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในด้านต่างๆ  เช่น  เมื่อเจ็บป่วย  จ่ายชดเชยการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  ค่าทำศพเมื่อเสียชีวิต ทุนการศึกษาให้กับสมาชิก  สนับสนุนอาหารกลางวันให้กับนักเรียน  สนับสนุนประเพณีสำคัญในตำบล  ฯลฯ

“เรามองว่าคนในชุมชนมีปัญหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  เงินไม่มีใช้ ทำให้เกิดความเจ็บป่วย จึงเปิดให้สมาชิกสามารถฝากเงินได้  กู้ได้  ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน  และเปลี่ยนชื่อกลุ่มให้ดูมีสถานะดีขึ้น คือ ‘ธนาคารชุมชน’ ตอนนี้มีอยู่ 2 แห่ง มีเงินทุนประมาณ 4 ล้านกว่าบาท เชื่อมโยงกับกองทุน 1 บาท ให้สมาชิกทุกคนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการวันละ 1 บาท  โดยธนาคารชุมชนออกเงินสมทบให้คนละ 360 บาท ชาวบ้านไม่ต้องจ่าย  นำดอกผลที่ได้จากธนาคารชุมชนมาจ่ายให้  นอกจากจะได้จากสวัสดิการชุมชนแล้ว ยังได้เงินปันผลคืน ถ้าเสียชีวิตได้พิเศษอีก 1 หมื่นบาท สวัสดิการของที่นี่จึงค่อนข้างเยอะ”  หมอเพ็ญเล่าอย่างภาคภูมิใจ

2
“หมอเพ็ญ” ผู้บุกเบิกทำให้คนตำบลบ้านใหม่เข้าถึงทุนและสวัสดิการ

‘กองทุน 5 บาท’

กองทุนสวัสดิการตำบลบ้านใหม่ หรือ ‘กองทุน 5 บาท’  ก่อตั้งเมื่อปี  2547  หมอเพ็ญเล่าว่า จากการเดินสำรวจไปเยี่ยมบ้านคนไข้  มีอยู่บ้านหนึ่งลูกเขาเพิ่งเสียชีวิต

“เขาบอกรู้ไหมวันที่ลูกตายมีเงินในกระเป๋าไม่ถึง 100 บาท ไม่รู้จะนำศพลูกชายออกจากโรงพยาบาลได้อย่างไร  จะนำเงินที่ไหนมาทำศพ ?  จึงคิดว่าจะดีไหมหากมีกองทุนช่วยดูแล  นำเงินมาลงขันกัน  เพื่อช่วยเหลือกรณีที่มีการเสียชีวิต จึงหารือกับ อสม.ว่า จะเก็บคนละเท่าไรดี  ?   คิดเกณฑ์กันว่าเดือนหนึ่งมีคนตายประมาณกี่ศพ  ปีหนึ่งกี่ศพ  ? ดูสถิติย้อนหลัง 3 ปี  จ่ายเท่านี้จะอยู่ได้ไหม  สุดท้ายจบที่สมาชิกสมทบ 5 บาทต่อเดือน และถ้าเสียชีวิตรับทันที 5  พันบาท”    หมอเพ็ญเล่าต่อ  และบอกว่า  ปัจจุบันมีสมาชิก 896 คน

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่  ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “กองทุน 3 ขา” หรือ “กองทุน 1 บาท” จัดตั้งเมื่อปี 2553 ได้รับการส่งเสริมการจัดตั้งจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก  ดูแลสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย โดยประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านใหม่ในขณะนั้น ได้มาหารือกับหมอเพ็ญ  เพราะเห็นว่าเคยทำกองทุน 5 บาทมาก่อน

กองทุนนี้รัฐบาลจะช่วยสมทบด้วย โดยสมาชิกสมทบวันละ 1 บาท หรือปีละ 360 บาท  พอช.สมทบ 1 บาท และท้องถิ่น 1 บาท จึงเรียกว่า “กองทุน 3 ขา” และการที่แต่ละฝ่ายสมทบ 1 บาท จึงเรียกว่า “กองทุน 1 บาท”  เห็นว่าน่าสนใจ เพราะชาวบ้านได้กำไรตั้ง 2 บาท  จึงมาร่วมจัดตั้งกองทุนใหม่นี้

ครั้งแรกที่เปิดรับสมัครมีสมาชิกเพียง  847 คน  จากนั้นจึงเปิดรับสมัครสมาชิกมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมี 2,942 คน คิดเป็นร้อยละ 56.8 ของประชากรในตำบล   มีการสมทบเงินจากสมาชิก  จาก พอช. ท้องถิ่น ภาคเอกชน  และอื่นๆ โดย อบต.บ้านใหม่ทำแผนงานสมทบปีละ 200,000 – 250,000 บาททุกปี

3

 “บริหารกองทุนให้โปร่งใสและเป็นธรรม”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ดังนี้ 1.ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักเสียสละเงินเพื่อแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 2.จัดสวัสดิการแก่สมาชิกตลอดชีวิต ในเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย 3.ส่งเสริมคุณธรรม ความสามัคคี มีน้ำใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา มีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน 4.สร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้

ส่วนที่มาของเงินกองทุน มาจากการสมทบของสมาชิกวันละ 1 บาท  เงินและทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุน/สมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับการบริจาค และดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน สมาชิกส่งสมทบเงินวันละ 1 บาทต่อคนให้กับคณะทำงานเป็นรายเดือน หรือรายปีตามที่ได้แจ้งไว้  หากขาดส่งเงินสมทบติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือนถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิก

หมอเพ็ญ อธิบายเพิ่มเติมว่า การดูแลกันของคนบ้านใหม่ เริ่มแรกไม่ได้มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เน้นเรื่องการมีสัจจะร่วมกันเป็นสำคัญ และการดูแลช่วยเหลือกันแบบเร่งด่วน ทันสถานการณ์ จึงมีความยืดหยุ่นในการช่วยเหลือกันค่อนข้างมาก เช่น การจัดการดูแลคนในหมู่บ้านโดยใช้สัจจะทุนค้ำประกัน สมาชิกเบิกเงินก่อนแล้วมาทำเอกสารในภายหลัง

 “เช่น  การจัดงานศพ เพราะชาวบ้านไม่มีเงินเตรียมการ จะหยิบยืมเงินใครก็ไม่มี เป็นการช่วยเหลือกันแบบเร่งด่วน การที่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะเงินเหล่านั้นเป็นเงินของสมาชิกเอง เมื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ขึ้น ไม่ได้มีเงินของสมาชิกที่เป็นชาวบ้านเพียงอย่างเดียว  แต่ยังมีการสมทบจากหน่วยงานรัฐ จึงต้องมีความระมัดระวังในการบริหารและใช้จ่ายเงินกองทุน จึงต้องกำหนดวัตถุประสงค์และการใช้งบประมาณในการดูแลสมาชิกอย่างชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม”  หมอเพ็ญยกตัวอย่าง

ส่วนการบริหารกองทุนมีคณะกรรมการบริหาร จำนวน 13 คน มีตำแหน่งประธาน รองประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ เหรัญญิก กรรมการฝ่ายสวัสดิการ  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายตรวจสอบภายใน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษา  3 คน ได้แก่ ผู้บริหาร อบต. กำนัน ผู้บริหาร รพ.สต.  คณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี

คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น  การบริหารกองทุน  การตรวจสอบ กำกับ ดูแลรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน  ออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารกองทุน  ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานกองทุน  ดำเนินการอื่นใดเพื่อผลประโยชน์ของกองทุน ฯลฯ

การบริหารเงินทุน ทรัพย์สินของกองทุนที่เป็นตัวเงิน มีการจัดสรรร ร้อยละ 50 เพื่อเป็นเงินจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก  ร้อยละ 30 เพื่อประกันความเสี่ยง เป็นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและอาชีพแก่สมาชิกด้อยโอกาส หรือประสบภัยพิบัติ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน  และร้อยละ 20  เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าตอบแทนคณะกรรมการ

4
ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ และที่ปรึกษา

ช่วยสมาชิก  11 ด้าน  ผู้รับประโยชน์กว่า 3,800 ครั้ง 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 2,501  คน  มีเงินกองทุน 5,886,146 บาท สถานะการเงินที่ผ่านมา  มีเงินสมทบสวัสดิการจากสมาชิกรายปี  จำนวน 4,057,541 บาท  อบต.บ้านใหม่สมทบ 994,492 บาท  รัฐบาลสมทบผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  2,074,429 บาท  ดอกเบี้ยธนาคาร 95,538 บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 32,205 บาท เงินบริจาค  111,645 บาท  และอื่นๆ 1,603,576 บาท   สามารถดูแลสมาชิกไม่น้อยกว่า 11 ด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย มีผู้รับประโยชน์มากกว่า 3,800 ครั้ง  ดังนี้

  1. การส่งเสริมการตั้งครรภ์เชิงคุณภาพ ผ่านโครงการ “หุ้นส่วนตั้งท้อง” มีผู้ผ่านตามเกณฑ์ข้อตกลง 55 ราย จำนวนเงิน 29,300 บาท
  2. ชดเชยการเจ็บป่วย โดยการจ่ายเงินกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลคืนละ 200 บาท (จำนวน 3 คืน) รวม 299 ราย เป็นเงิน 195,300 บาท
  3. จ่ายสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 830 คน เป็นเงิน 139,300 บาท
  4. จ่ายสวัสดิการผู้ด้อยโอกาส จำนวน 3 ราย เป็นเงิน 2,870 บาท
  5. สนับสนุนด้านการศึกษา จำนวน 145 คน เป็นเงิน 83,000 บาท
  6. จ่ายสวัสดิการค่าทำศพให้กับสมาชิก จำนวน 487 คน เป็นเงิน 5,817,000 บาท
  7. สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จำนวน 1,301 คน เป็นเงิน 302,000 บาท
  8. สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จำนวน 450 คน เป็นเงิน 101,571 บาท
  9. ส่งเสริมกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรม จำนวน 50,000 บาท
  10. จัดสวัสดิการอื่นๆ ตามที่กรรมการเห็นชอบ จำนวน 250 คน เป็นเงิน 40,010 บาท
  11. สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ผู้ยากไร้ จำนวน 2 คน เป็นเงิน 30,000 บาท
5
ผังการเชื่อมโยงทุนต่างๆ ในตำบล

เชื่อมโยงทุนในชุมชนเพื่อคนบ้านใหม่

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่เปรียบเสมือนเป็นกองทุนแม่ที่ดูแลด้านสวัสดิการชุมชน และมีกองทุนหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำในชุมชน โดยมีการจัดสรรรายได้หรือผลกำไรเข้ามาสมทบเพื่อจัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชนด้วย เช่น  การจัดสรรผลกำไรของกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์หรือสถาบันการเงินชุมชน ร้านค้าสวัสดิการชุมชน โรงผลิตน้ำดื่ม เข้าร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อนำมาจัดสรรดูแลคนในตำบลบ้านใหม่ รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุในตำบลบ้านใหม่  ทำให้ดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง  ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกวัย  ดังนี้

กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์หมู่ 7 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สถาบันการเงินชุมชน’ มีการจัดเงินให้สมาชิกได้กู้ยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ ใช้จ่ายยามจำเป็นเร่งด่วน มีสวัสดิการส่วนหนึ่งให้กับสมาชิก และสนับสนุนให้สมาชิกสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  โดยสถาบันฯ จะจ่ายเงินสมทบรายปีแทนสมาชิก

 ร้านค้าสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่  เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับคนในตำบล โดยจำหน่ายสินค้าราคาถูกและคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ มีการจัดสรรผลกำไรเข้าสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย

น้ำดื่มชุมชน การจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่ม เกิดจากการดำเนินการร่วมกันของของ อบต.บ้านใหม่ และกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนทำเรื่องขอใช้อาคารเก่าของอบต.เป็นสถานที่ตั้งโรงงาน และให้ยืมเงินกองทุนสวัสดิการเป็นทุนตั้งต้นในการผลิตน้ำดื่ม  ทำให้คนในตำบลมีน้ำดื่มราคาถูกบริโภคในครัวเรือน  และในช่วงเกิดภัยพิบัติ  เช่น  น้ำท่วม  โรงงานจะนำน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ดื่มน้ำฟรี   นอกจากนี้ยังจัดสรรผลกำไรจากโรงงานน้ำดื่มเข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ จัดงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ เป็นประจำทุกปี ปีละ 200,000 – 250,000 บาท และสนับสนุนสถานที่ทำการกองทุนสวัสดิการ  งบประมาณในการจัดจ้างคนทำงานช่วยกองทุนสวัสดิการ  เช่น  คนทำบัญชี  โดย อบต.  จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือนเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว

6

กองทุนดีที่บ้านใหม่ : การจัดสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ ยึดหลัก “ร่วมสร้างความเป็นธรรม ด้วยกองทุนสวัสดิการชุมชน เติมเต็มช่วยเหลือ ทุกกิจกรรมและขั้นตอน” มุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานสวัสดิการ การดูแล และการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเท่าเทียมกัน ลดช่องว่างทางสังคม เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนในชุมชนตำบลดีขึ้น

นายคำรณ ทานธรรม นายก อบต.บ้านใหม่ และที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ บอกว่า เมื่อปี 2554 น้ำท่วม  ชาวบ้านไม่มีน้ำกิน เรามีเรือจึงเอาเรือไปบริการแลกกับน้ำ หลังจากนั้นจึงตั้งโรงผลิตน้ำดื่มขึ้นมาเอง กิจการทั้งหมดนี้ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนรับผิดชอบ เมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่จะให้ประชาชนดื่มน้ำฟรี เป็นการเติมส่วนที่ขาด เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษา ตั้งแต่เกิดมายังไม่เห็นประเทศไทยมีความเป็นธรรมในเรื่องนี้ เราก็มาให้ทุนเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา เป็นการเพิ่มความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

“อบต.ไม่สามารถแจกทุนได้  แต่จะสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชนปีละ 250,000 บาท รวมไปถึงธนาคารชุมชนมีการเก็บค่าธรรมเนียม สมาชิกฝากเดือนละ 100 บาท สามารถกู้ได้ และร้านค้าชุมชนก็ได้ดูแลคนทั่วไปและผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ เราขายสินค้าในราคาที่ช่วยเหลือกัน ผู้สูงอายุที่เดินทางไม่สะดวกก็สั่งสินค้ามาได้  เราเอาไปส่งให้ที่บ้าน  ไม่คิดค่าส่ง  เป็นการดูแลกัน แล้วนำกำไรมาสมทบกองทุนสวัสดิการ 1 บาท เพราะกองทุนต้องการใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ”  นายก อบต.บอก

นอกจากนี้เขาได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า  นอกจากการทำร้านค้าราคาถูกแล้ว จะมีการพิจารณาส่งเสริมเรื่องการศึกษา เช่น  ให้ยืมเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์  แท็บเล็ต  เพื่อใช้ในการศึกษา และยังมองถึงการทำอาหารขายในราคาถูก จานละ 25 บาท เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนด้วย !!

“ความดี  ความซื่อสัตย์”  รากฐานนำไปสู่ความสำเร็จ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ เป็นกองทุนที่เกิดจากจิตใจที่มีธรรมะของทุกภาคส่วน มีความเมตตาช่วยเหลือเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจกัน นำมาสู่ความสำเร็จและความยั่งยืน ด้วยการทำงานที่เป็นระบบ ทุกกิจกรรมมีคณะกรรมการดำเนินงานของตนเองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นกองทุนแม่ให้กับหลายๆ กองทุน/กิจกรรม

สมาชิกทุกคนได้รับสิทธิตามระเบียบข้อตกลงอย่างเสมอภาค เที่ยงธรรมและทั่วถึง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีเงินออม ปลอดหนี้นอกระบบ มีแหล่งเงินทุนในการดำรงชีพ ประกอบอาชีพ และใช้จ่ายยามฉุกเฉิน   ทำให้บ้านใหม่เป็นสังคมที่พึ่งพาตนเองไม่ต้องรอรัฐ นำไปสู่การสร้างสังคมเข้มแข็งโดยกระบวนการประชาธิปไตย สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่

 “ปัจจัยความสำเร็จของพวกเรา คือ  ความดี ความซื่อสัตย์ ความสามารถในเรื่องการจัดการตนเอง        ที่เราสามารถแตกแขนงกิจกรรมรองรับคนในชุมชน และการทำงานอย่างมีความสุขของคนทำงาน ทำให้กองทุนประสบความสำเร็จ  เราไม่ต้องการสมาชิกมากๆ แต่เราต้องการดูแลคนของเราจริงๆ ต้องการให้รัฐอุดหนุนตามที่เรามีอยู่” หมอเพ็ญศรี  มากสุข  บอกทิ้งท้าย

7

ด้วยผลงานต่างๆ  ดังกล่าวนี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้รับรางวัลจากการประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ประจำปี 2566  รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ประเภทที่ 9  :  ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัล  (รวมทั้งหมด 8 กองทุน 8 ประเภท) จะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณในงานธรรมาภิบาลดีเด่น  แห่งปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ  ในวันที่  9 มีนาคมนี้ !!

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ