นักจิตวิทยา มอ.และเครือข่ายนักจิตวิทยาจังหวัดปัตตานี ร่วมแถลงการณ์ประณามผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความตระหนัก ปกป้องชีวิตเด็กและผู้เยาว์เพื่อมิให้ความสูญเสียทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนในการปกป้องคุ้มครอง และเรียกร้องอย่าใช้เด็กเป็นเหยื่อความขัดแย้งอันเป็นเครื่องมือทางการเมือง และขอให้พ่อแม่ของเด็กที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวด อดทนไว้เพื่อก้าวข้ามผ่านไปได้
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2557 เวลา 10.00 น. หน้าสำนักงานอธิการบดี ม.อ. ปัตตานี ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเครือข่ายนักจิตวิทยา จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วยนักจิตวิทยาบ้านปัตตานี บ้านพักเด็กและครอบครัวปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ร่วมอ่านแถลงการณ์ประณามผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อรับโทษทางกฎหมาย
นำแถลงการณ์โดย ผศ.ดร. สุใจ ส่วนไพโรจน์ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา แถลงการณ์ระบุว่า ขอประณามผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก ผู้เยาว์ และผู้บริสุทธิ์ จนนำไปสู่การบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจในทุกรูปแบบ หรือการสูญเสียชีวิต ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือขาดความยั้งคิด ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งหาคนกระทำผิดเพื่อรับโทษทางกฎหมาย และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว อันจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อไป
ในแถลงการณ์ได้กล่าวถึงเด็กในสถานที่ชุมนุม โดยขอให้ผู้ปกครองและผู้จัดการชุมนุมคำนึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรก แนะนำผู้ปกครองไม่นำเด็กเข้าร่วมการชุมนุม หรือพาเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงที่ยากจะประเมินความปลอดภัยได้ และขอให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรงและปลอดภัยสำหรับเด็ก
สุดท้ายของการแถลงการณ์ ได้ระบุว่า ขอเรียกร้องทุกภาคส่วนตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนในการปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้เยาว์ และผู้บริสุทธิ์ เพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์ความรุนแรง อันนำมาซึ่งความสูญเสียและความเศร้าใจอย่างสุดซึ้งในสังคมไทย
อาจารย์หริรักษ์ แก้วกับทอง หัวหน้าโปรแกรมจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องอย่าใช้เด็กเป็นเหยื่อความขัดแย้ง อันเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งกรณีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และการชุมนุมที่กรุงเทพ ด้าน ดร.วัชรินทร์ หนูสมตน อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า เรามักพูดถึงสิทธิของเด็กอยู่เป็นประจำ แต่ยังขาดความเคารพต่อสิทธิของพวกเขา เราต้องตระหนักว่าเขามีสิทธิในการที่จะเติบโตในโลกใบนี้
ขอวอนทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หันมาสนใจและปกป้องเด็กจากความรุนแรง และขอให้พ่อแม่ของเด็กที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวด อดทนไว้เพื่อก้าวข้ามผ่านไปได้ ซึ่งแน่นอนต้องใช้เวลา
น.ส.ฟารีดะ น้อยทับทิม นักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า เด็กคืออนาคตของชาติ ผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กให้ดี เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงควรได้รับการดูแลด้านจิตใจ เพื่อการเติบโตที่ดีในเวลาต่อไป ด้าน น.ส.วิวรรษา แซ่เจี่ย นักจิตวิทยาสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากต้องการความช่วยเหลือในการดูแลสภาพจิตใจของเด็ก ก็สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อประสานต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเสพสื่อเพียงลำพัง ดูแลและแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากความรุนแรง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก เพื่อช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก : ซอฟียะห์ ยียูโซะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)