กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เป็น 1 ใน 8 กองทุนที่ได้รับรางวัลจากการประกวด “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประเภทที่ 6 ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน ประจำปี 2566
รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง
โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือสมทบเป็นรายปี จำนวน 365 บาท เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือดูแลสมาชิกตามข้อตกลง เช่น ช่วยยามคลอดบุตร เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษาเด็ก ยามประสบภัยธรรมชาติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ หรือปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา สร้างแหล่งอาหาร ฯลฯ เป็นสวัสดิการชุมชนในระยะยาว
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)
ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ในระดับตำบล เทศบาล และระดับเขต(ในกรุงเทพฯ) แล้ว จำนวน 5,915 กองทุน สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ) ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน 1,970,314 ราย เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ
ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.psds.tu.ac.th/puey )
การจัดประกวดครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2559 เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ ในปีนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 6 โดยจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตำบลบางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ในอดีตเป็นถิ่นฐานของชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล มี 5 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 15,000 คน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2550 เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนในตำบล ทุกเพศวัย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบสาธารณภัย ฯลฯ มีสมาชิกแรกตั้ง 23 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 1,055 คน (คิดเป็นร้อยละ 8.84 ของจำนวนประชาชนในตำบล) มีเงินกองทุนประมาณ 1,700,000 บาท
การจัดสวัสดิการให้สมาชิก มี 12 ประเภท คือ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับการเกิด 2.เจ็บป่วย 3.ทุนการศึกษา 4.เสียชีวิต 5.เพื่อพัฒนาอาชีพ 6.ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ 7.ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม 8.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 9.สวัสดิการผู้สูงอายุ 10.สวัสดิการวันเด็กแห่งชาติ 11.สาธารณประโยชน์ และ 12.สวัสดิการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน
ดวงตา เรืองสุข ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง บอกว่า กองทุนสวัสดิการ ฯ ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในตำบล เช่น กองทุนหมู่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้มีข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชน และนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดสวัสดิการให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
จากข้อมูล พบว่า ในตำบลมีผู้ประสบปัญหาต่างๆ จำนวน 50 ครัวเรือน เป็นกลุ่มว่างงาน 15 ครัวเรือน กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ 20 ครัวเรือน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 10 ครัวเรือน
ในกลุ่มผู้ว่างงาน ผู้มีรายได้น้อย กองทุนสวัสดิการฯ ได้จัดอบรมอาชีพการทำก๋วยเตี๋ยวให้กับกลุ่มดังกล่าว จำนวน 40 คน จนสามารถประกอบอาชีพได้ 2 กลุ่ม จำนวน 10 คน โดยกองทุนสวัสดิการได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นทุนตั้งต้นให้กลุ่มทำก๋วยเตี๋ยว จำนวน 5,000 บาท
พี่ดวงตา ประธานกองทุนสวัสดิการฯ บอกต่อว่า จากการสำรวจข้อมูลของกลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบความเดือดร้อนในชุมชน ทำให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ รู้เรื่องราวปัญหาชีวิตของ ‘ป้านงเยาว์ เพิกพิทักษ์’ วัย 60 เศษ หนึ่งในสมาชิกกองทุนฯ ที่มีภาระต้องเลี้ยงหลานที่กำลังเรียนด้วยตัวคนเดียว
“เดิมป้านงเยาว์มีรายได้จากการทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่พอปลดเกษียณก็ไม่มีรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว มีแต่เบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600 บาท และขายข้าวแกงที่ไม่ได้กำไรมากนัก ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จึงได้ประชุมกัน หารือเรื่องการช่วยเหลือ และรู้ว่าป้านงเยาว์มีฝีมือด้านการทำอาหาร โดยเฉพาะการทำก๋วยเตี๋ยว กองทุนฯ จึงสนับสนุนให้ป้านงเยาว์ตั้งกลุ่มทำก๋วยเตี๋ยวขึ้นมา โดยกองทุนฯ สนับสนุนเงินทุนตั้งต้น 5 พันบาท เริ่มทำขายตั้งแต่ปี 2563” ประธานกองทุนสวัสดิการฯ บอก
นอกจากนี้ในปี 2563 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีโครงการ “ปฏิบัติการ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยจะมอบอุปกรณ์การประกอบอาชีพเพื่อสนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มแม่บ้านในชุมชนต่างๆ กลุ่มก๋วยเตี๋ยวกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยงจึงได้รับการสนับสนุนด้วย
ส่วนการทำงานของกลุ่มก๋วยเตี๋ยวนั้น ประธานกองทุนสวัสดิการฯ บอกว่า กลุ่มก๋วยเตี๋ยวจะมีสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ ที่มีเวลาว่างหรือว่างงานมาช่วยกันทำ โดยมีป้านงเยาว์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ตั้งแต่การซื้อของ ซื้อเนื้อ หรือหมูสด เพื่อนำมาเตรียม ต้มน้ำซุป รวมทั้งเตรียมเครื่องปรุงและผักต่างๆ มีสมาชิกกองทุนฯ เป็นลูกมือ ใครว่างก็มาช่วย เช่น หั่นผัก เตรียมของ คั่วพริก ทำน้ำส้ม เตรียมถ้วยชาม ล้างชาม ขนอุปกรณ์ ฯลฯ
“ก๋วยเตี๋ยวของเราจะไม่มีหน้าร้าน เราใช้วิธีออกงาน รับงานออกร้านตามแต่จะมีคนว่าจ้าง หรือออกไปประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ ว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ของเรามีก๋วยเตี๋ยวสัมมาชีพ ที่ผ่านมาเคยไปออกร้านที่จวนผู้ว่าฯ ปทุมธานีด้วย งานนั้นถือว่าใหญ่สุด เพราะทำไป 650 ชาม ต้องเอาสมาชิกมาช่วยกัน 8 คน
เดือนหนึ่งจะรับงานประมาณ 5 งาน ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50-60 ชาม ราคาก็แล้วแต่ตกลงว่าจะเอาก๋วยเตี๋ยวอะไร ใส่อะไรบ้าง มีทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หมู น้ำตก ถ้า 100 ชาม ราคาเหมาก็ตกประมาณ 6,000-7,000 บาท รายได้ก็จะแบ่งให้สมาชิกที่มาช่วยงาน ผู้สูงอายุบางคนมาช่วยล้างชาม กองทุนฯ ให้ค่าแรงวันละ 200 บาทก็ดีใจ เราก็ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือกัน” ประธานกองทุนฯ แจงรายละเอียด และบอกว่า เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วจะหักรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นเงินลงทุนทำก๋วยเตี๋ยวต่อไป
สูตรเด็ด ‘ก๋วยเตี๋ยวรักษ์โลก’
ป้านงเยาว์ เพิกพิทักษ์ ‘เชฟก๋วยเตี๋ยวมือ 1’ ของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง บอกว่า ป้าไม่เคยทำก๋วยเตี๋ยวขายมาก่อน แต่เคยไปทำงานที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รู้จักคุ้นเคยกับร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายบะหมี่เกี๊ยว ฯลฯ จึงใช้วิชา ‘ครู พัก ลัก จำ’ และนำมาทดลองทำกินเอง ปรับปรุงสูตรมาเรื่อยๆ จนเป็นสูตรของเราเอง เช่น น้ำซุปก๋วยเตี๋ยวต้องใส่กระเทียมสด ใส่เยอะๆ และใส่ข่าลงไปด้วยเพื่อดับคาว แต่ข่าต้องเผาก่อน แล้วเอามาตำพอแหลก จะช่วยดับกลิ่นคาว ทำให้น้ำซุปหอม รสชาติกลมกล่อม
นอกจากนี้ขั้นตอนการเตรียมเครื่องปรุงต่างๆ ก็ต้องพิถีพิถัน เพื่อให้ก๋วยเตี๋ยวอร่อย มีคุณภาพ ประทับใจคนกินตั้งแต่ซดน้ำซุปคำแรก เช่น พริกป่นต้องซื้อพริกแห้งมาคั่วและบดเอง จะได้พริกป่นใหม่ๆ หอมๆ ไม่ใช้พริกป่นสำเร็จรูปจากตลาด พริกน้ำส้ม พริกบดก็ทำเอง กระเทียมเจียวทำเอง กากหมูเจียวใหม่ๆ จะกรอบ หอม มัน เอามาโรยหน้าจะทำให้ก๋วยเตี๋ยวอร่อยมากขึ้น บางคนต้องวนมาเข้าคิวเพื่อ ‘เบิ้ล’ ต่อรอบสองรอบสาม
พี่ดวงตา ประธานกองทุนสวัสดิการฯ เสริมว่า คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการและสมาชิกฯ ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อยู่แล้ว และที่ผ่านมา อสม.ก็มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะในครัวเรือน ขยะอินทรีย์เอาไปทำปุ๋ย รณรงค์ไม่ใช้โฟมที่ย่อยสลายไม่ได้
“พวกเราสวมหมวก อสม. ด้วย เมื่อเรามาทำกลุ่มก๋วยเตี๋ยว เราจึงไม่ใช้ถ้วยโฟม เราลงทุนซื้อถ้วยกระเบื้องมาใช้ ถ้วยโฟมแม้จะสะดวก ใช้แล้วทิ้ง แต่เดือนหนึ่งเราออกงาน 5 ครั้ง แต่ละครั้งอย่างต่ำ 50 ชาม ถ้าใช้ถ้วยโฟมอย่างน้อย 50 ใบ ปีนึงใช้เท่าไหร่ แล้วคิดดูว่ากี่ปีจะกำจัดหมด” ประธานกองทุนฯ บอกถึงแนวคิดของก๋วยเตี๋ยวรักษ์โลก และยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการมาช่วยล้างถ้วยชามครั้งละ 200 บาทด้วย
นอกจากนี้ จากฝีมือการทำก๋วยเตี๋ยวของป้านงเยาว์ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ให้ป้านงเยาว์เป็นวิทยากรสอนการทำก๋วยเตี๋ยวหมู-เนื้อให้แก่ชาวบ้านที่สนใจในช่วงสถานกรณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปประกอบอาชีพ บางคนไม่ได้ทำขาย แต่ก็ได้วิชาทำก๋วยเตี๋ยวจากเชฟมือ 1 ของตำบล นำไปทำกินในครอบครัว เป็นการสืบทอดความรู้ด้านอาหารให้แพร่หลายต่อไป
‘มัดย้อม–มัดยิ้ม’ และความภาคภูมิใจของชาวบางขะแยง
นอกจากการส่งเสริมอาชีพกลุ่มก๋วยเตี๋ยวของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยงแล้ว กองทุนฯ ยังส่งเสริมอาชีพการทำผ้ามัดย้อมด้วย โดยชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งกลุ่มทำผ้ามัดย้อมที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรของการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ตั้งแต่ปี 2562
ต่อมาในปี 2564 กองทุนสวัสดิการฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมสวัสดิการจังหวัดปทุมธานี นำมาอบรมเพิ่มเทคนิคการมัดย้อมให้แก่กลุ่ม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีความสวยงาม มีลวดลาย ความหลากหลายมากขึ้น เช่น ลายหัวใจ แมงมุม ข้าวหลามตัด ฯลฯ
มีสินค้าต่างๆ เช่น พวงกุญแจ ผ้าเช็ดหน้า ราคา 35 บาท กระเป๋ามัดย้อมราคา 50 บาทขึ้นไป กระเป๋าย่าม 100 บาท เสื้อ 150-300 บาท ผ้าคลุมไหล่ 200 บาทขึ้นไป ฯลฯ มีจำหน่ายที่ร้านค้าในชุมชน และขายทางออนไลน์ใน Facebook ‘มัดย้อม มัดยิ้ม บางขะแยง’
พี่ดวงตา ประธานกองทุนสวัสดิการฯ บอกว่า ในจังหวัดปทุมธานีพระตำหนักของพระราชวงศ์หลายพระองค์โดยในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปทุมธานีในปี 2554 ชาวบ้านในตำบลบางขะแยงได้รับพระราชทานความช่วยเหลือจากพระราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลในช่วงน้ำท่วม มีแพทย์จากหน่วยแพทย์พระราชทานมาช่วยรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย หลังน้ำท่วมพระราชทานพันธุ์ผลไม้ให้ชาวบ้านนำมาปลูก ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและเกิดความผูกพันต่อพระองค์
เมื่อต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูกเติบโตออกผล ชาวบ้านก็จะขอเข้าเฝ้าเพื่อนำผลไม้ไปทูลเกล้าฯ ถวาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พี่ดวงตาบอกว่า ชาวบ้านได้นำผ้ามัดย้อมของกลุ่ม ‘มัดย้อม มัดยิ้ม’ ไปถวายสมเด็จพระเทพฯ มีสีบานเย็น และผ้ามัดหลากสี ท่านโปรดผ้ามัดย้อมหลากสี ทำให้ชาวบ้านดีใจและภูมิใจมาก
อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเสริมอาชีพก๋วยเตี๋ยวและกลุ่มผ้ามัดย้อมแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยังได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่มีฝีมือและภูมิปัญญาด้านต่างๆ เช่น งานฝีมือ งานจักสาน กระบุง ตะกร้า สานพัด ถักเปล ฯลฯ ทำอาหาร เช่น ขิงดอง ขนมหวาน เม็ดขนุน ขนมเข่ง ขนมเทียน กระยาสารท ฯลฯ นำผลงานออกมาเผยแพร่เพื่อเป็นวิชาความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ และจะส่งเสริมให้เป็นอาชีพของชาวชุมชนบางขะแยงต่อไป..
ด้วยผลงานการส่งเสริมอาชีพของชาวชุมชนดังกล่าวนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยงจึงได้รับรางวัลจากการประกวด “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิด ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประจำปี 2566 ประเภทที่ 6 ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน
โดยจะมีพิธีมอบรางวัลพร้อมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ รวม 8 กองทุนที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านต่างๆ ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย !!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์