พอช.จับมือภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแนะใช้เว็บ ‘จับโกง’

พอช.จับมือภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแนะใช้เว็บ ‘จับโกง’

การสัมมนาเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต

กรุงเทพฯ /  พอช.จัดงานสัมมนาผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต  ระดมความเห็นการขับเคลื่อนป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโดยใช้ชุมชนและภาคประชาชนเป็นแกนหลัก  ผสานพลังภาคีทุกภาคส่วนในสังคม  ทั้งหน่วยงานรัฐ  นักธุรกิจ  นักวิชาการ  สื่อมวลชน ฯลฯ เพื่อให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา  โดยจะขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับตำบลถึงประเทศ  โดยเฉพาะการแก้ไขโครงสร้างระบบอุปถัมภ์โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตรวจสอบ  ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเสนอใช้เว็บ actai.co ‘จับโกง’ ค้นเบาะแสโครงการทุจริตภาครัฐ

ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน  และภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘การสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต’ ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 80 คน

2

พลังประชาชน-ชุมชนต่อต้านการทุจริต

นายสามารถ  สุขบรรจง  หัวหน้าสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ในฐานะผู้แทนคณะจัดงานสัมมนา  กล่าวว่า  ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  พอช.ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตมาตลอด   เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดประกวดรางวัลสีขาวในปี 2565 เครือข่ายภาคประชาชนก็ได้รับรางวัล  จำนวน 11 รางวัล  จากการประกวดทั้งหมด 23 รางวัล

ส่วนการจัดสัมมนาในครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์  คือ  1.เพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทาง  วิธีการขับเคลื่อน  ที่จะให้มีการขับเคลื่อนการป้องกันทุจริตโดยชุมชนเป็นแกนหลัก   2.ต้องการเห็นพลังการขับเคลื่อน movement ของภาคประชาชน  โดยมีกลไก ส่วนกลาง ระดับพื้นที่  ระดับจังหวัด และระดับภาค  และ 3.เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่

3

นายสิน  สื่อสวน ประธานคณะทำงานสนับสนุนดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต  กล่าวว่า  บทเรียนจากต่างประเทศ  การที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตได้  ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ  ถ้าจะทำเรื่องปราบทุจริตให้ได้ต้องให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ  ประชาชนมีส่วนร่วม  หากประชาชนไม่ตื่นตัวเป็นพลเมืองจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตได้

“สิ่งที่เห็นวันนี้  คือ ความคิดของคนรุ่นใหม่  พวกเราตระหนักเรื่องนี้  ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี  ฉะนั้นเราต้องสร้างสังคมสุจริต  ต่อต้านการทุจริต  การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  วันนี้จะเป็นเวทีการวางรากฐานยกระดับการป้องกันการทุจริต  สิ่งที่เราทำคือ ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลังพลเมือง”  นายสินกล่าว

เขาบอกด้วยว่า  การขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชน  ไม่ได้ทำเพราะได้รับงบประมาณ   แต่จะทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในพื้นที่  ตำบล จังหวัด ประเทศ   สิ่งที่เราทำจะทำเหรียญ 2 ด้าน  ด้านหนึ่งคือ  การสร้างสังคมสุจริต  อีกด้านคือ การต่อต้านทุจริต

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  เครือข่ายภาคประชาชนได้ทำ 4 เรื่อง  คือ 1.สร้างสำนึกประชาชน  2.สร้างพื้นที่โปร่งใส  3.ทำเรื่องธรรมาภิบาลให้เข้มข้น  4.ต่อต้านทุจริต   โดย พอช.ได้สนับสนุนเรื่องนี้    และกำลังจะยกระดับเพื่อทำเรื่องนี้ให้ใหญ่ขึ้น

ปลุกพลังทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา

นายวิเชียร พงศธร  ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า  เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนคนไทยทุกคน โครงการขนาดใหญ่ที่โกงกินกัน  กระทบพวกเราทุกคน  ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางสังคม  ปัญหาความไม่ยุติธรรม ไม่ปลอดภัย  เรื่องการศึกษา  การดูแลคนพิการ การดูแลสาธารณสุข เพื่อนร่วมชาติของเราทุกคน  ทำอย่างไรให้ทุกคนใส่ใจ

4
นายวิเชียร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

               เขาบอกว่า  หากย้อนกลับไปจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม  ดังนั้นเราต้องสร้างให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้ทั่วประเทศ  ไปเชิญชวนคนเหล่านี้  ต้องคาดหวังว่าในอนาคตเราจะมีสังคมที่มีคุณภาพ  สังคมคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริต  ต้องทำให้คนตระหนักรู้  ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน ร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข  เป็นหูเป็นตา      มีช่องทางติดตามพฤติกรรม

เช่น  นักการเมืองที่เข้าสู่การบริหารท้องถิ่น  นักธุรกิจ พ่อค้า องค์กรต่างๆ ผู้อำนวยการโรงเรียน  ว่าทำหน้าที่ถูกต้องหรือเปล่า  โดยจะต้องมี 1.ข้อมูลที่สามารถเข้าถึง   ความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเหล่านี้  จึงจะมีการเฝ้าระวัง  2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง  3.ช่องทางในการแจ้งเหตุ  ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน  และ 4.ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรุ่นใหม่

            หน่วยงานต่าง ๆ  พอช.  ป.ป.ช.  สตง. ภาคธุรกิจ  นักวิชาการ  สื่อสารมวลชน  ภาคประชาชน ต้องร่วมมือ เสริมพลังซึ่งกันและกัน เครื่องมือที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมี คือการผลักดันข้อกฎหมาย  พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Act AI ข้อมูลภาครัฐจัดแยกเป็นประเภทของโครงการ ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คู่สัญญา มีกลไก AI ในการวิเคราะห์ปัญหา” นายวิเชียรกล่าว  และย้ำว่า เรื่องสำคัญ คือ พลังประชาชนต้องขับเคลื่อน  โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ

5
เว็บไซต์  actai.co ‘จับโกง’

               ในงานสัมมนาครั้งนี้ผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้นำเสนอเว็บไซต์ actai.co ขององค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือการตรวจสอบหรือค้นหาเบาะแสการทุจริตในประเทศไทย  โดยเฉพาะโครงการจัดจ้างต่าง ๆ ของภาครัฐ  โดยผู้ค้นสามารถใส่คำค้นหาชื่อหน่วยงาน  พื้นที่โครงการ  หรือบริษัท  จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลและค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็น  นอกจากนี้ในแต่ละโครงการจะมีสัญลักษณ์  สีเหลือง  เขียว  แดง ที่บ่งบอกสถานะว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตมากน้อยแค่ไหนด้วย

พอช.-ขบวนองค์กรชุมชนพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย  หากมีการปฏิรูปภาษีใหม่ อาจจะนำภาษีมาดูแลผู้สูงอายุได้เพียงพอ  จะทำให้เราหวงแหนเรื่องภาษี  ผลงานที่เราทำได้รับรางวัลจาก ป.ป.ท. ถือเป็นกำลังใจ  ทำเรื่องนี้เพื่อให้รู้ว่าต้องปกป้องภาษีของพวกเรา  ป้องกันเรื่องทุจริตให้ลดน้อยลง  จากตัวเลขสถิติไม่ดีขึ้น  แนวโน้มกลับรุนแรงมากขึ้น  และการทำเรื่องต่อต้านการทุจริตนี้  ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับ พอช.  เพราะที่ผ่านมา พอช. ทำงานพัฒนามิติต่าง ๆ  พอทำเรื่องต่อต้านทุจริตก็ทำได้ดีด้วย  ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคตนั้น  ตนมีข้อเสนอดังนี้

6
นายวิชัย  รอง ผอ.พอช.

1.ใช้ต้นทุนที่ทำมา 2-3 ปี จะขยายเต็มพื้นที่ได้อย่างไร  เป็นเรื่องร่วมเป็นวาระของชาติ  หน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้  ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  2.ต้องสร้างเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมร้อยให้เป็นขบวนการ เคลื่อนร่วมกันทั้งประเทศ  3.เรื่องการป้องกันต่อต้านทุจริตต้องเป็นภารกิจของทุกประเด็นงาน  ทำให้เป็นเรื่องร่วมของขบวนองค์กรชุมชน

4.การสานพลังความร่วมมือที่เป็นพลังของสังคม เครือข่ายอื่น ๆ เช่น สภาเด็กและเยาวชน   องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน   5.สร้างพื้นที่รูปธรรมระดับตำบล จังหวัด เครือข่ายต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูล Mapping พื้นที่ และสื่อสารสู่สาธารณะ  6.การจัดสมัชชา  การรณรงค์ ประกาศตัวตน จัดร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง บทบาทของภาคีและการขับเคลื่อนสังคมสุจริตร่วมกัน

“สิ่งสำคัญ ในส่วนของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน การสร้างระบบธรรมาภิบาล  ต้องทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย  ประเด็นงานที่อยู่อาศํย สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการองค์กรชุมชน เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทั้งหมดเป็นเครื่องมือ กระบวนการที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  สร้างคน สร้างขบวน ให้เกิดการตั้งหลักจากพื้นที่และมีภูมิคุ้มกัน เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้”  นายวิชัย  รอง ผอ.พอช. กล่าวทิ้งท้าย

ทิศทาง-เป้าหมายสู่สังคมสุจริต

การจัดงาน ‘การสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต’ ในครั้งนี้  ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น  และกำหนดทิศทาง-เป้าหมายการสร้างสังคมสุจริต  โดยมีข้อเสนอเริ่มต้นการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับตำบล-ประเทศ  ดังนี้

ระดับตำบล   1.มีคณะทำงานที่มีความโปร่งใส  2.มีกระบวนการสร้างการรับรู้  เรียนรู้  ตระหนักถึงปัญหาการทุจริต  และมีเวทีแลกเปลี่ยนการทำงาน  3.มีข้อตกลง กติการ่วมในการทำงาน  4.ใช้ทุนทางวัฒนธรรม  ทุนทรัพยากร  ทุนเครื่องมือการพัฒนา  ในการทำงาน  ขยายผลพื้นที่รูปธรรม  5.สร้างช่องทางการสื่อสารของภาคประชาชน   ยกระดับความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานภาคี  และเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีให้มากขึ้น

ระดับจังหวัด  1.สร้างประเด็น  วาระร่วมระดับจังหวัด  ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม  2.มีกลไกที่เป็นทางการ ( มีผวจ.เป็นประธาน)  และกลไกที่ไม่เป็นทางการ  ออกแบบการทำงานหนุนเสริมกัน  3.มีระบบป้องกันการทุจริต  4.มีช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ

ระดับภาค  1.สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส ยุติธรรม  นำสู่ความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชน  2.มีเวทีเรียนรู้การทำงาน  พัฒนาศักยภาพคนในชุมชน  หนุนเสริมการทำงานร่วมกัน  3.มีศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชน  สร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริต  4.สมัชชาภาคประชาชนสร้างสังคมสุจริต  มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและระดับประเทศ

ระดับประเทศ  1.แก้ไขโครงสร้างระบบอุปถัมภ์  โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด 2.รัฐมีช่องทางการแลกเปลี่ยนสะท้อนข้อมูล  และแนวทางการดำเนินงานป้องกันการทุจริต  3.สร้างเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันและต่อต้านการทุจริต  ฯลฯ

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันกำหนดแผนการขับเคลื่อนงานในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2566 เช่น  1.รวบรวมกลุ่มแกนนำผู้ก่อการดี   2.วิเคราะห์พื้นที่ปัญหา  3.สร้างพันธมิตรความร่วมมือ  4.วางแผนปฏิบัติการ  ฯลฯ  โดยมีแผนปฏิบัติการเร่งด่วน  เช่น  จัดทำเวทีเสนอผลการดำเนินงาน  จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมืองภายในเดือนเมษายนนี้  ฯลฯ

7
ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ