8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชน ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี “ธนาคารต้นยางเหียง-ขยะสร้างเงิน”

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชน ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี “ธนาคารต้นยางเหียง-ขยะสร้างเงิน”

กองทุนสวัสดิการชุมชน ต.เสวียด  อนุรักษ์ต้นยางเหียง  และจัดการขยะในตำบล

 ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด’  เป็น 1 ใน 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’  โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  กรุงเทพฯ 

‘18 ปี’ กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 5,915 กองทุน  

กองทุนสวัสดิการชุมชน  เป็นกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เช่น  สวัสดิการด้านพื้นฐาน  ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของจำเป็น  ในยามเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  หรือช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก  เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ  เสมือนเป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนทางสังคม

            นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน  เช่น  การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ  อนุรักษ์ป่าไม้  ป่าชุมชน  ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา  สร้างแหล่งอาหาร  ดูแลแหล่งน้ำในการเกษตร  ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี  วัฒนธรรม  การดูแลและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน

ดังเช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด  ที่สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ และชาวบ้านในตำบลร่วมกันอนุรักษ์และดูแลป่าต้นยางเหียง  จัดการขยะ  และสิ่งแวดล้อม  จนได้รับรางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ฯ ‘ประเภทที่ 5  ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ’  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนบทความ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เอาไว้เมื่อ 50 ปีก่อน (ตุลาคม 2516)

            ดังข้อความตอนหนึ่งว่า… “ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจและน้ำสะอาดสำหรับดื่ม” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds.tu.ac.th/puey )    

ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขตในกรุงเทพฯ แล้ว  จำนวน 5,915 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย  มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน  1,970,314 ราย  เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ

3
ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ผู้มีแนวคิดให้รัฐจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน

จากสวัสดิการชุมชนสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม

ตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 92 ตารางกิโลเมตร   ประชากรประมาณ 5,000 คน อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าฉางประมาณ 38 กิโลเมตร   ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ทำสวน  แต่ภายหลังเริ่มหันมาปลูกยางพารา  เมื่อยางราคาตกต่ำ  ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน  ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มตั้งอยู่ในตำบล จำนวน 3  แห่ง

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด ก่อตั้งในเดือนกันยายน 2551 มีสมาชิกแรกตั้งจำนวน 112 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,062 คน คิดเป็น 17.46% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีเงินกองทุนหมุนเวียน 932,152 บาท                   มีคณะกรรมการบริหารกองทุน จำนวน 21 คน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากองทุน 7 คนมาจาก อบต.เสวียด  รพ.สต.       เสวียด  ฯลฯ

การจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก  เช่น เกิด  เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษา บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณประโยชน์   การพัฒนาอาชีพ  กิจกรรมเยาวชน  กีฬา  การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

นอกจากการจัดสวัสดิการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยังเสวียดยังขยับขยายไปสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนและชาวบ้านทำการเกษตรที่ปลอดภัย  การปลูกปาล์มที่ยั่งยืน  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการจัดการขยะในชุมชนด้วย

โดยก่อนหน้านี้  ชาวตำบลเสวียดได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในตำบล  เช่น  ฝุ่นควันจากโรงงาน  ทำให้คนเสวียดเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ  ฝนตกจากฟ้าเป็นฝนกรด เขม่าดำเต็มหลังคาบ้าน   ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปเจรจากับโรงงานจนสามารถแก้ไขปัญหาได้  หลังจากนั้นจึงขยายไปทำเรื่องการเกษตรปลอดภัย  โดยเฉพาะการปลูกปาล์มที่เป็นอาชีพสำคัญของชาวเสวียด  เริ่มโครงการนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา

โดยการทำสวนปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน Roundtable on Sustainable Palm Oil  หรือ RSPO โดยมีข้อบังคับ  เช่น  ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้าในสวนปาล์มเพื่อป้องกันสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำ  ไม่แผ้วถางป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

ผู้ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินให้น้อยที่สุดและปกป้องแหล่งน้ำ  และต้องใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชน  เช่น  การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ การไม่ใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ โดยมีเกษตรกรในตำบลเสวียดให้ความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนกว่า 100 ราย…

‘ธนาคารยางเหียง’ และผลพลอยได้

การร่วมโครงการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนส่งผลต่อกระแสการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วย เพราะนอกจากการปลูกปาล์มที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียดยังมีส่วนสำคัญในการดูแลป่าและต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตำบล  นั่นคือ ‘ต้นยางเหียง’  ซึ่งในภาคใต้พบต้นยางเหียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติขึ้นอยู่หนาแน่นเฉพาะที่ตำบลเสวียดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น !!

4
ป่ายางเหียงขึ้นอยู่หนาแน่นที่บ้านเหียง  ตำบลเสวียด

สมหมาย  พรหมอุบล  อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านเหียง  บอกว่า  ต้นยางเหียงเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นยางนา  ในตำบลเสวียดต้นยางเหียงจะขึ้นอยู่เฉพาะในหมู่ที่ 5  จึงเรียกชื่อว่า “บ้านเหียง” เมื่อก่อนมีเยอะ  เป็นหมื่นๆ ต้น  แต่ป่าเหียงถูกบุกรุก  หรือถูกโค่นเอาไปใช้งาน  เพราะเหียงเป็นไม้เนื้อแข็ง  มอดไม่กิน  นอกจากนี้ในสมัยก่อน  ชาวบ้านจะใช้น้ำมันยางจากต้นเหียงมาใช้ทำ ‘ไต้’ จุดให้แสงสว่าง  ใบใช้ห่อของ

“พอป่าเหียงถูกบุกรุกทำลายมาก  ประมาณปี 2548  ผมจัดประชุมชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยกันอนุรักษ์ต้นเหียงเอาไว้  เพราะเป็นไม้หายาก  โตช้า  และในป่าเหียงจะมีเห็ดต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน  ประมาณเดือน 5 เดือน 6  โดยเฉพาะเห็ดเผาะจะมีเยอะ  คนหนึ่งหาเห็ดเผาะขายได้เงินเป็นหมื่น  บางคนบอกว่าหาเห็ดฤดูนึงก็จะมีเงินไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า  ซื้อตู้เย็นได้”  อดีตผู้ใหญ่บ้านเหียงบอก

ส่วนข้อมูลด้านสมุนไพร  พบว่า ใบเหียงมีรสฝาด  ตำรายาไทยจะใช้ใบเหียงนำมาต้มผสมกับน้ำเกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน  แก้ฟันโยกคลอน  เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้  แก้ตานขโมย  นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย เป็นยาแก้บิด  น้ำมันยางช่วยขับเสมหะ  ฯลฯ
จากการริเริ่มอนุรักษ์ยางเหียงของผู้ใหญ่สมหมายตั้งแต่ปี 2548  ต้นยางเหียงจึงอยู่คู่กับชาวตำบลเสวียดมาจนถึงปัจจุบัน   โดยมีพื้นที่ป่าเหียงรวมกันประมาณ 1,000 ไร่  จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 4,731 ไร่  และต่อยอดมาเป็นโครงการ ‘ธนาคารต้นยางเหียง’ ในปัจจุบัน

ธนาคารต้นยางเหียง  จัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2565  มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ต้นยางเหียงแบบมีส่วนร่วม พัฒนาพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น  หน่วยราชการในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ฯลฯ

มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในการดำเนินการโครงการธนาคารต้นยางเหียง และชี้แจงทำความเข้าใจการเข้าใช้พื้นที่จาก อบต.เสวียด  แต่งตั้งคณะทำงานโครงการธนาคารต้นยางเหียง ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคเอกชน อบต.เสวียด ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชน ตัวแทนประชาชนในพื้นที่  ฯลฯ

เสนอรับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการธนาคารต้นยางเหียงจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) โดยกองทุนสวัสดิการฯ ได้รับงบสนับสนุน 249,600 บาท เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น  จัดอบรมให้ความรู้สมาชิกสำรวจแม่พันธุ์ต้นยางเหียง  สำรวจพื้นที่ การตีแปลง วัดขนาด ความสูง จัดเก็บพันธุ์ต้นยางเหียง จำนวน 500 ต้น  การขึ้นทะเบียนแม่พันธุ์  นำเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  ฯลฯ

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ กับอบต.เสวียด และ ธ.ก.ส. จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่ารวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณพื้นที่ว่างเปล่าของป่าทุ่งจอ จำนวน 10,000 ต้น  ร่วมกันดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนเพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในอนาคต

5
ต้นยางเหียงที่ขึ้นทะเบียนและทำเครื่องหมายแล้ว 500 ต้น  ต้นยางเหียงเปลือกต้นจะแตกร่อนต่างจากยางนา

‘เหียง’ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

1.เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือของสมาชิกกองทุนสวัสดิการ ชุมชน  หน่วยงานภาคีทั้งรัฐและเอกชน  มีการตั้งคณะทำงาน  การติดตามผล การดูแลต้นยางเหียงที่ปลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง  การวิจัยเพื่อนำยางเหียงมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดโดยความร่วมมือจากหน่วยงานวิชาการต่างๆ

2.เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพันธุ์ต่างๆ ภายในป่ายางเหียงล้วนได้รับการอนุรักษ์ไปด้วย  เกิดป่าชุมชนในตำบลเสวียดบนพื้นที่ 50 ไร่   ขึ้นทะเบียนพืชสมุนไพรจำนวน 205 ชนิด  สำรวจแม่พันธุ์ต้นยางเหียงและขึ้นทะเบียนแล้ว 500 ต้น  เตรียมขยายพันธุ์ต้นยางเหียงในปี 2566 จำนวน 5,000 ต้น

ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ  ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าช่วยลดการพังทลายของดินจากการยึดเกาะของราก  ช่วยชะลอความแรงของน้ำป่าในฤดูน้ำหลาก   ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้ว 10,000 ต้น เช่น  ยางเหียง ยางนา มะฮอกกานี ตะเคียน ขี้เหล็ก ฯลฯ

ผลด้านสังคม   สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า  ส่งเสริมการรวมกลุ่มในชุมชน คือ มีระเบียบป่าชุมชน  คณะกรรมการป่าชุมชน คณะทำงานธนาคารต้นยางเหียง  สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน  หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา  สร้างความรู้ความเข้าใจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐเรื่องการรุกล้ำที่ดิน

ผลด้านสุขภาพ  ส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลเสวียด  โดยการส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว  ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก  ลดปัญหาการปล่อยก๊าซ ฝุ่นละลอง ควัน  จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่  สมาชิกกองทุนสวัสดิการและคนในชุมชนที่มีปัญหาทางเดินหายใจมีสุขภาพดีขึ้นจากการเก็บข้อมูลของ อสม.ในพื้นที่

เกิดความมั่นคงทางอาหาร   โดยการเก็บเห็ด หน่อไม้  น้ำผึ้ง  ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการผู้สูงวัยที่เข้าไปใช้ประโยชน์  การจัดเก็บข้อมูลพบว่า สามารถสร้างรายได้จากการใช้พื้นที่ป่า 2,500 บาท/คน หรือคิดเป็นรายได้รวม 87,500 บาท/ปี  และช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนลงได้ 600 บาท/คน หรือคิดเป็นรายจ่ายที่ลดลงทั้งหมด 21,000 บาท

ชุมชน-เยาวชน เกิดจิตสำนึก  เห็นคุณค่าของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และในอนาคต กองทุนสวัสดิการจะพัฒนาพื้นที่ป่ายางเหียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนและแหล่งศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศ

นอกจากนี้ในปี 2566 ทางกองทุนฯ มีกิจกรรมเพาะและขยายพันธุ์ต้นยางเหียง จะทำให้สมาชิกมีรายได้จากการจำหน่ายกล้าพันธุ์ยางเหียงให้แก่หน่วยงานที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่

6

โครงการ ‘ขยะสร้างเงิน ชุมชนปลอดถัง’

จำนวนประชากรในตำบลที่เพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง มีแรงงานจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัย  จากข้อมูลปริมาณขยะในชุมชนพบว่า  มีขยะ 4 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ 64 %  ขยะรีไซเคิล 30 %  ขยะทั่วไป 3 % และขยะอันตราย 3 %

ก่อนเริ่มโครงการฯ  ชุมชนไม่มีการคัดแยกขยะ แยกขยะไม่เป็น ทิ้งขยะตามพฤติกรรมที่เคยชิน คือ การทิ้งรวมๆ กัน การขุดหลุมและนำไปฝังพร้อมกับการเผา  ทำให้ขยะบางประเภทที่ไม่ไหม้ หรือไหม้ไม่หมดจะเหลืออยู่ในหลุม เมื่อเกิดน้ำท่วม  ขยะจะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง

นอกจากนี้ อบต.เสวียดมีงบประมาณในการจัดการขยะไม่มากนัก ไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นของตนเอง  ต้องนำไปทิ้งในตำบลอื่น  ขณะที่ตำบลอื่นก็มีปัญหาเรื่องขยะเหมือนกัน  ก่อให้เกิดการหมักหมมและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของแมลงวัน และกลิ่นรบกวน

พันเอกวินัย  คำสุวรรณ  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด  บอกว่า  จากปัญหาดังกล่าว กองทุนสวัสดิการฯ จึงได้คิดโครงการ ‘ขยะสร้างเงิน ชุมชนปลอดถัง’ ขึ้น  โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1.จัดตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขยะตำบลเสวียด   จำนวน 22 คน  2.ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ  ในตำบล รวม 14 คน   3.จัดทำแผนการดำเนินงานการแก้ปัญหาขยะตำบลเสวียดรายปี พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาสุขภาวะของตำบลเสวียด ผ่านธรรมนูญสุขภาพตำบลเสวียด

4.รณรงค์ให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาขยะ และเห็นถึงความสำคัญของการเริ่มต้นคัดแยกขยะในครัวเรือน ผ่านกิจกรรมต่างๆ  เช่น  เดินรณรงค์ในงานกีฬาสีของชุมชน งานวันลอยกระทง  ติดป้ายรณรงค์ริมทาง

5.จัดอบรมให้ความรู้สมาชิกและชุมชนเพื่อคัดแยกขยะ ให้ อสม.ถ่ายรูปขยะแล้วตั้งคำถามว่า “ขยะไปไหน ?”     โพสต์ลงกลุ่มต่างๆ  การแข่งขันคัดแยกขยะ  โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสีเหมือนการแข่งขันกีฬาสี  นำขยะรีไซเคิลมาขายให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน  นำเงินที่ได้ไปจัดกิจกรรม  การท่องเที่ยวประจำปีของกลุ่ม อสม.

7
 อสม.และสมาชิกกองทุนสวัสดิการจะนำขยะมาขายให้กองทุนฯ ทุกวันที่ 25 ของเดือน

จิราภรณ์  สาระคง   ผู้อำนวยการ รพ.สต. เสวียด  บอกว่า  อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ในตำบลเสวียดมีทั้งหมด 143 คน   ที่ผ่านมา  อสม.มีบทบาทในการจัดการขยะในที่สาธารณะ  แต่หยุดไปในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด  และในปี 2565 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น  อสม.จึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

โดย อสม.จะรณรงค์ให้ชาวบ้านในตำบลคัดแยกขยะในครัวเรือน  ขยะเปียกนำมาทำปุ๋ย  ใช้ใส่ในแปลงผักสวนครัว  ส่วนขยะรีไซเคิล  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก  ขวดน้ำดื่ม  ให้รวบรวมนำมาขายให้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ทุกวันที่ 25 ของเดือน  รายได้จะนำมาเข้ากองทุน อสม. เพื่อนำไปจัดกิจกรรมต่างๆ

พันเอกวินัย  ประธานกองทุน  กล่าวเสริมว่า จากการแพร่ระบาดของสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกกองทุนบางส่วนไม่สามารถหาเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนจำนวน 365 บาท/ปี  กองทุนจึงให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมามอบให้กองทุน  เพื่อแลกเป็นเงินสมทบเข้ากองทุน

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  สมาชิกสามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินสมทบได้จำนวน 25,550 บาท นอกจากนี้ขยะรีไซเคิลส่วนที่มีมูลค่าเกินจาก 365 บาทของสมาชิกแต่ละคน  ทางกองทุนได้ให้เป็นเงินคืนกลับไปยังสมาชิกตามมูลค่าที่เกิดขึ้น  ส่วนขยะรีไซเคิลที่กองทุนขายต่อให้โรงงานรวมเป็นเงิน 31,500 บาท

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้ในการทำ ‘ถังรักษ์โลก’ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากขยะเปียกที่ย่อยสลายได้ พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำถังรักษ์โลกให้แก่สมาชิกกองทุนจำนวน 50 ราย  และอสม.สนับสนุน 143 ราย   อำเภอท่าฉางสนับสนุน 90 ราย  กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสนับสนุน 9 ราย รวมการสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำถังรักษ์โลกแก่สมาชิกกองทุนทั้งสิ้น 292 ราย

การปลูกผักปลอดสารเคมีและสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก  โดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ผัก  เช่น พริกสด ขมิ้น กระชาย พริกไทยดำ ข่า  ฯลฯ  ส่งขายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเครื่องแกงบ้านเสวียด  และนำผักไปขายตามตลาดและสถานที่ต่างๆ   เช่น  ตลาดนัดชุมชน  ตลาดนัดเกษตรกร  ส่งให้โรงพยาบาลสมุย  โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการมีรายได้จากการขายผักรวมกันมากกว่า 15,000 บาท/เดือน

ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะ

1.ชุมชนเกิดจิตสำนึก ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะตามทางสาธารณะ ลดการเผาขยะ สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาขยะมูลฝอยครัวเรือนมากขึ้น ลดปัญหาผลกระทบต่อน้ำผิวดิน น้ำใต้ดินที่มาจากการวางขยะกองบนพื้นหรือขุดหลุมฝังโดยไม่มีการป้องกัน  ลดปัญหาด้านคุณภาพอากาศจากขยะมูลฝอยตกค้างส่งกลิ่นเหม็น  ลดปัญหาฝุ่นละอองและควันที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ

8

2.ด้านสังคม กองทุนสวัสดิการฯ สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและคนในชุมชนในการแก้ปัญหาขยะในตำบล   สร้างเครือข่ายระหว่างกองทุน ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

3.ด้านสุขภาพ ลดแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษจากการทิ้งขยะไม่ถูกต้อง แก้ปัญหาจากสัตว์พาหะนำโรค เช่น  แมลงวัน หนู  ลดการแพร่กระจายของโรค เช่น โรคบิด ตาแดง โรคผิวหนัง  ฯลฯ  การจัดการขยะที่ถูกวิธีทำให้บ้านเรือนสะอาด  ลดปัญหาด้านสุขภาพ

4.ผลด้านเศรษฐกิจ  สร้างรายได้ ลดรายจ่าย  โดยสมาชิกกองทุนสวัสดิการ  จำนวน 30 คน  มีรายได้จากการขายผักเฉลี่ย 500 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็นรายได้รวม 200,000 บาท/ปี   ช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนจากการบริโภคผักที่ปลูกเองได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/คน/เดือน  รวม 360,000 บาท/ปี

สมาชิกคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือนจำนวน 50 ราย มีรายได้เฉลี่ยจากการขายขยะรีไซเคิลอยู่ที่ 250 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็น 150,000 บาท/ปี  นอกจากนี้การนำขยะเศษอาหารจากครัวเรือนใช้เลี้ยงไก่   หมู  ยังช่วยลดรายข่ายในครัวเรือนได้  ฯลฯ

นี่คือผลงานด้านการอนุรักษ์ต้นยางเหียง  การจัดการขยะ  ส่งเสริมการปลูกผักโดยใช้ขยะเปียกมาสร้างประโยชน์  สร้างมูลค่า   ฯลฯ  นำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ครอบคลุมหลากหลายมิติ  เป็นผลงานที่สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนและคนตำบลเสวียดภาคภูมิใจ  และเหมาะสมยิ่งกับ ‘รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์’ ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ..!!

9

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ