ขบวนองค์กรชุมชนราชบุรี ประสานพลังภาคีลงนามบันทึกความร่วมมือ สร้างโอกาสในการเชื่อมโยง บูรณาการทำงานร่วมกัน

ขบวนองค์กรชุมชนราชบุรี ประสานพลังภาคีลงนามบันทึกความร่วมมือ สร้างโอกาสในการเชื่อมโยง บูรณาการทำงานร่วมกัน

ราชบุรี : วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรี ร่วมกับ พอช. จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือรับงบประมาณและขับเคลื่อนงานพัฒนา โดยพื้นที่เป็นตัวตั้งชุมชนเป็นแกนหลัก ปี 2566 โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม ร่วมเป็นสักขีพยานพร้อมทั้งรับฟังการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน และ พอช. เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมโยง บูรณาการทำงานร่วมกัน

หน่วยงานที่เข้าร่วมในครั้งนี้ อาทิ นายอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผู้แทนสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน  ภาคประชาสังคม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. แต่ละหน่วยงานได้มีการนำเสนอบทบาทภารกิจการทำงานของตนเอง และแนวทางการสร้างความร่วมมือการทำงานในระดับพื้นที่

89735

นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอโพธาราม กล่าวว่า ตนเองได้รู้จักสภาองค์กรชุมชนตอนที่ดำรงตำแหน่งปลัดอาวุโสอำเภอโพธาราม แต่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกัน จนกระทั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบบ้านเรือนประชาชนมีสภาพทรุดโทรม จึงได้มีการสำรวจข้อมูลและจัดหางบประมาณมาดำเนินการทั้งในส่วนของการจัดกิจกรรมทอดผ้า ขอรับงบสนับสนุนจาก อบจ. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ พอช. โดยผ่านทางสภาองค์กรชุมชน ได้มีการเสนอขอรับงบประมาณโครงการบ้านพอเพียง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่มีงบประมาณมาสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ และให้ข้อเสนอแนะว่าผู้นำควรมีการหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติมเนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอ

ทางด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้เข้ามามีส่วนร่วมการทำงานในพื้นที่ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม ผ่านโครงการ U2T โดยมีการบูรณาการงบประมาณและการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและ พอช. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมรายได้ด้านเกษตรสมุนไพรให้คนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีรายได้จากการปลูกสมุนไพรเพิ่มเติมจากการปลูกข้าว ในส่วนของท้องถิ่น นายสุเมธ แก้วใสทับ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน กล่าวว่าได้ยินชื่อ พอช. มานาน แต่เพิ่งได้รับทราบว่ามีการทำงานในหลายมิติและเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งท้องถิ่นเองก็มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลประชาชน จึงถือว่าการทำงานของ พอช. เป็นการช่วยเหลือท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน และยินดีที่จะเข้ามาสนับสนุนและสานต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งมองว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน

ผู้แทนสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กศน.มีหน้าที่ในการดูแลให้การศึกษากับเยาวชน และยังมีกิจกรรมและงบประมาณสนับสนุน โดยมีแผนการดำเนินโครงงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทักษะชีวิต ในด้านการสร้างอาชีพ ซึ่งมีงบประมาณในการสนับสนุนด้านอาชีพตามความต้องการของแต่ละตำบล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ พอช. และสภาองค์กรชุมชน ทั้งนี้ ให้ประสานกับครูในพื้นที่เพื่อนำเข้าแผนและจัดงบประมาณ กศน.ยินดีเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนในชุมชนเป็นหลัก

ในส่วนของภาคประชาสังคม นายทศพล แก้วทิมา ภาคีภาคประชาสังคม กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความมุ่งหวังในรูปแบบเชิงปฏิบัติการ มี 2 สถานะ คือ การตั้งสถาบันสยามปัญญา เพื่อพัฒนาเรื่องปากท้อง วิถีชุมชน ศิลปะวัฒนธรรม ทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาในระดับประเทศ ส่วนในระดับพื้นที่มีการตั้งสมาคมสร้างสรรค์จังหวัดราชบุรี มีการทำงาน 2 ส่วน คือ ระดับท้องถิ่นใช้ตำบลโพหักเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนระดับจังหวัดเน้นการสร้างเครือข่ายเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์ให้จังหวัดราชบุรีไปสู่มิติที่ต้องการเห็น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ต่อมาต่างแยกย้ายกันทำงาน จึงตั้งใจชวนพี่น้องมาทำงานร่วมกันในลักษณะเชื่อมประสานให้ทุกขบวนมองเป้าหมายเดียวกัน ผนึกกำลังทำงานร่วมกัน โดยใช้กระบวนการจิตอาสา ลงแขกทำงานอย่างเต็มพื้นที่ เต็มกำลัง โดยปีที่ผ่านมาสามารถเชื่อมต่อพี่น้องภาคประชาสังคมได้ และปีนี้จะขยับงานในพื้นที่นำร่อง

สุดท้ายนายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค (ปฏิบัติการพื้นที่) สำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดเวทีบันความร่วมมือในหลายๆ จังหวัด ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างชุมชนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดย พอช.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่ให้กับขบวนองค์กรชุมชนมาเป็นระยะเวลา 23 ปี เป็นเครื่องมือให้กับประชาชนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการสวัสดิการชุมชน การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจฐานราก การป้องกันและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยภาคประชาชน โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเป็นพื้นที่กลางเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย

“วันนี้ถือว่าเป็นภาพความร่วมมือซึ่งมีทั้งสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือ ตัวอย่างเช่น โครงการบ้านพอเพียงแม้ว่าจะมีการขับเคลื่อนงาน แต่ยังขาดการจัดการความรู้จากภาควิชาการ และการเติมเต็มงบประมาณการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านจากหน่วยงานอื่นๆ วันนี้เป็นวันสำคัญในการทำบันทึกความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เป็นมิติสำคัญที่เราจะใช้โครงการเป็นเครื่องมือให้เกิดการทำงานแก้ปัญหาให้กับพี่น้องที่ยากจนและด้อยโอกาสในพื้นที่” ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตกกล่าว

สำหรับในครั้งนี้ เป็นการบันทึกข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการระหว่างขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรีกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีหน่วยงานภาคีในจังหวัดเป็นสักขีพยาน ซึ่งในปี 2566 จังหวัดราชบุรีได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 6,340,120 บาท เป็นงบประมาณโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ 468,690 บาท โครงการสวัสดิการชุมชน 1,856,930 บาท โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท 506,000 บาท และโครงการบ้านพอเพียง 3,508,500 บาท

รายงาน : เรวดี อุลิต/ ภัทรภร ผ่องอำไพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ