8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (2) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ‘วังกะพี้’ กับการพัฒนาผู้สูงวัยให้มีคุณภาพ

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (2) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ‘วังกะพี้’ กับการพัฒนาผู้สูงวัยให้มีคุณภาพ

กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ วังกะพี้ใช้รำกลองยาวเป็นเครื่องมือสร้างความสุข-พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในตำบล

  ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้’  เป็น 1 ใน 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’  โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  กรุงเทพฯ  

กองทุนสวัสดิการชุมชน  เป็นกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เช่น  สวัสดิการด้านพื้นฐาน  ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของจำเป็น  ในยามเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  หรือช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก  เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ  เสมือนเป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนทางสังคม

            นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน  เช่น  การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ  อนุรักษ์ป่าไม้  ป่าชุมชน  ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา  สร้างแหล่งอาหาร  ดูแลแหล่งน้ำในการเกษตร  ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี  วัฒนธรรม  การดูแลและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน

นอกจากนี้ยังถือเป็นการ ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’ ขึ้นมาด้วย  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)

รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’

กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานบริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง

ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขตในกรุงเทพฯ แล้ว  จำนวน 5,915 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย  มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน  1,970,314 ราย  เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ

2

ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน  เช่น  สถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds.tu.ac.th/puey) โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2559 เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  โดยจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทุกวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

3
ดร.ป๋วยผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท และเสนอแนวคิดด้านสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในปี 2516

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้  รางวัล ‘ด้านการพัฒนาlสังคมสูงวัย’

เทศบาลตำบลวังกะพี้  อ.เมือง  จ.อุตรดิตถ์  มี 9 หมู่บ้าน จำนวน 3,440 หลังคาเรือน  ประชากรรวม  9,860 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และประกอบอาชีพรับจ้าง

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้  ก่อตั้งในเดือนธันวาคม 2556  เป็นกองทุนที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในตำบล  โดยมีแนวคิดในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในตำบล  และดูแลกันตั้งแต่เกิดจนตาย  บนพื้นฐานของความเอื้ออาทรต่อกัน   โดยมีสมาชิกแรกเริ่ม จำนวน 682 คน ปัจจุบันมีสมาชิกรวม  2,382 คน คิดเป็นร้อยละ 24.16 ของประชากรทั้งตำบล  แบ่งเป็น เด็ก-เยาวชน 84 คน บุคคลทั่วไป 616 คน และผู้สูงอายุ 1,682 คน

การบริหารจัดการ มีการจัดตั้ง คณะกรรมการบริหารกองทุน มีองค์ประกอบจากตัวแทนจากทุกหมู่บ้านในตำบลวังกะพี้ และการคัดเลือกจากสมาชิก มีการจัดโครงสร้างฝ่ายต่างๆ เพื่อร่วมกันบริหารกองทุน  เช่น  ประธานกองทุน ฝ่ายประชาสัมพันธ์  ตรวจสอบ  ฝ่ายส่งเสริมพัฒนา  เป็นต้น

คณะที่ปรึกษา เป็นบุคคลที่ชาวบ้านทุกคนยอมรับและน่าเชื่อถือ  เช่น นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้  กำนัน  ฯลฯร่วมเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษากองทุนฯ การทำงานของคณะกรรมการจะประสานกับแกนนำของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังให้ความสำคัญกับการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น การพัฒนาแกนนำ การเรียนรู้  ขยายผล การดูแลผู้ด้อยโอกาส การขยายสมาชิกให้ครอบคลุมกว้างขวาง และการบูรณาการทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดระบบสวัสดิการแบบองค์รวมขึ้นในตำบล

ส่วนเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนได้มาจากการสมทบของสมาชิกในลักษะไตรภาคี คือ  จากการสมทบของสมาชิก เงินสมทบจากเทศบาลตำบลวังกะพี้ เงินสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และรายได้เงินบำรุงกองทุนที่สมาชิกบริจาค

ปัจจุบันมีเงินกองทุนสะสม รวม 3,307,409 บาท มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก 7 ประเภท ได้แก่ เกิด เจ็บ ตาย การศึกษา  ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เงินให้ยืม  มีแผนงานและผลงานการจัดสวัสดิการโดยใช้กลยุทธ์ เช่น  บริหารแบบครบวงจร  ลดขั้นตอนในการอนุมัติเบิกจ่าย  มีการสำรองเงินสดเพื่อจ่ายสวัสดิการ  มีการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ  เช่น  การสนับสนุนจากภาครัฐ  อปท. พมจ. และเทศบาลตำบลวังกะพี้  เป็นต้น

กองทุนฯ กับการพัฒนาสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพ มีความสุข

ตำบลวังกะพี้ กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย   โดยมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป  จำนวน 2,230 คนจากจำนวนประชากร 9,860 คน  คิดเป็นร้อยละ 22.62 ของจำนวนประชากรทั้งหมด  และมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตในผู้สูงอายุ จำนวน 874 คน คิดเป็นร้อยละ 39.19  ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จำนวน 124 คน คิดเป็นร้อยละ 1.26

เทศบาลตำบลวังกะพี้และกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังกะพี้ เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงวัยในชุมชน จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดโครงการ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ” ขึ้น  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงวัย ได้พบปะสังสรรค์  เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของผู้สูงวัย

มีการดูแลสวัสดิการสังคมแก่สมาชิก  ส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์   มีงานอดิเรก  ส่งเสริมด้านอาชีพ และมีกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมตามความสนใจ เพื่อให้ผู้สูงวัยดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

มีการจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุ” โดยให้ผู้สูงวัยแต่ละหมู่บ้านรวมกลุ่ม ปรึกษาหารือว่า ในกลุ่มของตนต้องการทำอะไร  ทำประชาคมหมู่บ้าน  วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา อุปสรรค และโอกาสการพัฒนาของชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลและนำไปแก้ปัญหา  จัดทำแผนชมรมผู้สูงอายุเสนอต่อเทศบาลเพื่อบรรจุในแผนพัฒนา 4 ปี และขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดอุตรดิตถ์  ฯลฯ

4
นายอนิรุธ  นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้ (ที่ 2 จากซ้าย)

               นายอนิรุธ  ครุฑเมือง นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้ กล่าวว่า  ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และประสบการณ์ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า แม้ผู้สูงอายุจะเข้าสู่วันที่ร่างกายอ่อนแอเสื่อมถอยแล้ว แต่ก็ยังพร้อม และสามารถที่จะช่วยเหลือครอบครัวและสังคมได้   ที่ผ่านมาผู้สูงอายุในชุมชนจะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ขาดการรวมกลุ่ม และขาดการดูแลคุณภาพชีวิตให้เหมาะสม บ้างขาดการเหลียวแลจากสังคม ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นภาระของสังคมในระยะยาว

ตำบลวังกะพี้เป็นชุมชนที่มีอาชีพเกษตรเป็นหลัก ผู้สูงอายุยังต้องรับภาระในการประกอบอาชีพด้านเกษตรทุกอย่าง พี่น้องประชาชนยังไม่ได้ปลดระวางตามที่ราชการกำหนด บางคนอายุ 80 ปี ยังทำอาชีพนี้อยู่ เพราะมีภาวะหนี้สิน รวมถึงการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูและแบ่งเบาภาระของลูกหลาน ประชากรกว่า 22 เปอร์เซ็นที่เป็นผู้สูงอายุ ที่ควรได้รับการดูแลจากลูกหลาน

“สังคมสูงวัยถือเป็นวิกฤตของพื้นที่ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพ มีความสุข จึงมีการจัดทำและคิดโครงการเพื่อให้เกิดการดูแลสวัสดิการชุมชน  โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ประสานกับ กสจ. ให้งบผู้สูงอายุ 38,800 บาท เพื่ออบรมหลักสูตรทำข้าวหลามและขนมเทียน ช่วงหลังเชื่อมโยงกับ พอช. ในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีผู้สูงอายุที่มีบ้านเสื่อมโทรม ไม่มั่นคง จึงมีการกำหนดเป็นแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 360 ครัวเรือน  เพื่อซ่อมสร้างบ้านให้กับผู้สูงอายุได้มีความมั่นคง”  นายกเทศมนตรีบอกถึงแผนงาน

            จกตัวเลขปัจจุบัน  กองทุนสวัสดิการชุมชน  มีสมาชิกจำนวน 2,382 คน   โดยมีสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ 1,682 คน คิดเป็นร้อยละ 70.61 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด  กองทุนสวัสดิการชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมาชิก ผู้สูงอายุด้านสังคม  จึงมีแผนในการเตรียมรองรับ  ดังนี้

ปี 2566 ได้จัดทำโครงการ “แบ่งปันองค์ความรู้ด้านต่างๆ และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุเพื่อสังคมดีมีสุข” และ “โครงการรำกลองยาวสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นคนตำบลวังกะพี้” ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุในตำบล นำไปสู่สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี และการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพสมาชิก จนเกิดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์และความสำคัญของผู้สูงอายุและคนในชุมชนในหลากหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนทุกวัย

กิจกรรมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนให้ครบทุกคน ส่งเสริมฝึกอาชีพ เช่น การทำข้าวหลาม ขนมเทียน ขนมบ้าบิ่น ของดีตำบลวังกะพี้ ประเพณีสลากภัต จัดให้มีบริการตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมสืบสานวัฒนธรรม รำกลองยาวคนวังกะพี้ รวมถึงกิจกรรมศาสนา  ประเพณี  โดยใช้การฟื้นฟูวัฒนธรรมกลองยาวที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขปัญหา

5

‘สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ’

คนวังกะพี้มองว่า “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยระบุว่า สังคมสูงวัย คือ โครงสร้างประชากรที่จะเปลี่ยนไปย่อมส่งผลกระทบในอนาคต  ซึ่งคนวัยทำงานจะต้องรับภาระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็น “สงคราม” ที่ตำบลวังกะพี้ต้องเผชิญ  โจทย์สำคัญของคนวังกะพี้คือ  จะสร้างระบบรองรับได้อย่างไร ?

นางสาวสาวิตรี  บุญหวา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม บอกว่า กองสวัสดิการสังคมได้จัดทำโครงการให้ผู้สูงอายุได้รำและตีกลองยาว โดยให้ผู้สูงอายุที่มีความสามารถมาถ่ายทอด เป็นวิทยากร ด้านส่งเสริมอาชีพ มีการส่งเสริมอาชีพใช้งบกองสวัสดิการ ส่วนด้านสุขภาพ มีการเชื่อมโยงกับ รพ.สต. เพื่อตรวจสุขภาพ เจาะเลือดให้กับผู้สูงอายุ มีโรงเรียนที่มาร่วมเป็นภาคีด้วย  กิจกรรมที่มีคนทุกวัยมาร่วมกัน  เช่น  ทำขนมบ้าบิ่น

กิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมการรำและการตีกลองยาวร่วมกับลูกหลาน ตำบลวังกะพี้มีวัฒนธรรมประเพณีการรำกลองยาวมาตั้งแต่ปี 2531 แต่ได้เลือนหายไป  รวมถึงผู้สูงอายุมีโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีรายได้  มีภาวะความเครียด ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กองทุนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ประสานเชื่อมโยงกลุ่มองค์กร ภาคี หน่วยงานต่างๆ จัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน โดยกำหนดโจทย์ที่จะพัฒนา ใน 3 เรื่อง ได้แก่

1.ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถแสดงคุณค่าให้ลูกหลาน  เด็กๆ มองเห็นชัดเจนขึ้น เพื่อเติมเต็มคุณค่าในตนเองมากขึ้น  โดยนำวัฒนธรรมรำกลองยาวมาใช้ 2.ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลมีแรงจูงใจในการดำรงชีวิต อย่างมีความสุข  ด้วยการตีกลองยาว  3.ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุและเด็กๆ มีอาชีพ และรายได้เสริม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมของตำบลวังกะพี้ กิจกรรมตีกลองยาว เป็นการสืบสานวิถีชีวิตภูมิปัญญา  ฟื้นฟูวัฒนธรรม  โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มาร่วมเรียนรู้

กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับผู้สูงอายุ โดยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น กิจกรรมเผาข้าวหลาม ทำขนมเทียน มีการเชื่อมโยงกับกองทุนสวัสดิการสังคมตำบลวังกะพี้ มีการจัดทำแผนร่วมกัน และได้รับการสนับสนุนจากภาคีอย่างต่อเนื่อง

นายชัยรัตน์  เกตุเทศ ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน  บอกว่า ในตำบลมีไม้ไผ่เยอะ  จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม้ไผ่สร้างคุณค่า จึงนำมาแปรรูปเผาข้าวหลาม และในตำบลมีการปลูกถั่วตามคันนาค่อนข้างมาก ทำให้ราคาตกต่ำ จึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมทำข้าวหลาม เพื่อสร้างมูลค่าและให้ผู้สูงอายุมีอาชีพด้วย และ โครงการปันยิ้มสร้างสุขสองวัย    โดยทำขนมบ้าบิ่น ต่อยอดจากที่ผู้สูงอายุดูแลสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่แล้ว และพาเด็กโรงเรียนวัดวังกะพี้มาร่วมเรียนรู้ด้วย  โดยให้เด็กปั้นบัวลอย จนทำให้เกิดอาชีพจนถึงวันนี้

6

นางสุรางค์  พงษ์ไพบูลย์  สมาชิกกองทุนและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  บอกว่า  กิจกรรมที่กองทุนสนับสนุนสมาชิกในชุมชนเห็นความดีทุกอย่าง เพราะชุมชนร่วมกันทำ ทำให้เราสามัคคีกันมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ไปต่อยอด ได้ความรู้ เป็นกลุ่มสตรี ไปขายที่ตลาดประชารัฐ ได้อาชีพเพิ่มขึ้น ทำให้คนแก่มีรายได้ เมื่อก่อนแยกกันทำ ตอนนี้ก็มารวมกัน สื่อสารถึงกัน เวลามีบุญมีงานก็ไปช่วยกัน ทำให้เรารักกันมากขึ้น

นางจิราภรณ์  พันธ์แตงไทย สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้  บอกว่า อาชีพหลักคือทำสวน  ทำนา  พอมีกิจกรรมโครงการ  ใครถนัดด้านไหน ก็ไปร่วมด้านนั้น เป็นรายได้เสริมของเรา สามารถนำเงินมาเสริมอาชีพหลัก  ทำให้เราได้เงินทุกอาทิตย์  ทุกเดือน

“จากเมื่อก่อนผู้สูงอายุ รวมถึงเด็ก เยาวชน คนวัยทำงาน ต่างคน ต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ เมื่อเกิดชมรมผู้สูงอายุขึ้น จึงมีการพูดคุยนำความรู้ในด้านต่างๆ ของแต่ละคนนำมาประยุกต์ มาใช้ในการทำกิจกรรม มีการถ่ายทอดให้ลูกหลานที่มาเข้าร่วมให้ทำเป็น ตามแต่ละคนสนใจ แล้วนำมาขายในตำบล งานส่วนราชการต่างๆ ทำให้สมาชิกสามารถสร้างรายได้จากการขายขนม วันละ 250-300 บาท”  สมาชิกรายนี้บอก

นายอนิรุธ  ครุฑเมือง นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการประชุมกันตลอดว่า ทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยนั้นมีคุณภาพชีวิตดี กล้าแสดงออก จึงหาเวทีหรือกิจกรรมให้ เช่น นางนพมาศสูงวัย มีการระดมทุน ขายพวงมาลัย รางวัลนางนพมาศสุขภาพดี เป็นจุดเริ่มต้นที่พี่น้องประชาชนอยากให้เราส่งเสริมเพิ่มเติม รวมถึงจุดลอยกระทงจัดริมแม่น้ำ มีนโยบายให้ใช้พื้นที่ริมน้ำ ให้มาค้าขาย ขายของกันเดือนละครั้ง ทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น จึงมีความต้องการและตื่นตัวอยากให้จัดกิจกรรมที่ทำร่วมกันของคนทุกช่วงวัย

“เพราะมองว่าผู้สูงอายุคือพ่อกับแม่เรา ทำอย่างไรให้พ่อแม่เรามีความสุข อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ดึงศักยภาพของเขาออกมา  เพื่อให้เขาแสดงออก เช่น การเผาข้าวหลาม ช่วงก่อนลอยกระทงก็มีการเผาข้าวหลามก่อนเข้าวัด ข้าวต้มก็ทำในช่วงเข้าและออกพรรษา ให้เขามีความสุขตามศักยภาพ มีความสุขที่ยั่งยืน และทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย”   นายกเทศมนตรีบอก

แผนพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย

กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง จำนวน  124 ราย  ในตำบลวังกะพี้  ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ดูแลไม่มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย  กองทุนฯ ได้ประสานงานเรื่องงบประมาณกับ สปสช. มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้ป่วย กองทุนสนับสนุนถุงยังชีพ จำนวน 124 ราย และประสานงานการปรับสภาพแวดล้อม  งบซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยกับสภาองค์กรชุมชนตำบลวังกะพี้  เหล่ากาชาด  พมจ. ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ผู้ป่วยติดบ้าน จำนวน 8 หลังคาเรือน

นอกจากนี้กองทุนฯ ได้สนับสนุนเครื่องใช้ในครัวเรือน  เช่น เครื่องนอน ผ้าห่ม ของใช้ในครัวเรือน 8 หลังคาเรือน สนับสนุนการอบรมดูแลผู้สูงอายุ  โดยสมทบค่าตอบแทนให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 124 ราย โดยให้ผู้สูงอายุที่เป็น อสม. หรือผู้ว่างงานเป็นคนดูแล

 ผู้สูงอายุติดบ้าน  หมายถึง  “ผู้สูงอายุที่ไม่มีเงิน สุขภาพการเดินทางไม่พร้อม ไม่ชอบออกจากบ้าน ไม่ค่อยร่วมกิจกรรม”  กองทุนจัดกิจกรรม 90 คน หมู่บ้านละ 10 คน  เด็ก 40 คน ลูกหลานในตำบล โดยกองทุนฯ ของบประมาณ จาก กสจ. 48,500 บาท และงบประมาณจากกองทุนฯ 20,000 บาท  และงบพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 30,000 บาทจาก อปท. จัดโครงการส่งเสริมอาชีพเผาข้าวหลาม 999 กระบอก การทำขนมบ้าบิ่น ซึ่งใช้ทุนจากชุมชนที่มีอยู่ โครงการฟังธรรมะ  และโครงการปันยิ้มสร้างสุข 2 วัย  โดยให้ผู้สูงอายุกับเด็กเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกัน  เช่น  การเล่านิทาน  การทำข้าวหลาม  เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ และผู้สูงอายุได้ร่วมกิจกรรมใช้เวลากับเด็ก

ผู้สูงอายุติดสังคม หมายถึง  “ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ชอบเข้าร่วมกิจกรรม ชอบช่วยเหลือสังคม กลุ่มมีพลังมีไฟ” กองทุนจัดกิจกรรมกับกลุ่ม จำนวน 100 คน ผู้สูงอายุติดสังคม 80 คน เด็ก 20 คน โดยกองทุนของบประมาณฟื้นฟูการรำกลองยาวจาก กสจ. งบประมาณ 42,000 บาท, ค่าชุด โดยนายกเทศมนตรีและผู้นำร่วมสมทบ จำนวน 30,000 บาท, อุปกรณ์รำกลองยาว เทศบาลสนับสนุน 70,000 บาท  กองทุนฯ สนับสนุน ครู ก ครู ข สอนในรุ่น ที่ 2 จำนวนเงิน 20,000 บาท  โครงการส่งเสริมอาชีพการทำดอกไม้จันทน์จากล็อตเตอรี่เก่า โดยให้เด็กและผู้สูงอายุติดสังคมเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกัน

เด็กและเยาวชน จำนวน 90 คน หมู่บ้านละ 10 คน  อบรมรำกลองยาว การส่งเสริมอาชีพร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ติดสังคม และการเรียนรู้ โรงเรียนใต้ถุนบ้าน ปันยิ้มสร้างสุขสองวัย

กลุ่มวัยแรงงาน จำนวน 45 คน หมู่บ้านละ 5 คน เข้าร่วมการส่งเสริมอาชีพ การแปรรูป ร่วมกับผู้สูงอายุ และ กองทุนฯ จัดอบรมช่างชุมชน เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับคนกลับถิ่น และส่งเสริมการออม บำนาญชีวิต ร่วมกับ ประกันสังคมจังหวัดอุตรดิตถ์ และ กอช. (กองทุนการออมแห่งชาติ) ธ.ก.ส. ในโครงการกองทุนทวีสุข การออมของเกษตรกรวัยทำงาน

7

           นายชัยรัตน์  เกตุเทศ ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ย้ำว่า ทำไมกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ต้องทำเรื่องเกี่ยวกับสังคมสูงวัย  เพราะกองทุนมีกลุ่มผู้สูงอายุ 70% ที่เป็นสมาชิก  และข้อมูลตัวเลขค่าใช้จ่ายของกองทุนสวัสดิการที่มีสมาชิกเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลที่สูงมาก  ประมาณ 800,000 บาท เป็นปัญหาของกองทุน จึงได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายการนอน รพ.ของสมาชิกที่สูงวัย 30% และให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเป็นครอบครัวเดียว

รหัส ‘543’ ร่วมขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งคนวังกะพี้

นอกจากมีกลไกและภาคีที่สนับสนุนอย่างต่อเนื่องแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ยังมีการใช้รหัส ‘543’ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ประกอบด้วย

‘5 ก’ คือ 1.กรรมการ   2. กิจกรรม   3. ระเบียบและกติกา   4. แกนนำผู้สูงอายุ   5.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้

‘4มิติ’ คือ 1.สุขภาพ ใช้วัฒนธรรมรำกลองยาว และการรำมาบริหารร่างกาย   2.สังคม การเรียนรู้ของคนในชุมชน การอยู่ร่วมกันกับสังคมสูงวัย   3.สภาพแวดล้อม ปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง คนยากจน จำนวน 18  ครัวเรือน  4.เศรษฐกิจและทุนชุมชน พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน การออม

‘3 ฝ่าย’ ทุนทางสังคมกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้  คือ 1.ฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่  2.ฝ่ายองค์กร กลุ่ม สภาองค์กรชุมชนตำบล  และภาคประชาชน  3.ฝ่ายหน่วยงานภาคี

ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย

ผลผลิต   1. ผู้สูงอายุติดบ้าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมรายได้  หลักสูตรการทำข้าวหลาม การฟังธรรมะ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับลูกหลาน  2. ผู้สูงอายุติดเตียง ได้รับการเยี่ยมบ้านให้กำลังใจ มอบของช่วยเหลือ ได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัย  3.ผู้สูงอายุติดสังคม ได้เข้าร่วมการฟื้นฟูวัฒนธรรมรำกลองยาว ได้รับการส่งเสริมอาชีพการทำดอกไม้จันทน์จากล็อตเตอรี่เก่าร่วมกับเด็กลูกหลานในการสอนและการอยู่ร่วมกัน 4.กองทุนมีความสามารถจัดโครงการพัฒนารองรับสังคมสูงวัยได้โดยการเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกัน  5.สร้างกิจกรรมการเรียนรู้คนสองวัย

ผลลัพธ์  1.ผู้สูงอายุติดบ้าน มีอาชีพ มีรายได้ และรู้จักการช่วยเหลือสังคม  มีการแบ่งปันกับเพื่อนบ้าน และปรับตัวอยู่กับลูกหลานทำให้เข้าใจกัน  อยู่อย่างมีความสุข  2.ผู้สูงอายุติดเตียงได้รับการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและผู้ดูแลได้ให้ความรู้แก่ญาติผู้ป่วยในการดูแลให้ถูกวิธี  สร้างขวัญและกำลังใจในสังคมอย่างมีสุข      3.ผู้สูงอายุติดสังคม ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูรำกลองยาว  ทำให้มีงานประเพณี มีอาชีพ  มีรายได้จากการรำกลองยาว

4.กองทุนมีการขยายผล  ยกระดับผลักดันแผนการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยกับ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้น  1.การเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมอาชีพ ธรรมะ การฟื้นฟูรำกลองยาว การดูแลผู้ป่วยของผู้สูงอายุใน 3 กลุ่ม และเด็ก สามารถขยายผลและยกระดับเป็นการผลักดันแผนพัฒนารองรับระบบสังคมสูงวัยในตำบลวังกะพี้  โดยการเชื่อมโยงผลักดันกับ อปท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาให้เกิดโรงเรียนผู้ชำนาญชีวิต การเตรียมตัวเป็นผุ้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ และตลาดชุมชนสังคมสูงวัย  สู่มิติเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และส่งเสริมการออมของคนสามวัยในการออมต้นไม้  เพื่อเพิ่มบำเหน็จ บำนาญชีวิตต่อไปในระยะยาว

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในตำบลวังกะพี้มีความสุข…มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เป็นการสร้างสังคมรองรับผู้สูงวัยที่ทุกคนในตำบลมีส่วนร่วมสร้าง  จนนำไปสู่รางวัลเกียรติยศ… “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ตามแนวคิด ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์”  ปูชนียบุคคลของสังคมไทย !!

8

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ