“สวัสดิการภาคประชาชน” สร้างตาข่ายรองรับผู้ทุกข์ยาก ส่งเสริมการศึกษาอาชีพ ปลูกไม้มีค่า ขยะผลิตน้ำมัน ‘สวัสดิการควายออกลูก-วัวออมบุญ’ สร้างนวัตกรรมทางสังคม (2)

“สวัสดิการภาคประชาชน” สร้างตาข่ายรองรับผู้ทุกข์ยาก ส่งเสริมการศึกษาอาชีพ ปลูกไม้มีค่า ขยะผลิตน้ำมัน ‘สวัสดิการควายออกลูก-วัวออมบุญ’ สร้างนวัตกรรมทางสังคม (2)

กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ จ.สุพรรณบุรี ส่งเสริมสมาชิกคัดแยกขยะ  นำขยะถุงพลาสติกไปขายเข้าโรงงานวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตน้ำมันใช้ในการเกษตร
2

กองทุนสวัสดิการฯ ที่ จ.สุรินทร์  นำเงินกองทุนซื้อวัวขุน 30 ตัวแบ่งให้สมาชิกเลี้ยง  รายได้จากการขายวัวแบ่งครึ่งหนึ่งเข้ากองทุน

               กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นำแนวคิดมาจาก ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’  อดีตครูประชาบาลจากจังหวัดสงขลา  โดยให้สมาชิกออมเงินวันละ 1 ยาท หรือปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือดูแลสมาชิก  รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส  ในยามทุกข์ยากหรือเดือดร้อนจำเป็น

               เช่น  มอบเงินช่วยเหลือในยามเกิด  แก่  เจ็บ ตาย  ทุนการศึกษาเด็ก  ฯลฯ  รวมทั้งการช่วยเหลือที่ไม่เป็นตัวเงิน  เช่น  ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม  จัดการขยะ  ปลูกต้นไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา  ดูแลป่า  แหล่งน้ำ  สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ   ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ

จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขตในกรุงเทพฯ แล้ว (กุมภาพันธ์ 2566) จำนวน 5,915 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย  มีเงินกองทุนสะสม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน  1,970,314 ราย  เงินช่วยเหลือรวมจำนวน 2,399 ล้านบาทเศษ

บทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘ตาข่ายรองรับทางสังคม’ (social safety net)

คอยช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อนลำบาก  มีความทุกข์ยากในชุมชนและสังคม   นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนหลายแห่งยังคิดค้นรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  ถือเป็นการสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ขึ้นมาด้วย…!!

ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้าง ‘ตาข่าย’ รองรับทางสังคม

กองทุนสวัสดิการชุมชน  แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบโครงสร้างทางสังคมโดยตรง  แต่ก็เป็นกองทุนที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน  และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นเสมือนตาข่าย (social safety net) รองรับผู้ที่มีความยากลำบาก  มีความทุกข์ยากในชุมชนและสังคม

ตัวอย่าง  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  จ.สุราษฏร์ธานี  ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2553  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,200 คน  เงินกองทุนประมาณ 4 ล้านบาทเศษ

สุวัฒน์  ดาวเรือง  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  บอกว่า  กองทุนกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน  ราย 6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิก  รวมทั้งผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

เช่น  เจ็บป่วย  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือสมาชิก 1,000-3,000 บาท,  คลอดบุตร 2,000 บาท,  ประสบอุบัติเหตุ  แขน ขาขาด  ตาบอด  ช่วย (ข้างละ) 10,000 บาท,  หมา  แมว  งูกัด  ช่วย 500-1,000 บาท,  เสียชีวิตช่วยเหลือ 30,000 บาท  ฯลฯ

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา  กองทุนฯ มีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนทั่วไป  เช่น  ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  ตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อป้องการการติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 40,000 ชิ้น  แจกจ่ายทั่วอำเภอเวียงสระ  นอกจากนี้กรรมการและสมาชิกกองทุนฯ ได้ร่วมกับ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เฝ้าระวัง  ติดตาม  และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อและแพร่เชื้อ

“หากสมาชิกติดเชื้อโควิด กองทุนจะช่วยเหลือรายละ 3 พันบาท  เพราะต้องกักตัว  ไม่สามารถไปทำงาน  หรือประกอบอาชีพได้   แต่เมื่อมีคนติดเชื้อมากขึ้นเราจึงลดเงินเหลือรายละ 1 พันบาท  ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก  เราจะเอาข้าวสาร  อาหาร  และสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือ  ซึ่งในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 เราใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการไปช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส  รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 1 ล้าน 8 แสนบาท”  ประธานกองทุนฯ บอก

3
สภาพบ้านของผู้ด้อยโอกาส

“นอกจากนี้กองทุนเรายังช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  คนยากไร้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น  สร้างบ้าน ช่วยตอนน้ำท่วม  ไฟไหม้  ภัยธรรมชาติ  เป็นข้าวของ  เครื่องใช้จำเป็น  ไม่เกินครอบครัวละ 3 พันบาท  ช่วยทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล”  สุวัฒน์ยกตัวอย่างบทบาทของกองทุนสวัสดิการที่เสมือนเป็นตาข่ายรองรับทางสังคม

อย่างไรก็ตาม  นอกจากบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องดังกล่าวแล้ว  ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ร่วมกันนำข้าวสาร  อาหารแห้ง    น้ำดื่ม  สิ่งของจำเป็น ฯลฯ  ไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนบ้านมั่นคงเกาะสมุยหลายร้อยครอบครัวที่ขาดรายได้  เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา  เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

…นี่คือตัวอย่างของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนไม่ให้ตกหล่นลงไปสู่หุบเหวแห่งความทุกข์ยากอย่างแท้จริง !!

4
บ้านใหม่ของผู้ด้อยโอกาสที่กองทุนสวัสดิการฯ ช่วยสร้างเมื่อปี 2563  และสุวัฒน์  ประธานกองทุนฯ (ยืนด้านซ้าย)

ตำบลทับพริกช่วยคนไร้ที่ดินทำกิน-ส่งเด็กเรียนพยาบาล

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริก  อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว  สภาพพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา  ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร  แต่มีปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน  ต้องทำงานรับจ้างทั่วไป  มีรายได้น้อย  ฐานะยากจน

วิชิต  คำไกร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก ( รพ.สต.) ในฐานะเลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนก่อตั้งขึ้นมาในปี 2551 แกนนำกองทุนเริ่มมาจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 500 คน  เงินกองทุน 7 แสนบาทเศษ

นอกจากกองทุนจะช่วยเหลือสมาชิกเป็นตัวเงิน  เช่น  ช่วยเมื่อคลอดบุตร เจ็บป่วย  เสียชีวิต  ฯลฯ  กองทุนยังช่วยสมาชิกและครอบครัวในเรื่องของสุขภาพอนามัยด้วย  เช่น  มีสวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพแม่และเด็ก  สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่ รพ.สต. ก่อน 12 สัปดาห์จะได้รับชุดแรกคลอด  และเมื่อฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ จะได้รับมุ้งครอบเมื่อคลอดลูกออกมา

“ถ้าแม่ให้สัญญาว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก  กองทุนจะมอบสวัสดิการเพิ่มอีก 500 บาท  เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้รับนมจากแม่  เพราะมีคุณค่าและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก…ดีกว่ากินนมกระป๋อง  และยังช่วยประหยัดเงินด้วย”  เลขานุการกองทุนบอก

นอกจากนี้ยังมีรถบริการรับ-ส่งผู้ป่วยในตำบล  เพราะตำบลทับพริกอยู่ห่างจากโรงพยาบาลจังหวัดสระแก้วหลายสิบกิโลเมตร  และชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  กองทุนสวัสดิการฯ จึงร่วมกับ อบต.ทับพริก  จัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยในตำบลที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรืออำเภอ  โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  และเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ

สวัสดิการเด็กและเยาวชน  กองทุนฯ มีการจัดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์  เช่น  ใช้วัสดุเหลือใช้ในชุมชนมาส่งเสริมให้เด็กสร้างงานศิลปะ  เพื่อเป็นสื่อรณรงค์สุขภาพอนามัย  ป้องกันยาเสพติดในชุมชน  การท้องก่อนวัย สนับสนุนกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน  ป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ  สอนว่ายน้ำ  การลอยตัวในน้ำ  ฯลฯ

“นอกจากนี้กองทุนฯ ยังส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่มีฐานะยากจนได้เรียนต่อ  โดยเฉพาะทางด้านพยาบาลเพื่อกลับมาทำงานในชุมชน  โดยกองทุนฯ ได้ส่งเยาวชนเข้าเรียนวิชาพยาบาลชุมชนระดับปริญญาตรีที่ มศว.องครักษ์  จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ปี 2560  โดยกองทุนฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายเทอมละ 2 หมื่นบาทต่อคน  ตอนนี้มีเด็ก 7 คนที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว  และที่ รพ.สต.ทับพริก 1 คน”  เลขานุการกองทุนฯ บอกถึงการสนับสนุนให้เด็กได้เรียนต่อ  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

5
สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ เช่าที่ดินปลูกฟ้าทะลายโจรสร้างรายได้ในช่วงโควิด

“ส่วนการส่งเสริมอาชีพ  แก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของสมาชิก  กองทุนฯ ได้เช่าที่ดินของวัดในตำบล  เนื้อที่ 30 ไร่  ราคาไร่ละ 2 พันบาทต่อปี  เพื่อให้สมาชิกเช่าต่อเพื่อทำเกษตรพอเพียง  ครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 2 ไร่ เพื่อปลูกผักสวนครัวกินและขาย  มีพริก  มะเขือ  ถั่วพู  มะละกอ และปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในช่วงโควิด ทำให้มีรายได้อย่างต่ำคนละ 1 แสนบาทต่อปี  ที่ผ่านมามีสมาชิกเช่าที่ดินทำกินไปแล้วประมาณ 60 ราย”   วิชิต  คำไกร  ผอ.รพ.สต. ในฐานะเลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริกบอก

สวัสดิการภาคประชาชน ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ยังคิดค้นการจัดสวัสดิการแนวใหม่ นอกเหนือจากการช่วยเหลือเรื่องพื้นฐาน  คือ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ถือเป็นการสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชาวชุมชน

เช่น   กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริก  จ.สระแก้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ สนับสนุนด้านการศึกษาและส่งเสริมอาชีพชาวบ้านดังกล่าวแล้ว  ยังคิดรูปแบบการหารายได้เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ  โดยการปลูกไม้มีค่า  ‘มะฮอกกานี’ ในพื้นที่ป่าชุมชน  มาตั้งแต่ช่วงปี 2558 จนถึงปัจจุบัน  รวมแล้วประมาณ 4,000 ต้น  ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่

วิชิต  ตำไกร  เลขานุการกองทุนฯ บอกว่า  มะฮอกกานีเป็นไม้มีค่า  เนื้อไม้แข็ง  นำมาทำเครื่องเรือน วงกบ  กรอบประตู  หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์  เครื่องดนตรี  ฯลฯ  จึงนำมาปลูกเมื่อโตแล้วจะนำมาแปรรูป  หรือขายนำรายได้เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ  ขณะนี้ไม้มีอายุประมาณ 7-8 ปี  นำมาใช้ประโยชน์ได้บางส่วน  เช่น  ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม

“แต่งบประมาณที่ พอช.สนับสนุนการซ่อมบ้านหลังละ 2 หมื่นบาท  บางหลังซ่อมหลายอย่าง  งบไม่พอ  เราก็เอาไม้มะฮอกกานีที่ปลูกมาแปรรูปเพื่อทำวงกบหน้าต่าง  ประตู  ทำให้ประหยัดงบไปได้เยอะ  ที่ผ่านมาเราใช้ไม้มะฮอกกานีมาซ่อมบ้านไปแล้ว 7 หลัง  และตอนนี้ทำไม้ล้อมด้วยเพื่อขายเป็นไม้ประดับ  ราคาต้นละ 500 บาท   หากไม้โตขึ้นก็จะมีค่ามากกว่านี้  สามารถขายนำเงินเข้ากองทุน  หรือแปรรูปใช้สร้างบ้านได้” เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริกบอกถึงแผนการสร้างกองทุนให้มั่นคงด้วยการปลูกไม้มีค่าเป็นทรัพย์สิน

6
สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้วกับต้นตะเคียนทองอายุกว่า 50 ปี  เป็นต้นแบบการปลูกไม้มีค่าที่กองทุนสวัสดิการฯ นำมาส่งเสริมให้สมาชิกปลูก

               เช่นเดียวกับที่ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว  อ.ลานสกา  จ.นครศรีธรรมราช’  ที่ใช้งบประมาณของกองทุนฯ จำนวน 10,000 บาท  ซื้อกล้าไม้มีค่า  เช่น  ตะเคียนทอง  จำปาทอง  พะยูง  สะเดาเทียม  ฯลฯ  จำนวน 1,000 ต้น  แจกจ่ายให้สมาชิกปลูกตั้งแต่ปี 2560  เมื่อต้นไม้เติบโตก็จะมีราคา สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์เพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วได้

โดยกำหนดว่า  ต้นไม้ที่มีเส้นรอบวง 1 เซนติเมตร  จะมีมูลค่า  100 บาท  หากมีเส้นรอบวง 100  ซม. หรือ 1 เมตร  จะมีมูลค่า 10,000 บาท  ถ้ามี  10 ต้นสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์เพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนฯ ได้ถึง 100,000 บาท  หรือหากปล่อยให้ต้นไม้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 3 บาท

หากเริ่มปลูกต้นไม้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเมื่อต้นไม้อายุได้ 30 ปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าต้นละ 20,000-30,000 บาท  หากปลูก 100  ต้นก็จะมีเงินล้านเอาไว้ใช้ในยามสูงวัย  ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานหรือเงินคนชราที่ได้ไม่ถึงเดือนละ 1,000 บาท  และยังเป็นการเติมพื้นที่สีเขียว  เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ตำบลด้วย

‘ขยะทองคำ’ สร้างรายได้-ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา  อ.เดิมบางนางบวช  จ.สุพรรณบุรี  สนับสนุนการจัดการขยะในตำบล  โดยใช้ ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ เป็นฐาน  ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่ครู  นักเรียน  ชาวบ้าน  พระ  และจัดกิจกรรม เดิน ปั่น จักรยาน เพื่อรณรงค์คัดแยกขยะ  โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2564  – มีนาคม 2565)  สามารถจัดเก็บขยะรีไซเคิลได้จำนวน 2,627 กิโลกรัม  ขายได้เงิน 10,203 บาท  และนำเงินดังกล่าวไปเป็นกองทุนหมุนเวียนในการซ่อมแซมบ้านให้สมาชิกที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม

นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะวันละ 300 บาท  ส่วนเป้าหมายสำคัญในการจัดการขยะ คือ การรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา  (ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 2,203 คน) ได้ร่วมกันคัดแยกขยะในครัวเรือน  โดยนำขยะสด  ขยะเปียกในครัวเรือนมาทำปุ๋ยหมัก  ขยะรีไซเคิลนำไปขาย

ขยะถุงพลาสติกและหลอดดูดน้ำพลาสติกล้างให้สะอาดแล้วนำไปขายให้แก่ ‘วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี ‘   ในราคากิโลกรัมละ  2 บาท  เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซินใช้ในการเกษตร (เริ่มผลิตน้ำมันตั้งแต่ปี 2562) โดยวันหนึ่งจะใช้ขยะพลาสติกจำนวน 600 กิโลกรัม  ผลิตน้ำมันได้ประมาณ 300 ลิตร  ขายให้แก่เกษตรกรและสมาชิกในราคาลิตรละ 20 บาท

นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศด้วย  เพราะขยะ 1 ตันจะมีค่าจัดเก็บขั้นต่ำ 750 บาท  (ไม่รวมค่าขนส่ง)  ปีหนึ่งมีขยะทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน  ถ้ามองขยะเป็นทองคำ  และจัดการให้เหมาะสม  ขยะจะสร้างรายได้อย่างมหาศาล  และช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท !!

7
โรงงานผลิตน้ำมันจากถุงพลาสติกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรีมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี

สวัสดิการ ‘ควายออกลูก-วัวออมบุญ’ ที่ จ.สุรินทร์

‘กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง  อ.จอมพระ  จ.สุรินทร์’  เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่สร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยการมอบสวัสดิการ ‘ควายออกลูก’ ให้แก่สมาชิกที่เลี้ยงควาย  เมื่อควายออกลูกจะให้เงินตัวละ 200 บาท  (แม่คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท)

วิเชียร  สัตตธารา  เลขานุการกองบุญฯ บอกว่า ‘สวัสดิการควายออกลูก’ เป็นกุศโลบายที่กองบุญคิดขึ้นมา  เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกอนุรักษ์ควายไทย  เพราะควายไทยนับวันจะสูญพันธุ์  เพราะชาวบ้านหันไปใช้ควายเหล็ก  และจ้างควายเหล็กทำนา  ควายไทยจึงตกงาน  หรือถูกส่งเข้าโรงเชือด  จึงส่งเสริมการเลี้ยงควายไทย  แม้ไม่ได้ใช้ไถนา  แต่ก็เป็นทรัพย์สินในยามเดือดร้อนจำเป็น  เช่น  ขายควายส่งลูกเรียน  ฯลฯ  และยังนำมูลควายมาใช้ทำเกษตรอินทรีย์  ทำนาอินทรีย์  ลดการใช้ปุ๋ยเคมี

“จังหวัดสุรินทร์มีข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง  หากเราปลูกข้าวแบบอินทรีย์ก็จะทำให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น  ขายได้ราคาสูงขึ้น  เราจึงส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงควาย แล้วเอามูลควายมาทำปุ๋ย  ช่วยลดรายจ่ายด้วย  เพราะปุ๋ยเคมีทุกวันนี้มีราคาแพงเพราะรัสเซียกับยูเครนรบกัน  ตอนนี้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยงควายรวมกันประมาณ 2 พันตัว  ที่ผ่านมาเราจ่ายสวัสดิการให้เจ้าของควายที่ออกลูกไปแล้วประมาณ 700 ตัว  เป็นเงินกว่า 1 แสนบาท”  วิเชียรบอก

8
ลูกควายของสมาชิกกองบุญฯ

               นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา  กองบุญ ฯ ได้จัดทำโครงการ ‘วัวออมบุญ’ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองบุญ ฯ มีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงวัวพันธุ์เนื้อหรือวัวขุน  โดยใช้เงินกองบุญ ฯ จำนวน 900,000 บาท  ซื้อแม่วัวพันธุ์ผสม (พ่อพันธุ์สายเลือดวากิว) ตัวละ 30,000 บาท  จำนวน 30 ตัว  เพื่อนำมาให้สมาชิกกองบุญฯ ที่ต้องการทำอาชีพเสริม  โดยกองบุญฯ จะคัดเลือกสมาชิกที่มีความพร้อม  เช่น  มีคอกวัว  มีแปลงหญ้า  มีอาหารเสริม ไม่ใช่เลี้ยงปล่อยแบบวัวไล่ทุ่ง

“เราคิดว่าถ้านำเงินกองบุญฯ 1 ล้านบาทไปฝากธนาคารเพื่อจะเอาดอกเบี้ยมาเข้ากองบุญฯ เราจะได้ดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 2,500 บาท  เราจึงเอาเงินนี้มาซื้อแม่วัวเพื่อให้สมาชิกเลี้ยง  แล้วเอามาผสมเทียม  ปีหนึ่งวัวจะออกลูก 1 ครั้ง  ครั้งละ 1 ตัว  ลูกวัวเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 6 เดือน  น้ำหนักได้ 110 กิโลฯ ก็ขายได้  เพื่อเอาไปเลี้ยงต่อเป็นวัวขุน  จะได้ราคาประมาณตัวละ 15,000 บาท  หรือจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์  พ่อพันธุ์ต่อไปก็ได้  จะขายได้ราคาสูงขึ้น  เมื่อขายได้เงินเท่าไหร่  คนเลี้ยงจะต้องแบ่งเงินให้กองบุญฯ ครึ่งหนึ่งเพื่อเอาเข้ากองบุญ” วิเชียรบอกถึงวิธีหารายได้เข้ากองบุญฯ ซึ่งจะได้เงินมากกว่าการฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย

เขาบอกว่า  ตอนนี้มีสมาชิกกองบุญฯ 5 ราย  นำวัว 30 ตัวที่ซื้อไปเลี้ยงแล้ว  ได้วัวไปรายละ 2-6 ตัวตามแต่ความพร้อมของคนที่เลี้ยง  เพราะจะต้องดูแลวัวให้ดี  มีแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์  มีอาหารหยาบ  อาหารข้น  อาหารเสริมให้วัวกิน  แม่วัวจะได้แข็งแรงสุขภาพดี   เมื่อลูกออกมาจะได้ลูกวัวที่มีคุณภาพ  ขายได้ราคา

หากคำนวณแบบง่ายๆ  แม่วัว 30 ตัว  ภายในเวลา 1 ปีจะออกลูกรวมกันประมาณ 30 ตัว (บางตัวอาจจะมีลูกแฝด)  เมื่อเลี้ยงลูกวัวอีก 6 เดือน  จะขายได้ตัวละประมาณ 15,000 บาท  หรือคิดเป็นเงินทั้งหมดจำนวน  450,000 บาท  เมื่อแบ่งครึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับกองบุญฯ แล้ว  ภายในเวลา 1 ปี 6 เดือน  กองบุญฯ จะมีรายได้ประมาณ 225,000 บาท  หรือสามารถคืนทุนทั้งหมด ( 9 แสนบาท) ภายในเวลา 6 ปี 

9
ลูกวัวยังไม่หย่านมแม่  เมื่อเลี้ยงจนอายุได้ 6 เดือนก็สามารถขายเป็นลูกวัวขุน  ราคาตัวละ 15,000 บาท

หลังจากนั้นก็จะเป็นรายได้สุทธิเข้ากองบุญฯ  หรือหากซื้อวัวมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น  รายได้ที่จะเข้ากองบุญฯ ก็ย่อมมากขึ้นด้วย  ทำให้กองบุญฯ มีฐานะที่มั่นคง  มีเงินช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น  นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก  มูลวัวก็นำไปทำปุ๋ย…เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว..

ทั้งหมดนี้…คือตัวอย่างบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ…เป็นสวัสดิการที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นมา  เพื่อช่วยเหลือดูแลกัน  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ…เป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนยากลำบาก  และยังสร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมาด้วย !!

**********

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ