ขบวนองค์กรชุมชนสมุทรสงครามและหน่วยงานภาคี ลงนามบันทึกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน และเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรชุมชน

ขบวนองค์กรชุมชนสมุทรสงครามและหน่วยงานภาคี ลงนามบันทึกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน และเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรชุมชน

สมุทรสงคราม : วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมบ้านสวนทรายทอง รีสอร์ท ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และหน่วยงานภาคี จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบ้านพอเพียง โครงการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรชุมชน ปีงบประมาณ 2566 โดยมีผู้แทนตำบลรับงบประมาณ และหน่วยงานภาคี อาทิ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาครเข้าร่วม

504685

สิบเอกหญิงชิดชนก ไชยชิต เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน พอช. กล่าวว่า เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านเครื่องมือการทำงานต่าง ๆ ได้แก่ สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ในปี 2566 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 3 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,195,430 ได้แก่ 1) โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชน งบประมาณจำนวน 153,230บาท  2) โครงการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน งบประมาณจำนวน 170,000 บาท และ 3) โครงการบ้านพอเพียง จำนวน 19 ตำบล 249 ครัวเรือน งบประมาณจำนวน 4,872,200 บาท ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการพัฒนาและนำเสนอโครงการทั้งในระดับตำบล จังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค จนได้รับการอนุมัติงบประมาณและโครงการจาก พอช. และเป็นที่มาในการจัดพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2566 จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันนี้

504695

ดร.อุษา เทียนทอง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งโครงการบ้านมั่นคงเมือง และโครงการบ้านพอเพียง โดยเฉพาะโครงการบ้านพอเพียงซึ่งได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องมาตั้งปี 2560 เป็นส่วนหนึ่งที่จะไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่มีบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง โดยเจ้าของบ้านและชุมชนร่วมสมทบด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งได้มีการทำงานตั้งแต่การสำรวจข้อมูล กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้เดือดร้อน จัดทำโครงการเสนอขอรับงบประมาณ และการซ่อมแซมบ้าน โดยมีงบประมาณจาก พอช. ทั้งนี้ โครงการบ้านพอเพียงเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการร่วมกันสำรวจและจัดทำข้อมูล จัดประชุมหารือเพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อนตามเกณฑ์ และทำแผนการแก้ไขปัญหาตามความเดือดร้อนและจำเป็นเร่งด่วน

“การจะตัดสินใจว่าจะซ่อมบ้านหลังไหนก่อน บ้านหลังไหนเอาไว้ปีต่อไป มาจากการตัดสินใจของชุมชน โดยพวกเราซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เรามีข้อตกลงในการเลือกร่วมกันว่าจะซ่อมบ้านไหน ใช้งบประมาณเท่าไร ซึ่งเราได้รับงบประมาณหลังละ 20,000 บาท แต่ในความเป็นจริงเราจัดงบประมาณซ่อมแซมตามบีโอคิวอาจจะหลังละ 13,000 บาท 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท ทั้งหมดมาจากสภาองค์กรชุมชนที่มาทำข้อมูลและตัดสินใจร่วมกัน และมาเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

504694

จากนั้นภาคีหน่วยงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนบทบาทภารกิจของหน่วยงานและแนวทางการสนับสนุนบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยนางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่าการดูแลในเรื่องของบ้านถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอีกหลายกรมที่ดูแลรับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ให้หลุดพ้นจากความเสี่ยง โดยหัวใจสำคัญ คือ ต้องมีบ้านมีที่อยู่อาศัยมั่นคง และมอบหมายให้ พม. โดยสำนักงาน พมจ.ทุกจังหวัด ร่วมกับ พอช.ในการดูแลเรื่องบ้าน นอกจากเรื่องบ้านแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนในครอบครัว ที่จะทำให้มีความปลอดภัยและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

“เรื่องบ้านและรายได้การทำมาหากินต้องไปด้วยกัน วันนี้เรามีหน่วยงานที่ทำงานหนุนเสริมกัน ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่จะทำเพียงลำพัง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่บูรณาการกัน มีงบประมาณ ภารกิจที่จะมาหนุนเสริมเพื่อให้ประชาชน ชุมชนเข้มแข็ง มีโครงการที่บูรณาการกันระหว่างกระทรวง เช่น มหาดไทย สาธารณสุข เรียกว่าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยทุกหน่วยงานมีฐานข้อมูลทีพีแมพ แล้วมาคัดกรองร่วมกัน พมจ.มีงบประมาณในการปรับสภาพแวดล้อมให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุ แต่มีเกณฑ์เงื่อนไขในการรับงบประมาณ หากลงไปพื้นที่แล้วพบว่าไม่สามารถสนับสนุนตามเกณฑ์ได้ หรือหากอยู่ในเกณฑ์ เช่น เป็นผู้พิการ แต่งบประมาณมีน้อยไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จะประสาน พอช. ให้ลงไปสนับสนุน ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกัน” พมจ.สมุทรสงครามกล่าว

504693

ต่อมานางสาวสุภวันย์ ชวินโรจน์พงศา ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จไม่ได้มาจากคนเดียว ต้องมีความร่วมมือ วันนี้เห็นศักยภาพของประชาชน ความร่วมมือของส่วนราชการที่มาร่วมด้วยช่วยกัน และสิ่งสำคัญคนจนจะหมดไป ได้นั้น หลายฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน

“เราช่วยคนจนและคนจนต้องช่วยเรา สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพ ต้องมีกระบวนการเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน และข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าเรื่องใดก็แล้วแต่หากมีตั้วชี้วัดว่าข้อมูลไม่เดาสุ่มการแก้ปัญหาก็จะดำเนินการไปได้ แต่หากไม่มีข้อมูลเราจะไม่รู้ว่าข้างล่างต้องการแก้ปัญหาอะไร หรืออาจจะแก้ไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ บ้านหนึ่งหลังจะสำเร็จได้จากงบประมาณของ พมจ. พอช. กาชาด มาจากหลายส่วน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณจำกัด ดังนั้น เราจะต้องร่วมกัน กล่าวคือ ข้อมูลชัด ระบบชัด พุ่งเป้าชัด ในการแก้ไขปัญหาโดยมีภาคีร่วมดำเนินการทั้งรัฐ ประชาสังคม ฯลฯ ปัญหาจะหมดไปได้เราต้องร่วมด้วยช่วยกันและจับมือกัน” นางสาวสุภวันย์กล่าว

504692

นายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค (ปฏิบัติการพื้นที่) สำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง กลุ่มองค์กรมีความเข้มแข็ง ผู้คนมีความสุข และเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นภาพฝันจากรุ่นเราส่งต่อไปอีกหลายๆ รุ่น ทั้งนี้ พอช. เติบโตและพัฒนาการร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนมา 23 ปี เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำงานควบคู่กับ พมจ. ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน พอช.มีการศึกษารูปแบบองค์กรตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะให้พี่น้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา

“ในปี 2566 พอช.เน้นเรื่องการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ให้พี่น้องขับเคลื่อนด้วยตนเอง คนเล็กคนน้อยลุกมาแก้ปัญหา มีเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้และทำงาร่วมกัน สิ่งที่โครงการของ พอช.พยายามให้ คือ การเป็นเครื่องมือการพัฒนา การขยายแนวความคิด การสร้างทักษะการทำงาน การพัฒนาคนในขบวนและดึงลูกหลานมาทำงาน ภาพความร่วมมือมี พจม. และหลายหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในที่นี้ ทำอย่างไรที่จะเกิดความร่วมมือในการทำงาน งบประมาณที่ลงมาเป็นงบประมาณจากรัฐบาลลงมาที่ พอช. นอกจากจะหยืดหยุ่นแล้ว ยังโอนลงบัญชีสภาองค์กรชุมชนโดยตรง จากนี้ไปจะมีเจ้าหน้าที่ พอช.ทั้งงานปฏิบัติการพื้นที่ งานวิชาการ และสำนักงาน ช่วยขับเคลื่อนร่วมกับพี่เลี้ยงจังหวัด วันนี้เป็นการบันทึกข้อตกลงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งในการทำงานของพี่น้องต่อไป” ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตกกล่าว

504697

ในครั้งนี้ เป็นการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการระดับจังหวัด โดยมีผู้ลงนามประกอบด้วยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสมุทรสงคราม และในส่วนของโครงการระดับตำบลมี 1 โครงการ คือ โครงการบ้านพอเพียงชนบท มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลร่วมลงนาม 19 ตำบล

รายงาน : เรวดี อุลิต / กมลรัตน์ สุตตสันต์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ