เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสุพรรณบุรีร่วมลงนามความร่วมมือ สร้างชุมชนเข้มแข็งโดยชุมชนเป็นตัวตั้ง ท้องถิ่นเป็นแกนหลัก

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสุพรรณบุรีร่วมลงนามความร่วมมือ สร้างชุมชนเข้มแข็งโดยชุมชนเป็นตัวตั้ง ท้องถิ่นเป็นแกนหลัก

สุพรรณบุรี : เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. โดยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก ได้จัดเวทีลงนามความร่วมมือ (MOU) ณ สนามบินเฮลิคอปเตอร์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานส่งเสริมเสริมเกษตรและสหกรณ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ สโมสรโรตารี่ เจ้าหน้าที่ พอช. และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี รวมประมาณ 100 คน

ในปี 2566 จังหวัดสุพรรณบุรีได้รับงบประมาณโครงการบ้านพอเพียง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน รวมงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 9,432,302 บาท นอกจากมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือแล้วยังได้มีในส่วนของการแลกเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจการขับเคลื่อนงาน เป้าหมาย ผลลัพธ์การดำเนินงาน ตลอดจนถึงการบริหารจัดการที่ดีจากทางสำนักงานภาคกลางและตะวันตกอีกด้วย

นางสาววิภาศศิ ช้างทอง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม เพื่อมารับทราบข้อมูลการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยง บูรณาการทำงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณเป็นพิเศษ พมจ.สุพรรณบุรี ที่ดูแลพี่น้องขบวนชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาขบวนองค์กรชุมชนไม่สามารถเสนอขอรับงบประมาณด้วยตัวเอง พมจ.จึงเป็นแม่งานในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน

“เพื่อให้ชีวิตของคนจังหวัดสุพรรณบุรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขในอนาคต การทำงานหนักเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาช่วยเหลือพี่น้องจังหวัดสุพรรณบุรีถือเป็นความสุข” นางสาว ววิภาศศิ ช้างทอง (ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี) ได้กล่าว

ต่อมานายเนตร ปิ่นแก้ว ประธานคณะประสานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของจังหวัดสุพรรณบุรีว่า วันนี้เป็นเวทีที่เชิญหน่วยงานมาร่วม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกัน คือ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ ขบวนองค์กรชุมชนไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้บรรลุเป้าหมาย จึงต้องอาศัยภาคีพัฒนา

“การทำงานที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานมาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ทันตแพทย์ อนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนหน่วยงานในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สำนักงานพัฒนาชุมชน  สำนักงานส่งเสริมเสริมเกษตรและสหกรณ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ จังหวัดสุพรรณบุรี สโมสรโรตารี่” นายเนตรกล่าว   

หลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานและบูรณาการของหน่วยงานภาคีในส่วนของประเด็นงาน บทบาท เพื่อที่จะสามารถเห็นภาพการทำงานเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน และมีทิศทางในการทำงานร่วมกัน ดังนี้  

ผู้แทนสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ได้มีการร่วมงานกับสภาองค์กรชุมชนมาเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกันในการดูแลพี่น้องประชาชนให้มีความสุข สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยมีการทำงานหลายอย่าง เช่น การปลูกผัก การทำโคกหนองนา กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งมีเงินทุนสำหรับให้สตรีกู้ยืมไปประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำ เช่น กู้ 200,000 บาท ดอกเบี้ย 200 บาท หรือดอกร้อยละ 10 สตางค์ สามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนได้ แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่ากู้ไปแล้วต้องทำจริง เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ช่วยเหลือชุมชน และยินดีที่จะร่วมงานกับสภาองค์กรชุมชน เพราะเราเหมือนเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน

เช่นเดียวกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีหน้าที่ประสานงาน บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงภายในจังหวัด ภาคี เครือข่าย ประสานหน่วยงานทั้งหมดในสังกัดกระทรวงเกษตรและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลปากท้องพี่น้องเกษตรกร จากที่เคยสัมผัส พอช.สมัยที่อยู่จังหวัดสระแก้ว มีการทำโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ คทช. ซึ่งเป็นนโยบายจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชน จึงได้รู้จักองค์กรว่าทำเรื่องอะไรและจะมาช่วยกันอย่างไร ยินดีที่เราจะมาร่วมด้วยช่วยกันกับทุกหน่วย และยินดีเป็นตัวประสานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สสวท.) จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถสนับสนุนการประชาสัมพันธ์งานด้านต่างๆ ให้กับขบวนองค์กรชุมชนได้อีกทางหนึ่ง 

ด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า พมจ.มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกเรื่องตั้งแต่อยู่ในท้อง วัยเด็ก วัยรุ่น กลางคน และผู้สูงอายุ ในมิติต่างๆ ในการช่วยเหลือและให้บริการ แต่ในส่วนของกลไกการขับเคลื่อนต้องยึดโยงหน่วยงานองค์กรอื่น ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน

นายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค (ปฏิบัติการพื้นที่) สำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีหน่วยงานที่หลากหลายเพื่อเชื่อมโยงกับหน่วย ทั้งภาคประชาคมและภาครัฐ เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง งบประมาณของ พอช. ไม่ได้มาก เป็นเงินน้อยที่มาสนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนได้นำมาคิดและบริหารโครงการ โดยคาดหวังว่าบทสำคัญที่องค์กรเสนอจะช่วยกันจัดการบริหาร สร้างคนสร้างงานให้เกิดการขับเคลื่อนในการทำงานผลักดันไปข้างหน้า และเชื่อว่ารูปธรรมจากนี้ไปจะทำให้คนในพื้นที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนาไปได้ไกล พอช. ขอเป็นกำลังใจในการเคลื่อนงาน สิ่งใดที่ช่วยได้ในประเด็นข้อติดขัดการทำงานทาง พอช. ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

รายงาน : ภัทรภร ผ่องอำไพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ