“มหาวิทยาลัยมหิดลไปทำการศึกษาเรื่องเด็กๆ บอกว่า เด็กไทยแรกเกิดไม่ได้แตกต่างจากเด็กต่างประเทศเลย แต่พออายุ 6 ขวบ ไปวัดเรื่องพัฒนาการ ปรากฎว่าไอคิวของต่างประเทศอยู่ประมาณ 100 –110 ประเทศไทยอยู่ที่ 80 – 90 และพอไปวัดอีกตอนอายุ 12-13 ปี ได้ผลเท่าเดิม ทุกพื้นที่ใกล้เคียงกันหมด.
คำถามคือว่า…ตอนเกิดเราโตเท่าเขา และพอ 6 ขวบมีความแตกต่าง เพราะหลังจาก 6 ขวบไปเรียนหนังสือก็ไปเข้าโรงเรียนเล็ก อาจารย์น้อย คุณภาพไม่ดี พออายุ 18ปีก็ยิ่งแตกต่างกันไปใหญ่ แตกต่างกันขนาดนี้ แล้วชีวิตจะแตกต่างกันขนาดไหน ? ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาตอนเด็กได้ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง…” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เปิดประเด็น
จากผู้บริหารแบงก์–ตลาดทุน…สู่งานพัฒนาชุมชน
ชื่อของ ‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ อาจจะเป็นที่รู้จักของสังคมในหลายแง่มุม หลายมิติ เช่น อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ (ลาออกเมื่อกรกฎาคม 2563) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ตลาดทุนโลก เศรษฐกิจไทย ฯลฯ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ดร.กอบศักดิ์ เป็นผู้ที่สนใจการพัฒนาประเทศจากสังคมฐานราก ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในปี 2559 โดยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นจัดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดขึ้น
“การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา เรามาผิดทาง เพราะยิ่งพัฒนายิ่งมีช่องว่างขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าสัวมีเงินเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนมีรายได้ลดลง การพัฒนาเมืองไทยจึงเหมือนคนเป็นโรคตานขโมย คือ หัวโต พุงโร ก้นปอด ภาคตะวันออกโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนอื่นที่เป็นแขนขา หมู่บ้านต่างๆ ลีบไปเรื่อย ๆ หมู่บ้านมีแต่คนแก่และผู้สูงอายุ…
ที่ดินก็ยิ่งหายไป ยิ่งพัฒนาคนส่วนใหญ่ยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน คนรวย 20 เปอร์เซ็นต์ มีที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ รายได้ห่างกัน 10 เท่า หากพัฒนาอย่างนี้ไม่สำเร็จ การพัฒนาที่คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ดร.กอบศักดิ์กล่าวในงานสัมมนาครั้งหนึ่งที่จัดขึ้นที่ พอช. สะท้อนมุมมองและตัวตนของเขา
ในเดือนกันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอชื่อ ดร.กอบศักดิ์ เป็นประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘ประธานบอร์ด พอช.’ คนใหม่ แทนประธานคนเดิมที่หมดวาระ
นับแต่ย่างก้าวสู่ พอช. ดร.กอบศักดิ์ในฐานะประธานบอร์ด พร้อมด้วยผู้บริหาร พอช. ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน รวมทั้งภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในมิติใหม่ๆ หลายด้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำแนวทางการพัฒนาจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ที่ พอช.ยึดโยงชาวบ้านและชุมชนเป็นแกนหลักในการทำงานมาตลอด ไม่ใช่จาก ‘บนลงล่าง’ เหมือนการพัฒนาประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังประสานงาน เชิญชวนภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ องค์กรต่างประเทศ มาร่วมกันสนับสนุนชุมชน เช่น โครงการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต สร้างพื้นที่สีเขียว ลดภาวะโลกร้อน ปลูกต้นไม้เป็นบำนาญยามชรา การจัดการขยะ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี การสื่อสารออนไลน์มาใช้ การสร้างผู้นำชุมชน การพัฒนาคนตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงประเทศ
ใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน พัฒนาคนตั้งแต่ปฐมวัย
ดร.กอบศักดิ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยมีแนวคิดในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ ให้มีความรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาชุมชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องเริ่มพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม หากมีการส่งเสริม สร้างสิ่งแวดล้อม จัดการเรียนรู้ การเล่น ให้เหมาะสม เด็กๆ ก็จะมีพัฒนาการที่ดี มีไอคิวไม่ต่างจากเด็กต่างประเทศ
“ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาตอนเด็กได้ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง เด็กจะมีพื้นฐานตอนอายุ 6 ขวบเท่ากัน หลังจากนั้นไปจัดการตอนเรียนหนังสืออีกที ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก็จะทำให้ทุกคนโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพ พอเข้าสู่ตลาดแรงงานก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยก็จะลดลงโดยปริยาย…
นี่คือหนึ่งโครงการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความร่ำรวยให้กับชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหากเด็กเรามีศักยภาพ สติปัญญาดี พัฒนาการดี ในอนาคตเขาจะเป็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป และจะเป็นคนหารายได้ที่สำคัญ และที่สำคัญคือชุมชนจะมีความสุข” ดร.กอบศักดิ์บอกถึงแนวคิดและเป้าหมายในการพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก
เพื่อทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.กอบศักดิ์ พร้อมผู้บริหาร พอช. และผู้นำชุมชนได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โดยครั้งหลังนี้มีผู้แทนจากภาคธุรกิจคือกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และธนาคารกรุงเทพ เดินทางไปด้วยเพื่อดูช่องทางการสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็ก เช่น ด้านสื่อการเรียนรู้ ของเล่น หนังสือภาพ นิทาน ฯลฯ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ เปิดรับเด็กช่วงอายุ 3-6 ขวบ ดำเนินการโดย อบต.บางคู้ ถือเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบแห่งหนึ่งที่นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.รพ.ท่าวุ้ง และนางอุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล ผู้บริหารโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) ได้นำรูปแบบการเรียนแบบ ‘ไฮสโคป’ มาใช้ที่นี่
‘ไฮสโคป’ (High Scope) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีของเล่น หนังสือ สื่อ อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย โดยปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง
“จากศูนย์เด็กแบบเดิมๆ เราสามารถจัดมุม มีมุมนิทาน มุมศิลปะ มุมตัวต่อ และมุมวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ก็เล่นไป พอเล่นเสร็จก็ต้องมาเล่าให้เพื่อนฟัง แล้วทุกคนต้องยกมือถาม เชื่อไหมว่า…พ่อแม่เด็กๆ บอกว่าพอเข้ากระบวนการใหม่ภายใน 3 เดือนจำลูกตัวเองไม่ได้ การพัฒนาทางจิตใจ อารมณ์ และฝึกให้เด็กหยุดนิ่งเป็น การที่หยุดนิ่งได้…มันหมายถึงว่าในอนาคตเขาจะสามารถต่อสู้กับความปรารถนาในทางที่ไม่ถูกต้องได้ จะสามารถยับยั้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
หัวใจของการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป
ไฮสโคป มีพื้นฐานแนวคิดมาจาก ‘ทฤษฎีของเพียเจท์’ (นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา) ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน
โดย ดร.เดวิด ไวคาร์ท ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคป ได้ร่วมทำงานกับคณะวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป โดยใช้พื้นฐานจากโครงการเพอรี่พรีสคูลที่มีมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสมและประสบความสําเร็จในชีวิต
ในการศึกษาวิจัย มูลนิธิได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง 2.กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม และ 3.กลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮสโคป ซึ่งจากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่า…
“กลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮสโคปนั้น มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่มขั้นต้น จึงอนุมานได้ว่า โปรแกรมนี้มีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเติบโตในอนาคต”
มีกระบวนการ 3 กระบวนการสำคัญ คือ 1.การวางแผน (Plan) เป็นการให้เด็กกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กสนทนากับครู หรือสนทนาระหว่างเพื่อนด้วยกัน เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอะไร อย่างไร ?
การวางแผนกิจกรรมนี้ เด็กต้องมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอาจจะบันทึกด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูช่วยบันทึกก็ได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กสนใจในกิจกรรมที่ตนเองได้วางแผนไว้
2.การปฏิบัติ (Do) คือ การให้เด็กลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนด โดยเน้นให้เด็กได้ช่วยกันคิด ทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย ได้เรียนรู้ตามประสบการณ์ ค้นพบความคิดใหม่ๆ โดยคุณครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำมากกว่าจะลงไปจัดการด้วยตัวเอง
- การทบทวน (Review) คือกระบวนการที่ให้เด็กสะท้อนผลงานของตัวเองที่ได้ลงมือทำผ่านการพูดคุยหรือแสดงผลต่างๆ เพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง
นำร่องพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 60 แห่งทั่วประเทศ
การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่องตามแนวทางไฮสโคปนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จะดำเนินการร่วมกับโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) และสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) โดยจัดทำ ‘โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเป็นฐาน’ ขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ พอช. จะเปิดเวทีทำความเข้าใจกับชุมชนที่มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กตามแนวทางไฮสโคป โดย พอช.จะดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ 1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่แล้ว 60 ศูนย์ จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกับท้องถิ่น และ 2.พื้นที่กลางของชุมชน จะมีการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้ตามแผนงานของ พอช. และคณะทำงาน หลังจากเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศูนย์เด็กในชุมชน/ตำบลแล้ว ในเดือนมีนาคม-เมษายน จะจัดประชุมเพื่อประเมินชุมชนที่มีความสนใจ เพื่อคัดเลือกชุมชนนำร่องที่มีความพร้อมจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ
หลังจากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ สร้างความเข้าใจกับบุคลากร ครู และฝึกปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปเป็นเวลา 10 วันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เพื่อนำมาพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่องภายในปี 2566 จำนวน 10 แห่ง และขยายเป็น 60 แห่งทั่วประเทศต่อไป (ภาคละ 12 ศูนย์ จำนวน 5 ภาค รวม 60 ศูนย์)
สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนั้น 1.เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนขยายผลการทำงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาเด็กปฐมวัย 2.สนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนในศูนย์เด็กเล็กร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน 3.พัฒนาความรู้การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 4.สร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมะสมกับวัย
ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช. กล่าวเสริมว่า การนำร่องจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป ขณะนี้มีภาค เอกชน เช่น ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล จำกัด สำนักพิมพ์ประพันสาส์น ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านของเล่น หนังสือ อุปกรณ์การเรียนรู้ ฯลฯ ให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็ก คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาทต่อ 1 ศูนย์
“พอช. และภาคีเครือข่ายจะเข้าไปหนุนเสริมด้านการพัฒนาบุคลากร ครู พี่เลี้ยง จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้ การเล่น หนังสือภาพ หนังสือนิทานมาสนับสนุนศูนย์เด็ก และสามารถใช้ระบบหมุนเวียนหนังสือหรือของเล่นไปยังศูนย์อื่นๆ ได้ เช่น เดิมมีหนังสือนิทาน 30 เล่มต่อ 1 ศูนย์ ใน 1 เดือนจะสามารถหมุนเวียนหนังสือไปยังศูนย์ต่างๆ ในภาค จำนวน 12 ศูนย์ ทำให้เด็กได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ตลอดปี รวม 360 เล่ม” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
และย้ำว่า “ผมคิดว่าถ้าเราให้การดูแลเด็กๆ ที่ดีทั่วประเทศได้ 10 ปีให้หลังคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ และผู้นำชุมชนก็จะแฮปปี้ว่านี่คือสิ่งที่เราสนับสนุนเขาอย่างแท้จริง ให้ลูกให้หลานเขา และสามารถทำได้อีกเยอะเลย เช่น ทำเรื่องผัก ปลูกผักให้เด็กทาน พวกนี้ใช้เงินน้อยและมีพื้นที่อยู่แล้ว เราจะพยายามทำเรื่องนี้ประกอบกันไป และผู้นำชุมชนก็พร้อมทำ เพราะทำแล้วสามารถจับต้องได้ ระยะยาวจะเปลี่ยนแปลงประเทศ”
เรื่องและภาพ: สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์