ห้องเรียนพร้อมเมื่อไหร่ เรียนตอนนั้น : ที่โรงเรียนบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

ห้องเรียนพร้อมเมื่อไหร่ เรียนตอนนั้น : ที่โรงเรียนบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

สถานการณ์โควิด-19 รอบนี้ น่าห่วงไม่เเพ้ 2 รอบที่ผ่านมา การระบาดเป็นกลุ่มก้อนทั้งในชุมชน และในเขตพื้นที่เมือง เป็นโจทย์ใหญ่ จะต้องร่วมมือกันฝ่าวิกฤตทั้งโรคระบาด ผ่านมากว่า 3 รอบแล้ว การศึกษาก็ยังเป็นโจทย์ที่คุณครู โรงเรียนเองพยายามหาทางออกให้เด็ก ๆ ในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน ให้เด็ก ๆ ได้เรียนและไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา จะมีวิธีการอย่างไรให้การศึกษาของกลุ่มเด็กเปราะบางไปต่อ

ลองคิดถึงตัวเราเองตอนที่ work from home กันที่บ้าน เวลาประชุมหลายคงเคยเจอกับปัญหา สัญญาณขาด ๆ หาย ๆ นะคะ จนบางช่วงก็ขาดสาระสำคัญกันไปบ้าง เช่นเดียวกันกับน้อง ๆ นักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ในขณะนี้ แม้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการที่ต้องเรียนที่บ้าน แต่เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต เรื่องอุปกรณ์ยังเป็นเรื่องที่ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลพยายามปรับและแก้โจทย์กันอย่างต่อเนื่อง   

“เวียงแหงที่เราอยู่ ถ้าวันไหน ฝนตก ลมแรงนะ ไม่ต้องถามถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต เด็ก ๆ คือไม่ได้เรียนแน่นอน ในวันนั้น ” ครูท็อปบอกกับเราถึงปัญหาการเรียนการสอนในช่วงของเด็กที่ โรงเรียนบ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่  ฤดูกาลก็ส่งผลต่อปัจจัยในการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกลเหมือนกัน

แน่นอนว่าในตอนนี้โรงเรียนถูกสั่งปิด แต่การเรียนการสอนต้องไม่หยุดตามไป แต่ปัญหาคือเด็กนักเรียนเอง บางบ้านมีปัญหา ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน สัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งเวลา ที่ไม่พร้อม การแก้โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของคุณครูที่จะออกแบบให้เข้ากับผู้เรียน  

ครูท็อป เป็นครูคนหนึ่งที่สร้างห้องเรียนบันดาลใจ Feel  Trip ในช่วงแรก ๆ ของสถานการณ์โควิดเมื่อการเรียนในห้องเรียน เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับการศึกษาของเด็ก ๆ ในยุคนี้ การสร้างกิจกรรม เล็ก ๆ  สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน พาเด็กนักเรียนของเขาไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เช่น พาเด็ก ๆ ไปออกแบบเสื้อผ้าที่ใช้ผ้าทอของพี่น้องชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือพาไปลองเรียนรู้การรำฟ้อนเจิงที่ในปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปจากยุคนี้ เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบง่าย ๆ กับสิ่งที่มีอยู่รอบตัวที่ตัวเองอยู่อาศัยบริบทของโรงเรียนบ้านเปียงหลวง ที่ชิดชายแดนผ่านเมียนมา

โรงเรียนบ้านเปียงหลวง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 154 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว ๆ 3-4 ชั่วโมง ผ่านทางราบสลับภูเขา จนถึงโรงเรียนขนาดกลาง และเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีนักเรียนประมาณ 848 คน มีตั้งแต่ชั้น อนุบาล 1 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กส่วนใหญ่ที่นี่เป็นเด็กชาติพันธุ์ไทใหญ่  คนจีน และชาติพันธุ์ลีซู ส่วนมากจะเป็นเด็กในพื้นที่ทั้งหมดที่เรียน ซึ่งครูท็อปสอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นหลัก มีนักเรียนอยู่ 106 คน ดูแลห้อง ม.1/1 เป็นชั้นเรียนที่ครูดูแลอยู่ มีนักเรียนราว 36 คน มีตั้งแต่นักเรียนที่มีฐานะ ไปจนถึงนักเรียนที่ยากจน ซึ่งกลุ่มยากจนนี้มีอยู่ราว 10-20%

“เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ครูต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ยิ่งต้องดูแลเขาอย่างใกล้ชิด” สถานการณ์โควิดระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง มีประกาศจากทางโรงเรียนสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว ตั้งแต่ วันที่ 13 -31 กรกฎาคม 2564 ให้นักเรียนกลับไปเรียนออนไลน์

หากย้อนทวนกลับไปช่วงการระบาดรอบแรก ปัญหาที่พบเจอในช่วงนั้นอย่างเช่น การเรียน DLTV ที่เด็ก ๆ ได้เรียนในช่วงที่ผ่านมา สิ่งนี้ยังไม่ตอบโจทย์นักเรียนมากเท่าไหร่ ถึงผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนตื่นตัวกับการเรียนในระบบใหม่ และนักเรียนก็ตื่นตัวอยากเรียนไม่แพ้กัน แต่ถึงอย่างไรผู้ปกครองนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ ทำอาชีพเกษตรกร จึงมีเสียงสะท้อนว่า พวกเขาต้องออกไปเข้าสวน ทำไร่ ออกไปรับจ้าง และอาจไม่สามารถเฝ้าดูบุตรหลานระหว่างเรียนผ่านหน้าจอได้ และอุปกรณ์ของทางบ้านไม่พร้อม เช่น ทีวี จานดาวเทียม สัญญาณอินเทอร์เน็ตถึงจะมี แต่ประสิทธิภาพไม่สูงมากพอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ – ครูท็อปบอกกับเรา 

เมื่อ Covid-19 Educational Disruption เป็นสิ่งที่ครูจำเป็นต้องคิดค้นและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมให้สามารถใช้ได้กับบริบทของเด็ก ๆ ในพื้นที่ลองผิดลองถูกอยู่สองรอบ (จากสถานการณ์โควิด-19) เกิดมาเป็น “ห้องเรียน 24 ชั่วโมง พร้อมเมื่อไหร่เรียนตอนนั้น” 

“ในบริบทของเด็ก ๆ ที่มีความหลากหลายในพื้นที่ จะให้เขาเรียนบนออนไลน์เพียงอย่างเดียวและแบบเรียวทามคงจะเป็นไปได้ยาก เราเลยออกแบบห้องโดยเรารู้อยู่แล้วว่าพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ เขาจะต้องเล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำและทุกวัน เราเลยใช้เครื่องมือนี้ออกแบบห้องเรียนออนไลน์ที่ เด็กคนไหนที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต เมื่อเขาพร้อมเขาสามารถย้อนกลับมาดูได้อีกครั้ง เราเคยลองสอนแบบเรียวทามปรากฏว่าเด็กเข้าไม่ถึง 30%”

มีคำสั่งปิด รร. ในช่วงเวลานั้นรื้อมาเลย ทำแบบเดิมที่เคยทำมา ปรับเปลี่ยนโดยการเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจข้อมูลสถานการณ์จริงของพื้นที่ ครูท็อปบอกกับเราว่า ช่วงที่ครูลองลงไปสำรวจบ้านของเด็ก ๆ ที่ครูสอน และได้ทำการสำรวจถามทุกคนว่า ใครมี Facebook บ้าง พบว่าเด็ก ๆ เล่น Facebook และมีโทรศัพท์มือถือ กันแทบจะทุกคน เว้นมีบางคนเท่านั้นที่ไม่มี ก็จะขอยืมของพ่อแม่มาใช้ ก่อนในช่วงเวลาที่พ่อแม่ไปทำงาน พอเราถามเราก็มาวางแผนว่าจะให้เด็ก ๆ เรียนแบบเรียวทามในแบบเดิมไม่ได้  จึงปรับรูปแบบการสอน มาทำสื่อการสอนเองโดย ใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook ทำการสร้างกลุ่มขึ้นมา และสร้างห้องและทำวีดีโอเนื้อหาการสอนให้เด็ก ๆ ทำแบบนี้เด็ก ๆ สามารถรีรันดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งห้องเรียนมัธยมปีที่ 1 ที่ผ่านมาจากการระบาดระลอก 2 ผลออกมาชัดเจนว่าตอบโจทย์เด็ก ๆ ได้เกือบทุกคน

ใช้กลุ่มเฟซบุ๊กเป็นตัวกลางในการสอนและเป็นสื่อให้เรา ครูท็อปใช้ช่วงเวลากลางคืนในการอัดวิดีโอสื่อการสอนให้กับเด็ก ๆ พยายามสอนให้ตรงกับบริบทเด็ก เพื่อให้เขาเข้าใจและไม่เบื่อไปกับการเรียน เป็นคลิป 15-20 นาที การสอนจะแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการดูคลิปที่อัดสอน ก็จะปล่อยให้ดูคลิป อีกครึ่งหนึ่งคือ ให้ใบงานและให้เขาทำเป็นใบงานทั่วไป ถ้าไม่เข้าใจก็หาข้อมูลเพิ่มเติม อีก 1 วัน ครูก็จะมาเฉลยในไลฟ์ ซึ่งครูในยุคนี้อาจจะต้องสละเวลาส่วนตัวสักหน่อย เพื่อทำแบบนี้  ส่วนของตารางเรียนก็จัดใหม่ในสายชั้น อย่าง 1 วัน ถ้าเป็นตารางเรียนจริง ๆ เด็ก ๆ จะเรียนเยอะมาก วันจะ 7-8 วิชาไปเลยทีเดียว เราจึงปรับขอให้เด็กเรียน 3-4 วิชา และแบ่งตารางลงในกลุ่ม

กระบวนท่า ขั้นตอนและลีลาการสอนฉบับครูท็อป

  • การเรียนคือ On hand คือเอาใบงานไปแจกให้เด็ก ๆ เป็นใบงานสรุปบทเรียน ขับรถเอาไปให้เด็กที่บ้าน อาทิตย์เว้นอาทิตย์ แต่สถานการณ์การระบาดในรอบนี้ ต้องปรับเพื่อความปลอดภัย เดือนนี้แจกแจกใบงานทุกวิชา ล่วงหน้าไป 3 สัปดาห์
  • การเรียนแบบในกลุ่มเฟซบุ๊ก จะลงเนื้อหาสัปดาห์ละ 2-3 คลิป เป็นคลิป 10-15 นาที ให้เด็กเข้ามาดูคลิปพร้อมทำใบงานที่แจกไป
  • การเข้าเรียนเรียนแล้วแต่น้องเลือกเวลาเอง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง มีการเช็คชื่อผ่านการแสดงความคิดเห็น หรือดูว่ามีใครเห็นคลิปที่ครูโพสแล้วบ้างอาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยใช้กำหนดคำ เช่น วันจันทร์ให้ให้พิมพ์คำว่านะจ๊ะใต้ความเห็น วันอื่นก็เปลี่ยนคำไป ส่วนการสอบสอบกลางภาค อาจต้องปรับและวางแผนอีกที แต่ใบงานคือคะแนนเก็บที่สำคัญ
  • Zoom กันอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะครู-นักเรียนมีข้อจำกัด มาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยในซูม เพียง 30 นาที และเป็นข้อจำกัดที่ปรับตัวมาตอนเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวแล้วเด็กเข้าไม่ถึง 30 %

ยกตัวอย่าง วิชาคณิตศาสตร์ เด็ก ๆ ก็จะเรียนในกลุ่มคณิตศาสตร์ ถ้าเด็ก ๆ มีคำถามหรือข้อสงสัยก็ให้ไปโยนคำถามไว้ในกลุ่มวิชานั้น ๆ พยายามให้เด็กรู้สึกว่าใกล้ชิดกับครูมากขึ้นในระบบออนไลน์ และจะมีการซูมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง Zoom มันมีข้อจำกัด เราใช้แบบฟรีใช้ได้เพียง 30 นาที เด็ก ๆ คุยกันก็ปาไปแล้ว 20 นาที จึงต้องกำหนดการพูดคุย แล้วใช้กลุ่มเฟซบุ๊กเป็นตัวกลางในการสื่อสารกัน

ครูท็อปบอกว่า “การสอนในรูปแบบนี้เป็นการทดลองของ แกที่เป็นคนแรกในโรงเรียนเรารู้สึกว่ามันไปได้ เราเลยคิดจึงชวนคุณครูชั้น ม.1 มาทำร่วม ปรากฏว่าคุณครูทุกคนในชั้น ม.1 มีห้องเรียนออนไลน์บนเฟซบุ๊กแทบทุกคนแล้วตอนนี้ ครูท็อปหัวเราะ 55 จนตอนนี้ขยายไป ม.2 ม.3 แล้วแหละ”

ฟังเสียงจากห้องเรียนสัญญาณไม่เสถียร ผู้เรียนว่ายังไง

ในรายวิชาส่วนตัวของครูเอง ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ปฏิกิริยาตอบกลับของเด็ก ๆ บอกว่า เด็ก ๆ ชอบ เด็ก ๆ สนุกไปกับมัน เราดีใจมาก เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่สนุกและท้าทาย

ครูท็อปไม่รอช้าชวนน้อง ด.ญ.ภัสสร กันนะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง น้องเล่าให้ฟังว่า “นี่ไม่ใช่การเรียนที่บ้านครั้งแรก แต่เป็นการเรียนออนไลน์ครั้งแรก ของเด็กประถมศึกษาที่ขยับขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 การเรียนออนไลน์ครั้งแรกผ่านมาแล้วกว่า 10 วัน การปรับตัวคือ เราจะต้องตื่นและเตรียมพร้อมมือถือแบตต้องเต็ม สมุด ปากกาในทุกเช้า มีติดขัดบ้างตรงที่ปัญหาเล็กน้อย คือ เราอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางทีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ และตัวเอง มีเพียงแค่โทรศัพท์มือถือ ในการเรียนออนไลน์”

“ในช่วงวันแรกครูท็อปจะเอา ใบงานมาแจก ให้กับนักเรียนในแต่ละบ้าน เพื่อให้ใช้ใบงานนี้เรียนควบคู่ ไปกับการเรียนในห้องเรียน บนเฟซบุ๊ก ข้อดีอยู่ตรงนี้ คือห้องเรียนของครูท็อปไม่ได้เรียนบนออนไลน์แบบกำหนดเวลา เพียงอย่างเดียว แต่มีสื่อการเรียนการสอน ที่เราสามารถกลับไปดู ได้อีกครั้ง เมื่อเราไม่เข้าใจในบทนั้น และมีการถามตอบ ระหว่างกันผ่านกลุ่ม หรือแชทส่วนตัวได้ ในอาทิตย์หนึ่ง จะมีการ พูดคุยกันผ่านโปรแกรมซูม ซึ่งส่วนตัว เองโปรแกรมนี้ เพื่อนๆหลายคน ก็ไม่สามารถเข้าได้ บางคนอาจจะติด เพราะ อินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ทำให้ เรายังได้เจอกับเพื่อนๆผ่านทางออนไลน์ในช่วงเวลาสามสิบนาที”

“เติมอินเทอร์เน็ตเดือนละสามร้อยบาท ถ้าเราต้องเรียนไปอีกสามสิบวันแล้วเรียนแบบเรียลไทม์ หนูว่าความแรงของอินเทอร์เน็ตหนูคง ลดลงไปตามวันนั้นๆ แต่การเรียนในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ครูสร้างขึ้นถ้าเราอยากดูคลิปสื่อการสอนตอนไหนเราก็สามารถกลับไปดูได้ พร้อมกับการทำใบงาน ”

หลังจากพูดคุยกับภัสสรสักพัก ครูท็อบชวนน้อง ๆ มาแลกเปลี่ยนกันหลายคน

ผู้เขียนจึงถามน้อง ๆ ทุกคนถึงความแตกต่างของการเรียนออนไลน์ แบบเรียลไทม์ที่ไม่สามารถกลับมาย้อนดูได้  ข้อจำกัดที่น้อง ๆ พบคืออะไรบ้าง แล้วในรูปแบบที่ครูท็อปที่มีการ zoom เจอกันแลกเปลี่ยนสั่งงานไม่เกิน 30 นาที และให้เด็ก ๆ เรียนผ่านวีดีโอในกลุ่มออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไร

“ความแตกต่าง คือ การเรียนแบบเรียลไทม์แน่นอนอยู่แล้วว่าเครื่องมือและอินเทอร์เน็ตของเด็กแต่ละคนไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะใช้ได้นานเกิน 1 ชั่วโมง และประสิทธิภาพของอุปกรณ์โทรศัพท์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน ไหนจะฟ้าฝน ในช่วงนี้ การเรียนแบบเรียวทางจึงไม่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้ในข้อนี้ แต่ยังมีข้อดีที่สามารถยกมือถามครูได้แบบเรียลทามเช่นกัน แต่ก็ต้องแย้งกับเพื่อน ๆ จนฟังไม่ออกว่าครูตอบหรือเพื่อนตอบ”

ส่วนในการเรียนการสอนแบบครูท็อปออกแบบน้อง ๆ บอกว่า “ดีนะครับ” สิทธิกรรีบตอบคนแรก “เพราะอะไร เพราะบางครั้งที่ผมไม่เข้าใจผมจะสามารถย้อนกลับไปดูได้อีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาเป็นการทบทวนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ต้องอ่านเพียงคนเดียวแต่มีเสียงครูท็อปช่วยสอนผมตลอดเวลา”

ก่อนจะจบการสนทนาระหว่างกัน ครูท็อปฝากว่า ตัวครูเองพยายามลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจนตอนนี้ สามารถมีห้องเรียน 24 ชม เปิดไปคู่กับร้านสะดวกซื้อเลย >< เด็กหิวความรู้เมื่อไหร่ก็มาเติม ไม่เข้าใจอะไรก็สามารถถามตอบกันได้ ตอนนี้ทางครูหลายคนในโรงเรียนยอมรับและเปิดใจที่ใช้สื่อสารเรียนการสอนแบบนี้ตาม มันเป็นวิถีใหม่ของการศึกษาในสถานการณ์นี้ ในแต่ละบริบทของพื้นที่ว่าจะออกแบบอย่างไร เราไม่รู้ว่าจะสถานการณ์นี้จะจบเมื่อไหร่ ตัวครูเองก็หวังจะเห็น ‘ชีวิตวิถีใหม่’ ในแง่การศึกษาด้วย เช่นกัน ยังไงโควิดก็ยังจะคงอยู่กับพวกเราไปอีกสักระยะ รัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาส่งเสริมหรือหนุนเสริม กิจกรรมของครู อยากให้มีการสำรวจในช่วงที่โควิด-19 เข้ามา ควรมีวิธีการอย่างไร หรือครู ได้ทดลองการเรียนรู้กับเด็กในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันแบบไหน ได้ผลออกมาเป็นอย่างไร ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญ

เหมือนกับการรวมศูนย์คำสั่งในช่วงนี้ที่ให้ปิดโรงเรียนแล้วสอนออนไลน์ แต่ก็ต้องรีเช็คกลับมาว่าวิธีนี้ใช้ได้กับทุกพื้นที่จริงหรือเปล่า นี่เป็นโจทย์เหมือนกันสำหรับการศึกษา ว่าพื้นที่ไหนที่เหมาะ พื้นที่ไหนที่มันไม่เหมาะ กับการเรียนการสอนแค่เพียงในออนไลน์ สิ่งนี้เป็นคำถาม และเป็นโจทย์ใหญ่อยู่เหมือนกันนะ

อย่างน้อย ๆ ครั้งนี้เราเห็นทางไปต่อทางการศึกษา ของ ‘ครูรุ่นใหม่’ เป็นคนในเจเนอเรชันใหม่ พวกเขาอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิม ๆ ให้การศึกษาไทย  อย่างน้อยเรามีความหวังขึ้นมาว่าระบบการศึกษาบ้านเราจะต้องดีขึ้น เพราะครูรุ่นใหม่เริ่มมีความแอคทีฟ อยากถีบตัวเองออกจากการทำงานด้วยฐานคิดแบบเก่า  จะไม่มีเด็กคนไหน “หล่นหาย” ไป “กลางทาง” ถ้าเราเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เข้ากับบริบทของพื้นที่นั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ