พิษณุโลก/วันนี้(18 ก.พ 2566) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เป็นประธานมอบบ้านพอเพียงให้กับผู้ที่ประสบปัญหาเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จ.พิษณุโลก จำนวน 564 หลังคาเรือน โดยมี นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทีม One Home พม.พิษณุโลก หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และตัวแทนเครือข่ายพี่น้องประชาชน เข้าร่วมงาน กว่า 200 คน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนผุ้มีรายได้น้อย กระทรวง พม.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งมีภารกิจแก้ไขปัญหาครอบครัวผู้ยากจนในพื้นที่ชนบทที่เดือดร้อนด้านที่อยู่ โดยสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุง ซ่อมแซม และสร้างที่อยู่อาศัย รวมทั้งประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เน้นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาแบบแม่นยำ และรวมไปถึงการประสานความร่วมมือกันของทุกกระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่นที่ไม่ใช่ที่เป็นที่เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นปัญหาของทุกคน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุผู้พิการ การดูแลเด็กช่วงประถมวัยและการรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาด้านอาชีพและและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพิษณุโลก ต้องผนึกกำลังสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และวางแนวทางที่เป็นขั้นตอนในการขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ในทุกอำเภอทุกตำบลของจังหวัดพิษณุโลก โดยใช้โมเดลตำบลท่าหมื่นราม เป็นโมเดลต้นแบบในการขับเคลื่อนงานในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่อยู่อาศัย
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ตามแนวทางโครงการบ้านพอเพียง มียุทธศาสตร์สำคัญ คือ ให้ชุมชนและเครือข่ายเป็น “เจ้าของโครงการ” ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดย มีสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่เป็นคณะทำงานกลางในการทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง สนับสนุนการดำเนินการในระดับพื้นที่ และเป็นกลไกสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาคี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ในการดำเนินการปฏิบัติการให้เกิดรูปธรรม และเป็นพื้นที่ในการสร้างองค์ความรู้ มีรูปแบบแนวทางและกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เกิดจากคนในชุมชนท้องถิ่นร่วมคิด ร่วมทำอย่างแท้จริง โดยใช้ฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และที่สำคัญเน้นการทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้นทั้งในระดับตำบล เมือง จังหวัด เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายจุติและคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ด้วยรถไถพ่วง ร่วมซ่อมแซมบ้านนายแดง ดัดโป่ง เลขที่ 42/1 หมู่ 11 ต.ท่าหมื่นราม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และยกเสาเอกบ้านนางอำพร บุญช่วย เลขที่ 26 หมู่ 8 ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและผู้เปราะบาง