30 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได พร้อมทนายความ เดินทางไปยังศาลจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อฟังคำพิพากษาคดี กรณี 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปักหลักชุมนุมสาธารณะตั้ง “หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี” บริเวณถนนเพื่อการเกษตรที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันที่สามารถเดินทางเข้าไปยังภูผาฮวก พร้อม 3 ข้อเรียกร้อง คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 – ปัจจุบัน ถูก นายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ เจ้าของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ฟ้องคดีโดยอ้างว่าทำการก่อสร้างสิ่งกีดขวาง กางเต้นท์ที่พัก ขวางเส้นทางขนแร่ และขัดขวางไม่ให้บริษัทฯสามารถขนย้ายกองแร่หินปูนที่บริษัทได้ดำเนินการไว้
โดยในเวลา 10.05 น. ผู้พากษาได้อ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญว่า บริษัทได้รับประทานบัตรในการทำเหมือง 175 ไร่ 3 งาน และได้รับใบอนุญาตในการกองแร่ 50 ไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนใบต่ออายุประทานบัตรและศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ชาวบ้านผู้ถูกฟ้องได้ชุมนุมตามกฎหมาย มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อสถานีตำรวจภูธรสุวรรณคูหา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสุวรรณคูหาได้ตรวจเยี่ยมการชุมนุมทุกวันและมีการบันทึกการตรวจ ซึ่งในบันทึกได้บันทึกว่าการชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ และชุมนุมบนพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย ทั้งการชุมนุมไม่ได้มีการขัดขวางการขนแร่ บริษัทขนเครื่องจักรกลออกจากเหมืองก็สามารถขนผ่านเส้นทางที่ชุมนุมได้ โจทก์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาสืบให้มาพอที่จะเชื่อว่าตนมีสิทธิในที่ดิน 50 ไร่ (ที่กองสินแร่) พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักมากกว่า ศาลจึงพิจารณายกฟ้อง
ภายหลังจากรับฟังคำพิพากษา นางเปี่ยม สุวรรณสน ผู้ถูกฟ้องคดีที่หนึ่ง กล่าวว่า ” รู้สึกมั่นใจในผลคดี เพราะการต่อสู้เพื่อปกป้องภูผาบ้านเกิด ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง ต่อสู้เพื่อส่วนใหญ่ และชุมนุมอย่างถูกกฎหมาย มีแต่ฝ่ายนายทุนที่ทำผิดกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นก็ชี้ให้ผิด ศาลปกครองสูงสุดก็ชี้ให้ผิด รู้สึกดีใจที่ชนะวันนี้อีกครั้งหนึ่ง ”
ขณะที่นางสาวมณีนุด อุทัยเรือง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ก็ได้กล่าวว่า ”ความรู้สึกแรกที่ถูกฟ้อง มีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้ง ๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเกิด และต้องเสียเวลาในการทำมาหากิน ยังจะมาถูกฟ้อง ทั้ง ๆ ไม่ได้ทำผิด ปฏิบัติตามกฎหมาย วันนี้คำพิพากษาออกแบบนี้ก็รู้สึกใจฟูขึ้นมา เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างที่ฝ่ายโจทก์อ้าง ”
ด้าน นายกริษณุภูมิ นิลนามะ ทนายความประจำคดีของ 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ” ในความเห็นของผมคำพิพากษาวันนี้ ศาลมีคำพิพากษาตามหลักฐานของชาวบ้านที่ต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมาย มีการแจ้งชุมนุม การชุมนุมอยู่ห่างจากพื้นที่ประกอบการ ไม่ใช่การขัดขวางตามที่ฝ่ายโจทย์ฟ้อง ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย พื้นที่ 50 ไร่ ที่บริษัท อ้างว่าแร่เป็นของเขา ต้องจบตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาต แต่บริษัทก็ยังจะใช้สิทธิในการฟ้องก็เป็นสิทธิของเขา แต่เป็นการฟ้องเชิงกลั่นแกล้งมากกว่าหวังผลทางคดี ”
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มองว่า คำพิพากษาวันนี้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการปกป้องสิทธิ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ย้ำถึงขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่แข็งแกร่งของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อีกครั้ง ว่าการลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องบ้านเกิดตัวเอง ให้ทรัพยากรหล่อเลี้ยงหมู่บ้านอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยืนยันจะต่อสู้เคลื่อนไหวจนกว่าจะยกเลิกประกาศแหล่งหินตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และจะพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อพื้นที่อันมีค่าเป็นมรดกให้ลูกให้หลานสืบทอดไป