จาก “เจแปน” แดนอาทิตย์อุทัยสู่ถิ่นช้างใหญ่ “เมืองสุรินทร์”

จาก “เจแปน” แดนอาทิตย์อุทัยสู่ถิ่นช้างใหญ่ “เมืองสุรินทร์”

เพราะการเรียนรู้มีอยู่ในทุกพื้นที่และความสนใจของทุกคนก็แตกต่างหลากหลาย นักศึกษาชมรม PRENGO “เพรงโกะ”จากมหาวิทยาลัยริทสึเมคัน เอเชีย แปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น APU (Ritsumeikan Asia Pacific University) จึงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนรู้ไกลถึงดินแดนอีสานใต้ ที่ อ.ลำดวน จ.สุรินท์ ในระหว่างวันที่ 11 – 18 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นอีกพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต มีกิจกรรมหลากหลายซึ่งจะให้ประสบการณ์แตกต่างกันไปทั้งเรื่อง เกษตร ศิลปะ และดนตรีกันตรึม 

บินลัดฟ้าร่วมสร้างห้องเรียนตามใจกับเยาวชนเมืองสุรินทร์

Manaka Yamaguchi นักศึกษาชมรม PRENGO “เพรงโกะ”จากมหาวิทยาลัยริทสึเมคัน เอเชีย แปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่นAPU (Ritsumeikan Asia Pacific University) หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมเรียนรู้กิจกรรมห้องเรียนตามใจสองวัฒนธรรม ระหว่างนักศึกษาญี่ปุ่น-ไทย กับคนในพื้นที่ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์  “วันนี้ได้เรียนวัฒนธรรมใหม่ของไทย ได้ปลูกพืช ปลูกผัก เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ไม่เคยทำมาก่อน คิดว่าเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเพราะไม่ได้ทำบ่อย ๆ กิจกรรมแบบนี้สนุกมาก อยากเอากิจกรรมนี้ไปแชร์กับคนญี่ปุ่น กับคนในชมรม งโกะ หวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสมาทำกิจกรรมแบบนี้อีก” กำแพงภาษาไม่อาจกั้นการสื่อสารด้วยความเข้าใจ ญี่ปุ่น-ไทยอีสาน ผ่านการเรียนรู้ภาษอังกฤษในชีวิตประจำวัน เพราะนั่นคือบทหนึ่งของการเรียนรู้

เปิดพื้นที่สร้างห้องเรียนสองวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น

สัญญา ทิพย์บำรุง

“จากที่ขับเคลื่อนประเด็นห้องเรียนตามใจ ด้วยความที่พี่หยาทำงานเชื่อมกับญี่ปุ่นอยู่แล้ว กลุ่มชมรม  “เพรงโกะ” เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อทำกิจกรรมอยู่ที่ต่างประเทศ คือทำกิจกรรมเหมือนที่เราทำห้องเรียนตามใจเลยได้เชื่อมประสานกัน ภายใต้ประเด็นที่พวกเราออกแบบอยู่แล้ว คือ ห้องเรียนตามใจกลุ่มนี้ให้เขาเปิดอีกห้องหนึ่ง คือเรื่องการเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยน เลยจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ก่อนเบื้องต้น  เพื่ออย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าเด็กของเรากลุ่มไหนที่สนใจเรื่องภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาต่างชาติ เพราะว่ามันคือกระบวนการค้นหาด้วยเหมือนกัน  เวลาที่เราประสานกับน้อง“เพรงโกะ” ก็เพื่อเชื่อมให้เขามาทำงานในพื้นที่ของเราด้วย เพื่อกระตุ้นในพื้นที่ให้เด็กเยาวชนของเรารู้สึกว่าอยากเรียนรู้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ชวนกันออกแบบ คือให้พวกเขาออกแบบหลังจากการมาครั้งแรก พอครั้งที่สองเขาก็ออกแบบว่าเขาจะมาทำอะไรกับเรื่องห้องเรียนตามใจในพื้นที่ อ.ลำดวน” สัญญา ทิพย์บำรุง หรือ พี่หยา ผู้ก่อตั้งสวนนิเวศเกษตรศิลป์ ด้วยความตั้งใจในการสร้างพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ โดยใช้พื้นที่ดินของตนสร้างศูนย์การเรียนรู้ผ่านการทำผ้ามัดย้อม การปั้นดิน การเกษตร และการแปรรูปอาหารอย่างจิ้งหรีดซึ่งเป็นอาชีพของคนในชุมชนสู่การทำผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ๆ เยาวชน และนักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นที่มาร่วมเรียนรู้ได้นำไปขยายผลต่อยอดในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้

 

สัญญา ทิพย์บำรุง ยังเล่าต่อถึงความพยายามในการเชื่อมการทำงานของพื้นที่เพื่อหวังว่าจะขยายฐานการเรียนรู้สู่ต่างประเทศ “พี่พยายามเชื่อมกับต่างชาติหลัก ๆ ที่อยากขยับในพื้นที่คือเรื่องห้องเรียนตามใจ ให้มีความหลากหลาย พอมีความหลากหลายพี่อยากขยายผลต่อ ไม่ได้อยากทำแค่ที่นี่แต่ว่าเชิญชวนให้น้องมาเรียนรู้กระบวนการของเรา เขาเอาไปใช้ที่มหาวิทยาลัยของเขาด้วย ถ้าทำได้ อย่างน้อยเป็นไอเดียให้กันและกัน และก็มองช่องทางไปร่วมกันว่าระบบการศึกษาในระดับต่างประเทศ  การศึกษาที่อยากให้มันเป็นเราน่าจะจัดการได้ ไม่ใช่ภายใต้การฟังเฉพาะในระบบ แต่คนที่อยู่ข้างนอกก็สามารถที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ได้”

การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของสองวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นในครั้งนี้นอกจากเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ข้ามประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนวิถี วัฒนธรรม ภาษาแล้ว การเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเช่นนี้อาจจะเป็นช่องทางในการพัฒนาชุมชน สร้างฐานการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับขยายฐานการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เกิดจากประสบการณ์จริง จากคนในดินแดนอีสานเชื่อมการเรียนรู้กับทางสถานบันการศึกษาประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ได้นำไปต่อยอดและขยายผลการทำงานในการสร้าง ห้องเรียนตามใจ ได้กว้างขวางมากขึ้น 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ