“โรงเรือนปลูกผักจะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการลดจำนวนของแมลงลง เช่น ตั๊กแตน หนอน แต่ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่จะลดจำนวนลง ลดการใช้สารเคมีลง ควมคุมอุณหภูมิได้บ้างในบางครั้ง แต่ช่วงหลัง ๆ มาก็ควบคุมไม่ได้เพราะอากาศร้อนมากขึ้นไม่เหมือนเมื่อก่อน”
ปลวก-ธราดล ชลธี เจ้าของสวนกิ่งแก้ว บ้านน้ำคำแดง ต.เตย อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ฟังถึงการทำเกษตรในระบบโรงเรือนที่ครั้งหนึ่งเคยไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอลซึ่งอยู่กับระบบโรงเรือนมาก่อน จึงได้นำความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอดที่บ้านเกิด หลังจากลงมือทำเกษตรแบบโรงเรือนอย่างจริงจังได้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงได้นำประสบการณ์มาเล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ฟัง และเกษตรกรผู้ที่สนใจในการปลูกผักในระบบโรงเรือน ให้เห็นถึงความคุ้มค่า หรือผลกระทบอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจและเป็นทางเลือกในการทำเกษตรยุคใหม่ปลูกผักในระบบโรงเรือน
จากแรงงานในต่างแดน สู่แรงงานที่บ้านเกิด
“ข้อดีของการปลูกผักในระบบโรงเรือนคือช่วยลดเรื่องของแมลงลงได้ ปลูกผักนอกฤดูได้ รวมไปถึงการควบคุมเรื่องอื่น ๆ ในโรงเรือนสามารถจะควบคุมได้ มากกว่าการปลูกผักกลางแจ้ง ปัจจัยภายนอกก็จะไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ สามารถความคุมในเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น เติมวัตถุดิบอะไรลงไปก็จะไม่ได้หายไปไหน รดน้ำลงไปเท่านี้ก็ได้เท่านี้ ข้อเสียคือเรื่องของอากาศที่เข้ามาทำให้ภายในโรงเรือนจะร้อนกว่าปกติเนื่องจากมีพลาสติกคลุมไว้จึงทำให้มีความร้อน แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนก็จะป้องกันฝนได้”
ทดลองและเรียนรู้ออกแบบการทำงานให้พอเหมาะ
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำเกษตรเป็นเรื่องที่ดี ช่วยในการประหยัดแรงงานและประหยัดเวลา แต่ความสบายเหล่านี้ก็มาพร้อมกับต้นทุนที่หนัก ถ้าหากบริหารจัดการไม่ดีก็อาจจะเสียทั้งเวลาและสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์
ติดตามเทคโนโลยีมาเรื่อย ๆ ด้วยความที่รู้มาเยอะ เห็นมาก็เยอะ แต่บางครั้งก็สูญเงินไปเสียเปล่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในเรื่องการใช้ระบบน้ำการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็มีข้อดี เช่นบางครั้งที่ไม่ได้อยู่สวนก็สามารถสั่งงานผ่านโทรศัพท์ได้ การลดน้ำจะลดได้ครั้งละมาก ๆ จะช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนลงได้เพราะใช้ระบบน้ำแบบพ้นสเปรย์ก็มี แต่ก็มีข้อเสียตามมาคือทำให้เราขี้เกียจ เช่นเราไม่ต้องเข้ามาดูสวนก็ได้ ตื่นเช้าขึ้นมากดโทรศัพท์รดน้ำผักไม่ต้องเข้ามาดูแลผัก แต่เราก็ไม่รู้ว่าผักที่อยู่ในโรงเรือนจะเป็นอย่างไรบ้างพราะบางครั้งที่ไม่ได้เข้ามาดูผักอาจจะติดโรค หรือมีมดกับเพลี้ยเข้ามาขยายพันธุ์ภายในโรงเรือนจดเป็นกการควบคุมโรคไม่ได้
การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำเกษตร จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงได้ เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องศึกษาและหาข้อมูลวางแผนให้รอบด้าน เพราะการปลูกผักในระบบโรงเรือน หรือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยล้วนมีต้นทุน มีข้อดีและข้อเสีย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือควรปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ เพื่อการทำงานที่ยั่งยืนต่อไป