เริ่มแล้ว ‘SEA’ สงขลา-ปัตตานี เตรียมเปิด 40 เวทีสร้างการมีส่วนร่วม

เริ่มแล้ว ‘SEA’ สงขลา-ปัตตานี เตรียมเปิด 40 เวทีสร้างการมีส่วนร่วม

วันนี้ (13 ก.พ.66 ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ปรึกษาโครงการ จัดการประชุมปฐมนิเทศ โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมเวที เกือบ 1,000 คน  

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ซึ่งที่ผ่านมา สศช. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา และใช้ในกระบวนการจ้างที่ปรึกษา โดยวิธีคัดเลือก และสำนักงานสภาพัฒฯ คัดเลือกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการแสดงความคิดเห็น โดยกำหนดไว้ไม่น้อย 40 เวทียังไม่นับเวทีย่อย ๆ เเบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง

สำหรับเเผนเเม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาเเละปัตตานีเพื่อระดมความคิดเห็นเเละข้อเสนอเเนะต่อโครงการฯ ประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่โครงการฯ เเละภาพอนาคตที่ต้องการรวมถึงเเนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

กอเฉม สะอุ ชาวบ้านจะนะ กล่าวว่า “วันนี้เราดีใจมาก เราฝากความหวังไว้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เราเห็นถึงความตั้งใจของหน่วยงานในวันนี้ เพราะกว่าจะถึงวันนี้ได้นั้นแลกมาด้วยแรงกายที่ชาวบ้านต้องขึ้นไปนอนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล เเละได้คดีติดตัวมา”

วันนี้เรามีความหวัง สิ่งที่เราเรียกร้องข้อสำคัญคือ การพูดถึงความยั่งยืนของฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ก่อนที่เราจะไปพูดถึงการพัฒนาอื่นๆ ทำอย่างไรที่จะต่อยอดสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น เพราะในชุมชนเรามีทะเลที่สมบูรณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่

กอเฉม สะอุ

“เราอยากเห็นทีมที่ศึกษาลงพื้นที่เจอกับชาวบ้านจริง ๆ ให้โอกาส ให้เวลากับกับชาวบ้านได้แสดงความต้องการของการพัฒนารอบนี้ แต่เรายังกังวลถึงช่องว่างเรื่องของข้อมูลข้อเท็จจริงที่เราเสนอ เราพบว่าการศึกษาในอดีตมันมีช่องว่าพอสมควร เราคาดหวังต่อ ม.อ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำงานร่วมกับพื้นที่ ที่จะหาคำตอบว่าจะนะเราควรจะพัฒนาไปทิศทางไหน”

กอเฉมกล่าวต่อว่า “เมื่อมีข้อมูลจากการทำเวทีเราอยากให้มีการถอดบทเรียนสรุปให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ”

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เราทำงานกับพื้นที่มาตลอดทั้งโครงการพัฒนาระดับภาค ระดับชุมชน เราเคยทำแผนพัฒนาภาคใต้ เราเป็นทีมที่ปรึกษาในการทำงานแผนงานในหลายจังหวัดเเละมีนักวิชาการลงไปทำแผนพัฒนาในระดับจังหวัด  สำหรับโครงการครั้งนี้ที่เรามาทำ เราไม่ได้เสนอตัวมาแต่ต้น แต่เป็นการเรียกร้องจากพี่น้องในพื้นที่ ที่เห็นว่ามหาลัยสงขลานครินทร์ น่าจะใช้ความเป็นวิชาการมาแก้ปัญหาที่สามารถบอกว่าการพัฒนาที่ดีต่อพื้นที่ควรจะเป็นอย่างไร เรายินดีที่ได้ลงมาช่วยทำงาน เพราะเป็นภารกิจของมหาลัยที่จะต้องสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่”

ผศ.ดร. พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ

ชาวบ้านเรียกร้องหลักการความเป็นกลาง?

“เวลามีข้อขัดแย้งหรือความเห็นต่างจะมีความสุดโต้งทั้งสองฝ่าย อาจจะมีความคิดเห็นต่างกันในหลายๆกลุ่ม เเล้วเราจะใช้เสียงในการตัดสินหรือป่าว ในกระบวนการประชาธิปไตยคือโหวตเสียงส่วนใหญ่ไปทางไหนก็ไปทางนั้น แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ใช่”

“เสียงส่วนน้อยมีความหมาย สิ่งที่เหมาะก็คือการใช้หลักการหรือทฤษฎีที่ถูกพิสูจน์แล้วควรที่จะไปในแนวทางนี้ ยิ่งถ้าหลักการนั้นเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกคนทั้งสังคมยอมรับ หลักการแบบนี้จะทำให้คนที่เห็นต่างหลายๆฝ่ายกลับเข้ามาคุยกันได้ อย่างเรื่องSEA หลักการใหญ่คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกคนเห็นพ้องต้องกันที่อยากเห็นทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  สิ่งแวดล้อมที่ดี เศรษฐกิจที่ดี สังคมที่ดีขึ้น การศึกษาดี สันติภาพที่ดีเเละมีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน”

ถ้าทุกคนอยากได้ก็มาคุยด้วยกัน แล้วมาดูว่าทางไหนที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางไหนมีผลกระทบเชิงบอก เเละทางไหนที่ทำให้แย่ลง ความเป็นวิชาการมันจะช่วยแก้ปัญหาการเห็นต่างของหลายกลุ่มได้

ผศ.ดร. พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ

ความเห็นต่างเป็นแรงกดดันในการทำงานไหม?

“มีแรงกดดันอยู่บ้างแต่ถ้าเรามีหลักการ เราไม่ได้ตั้งธงว่าเราจะไปทิศทางไหน เรายึดสิ่งที่เราต้องทำจะทำให้จังหวัดสงขลาเเละปัตตานีมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะทำให้พี่น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

รู้หน้าตักของตัวเอง

“การทำแผนแม่บท SEA เราต้องรู้ว่าพื้นที่มีต้นทุนอะไรบ้าง ถ้าเราอยากพัฒนาเราอยากเห็นหน้าตาบ้านเราเป็นอย่างไร  วางภาพอนาคตร่วมกัน เเล้วจะต้องมองว่าจะใช้ต้นทุนทำอะไรเพื่อบรรลุผล เเต่อย่างไรก็ตามทางเลือกก็มีผลกระทบเชิงบวกและลบ เเต่เราจะต้องทำให้ผลกระทบเชิงบวกมากที่สุดเเล้วลดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด”

สำหรับขอบเขตในการศึกษานั้นจะดำเนินการในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ สงขลา และ ปัตตานี ครอบคลุมทุกอำเภอให้แล้วเสร็จกายในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนจะมีการสรุปว่าจะพัฒนาทั้ง 2 จังหวัดไปในทิศทางใด โดยทั้ง 2  จังหวัดมีศักยภาพที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการทำ SEA ในครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้โครงการอุตสาหกรรมจะนะในพื้นที่จ.สงขลาต้องหยุดไปชั่วคราวเพื่อรอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ให้ชัดเจน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ