1 ปีน้ำมันรั่วระยอง อีกครั้งกับคดีฟ้องฟื้นฟูทะเล

1 ปีน้ำมันรั่วระยอง อีกครั้งกับคดีฟ้องฟื้นฟูทะเล

กลุ่มประมงพื้นบ้านระยอง ชี้สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลยังวิกฤต สัตว์น้ำหายาก ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น เดินหน้าฟ้องคดีให้ผู้ก่อมลพิษชดเชยค่าเสียหายต่อระบบนิเวศ ตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ 5,000 ล้านบาท หวังนำทะเลสมบูรณ์กลับคืน

ครบรอบ 1 ปี จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงสู่อ่าวทะเลระยอง เมื่อกลางดึกของวันที่ 25 มกราคม 2565 บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง กลุ่มประมงพื้นบ้าน ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและอาชีพเกี่ยวเนื่องกว่า 800 ราย ยื่นฟ้องทั้งคดีปกครองต่อหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแล ควบคุมให้บริษัทเอกชนระมัดระวังการขนย้ายน้ำมัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนอีกคดีเป็นการฟ้องแพ่ง ขอให้ SPRC และ PTTGC รับผิดชอบใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. ร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษของคราบน้ำมันดิบและสารเคมี ด้วยการเก็บกู้ตะกอนสารพิษที่เกิดจากการรวมตัวของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ตกค้าง ด้วยกระบวนการหารือและกำกับดูร่วมกันระหว่างโจทก์ จำเลย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

2. ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อมอบให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่กำจัดมลพิษ และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลร่วมกับโจทก์ และชุมชนประมงชายฝั่ง เพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง”

3. ร่วมกันชดใช้ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลให้แก่โจทก์ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ต้องขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวม 246,343,799 บาท นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องคดี และค่าเสียหายในอนาคตคนอีกละ 25,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 ปี นับถัดจากวันฟ้อง

จาก 2556-2565 ประมงพื้นบ้านชี้ทะเลระยองยังวิกฤต

วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง

วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอ กล่าวว่า เห็นสภาพทะเลแย่ลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 56 ที่เกิดน้ำมันรั่ว จนมาถึง 65 ซึ่งนับเป็นระยะเวลา 10 ปี ปัญหาทะเลก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกต้องเลยสักครั้ง แต่สำหรับปี 65 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบอาชีพประมงและการค้าขายเห็นได้ชัดเลยว่าแย่ลงมาก เนื่องจากไม่มีสัตว์น้ำไปขาย 

“จากการสำรวจสถานกรณ์สิ่งแวดล้อมทะเลของทางสมาคมเรา พบว่าตอนนี้หากตีความด้วยหลักฐาน เราอยู่กันไม่รอดแล้ว ตอนนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าสุขภาพของพวกเรา อยู่รอดได้นานเท่าไหร่ ภาพปลาที่ตายกันมากมาย มีผลกระทบทั้งชายฝั่ง ทั้งสัตว์ห่วงโซ่ สัตว์เศรษฐกิจ แล้วผู้บริโภคเป็นห่วงโซ่สุดท้ายนี่น่าเป็นห่วงที่สุด แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญตรงนี้เลย” วีรศักดิ์ ระบุ

วีรศักดิ์ เสริมต่อว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ นโยบายรัฐไม่ได้มีการเข้ามาควบคุม เฝ้าระวังหลังน้ำมันรั่วอย่างเป็นรูปธรรมเลย ไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนออกมาควบคุม ไม่มีการประกาศในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และทางบริษัทไม่มีความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ 

บุญปลอด ศรเกิด ประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง

บุญปลอด ศรเกิด ประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ปี 56 ทรัพยากรทางทะเลมีความผิดปกติมาก ส่งผลอาหารทะเลไม่เพียงพอที่จะส่งต่อให้กลุ่มแม่ค้าร้านอาหาร จึงต้องไปหาอาหารทะเลจากแหล่งอื่นมาขาย แต่ก็ได้ปริมาณไม่พอขาย

บุญปลอด เล่าว่า การทำประมงลำบากมาก จากเดิมที่เคยออกเรือหาปลาอยู่ในระยะที่ห่างจากชายฝั่ง 2-3 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันกลับต้องออกทะเลไปไกล 20-30 กิโลเมตร เพื่อที่จะได้ปลามาขาย ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำมันและอาหารออกเรือ รวมถึงระยะเวลาในการออกเรือที่ยาวนานจาก 1 วันก็ได้ปลามาขายแล้ว ต้องเพิ่มเป็น 3-6 วัน 

“เวลาผมออกเรือ ผมจะหาปลาหมึกกับปลาอินทรีย์เป็นหลัก สิ่งที่เห็นจากการออกทะเลหลังน้ำมันรั่วคือ พบว่าหมึกหายไปเยอะมาก ใน 1 ชั่วโมงครึ่งเราเคยได้ครั้งละ 3-5 กิโลกรัม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าได้ 1- 2 ตัว เท่านั้น” บุญปลอด กล่าว 

อาชีพค้าขายริมหาด เงียบเหงา ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น

มณฑการ สิงห์โตทอง ผู้ประกอบการค้าขายอาหารทะเล จ.ระยอง

มณฑการ สิงห์โตทอง ผู้ประกอบการค้าขายอาหารทะเล จ.ระยอง กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม่ค้าส่วนใหญ่ที่ริมชายหาดระยองได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ลูกค้าไม่เชื่อมั่นในการสั่งอาหารทะเลทาน ทุกครั้งที่มีคนมาทานอาหาร จะถูกถามว่าอาหารทะเลมาจากไหน สถานการณ์การประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารที่ผ่านมา เงียบเหงา ไม่มีลูกค้าประจำ หรือมีก็น้อยลงกว่าเดิมมาก

“ลูกค้ามักมาถามที่ร้านว่า อาหารที่มาจากทะเลมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน รับมาจากไหนเราก็พยายามอธิบายว่า ปกติแล้วร้านอาหารเราจะรับสัตว์น้ำจากประมงพื้นบ้านมาขาย แต่หลังจากเกิดน้ำมั่นรั่วตั้งแต่ปี 65 ก็ไม่มีรับมาขายอีกแล้ว ซึ่งขนาดบอกว่ารับจากที่อื่นมา ลูกค้าก็ยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพอาหารทะเลระยอง” มณฑการ ระบุ

ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้าน ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า น้ำมันที่รั่วลงทะเล สิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบแน่ ๆ คือ สภาพแวดล้อมเปลี่ยน เพราะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว ยิ่งกำจัดช้ามาก หรือให้น้ำมันอยู่ในน้ำนานมาก ๆ จะยิ่งสิ่งผลกระทบมาก 

โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง เพราะชายฝั่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเเหล่งที่อยู่และเป็นเเหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน แล้วสัตว์น้ำวัยอ่อน มันยังไม่เเข็งเเรงพอที่จะรองรับการปนเปื้อนของน้ำที่มีน้ำมัน มันอาจจะตาย ตัวที่พอรับได้ก็เป็นสัตว์พิกลพิการ ส่งผลทำให้ผลิตทางการประมงลดลง 

ทางออกปัญหาที่ยั่งยืนต้องเร่งฟื้นฟูทะเลให้เร็วที่สุด

มณฑการ ในฐานะผู้ประกอบการค้าขาย กล่าวย้ำว่า ทางออกของการแก้ไขระยะยาวคืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เพราะหากฟื้นฟูให้ทะเลกลับมาดีเหมือนเดิม อาหารทะเลก็จะกลับมา พร้อมสร้างความเชื่อมมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ ก็สามารถทำให้หลายอาชีพทั้ง ค้าขาย ประมง ฯลฯ น่าจะอยู่กับทะเลได้ต่อไป

ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง

ขณะที่ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง อธิบายว่า การแก้ไขเฉพาะหน้าของชาวประมงทุกวันนี้คือ 1. บางส่วนจะต้องไปทำประมงในพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำมันปนเปื้อน ซึ่งต้องยอมรับต้นทุนที่ตามมา แต่ว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็ต้องทำ 2. สัตว์น้ำที่จับมาได้จะต้องถูกคัดกรองจากประมงก่อน มีอะไรผิดปกติในสัตว์น้ำ จะไม่นำสู่เข้าตลาดเด็ดขาด นั่นคือความรับผิดชอบที่ชาวประมงทำได้ 

ไพบูลย์ ระบุว่า ตัวเลขจากการเรียกร้องจากการฟ้องแพ่งเอกชน ให้ตั้งกองทุนฟื้นฟู 5,000 ล้านบาท เป็นการประเมินค่าที่ต่ำที่สุดแล้ว ต้องอย่าลืมว่ามูลค่าทรัพยากรที่เสียหายไป มันประเมินไม่ได้ ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาดำเนินการในการประเมิน ซึ่งชาวประมงเดือดร้อน ดังนั้น หัวใจหลัก ๆ ของการฟ้องศาล คือ ชาวบ้านต้องการให้ฟื้นฟูทะเล เพราะถ้าไม่ฟื้นฟูก็จะเจอผลกระทบอีกยาว

“เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เราอยากหยุดจับปลานะ นั่นคือความตั้งใจของเราเลย ตราบใดที่ประมงเองก็ไม่มั่นว่าสารเคมีมีผลกระทบอะไรกับสัตว์น้ำไหม เราอยากหยุดจับ แต่ถ้าเราหยุดเราจะอยู่อย่างไร หนี้สินภาระเราก็มี” ไพบูลย์ กล่าว

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ